ใครที่กำลังอินกับการปลูกต้นไม้และช้อปฯ ต้นไม้ออนไลน์อยู่บ่อยๆ ย่อมต้องเคยเห็นเหล่าไม้โขดรูปทรงป้อมๆ ผ่านตาบ้าง เพราะนอกเหนือจากแคคตัส มอนสเตอร่า ไทรใบสัก ยางอินเดียที่ครองตลาดแล้ว ก็มีเหล่าไม้โขดนี่แหละที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

  ไม้โขดในภาษาอังกฤษคือ Caudiciform Plants, Caudex Plants หรือบ้างก็เรียกว่า Fat Plants หมายถึงกลุ่มพืชที่มีลำต้น กิ่ง ก้าน หรือรากอวบอ้วนที่สามารถขุนให้ใหญ่ขึ้นได้อีก พืชเหล่านี้จะสะสมน้ำและอาหารไว้ในโขด ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้นานยิ่งขึ้น 

ไม้โขดสามารถอยู่ในรูปแบบต้นไม้ใหญ่อย่างต้นเบาบับไปจนถึงแบบเถาหรือแบบโขดจิ๋วก็ได้เช่นกัน ในบ้านเรามีความนิยมเลี้ยงไม้โขดมานานแล้ว ที่เลี้ยงกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดคงหนีไม่พ้นต้นชวนชม (Adenium) นั่นเอง แต่ไม้ที่จะเป็นโขดอวบอ้วนได้นั้นต้องเป็นไม้ที่มาจากการเพาะเมล็ดเท่านั้น

ที่มาภาพ: 1.852

  เหตุที่ไม้โขดได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคนี้ จากการพูดคุยสอบถามข้อมูลจากสมาชิกชมรมคนรักไม้โขดและชมรมคนรักยูโฟเบีย ไม้อวบน้ำและไม้โขด ได้ข้อสรุปว่า

  1. รูปทรง ไม้โขดมักโดดเด่นด้วยรูปทรงที่สวยแปลกตา แต่ละต้นจะมีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกันเลย บางคนกล่าวว่าไม้โขดเป็นเหมือนศิลปะจากธรรมชาติ เป็นไม้ที่มีประสบการณ์ชีวิต ซึ่งประสบการณ์ที่ว่าก็สะท้อนออกมาผ่านรูปทรงและลวดลายบนโขด และหลายคนหลงรักไม้โขดจากใบและดอกสวยๆ รวมถึงฟอร์มการสยายกิ่งก้านด้วยเช่นกัน

  2. เลี้ยงง่าย ด้วยความที่สามารถสะสมอาหารไว้ในโขด ไม้โขดส่วนใหญ่จึงเป็นไม้ที่ทนเป็นพิเศษ เป็นไม้ที่ไม่ต้องการน้ำมาก ไม่ต้องดูแลมาก ไม่รดน้ำหลายๆ วันก็ยังไม่ตาย ไม่ต้องอยู่ในโรงเรือน และไม่ต้องใช้พื้นที่มาก เหมาะสำหรับคนยุคใหม่ที่อาศัยอยู่ในเมือง แต่จะเลี้ยงให้สวยได้ก็อาจจะต้องจัดให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม โดยเฉพาะแสงแดดที่เป็นสิ่งสำคัญและมีผลต่อฟอร์มของต้น

  3. สนุกลุ้น เพราะส่วนใหญ่ไม้โขดนั้นจะขายกันตั้งแต่เป็นหัว ทำให้เจ้าของต้องลุ้นเอาเองว่ารากจะเดินหรือไม่ ใบจะงอกตอนไหน งอกแล้วจะเป็นอย่างไร ใบจะด่างหรือเปล่า จะมีดอกหรือไม่ แตกลายสวยหรือเปล่า หรือตัดใบแล้วใบที่งอกออกมาจะเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะบางครั้งบางคนซื้อมาเพราะคิดว่าเป็นต้นแบบหนึ่ง แต่กลับงอกออกมาเป็นอีกต้นหนึ่ง หรือต้นเดียวแต่งอกใบออกมาหลายแบบด้วยซ้ำ เรียกว่ามีความตื่นเต้นให้ได้ลุ้นกันเรื่อยๆ จนเหมือนเป็นการลุ้นระหว่างเลี้ยงแบบหนึ่ง

  4. ความสร้างสรรค์ ด้วยรูปทรงโดดเด่นทำให้ไม้โขดเป็นเหมือนไม้บอนไซโดยธรรมชาติ ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของคนเลี้ยงไม้โขดจึงอยู่ที่การตกแต่งกิ่ง รวมถึงการจัดวางองค์ประกอบบนกระถางให้ออกมาสวยที่สุด

  5. ความหลากหลาย อย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่าไม้โขดนั้นมีหลากหลายมาก ถ้าได้มาครอบครองต้นหนึ่งแล้ว หลายคนก็อดไม่ได้ที่จะหาพันธุ์อื่นๆ มาสะสมเพิ่มเติมเป็นคอลเลคชั่น

  6.  ราคา ด้วยความที่ไม้โขดหลายพันธุ์เป็นไม้พื้นบ้านของไทย ราคาโดยทั่วไปจึงไม่สูงนัก คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และถ้าดูแลดีก็สามารถเลี้ยงให้โขดสวยไม่แพ้ไม้นอก

ที่มาภาพ: 1.852

 

สายพันธ์ุหลากหลายของไม้โขด

บัวบกโขด (Stephania Erecta Craib)

