ไม่มีใครเป็นเจ้าของเสียงได้ ไม่มีใครห้ามให้เราตะโกนโทนเสียงต่างๆ ที่แตกต่างไป รวมถึงสี และตัวหนังสือ แต่เมื่อใดก็ตามที่ตัวหนังสือของเราเรียบเรียงออกมาเป็นเรื่องราว เราต้องการที่จะเขียนหนังสือขาย แล้วตัวหนังสือทุกตัวของเรามันร้อยเรียงมาเหมือนกับตัวหนังสือที่มีคนเคยสร้างไว้ก่อนหน้า … เรากำลังทำสิ่งที่ผิดต่อกฎหมายอยู่ 

เช่นเดียวกับภาพที่ประกอบไปด้วยพิกเซลต่าง ๆ หรือดนตรีที่ประกอบจากตัวโน๊ตมากมาย ชีวิตก็เช่นกัน รหัสทางพันธุกรรมคือสิ่งที่กำหนดสิ่งมีชีวิตให้มีลักษณะ รูปร่าง หน้าตา คุณสมบัติแตกต่างกันไป สิ่งที่กำหนดคุณสมบัติเหล่านี้ เป็นเพียงแค่คู่เบส A C G และ T ที่จับตัวกันและเรียงกันเป็น Sequence ที่มีหน้าที่กำหนดลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ 

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ไม่ได้สร้างพืชหรือสัตว์ DNA คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราไม่สามารถไปจดสิทธิบัตรพืชหรือสัตว์ได้ หรือไปจดสิทธิบัตรท้องฟ้า น้ำ หรือแก๊สต่าง ๆ … แต่ถ้าเราสร้างมันขึ้นมาล่ะ .. ถ้าเราสร้างเมนูอาหารที่อร่อยมาก ๆ ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการนำวัตถุดิบในธรรชาติมาผสมปนเปกัน แน่นอนว่าอาหารสร้างกำไรให้กับเราอย่างมหาศาล เราจะทำอย่างไร เราเองก็คงไม่อยากให้มีใครนำอาหารของเราไปทำกำไร … สิ่งที่เราต้องปกป้องจึงเป็น “สูตรของอาหาร” ไม่ใช่ตัวอาหาร ทุกคนมีสิทธิ์ซื้อไปทานได้ แต่ก็ไม่มีใครรู้อยู่ดีว่าอาหารนั้นมีสูตรการทำอย่างไร เหมือนกับสูตรของน้ำจิ้ม สูตรน้ำอัดลม หรือน้ำซุป 

มนุษย์ไม่ได้สร้าง DNA ของสิ่งมีชีวิตขึ้นมาตั้งแต่ต้น แม้เราจะเข้าใจว่า Sequence ชุดไหนที่ทำให้เกิดคุณสมบัติอะไร แต่เทคโนโลยี Biotechnology คือสิ่งที่ทำให้เรื่องพวกนี้ต้องถูกนำมาพูดถึง เพราะเราสามารถตัดแต่งพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้นให้เป็นไปตามที่เราต้องการ 

สมมติว่าเราเป็นบริษัท Biotech ที่ผลิตส้มชนิดหนึ่งขึ้นมาที่มีรสชาติอร่อยมาก ๆ แล้วเราปลูกส้มนั้นขายเอง คนซื้อกินเพราะอร่อย ก็ดูจะไม่เป็นปัญหาอะไร เหมือนกับเราเป็นเจ้าของสูตรอาหารรสเด็ดรสหนึ่ง แต่ความซับซ้อนของกรณีนี้มันอยู่ที่ว่า ส้มนั้นเป็นสิ่งมีชีวิต และสิ่งมีชีวิต “มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม” มันไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์แต่ “สูตรที่ใช้ในการสร้างมัน” ก็อยู่ในนั้นด้วย หมายความว่า มูลค่าของส้มพันธุ์นั้นไม่ใช่แค่ความอร่อย แต่คือ Sequence ใน DNA ของมัน ผู้ที่ซื้อไป สามารถนำมันไปตรวจ Sequence เพื่อเข้าใจ “รหัสทางพันธุกรรม” เหล่านี้ หรือถ้าเอาแบบง่าย ๆ พวกเขาสามารถนำเมล็ดนี้ไปปลูกเพื่อให้ได้ส้มชนิดเดียวกับที่เราใช้เวลาและต้นทุนมหาศาลในการวิจัยและพัฒนาขึ้นมา 

ปัญหานี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เพราะเคยมีกรณีหลาย ๆ อย่างที่ตั้งคำถามต่อสิ่งที่ไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นชิ้น ๆ แต่เป็น “ชุดของข้อมูล” ซึ่งยกตัวอย่างง่าย ๆ มันก็คือ DRM หรือ Digital Rights Management สำหรับเพลงหรือภาพยนตร์ หรือถ้าเป็น Software เราก็จะคุ้นชินกับ License ในรูปแบบต่าง ๆ 

ประเด็นก็คือชุดของข้อมูลในรูปแบบของ DNA ยังเป็นสิ่งที่ใหม่ และต้องยอมรับว่ามันก็จะเป็นหนึ่งในหัวข้อที่เป็นที่ถกเถียงกันพอสมควรจนกว่าจะลงตัว 

กรณีที่โด่งดังที่เคยเกิดขึ้นได้แก่กรณีของ Myriad Genetics ซึ่งในปี 1998 บริษัทได้จดสิทธิบัตรของ Sequence DNA ยีนชุดที่ชื่อว่า BRCA1 และ BRCA2 ซึ่งเป็นรหัสทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม ทำให้ Myriad Genetics นั้น เหมือนกับถือ License ในการจัดการการกับยีนชุดนี้ และบริษัทที่จะทำการตรวจยีนชุดนี้จะต้องได้รับการอนุญาติจาก Myriad Genetics เสียก่อน โดยที่ Myriad Genetics ทำกำไรจากการตรวจ BRCA1 และ BRCA2 ในลักษณะของ Commercial คือไม่มีการแชร์ผลกับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์อื่น ๆ (ภายหลังมีการพบว่าเกิดผลของ False Negative ขึ้นด้วย)

(https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3982540/

สุดท้ายก็เกิดข้อพิพาทขึ้นเมื่อ Myriad Genetics ถูกฟ้องว่าจดสิทธิบัตรกับสิ่งที่ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งสุดท้ายคำตัดสินของศาลสหรัฐฯ ก็บอกว่า synthetically cDNA (Complementary DNA) หรือ DNA ที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นสามารถจดสิทธิบัตรได้ แต่ DNA ในธรรมชาติที่พบเจอนั้นไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ (ลองนึกภาพไอแซก นิวตัน จดสิทธิบัตรแรงโน้มถ่วง)

กรณีนี้ Tania Simoncelli จาก ACLU ซึ่งเป็นหนึ่งผู้ที่ฟ้อง Myriad Genetics ได้เคยออกมาพูด TED ถึงกรณีนี้นี้

Simoncelli บอกว่า การฟ้องนี้ทำเพื่อให้เกิด “กรณีศึกษา” และสร้างความตระหนักให้กับสังคมทั้งในฝั่งการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และคนทั่วไปว่า DNA นั้นไม่อาจเป็นสิ่งที่จดสิทธิบัตรกันได้ 

Myriad Genetics จึงเพียงแค่ “ค้นพบ” ไม่ใช่สร้าง BRCA1 และ BRCA2 

ประเด็นก็คือ โจทย์ทางจริยธรรม หรือ Ethical Dilemma ของมันก็คือ บริษัทที่ลงทุนทุ่มทรัพยากร ทุ่มเงินไปกับการค้นหาหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ก็ควรจะได้รับการปกป้อง ไม่สามารถใช้เหตุผลที่ว่า มันเป็นแค่ตัวหนังสือไม่กี่ตัว แล้วถ้าสิ่งนั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้กับโลกได้มหาศาลละ ? 

จากกรณีของโคโรนาไวรัส การทำความเข้าใจรหัส RNA ของ SARS-CoV2 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสนั้นกลายเป็นงานที่หลายฝ่ายลงทุนลงแรงไป ซึ่งผลที่ได้ก็คือชุดตรวจหรือ Test Kit ต่าง ๆ นานา เพียงแต่ว่าโลก ณ ตอนนี้อยู่ในจุดวิกฤต ทำให้ RNA ของ SARS-CoV2 จึงถูกใช้เพื่อประโยชน์ของทั้งโลก แต่ถามว่า ถ้ามีบริษัท Biotech ค้นพบ RNA ของไวรัสแล้วไปจดสิทธิบัตร ก็อาจจะกลายเป็นตัวร้ายไปได้ เพราะจะไม่มีบริษัทไหนสร้างชุดจรวจ SARS-CoV2 ได้เลย 

อีกกรณีหนึ่งที่ต้องพูดถึงก็คือ แล้วการตัดแต่งพันธุกรรมล่ะ ถ้าสมมติว่าเราใช้เทคโนโลยีด้าน Biotech ซึ่งทุกวันนี้มีราคาถูกลงในการตัดแต่ง Sequence ของ DNA ให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ เราจะถือว่าเป็นผู้ครอบครองสิทธิบัตรนั้นใช่หรือไม่ ถ้าตอบตามคำตัดสินของศาลก็คือ ใช่ เพราะสิ่งนั้นนับว่าเป็น Sequence ใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น ถ้าเราใช้เทคโนโลยีอย่าง CRISPR ไปตัดแต่ง DNA เพื่อวัตถุประสงค์หรือประโยชน์บางอย่าง เรามีสิทธิจดสิทธิบัตร Sequence อันเกิดจากการตัดแต่งนั้น ๆ 

สิ่งนี้ไม่ต่างอะไรกับการที่เรานำวัตถุดิบต่าง ๆ ในธรรมชาติมาทำเป็นสูตรอาหารแล้วเราจดสิทธิบัตรสูตรอาหารนั้นของเราเพื่อไม่ให้ใครลอกเลียนแบบ 

และก็เหมือนกับกรณีของข้อมูลดิจิทัล การคัดลอกหรือทำซ้ำใด ๆ ที่ไม่ได้เกิดจากความยินยอมของเจ้าของก็ไม่สามารถทำได้ เหมือนกับที่เราซื้อหนังมาดูที่บ้านได้ แต่ไม่สามารถนำไปก็อปปี้เพื่อขายต่อได้ แม้ว่าเราจะใช้เงินซื้อมันมาก็ตาม เพราะสิ่งที่เราซื้อไม่ใช่ตัวภาพยนตร์หรือข้อมูล แต่มันคือ Application หรือการนำไปใช้ต่างหาก (จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า Term of Use ขึ้นมา) 

หมายความว่า พืช หรือสัตว์ หรืออะไรก็ตามที่ได้รับการจดสิทธิบัตรคุ้มครอง จะต้องมาพร้อมกับ Term of Use (เหมือน Software) 

กฎหมายลิขสิทธิ์นั้นเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมนุษย์สร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ทั้งเป็นรูปธรรม และนามธรรมมากขึ้นทุกวัน รวมถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ที่จะทำให้เกิดคำถามใหม่ ๆ ขึ้นมา วันหนึ่งเราต้องปวดหัวกับข้อมูลที่เป็นตัวหนังสือ เสียงเพลง ดนตรี และภาพวาด พอเวลาผ่านไป เราต้องมาทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นข้อมูลดิจิทัลที่เกิดขึ้นจากเลขแค่สองตัวคือ 0 และ 1 และในอนาคต เรากำลังจะต้องเจอกับโจทย์ของสิ่งมีชีวิต และ DNA ที่ไม่ได้แค่มี ACGT แต่ยังสามารถสืบพันธ์และส่งต่อข้อมูลได้เองโดยที่มนุษย์ไม่ต้องไปกด Copy และ Paste อีก 

สุดท้ายแล้วสิ่งที่น่าจะสำคัญที่สุดก็คือการทำความเข้าใจ ที่มาที่ไป และเป้าหมายร่วมกัน เพราะอย่างไรก็ตาม เราก็จะยังคงเจอ Dilemma ใหม่ ๆ มาให้เราได้ชวนคิดกันอีกเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ

Tags: ,