ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ภาคครัวเรือนของไทยมีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 69,674 บาทต่อครัวเรือนในปี 2541 เพิ่มขึ้นเป็น 156,770 บาทต่อครัวเรือนในปี 2558
และถึงแม้ว่าในปี 2559 หนี้ครัวเรือนจะลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจากร้อยละ 81.2 ในปี 2558 มาอยู่ที่ร้อยละ 79.9 ทว่าสัดส่วนในระดับร้อยละ 80 ของจีดีพี ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ดี
ขณะที่การศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ พบว่าครึ่งหนึ่งของคนไทยอายุประมาณ 30 ปีมีหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเชื่ออุปโภคบริโภคและ/หรือหนี้บัตรเครดิต นอกจากนี้ คนที่มีหนี้ในระบบร้อยละ 16 มีสถานะการเงินเปราะบาง หรือมีประมาณ 3 ล้านคนที่อยู่ในสถานะค้างชำระหนี้เกินกว่า 90 วัน ซึ่งหมายถึงการถูกเจ้าหนี้ติดตามทวงถามหรืออยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย
ในฐานะอดีตประธานบริษัท หลักทรัพย์เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ‘กรณ์ จาติกวณิช’ คือผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินคนหนึ่งที่ตระหนักถึงปัญหาหนี้สินของคนไทย และเขาก็เคยลงมือแก้ไขปัญหานี้ด้วยตัวเองมาแล้วในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
จวบจนปัจจุบัน กรณ์ จาติกวณิช ยังคงมุ่งมั่นตั้งใจกับการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน และการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: FinTech) ก็ช่วยยกระดับการช่วยเหลือของเขาขึ้นไปอีกขั้น
ณ เวลานี้ กรณ์ จาติกวณิช ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย และประธานบริษัท รีฟินน์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดอท คอม จำกัด (Refinn) บริษัทสตาร์ทอัพที่เริ่มให้บริการรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยผ่านช่องทางออนไลน์เมื่อปลายปีที่แล้ว และตอนนี้รีฟินน์ก็มีข้อมูลของผู้ที่สนใจใช้บริการราว 2 แสนรายอยู่ในระบบ
กระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ‘บริการสินเชื่อลดภาระหนี้ (บ้านแลกเงิน)’ ซึ่งเป็นบริการใหม่ล่าสุดของรีฟินน์ ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวเป็นทางเลือกของสินเชื่ออเนกประสงค์สำหรับผู้มีที่อยู่อาศัย เพื่อนำไปใช้ปิด/โปะหนี้สินต่างๆ ทั้งหนี้ส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ หรือหนี้จากการขายฝาก
ในวาระดังกล่าว The Momentum จึงชวน กรณ์ จาติกวณิช มาพูดคุยเรื่องหนี้สินซึ่งกำลังเป็นปัญหาของคนไทย มุมมองในการแก้ปัญหา และโอกาสที่เครื่องมือสมัยใหม่อย่าง ‘รีฟินน์’ จะช่วยให้เขาบรรเทาปัญหานี้ได้สำเร็จ
บัตรเครดิตมีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร
บัตรเครดิตและบัตรเดบิตมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวก แทนที่จะถือเงินสดก็ถือบัตรแทน อย่างผม โดยส่วนใหญ่ ผมใช้บัตรเดบิต ผมมีทั้งสองอย่าง แต่ถ้าในชีวิตประจำวัน ผมใช้บัตรเดบิต เพราะผมรู้สึกว่าในเมื่อเรามีเงินฝากอยู่ในบัญชี เราอยากใช้บัตรเพื่อความสะดวกล้วนๆ ไม่ได้ต้องการใช้ในแง่ของการกู้ยืมเงิน แต่ในบางกรณี ผมก็ใช้บัตรเครดิต ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เคลียร์หนี้บัตรทุกเดือน เพื่อไม่ให้เกิดภาระดอกเบี้ย
แต่ในบ้านเรา ปัญหาที่เกิดขึ้นคือคนใช้บัตรเครดิตเป็นแหล่งเงินกู้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้อย่างนั้น แต่ระยะหลัง ผู้ออกบัตรก็คล้ายๆ กับปิดตาข้างหนึ่ง เพราะตนเองได้ประโยชน์มหาศาล จากการที่มีผู้กู้ยืมผ่านบัตรเครดิต เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงมาก เพราะฉะนั้น ส่วนต่างหรือรายได้ที่ผู้ออกบัตรได้รับจากการที่มีผู้ใช้บริการกู้ยืมเงินผ่านบัตรเครดิตจึงสูงมาก คือ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ถ้าคุณต้องการหาแหล่งเงินกู้ คุณควรจะกู้ยืมเงินผ่านช่องทางอื่น อย่างสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งอาจจะมีเงื่อนไขการชำระที่เหมาะสมกว่า ในแง่ของระยะเวลาการผ่อน รวมถึงอัตราดอกเบี้ย
แต่ด้วยความง่าย และมันก็อาจเป็นที่พึ่งในระบบแหล่งสุดท้ายที่คนเข้าถึงเงินสดได้ในกรณีเร่งด่วน ก็เลยกลายเป็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่คือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ใช้บัตรเครดิตในการกู้ยืมเงิน และก็กลายเป็นสินเชื่อระยะยาว ซึ่งต้องถือว่าเป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีภาระดอกเบี้ยสูงมาก แล้วก็เกิดปรากฏการณ์กู้ผ่านหลายบัตร เพื่อที่จะเอาวงเงินกู้จากบัตรหนึ่งมาผ่อนอีกบัตรหนึ่ง แล้วเงินต้นก็ไม่ลดลงซะที ขณะที่ภาระดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็กลายเป็นวงจรอุบาทว์
แสดงว่าปัญหาหนี้บัตรเครดิตเกิดจากการใช้ผิดวิธี
จะพูดอย่างนั้นก็ได้ หรืออาจจะเป็นเพราะการขาดโอกาสหรือช่องทางเข้าถึงเงินช่องทางอื่นๆ คือรู้ทั้งรู้ว่ามันแพง รู้ทั้งรู้ว่ามันลำบาก แต่จะทำยังไงได้ ในเมื่อคนเราต้องการใช้เงิน สำหรับประเทศไทยคือ 2-3 แสนล้านบาทที่เป็นวงเงินกู้ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ย 10 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะ
ผมไม่อยากเหมารวมว่าทั้งหมดนี้คือคนที่ขาดวินัย เพราะบางทีคนเราไม่มีช่องทางอื่น ซึ่งก็ถือว่ายังดีกว่าไปกู้ยืมนอกระบบจากกลุ่มหมวกกันน็อกที่อาจจะทำให้มีภาระดอกเบี้ยที่สูงกว่านี้ด้วยซ้ำ
แต่ปัญหาก็คือเมื่อคนเข้าไปติดอยู่ในวัฏจักรนี้ มันค่อนข้างยากที่เขาจะหาทางเอาตัวเองออกมาได้ ซึ่งตอนที่อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี ผมก็เห็นปัญหาหนี้สินโดยรวม โดยที่ถ้าเทียบสถานการณ์ในวันนั้นกับวันนี้ วันนั้นเรามองว่าภาระหนี้สินของประชาชนถือว่าเป็นวาระสำคัญ แต่ผ่านไป 5-6 ปี ตอนนี้ปัญหานี้หนักกว่าเมื่อตอนที่เราเป็นรัฐบาลเยอะเลย เพราะตอนที่เราเป็นรัฐบาล มูลค่าของหนี้ภาคประชาชน เทียบกับรายได้ของประเทศ (GDP) ถ้าผมจำไม่ผิดคือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ณ ปัจจุบัน มันอยู่ที่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเร็วในช่วงปี 2554-2556 ส่วนหนึ่งเกิดจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 และหลังจากนั้นนักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ก็วิเคราะห์ว่าเกิดจากนโยบายของรัฐที่กระตุ้นให้คนเป็นหนี้ อย่างนโยบายรถคันแรก ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการเพิ่มมูลหนี้ภาคประชาชน
ในช่วง 5 ปีนั้นเป็นช่วงที่หนี้ครัวเรือนของคนไทยมีอัตราขยายตัวสูงที่สุดในโลก เพราะฉะนั้น ในสมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผมก็เลยพยายามแก้ปัญหานี้ ซึ่งผมมองว่าปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วนที่สุดคือหนี้นอกระบบ ตอนนั้นก็ออกมาตรการที่จะโอนหนี้ที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบธนาคารของรัฐ ซึ่งเวิร์กมาก ตอนนั้นมีคนมาขึ้นทะเบียนประมาณ 1 ล้านคน แล้วเราก็คัดประเภทหนี้และตรวจดูว่า หนึ่ง เป็นหนี้ที่มีจริงไหม สอง เป็นหนี้ประเภทไหน เพราะหนี้การพนันเราไม่ช่วย และสามคือเขามีโอกาสในการชำระคืนธนาคารที่รับหนี้ของเขามาหรือไม่ ซึ่งก็ปรากฏว่าภายใน 1 ปี เราช่วยคนได้ประมาณ 5 แสนคน สำหรับวงเงินเฉลี่ยที่ประมาณ 1 แสนบาทต่อคน ตอนนั้นก็ช่วยคนไปได้เยอะ
ในบรรดาหนี้ หนี้นอกระบบคือหนี้ที่น่าเป็นห่วงที่สุด?
ใช่ ในสมัยนั้น ถ้ากู้ยืมจากญาติพี่น้องเพื่อนฝูง อัตราดอกเบี้ยอาจจะเดือนละ 2 เปอร์เซ็นต์ แต่บางทีมันสูงถึงเดือนละ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 20 เปอร์เซ็นต์คงไม่มีใครอยู่ได้ ถ้าคุณร้อนเงินจริงๆ และคุณมั่นใจว่าภายใน 1 เดือน คุณจะมีเงินเคลียร์หนี้ ก็อาจจะโอเค แต่เมื่อเข้าไปติดกับดักแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเอาตัวเองออกมาจากสถานการณ์นั้นได้ เราก็เลยยื่นมือไปช่วย ตอนนั้นผมก็คุยกับธนาคารของรัฐ บอกเขาว่าคุณลองคิดดอกเบี้ยเขาเดือนละ 1 เปอร์เซ็นต์ คือถ้าเขาเคยผ่อนชำระหนี้เดือนละ 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ 20 เปอร์เซ็นต์ สำหรับเขา 1 เปอร์เซ็นต์ เขาน่าจะทำได้ วิธีการของเราตอนนั้นคือเขาต้องเอาเจ้าหนี้มาด้วย แล้วธนาคารของรัฐโอนเงินให้กับเจ้าหนี้โดยตรง ไม่ได้ผ่านมือลูกหนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงว่าเขาจะไปสร้างหนี้เพิ่ม