เป็นไม้โขดที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ แต่เป็นคนละพันธุ์กับบัวบกที่แก้ช้ำใน บัวบกโขด หรือบัวบกป่า บัวบกหัว เป็นพืชล้มลุกที่มีหัวอยู่ใต้ดิน แตกใบเป็นทรงกลมน่ารัก หากอยู่ในที่ที่แสงรำไรกิ่งจะยืดยาวและใบจะค่อนข้างเล็ก

มะยมเงินมะยมทอง (Phyllanthus Mirabilis)

บ้างก็เรียกว่ามะยมโขด อยู่ในตระกูลเดียวกับต้นมะยมทั่วไป จุดเด่นอยู่ที่ใบสีแดง เช่นเดียวกับก้านที่แก่แล้วจะเป็นสีแดง ด้วยชื่อที่มีคำว่าเงิน/ทองทำให้หลายคนถือว่าไม้ชนิดนี้เป็นไม้มงคล หากเลี้ยงให้สวยแล้วจะช่วยเรียกเงินเรียกทองเข้าบ้าน

บอระเพ็ดพุงช้าง (Stephania Votunda)

อีกชื่อคือสบู่เลือดถือเป็นสมุนไพรอย่างหนึ่ง ในอดีตเชื่อกันว่าถ้านำหัวและก้านใบมาดองเหล้าขาวดื่มจะช่วยให้ผิวหนังคงกระพัน ตีรันฟันแทงไม่เจ็บ นอกจากนี้ยังช่วยบำรุงธาตุไฟและบรรเทาอาการเท้าไม่มีกำลังหรือไม่มีเรี่ยวแรงด้วย 

ที่มาภาพ: Mindcactus

ผักบุ้งโขด (Ipomoea)

จัดอยู่ในสกุลเดียวกับผักบุ้ง (Morning Glory) และมีดอกสวยเช่นกัน ผักบุ้งโขดมีทั้งพันธุ์ที่เป็นไม้นำเข้าจากแอฟริกา และไม้โขดไทย

ที่มาภาพ: Mindcactus

กระดองเต่าแอฟริกา (Dioscorea Elephantipes)

อีกพันธุ์ที่กำลังมาแรงในหมู่นักสะสมไม้โขดในบ้านเรา มีถิ่นกำเนิดมาจากทางตอนใต้ของทวีฟแอฟริกา จุดเด่นอยู่ที่ลวดลายบนโขดที่เหมือนกระดองเต่า และผิวจะยิ่งนูนออกมาเรื่อยๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น

เสน่ห์นางพิมพ์ (Firmiana Colorata / Sterculia Colorata)

มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น โพธิ์ค้างคาว ปอแก้ว จุดเด่นคือขนาดใบใหญ่ เป็นแฉกสวยงาม และไปทำเป็นบอนไซได้ด้วย

แห้วกระต่าย (Brachystelma Spec. Thailand)

ขนาดจิ๋วน่าเอ็นดู นอกจากฟอร์มสวยแล้ว จุดเด่นน่าจะอยู่ที่ราคาที่จับต้องได้สะดวกกระเป๋า

หอมเกลียว (Albuca Concordiana)

เอกลักษณ์คือใบยาวม้วนเป็นเกลียวที่สะดุดตา

ที่มาภาพ: Mindcactus

ยูโฟเบีย (Euphorbia)

เป็นชื่อตระกูลไม้อวบน้ำจากแอฟริกา และมีสภาพทางกายภาพหลายอย่างคล้ายกับแคคตัส ยูโฟเบียที่นำมาเลี้ยงเป็นไม้โขดนั้นมีหลายชนิด ตั้งแต่โขดเล็กๆ ใบสวยๆ อย่าง Euphorbia Francoisii, Euphorbia Labatii ไปจนถึงโขดใหญ่ๆ อย่าง Euphorbia Hydyotoides

ที่มาภาพ: Mindcactus

พาชีโพเดียม (Pachypodium)

พืชอวบน้ำอีกตระกูลใหญ่จากแอฟริกา มีต้นกำเนิดจากประเทศมาดากัสการ์และบริเวณโดยรอบ ชื่อแปลได้ว่าเท้าหนาซึ่งน่าจะหมายถึงโขดอ้วนๆ กลมๆ นี่เอง พันธุ์ไม้โขดนี้ที่นิยมสะสมมีอยู่หลายพันธุ์ เช่น Pachypodium rosulatum หรือ Pachypodium Gracilius เป็นต้น

ที่มาภาพ: Chanathip Prasatnok

ปรง (Cycas)

คนไทยคงคุ้นเคยกับปรงต้นใหญ่ แต่ตอนนี้ ปรงขนาดมินิกำลังกลายเป็นไม้โขดอีกประเภทที่นิยมเลี้ยงเป็นไม้กระถางในบ้าน ทั้งปรงญี่ปุ่น ปรงเม็กซิกัน ไปจนถึงปรงพื้นบ้านของไทย อย่างปรงมะพร้าวสีดา แม้จะจัดเป็นไม้โขดชนิดหนึ่ง แต่ปรงจะแตกต่างจากไม้โขดชนิดอื่นๆ ตรงที่ต้องการน้ำมากกว่าไม้โขดพันธุ์อื่นๆ

ที่มาภาพ: Fias Kacharat

ทิ้งท้ายสำหรับคนตัดสินใจจะลองเลี้ยงไม้โขดกับเขาสักต้น ขอให้รู้ว่าไม้โขดเป็นไม้ที่เติบโตค่อนข้างช้า ดังนั้น โปรดอดใจรอ– –ก่อนจะได้ชื่นใจกับความงอกงาม

Tags: