เชื่อว่าแทบทุกครั้งที่พวกเราได้มีโอกาสหลีกหนีความวุ่นวายของเมืองหลวงไปสู่ปาเขา ยอดดอย หรือหาดทราย เมื่อตะวันลับขอบฟ้าไปแล้ว กิจกรรมที่แทบจะขาดไม่ได้เลยคือการดูดาว หากวันไหนฟ้าใสและดวงดีพอก็จะมีโอกาสได้นอนนับดาวนับล้านบนฟากฟ้า และดาวตกที่จะโฉบมาสร้างสีสันเป็นครั้งคราว บ้างก็ชื่นชมกับความสวยงามและน่าพิศวงของเถ้าธุลีจากอวกาศชนิดนี้ บ้างก็เชื่อกันว่าหากขอพรกับดาวตกแล้วจะโชคดีหรือทำให้พรสมหวัง ไม่ว่าอย่างไร มนุษย์เราก็ชื่นชอบปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ชนิดนี้กันมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกเอาไว้ แต่ไม่น่าเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นั้น เราอาจกำลังจะก้าวไปสู่การควบคุมและสร้างดาวตกสังเคราะห์กันขึ้นมาได้ในที่สุด
จะเป็นอย่างไรหากเราไม่ต้องรอคอยให้ถึงช่วงเวลาของฝนดาวตก แต่เราสามารถสั่งปรากฏการณ์นี้ได้ไม่ต่างจากการแสดงดอกไม้ไฟ หากเราสามารถควบคุมดาวตกได้ตั้งแต่ปริมาณ ไปจนถึงแสงสี และสถานที่ เชื่อได้เลยครับว่าอนาคตของวงการการดูดาวคงจะแปลกตาไม่น้อยเลยทีเดียว
ดาวตกฝีมือมนุษย์
ไอเดียที่ดูเหมือนหลุดออกมาจากโลกอนาคตของโดราเอมอนนี้มีที่มาจาก ดร. Lena Okajima นักวิทยาศาสตร์สัญชาติญี่ปุ่นผู้ก่อตั้งบริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศนาม ALE – Astro Live Experiences เพื่อการพัฒนาโครงการนี้โดยเฉพาะ เธอได้แรงบันดาลใจในโครงการนี้มาตั้งแต่สมัยยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยโตเกียว โดยยึดหลักการที่ว่าหากดาวตกนั้นเกิดจากฝุ่นหรือวัตถุอวกาศที่เผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกและปลดปล่อยแสงออกมาจากพลาสมา ดาวตกสังเคราะห์ก็สามารถสร้างขึ้นได้โดยใช้หลักการเดียวกัน ที่สำคัญมนุษย์เองก็สามารถสร้างดาวตกสังเคราะห์มาได้ระยะหนึ่งแล้ว ถึงแม้ส่วนใหญ่จะไม่ใช่จากความตั้งใจ และเป็นผลต่อเนื่องมาจากขยะอวกาศที่ตกกลับสู่โลกแล้วแตกตัวเป็นชิ้น ๆ ก็ตาม
ตัวโครงการค่อย ๆ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างในปี ค.ศ. 2015 และในที่สุดทางบริษัทก็สามารถส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรรอบโลกได้ในปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา นับว่าใช้เวลาในการพัฒนาทั้งระบบดาวเทียมและวัสดุที่ใช้เกือบ 20 ปี ตั้งแต่ตัว ดร. Lena Okajima ริเริ่มไอเดียนี้ขึ้น
หลักการทำงานของของดาวตกสังเคราะห์นั้นเริ่มจากการส่งดาวเทียมพร้อมเม็ดวัสดุสำหรับสร้างดาวตกขนาดประมาณ 1 ซม. กว่า 400 เม็ดขึ้นไปโคจรรอบโลกในวงโคจรระดับต่ำ ตัวดาวเทียมจะปล่อยเม็ดดาวตกให้โคจรไปยังตำแหน่งที่ต้องการ เมื่อเม็ดวัสดุพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและเกิดการเผาไหม้ที่ความสูงประมาณ 60-80 กม. เหนือพื้นโลก ก็จะเกิดเป็นแสงสว่างวาบขึ้นเช่นเดียวกับดาวตกตามธรรมชาติ และเมื่อสิ้นสุดภารกิจ ตัวดาวเทียมจะถูกบังคับให้ตกกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก และเผาไหม้หายไปเช่นเดียวกับสัมภาระที่เคยบรรจุไว้ภายในนั้น
อย่างไรก็ตามทาง ALE ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงส่วนประกอบของเม็ดวัสดุสำหรับสร้างดาวตกสังเคราะห์ขึ้นมา (ทั้งนี้คงเป็นเพราะเรื่องความลับทางการค้าด้วยครับ) แต่ทางบริษัทระบุว่าการควบคุมส่วนผสมของวัสดุทำให้สามารถควบคุมสีหรือแม้กระทั่งรูปแบบความสว่างของดาวตกได้อีกด้วย
ทาง ALE ยังระบุอีกว่าดาวตกสังเคราะห์นั้นมีความสว่างสูงถึงแมกนิจูด -1 (ประมาณดาวฤกษ์เช่นดาวซิริอุส) สามารถมองเห็นได้ในบริเวณรัศมีประมาณ 200 กม. นับว่าดาวตกสังเคราะห์นั้นมีความสว่างกว่าดาวตกตามธรรมชาติเป็นอย่างมาก แถมยังคงความสว่างได้ประมาณ 3 – 10 วินาทีเลยทีเดียว
ดาวตกสังเคราะห์นั้นมีความสว่างมากพอที่จะมองเห็นได้จากพื้นที่อันเต็มไปด้วยแสงรบกวนอย่างใจกลางเมือง ซึ่งแน่นอนว่าแทบเป็นไปได้เลยสำหรับดาวตกตามธรรมชาติที่ส่วนมากมีความสว่างต่ำ และมองเห็นได้ชัดเจนในบริเวณที่ท้องฟ้ามืดสนิทเท่านั้น
สถานการณ์ปัจจุบัน
ถึงแม้ทางบริษัทจะส่งดาวเทียมขึ้นไปแล้วสองดวงในปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา โดยมีแผนที่จะเริ่มทำการทดสอบในปี ค.ศ. 2020 แต่กลับเกิดปัญหาขึ้นกับส่วนปล่อยเม็ดวัสดุของดาวเทียม ALE-2 ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะทำให้ตัวดาวเทียมนั้นใช้งานไม่ได้ไปเลย ส่งผลให้ดาวเทียม ALE-1 ที่ส่งขึ้นไปเป็นดวงแรกนั้นมีทีท่าว่าจะต้องถูกเลื่อนภารกิจออกไปพร้อม ๆ กันด้วย ทางบริษัท ALE ได้วางแผนที่จะส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปภายในปี ค.ศ. 2022 ในนาม ALE-3 ซึ่งพร้อมจะเริ่มทำการทดสอบได้อีกทีก็ในปี ค.ศ. 2023
แต่ความหวังยังคงไม่หมดลง อย่างน้อย ดร. Lena Okajima ก็ให้สัญญาเป็นมั่นเหมาะว่า ทางบริษัทจะประสบความสำเร็จในภารกิจครั้งหน้านี้แน่ ๆ ดังนั้นอย่างเร็วที่สุดเราก็คงได้รับชมการแสดงดอกไม้ไฟจากอวกาศที่ว่า ในอีกประมาณ 3 – 4 ปีนับจากนี้
บทสรุปและอนาคต
โครงการดาวตกสังเคราะห์โดยบริษัท ALR มีชื่อทางธุรกิจว่าโครงการ Sky Canvas และเน้นเจาะไปที่กลุ่มลูกค้าในงานอีเว้นท์ระดับโลกอย่างกีฬาโอลิมปิก ฟุตบอลโลก และงานเทศกาลชื่อดังทั้งหลาย ซึ่งก็เป็นที่แน่นอนครับว่ากลุ่มลูกค้าประเภทนี้ต้องมีทุนที่หนามาก ดังนั้นการที่เราจะเห็นคนทั่วไปสั่งการแสดงดาวตกในงานวันเกิด หรือปาร์ตี้จบมหาลัยย่อมไม่ใช่ภาพที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน
แต่หากเราจินตนาการถึงประสบการณ์ที่เราจะได้ดูล่ะครับ หากเรามีโอกาสไปนั่งในสเตเดียมในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก เมื่อการแสดงสุดท้ายสิ้นสุด และไฟทั้งสนามถูกดับลง ดาวตกนับร้อยก็พุ่งผ่านท้องฟ้าเบื้องบนไปไม่ต่างกับการแสดงการบินผาดโผนของเครื่องบินรบในงานวันชาติ นั่นคงจะเป็นประสบการณ์ที่ผมคิดว่าคงจะต้องเซอเรียลมากแน่ ๆ ความสวยงามของดาวตกฝีมือมนุษย์ที่วาดลายเส้นบนท้องฟ้า อย่างโดดเด่นมากกว่าที่ธรรมชาติจะจัดสรรให้ คงเป็นอะไรที่ติดตาตรึงใจหลาย ๆ คนอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม โครงการดาวตกนี้ก็ได้รับเสียงคัดค้านจากหลาย ๆ ฝ่ายด้วยกัน โดยส่วนใหญ่ถามถึงความจำเป็นในการส่งวัตถุสู่ห้วงอวกาศเพียงเพื่อความบันเทิง ทั้งที่ปัญหาขยะอวกาศนั้นกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน พร้อมกันกับความสะดวกในการเข้าถึงอวกาศของภาคเอกชน ถึงแม้ว่าดาวเทียม ALE จะถูกบังคับให้ตกกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้ แต่หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นกับระบบควบคุม หรือส่วนเมมเบรนสำหรับลดระดับความสูงขึ้น ตัวดาวเทียมเองก็มีสิทธิ์ที่จะคาอยู่ในวงโคจรทั้งอย่างนั้น ซึ่งความเสี่ยงนี้เองที่ตอกย้ำถึงความสมเหตุสมผลของโครงการดาวตกนี้พอสมควร
นอกจากความเสี่ยงด้านขยะอวกาศแล้ว ตัวโครงการยังถูกมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เพราะทุกอย่างที่ถูกส่งขึ้นไปล้วนถูกทำลายไปในชั้นบรรยากาศในที่สุด ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เลยแม้แต่น้อย ซึ่งในความเห็นของผมนั้น โครงการนี้แท้จริงแล้วคงจะเป็นการแสดงดอกไม้ไฟที่แพงที่สุดที่หนึ่งก็ว่าได้ แน่นอนว่าการแสดงดอกไม้ไฟก็เจอปัญหาเดียวกันกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่กับอวกาศนั้น ผลกระทบที่ตามมาย่อมรุนแรงกว่ามาก
มนุษยชาติขึ้นชื่อเรื่องการแลกทรัพยากรเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการอยู่แล้ว ในกรณีของดาวตกสังเคราะห์นั้น เราเลือกที่จะแลกทรัพยากรเพื่อความบันเทิงผ่านการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ดังนั้นแล้วผลลัพธ์ที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าเราต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดครับ อวกาศกำลังจะหนาแน่นขึ้นกว่าเดิมมาก และเป็นไปได้ว่าการใช้พื้นที่อันปริ่มไปด้วยโอกาสแถมยังมีจำกัดนี้เพื่อความบันเทิงคงจะไม่ใช่สิ่งที่ดูดีนักในมุมมองของหลาย ๆ คน
ไม่แน่ว่าถ้าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม วงการดอกไม้ไฟและการแสดงแสงสีเสียงทั้งหลายอาจจะได้เจอกับคู่แข่งใหม่ทางธุรกิจที่น่ากลัวมาก ๆ ก็ได้ แต่ถ้าหากล้มเหลว ก็อาจจะเป็นหมุดเตือนใจว่าอวกาศยังไม่พร้อมสำหรับไอเดียแหวกแนว หรือโครงการที่ไม่ค่อยตรงจุดประสงค์ของคนส่วนใหญ่
สุดท้ายแล้วสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือโครงการดาวตกสังเคราะห์จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ การใช้งานและการพัฒนาพื้นที่ในอวกาศ (โดยเฉพาะวงโคจรรอบโลก) ไปจนถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมได้เลยทีเดียว
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Lena_Okajima
https://earthsky.org/space/1st-artificial-meteor-shower-astrolive-experiences-japan
https://www.space.com/japan-shooting-star-satellite-artificial-meteor-shower-glitch.html