ขณะที่ทำ เราก็ศึกษาว่าขั้นตอนต่อไปที่ควรจะหาวิธีช่วยเหลือ คือหนี้บัตรเครดิต เพราะเมื่อพูดถึงหนี้ในระบบ หนี้บัตรเครดิตโหดร้ายที่สุด เพราะฉะนั้น เราก็ตั้งใจไว้ตั้งแต่ตอนนั้น สิ่งแรกที่ทำคือเข้าไปดูเรื่องกฎหมาย ตอนนั้นเราก็เสนอพระราชบัญญัติ ตัวอย่างเช่น ทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม กติกาวิธีการทวงถามหนี้ รักษาสิทธิ์ของลูกหนี้ แล้วก็พยายามร่างพระราชบัญญัติบัตรเครดิต เพราะก่อนหน้านั้นไม่มีกฎหมายที่ดูแลเรื่องบัตรเครดิตโดยเฉพาะ แล้วก็มีประเด็นเรื่องวิธีการคำนวณดอกเบี้ยของบัตรเครดิตด้วย ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณมีหนี้อยู่ 100 คุณชำระไป 80 คุณเหลือหนี้อยู่ 20 ดอกเบี้ยที่คุณเสีย ตามตรรกะเหตุผล มันควรจะเป็นดอกเบี้ยในส่วนของ 20 ที่ยังค้างชำระ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ ตราบใดที่ยังมีส่วนที่ค้างชำระ เขาเก็บดอกเบี้ยจากหนี้เดิมเต็มจำนวน ซึ่งเราก็มองว่าอธิบายอย่างไร มันก็ฟังไม่ขึ้น
นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่ทำ ซึ่งก็ทำไปได้บางระดับ รัฐบาลปัจจุบันก็มาทำต่อบ้าง ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำกันต่อไป
หลังจากนั้น ผมก็ได้พบกับกลุ่มผู้ก่อตั้งรีฟินน์ (Refinn) ซึ่งเขาก็เสนอไอเดียว่าเขาไปจับมือกับเด็กบางมดกลุ่มหนึ่งที่ไปประกวดในโครงการของธนาคารกรุงศรีอยุธยา แล้วก็นำแอปพลิเคชันมาประยุกต์ใช้กับการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล เพื่อนำไปสู่การรีไฟแนนซ์หนี้ ตอนแรก เด็กกลุ่มนี้เขาก็พยายามคิดหาวิธีที่จะใช้แอปพลิเคชันนี้กับหนี้บัตรเครดิต แต่มันยังไม่ตรงจุดเท่ากับการนำไปใช้กับการรีไฟแนนซ์หนี้บ้าน เพราะหนี้บ้านคือหนี้ในระบบก้อนใหญ่ที่สุด ถ้าแบ่งตามประเภท มันมีมูลค่าโดยรวมในระบบประมาณ 3 ล้านล้านบาท
สำหรับคนส่วนใหญ่ที่กู้เงินมาซื้อบ้าน นี่คือหนี้ก้อนใหญ่ที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าเราลดภาระหนี้ส่วนนี้ได้ มันก็น่าจะมีผลต่อเงินในกระเป๋าของคนจำนวนมากได้มากที่สุดเช่นเดียวกัน และตามข้อเท็จจริง เราก็พบว่าถึงแม้มูลหนี้ในระบบคือ 3 ล้านล้านบาท แต่มีการรีไฟแนนซ์ในแต่ละปีค่อนข้างน้อย คือประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วน้อยมาก เราก็ตั้งคำถามว่าเป็นเพราะอะไร ทั้งที่ทุกธนาคารพยายามแข่งกันด้วยการเสนอรีไฟแนนซ์ แต่ทำไมจำนวนรีไฟแนนซ์ถึงน้อย
เราก็มีสมมติฐานจากการสำรวจของเราว่า หนึ่ง ลูกหนี้อาจจะไม่ค่อยรู้ แม้แต่คนที่ถือว่าตัวเองมีความรู้พอสมควร พอพูดเรื่องรีไฟแนนซ์ก็ไม่ค่อยเข้าใจว่ามันคืออะไร หรือไม่รู้ว่ามันมีรีไฟแนนซ์ด้วยหรือ หรือถ้าเข้าใจก็อาจจะไม่มีเวลาบ้าง ขี้เกียจบ้าง หรือเข้าไม่ถึงข้อมูล ไม่ได้รับรู้ข้อเสนอต่างๆ ที่ธนาคารพาณิชย์ไทย 15 แห่งมีให้กับเขา และแม้จะเข้าถึงข้อมูล เขาก็ไม่มีความสามารถในการนำข้อเสนอ 10 กว่าข้อเสนอมาคำนวณเปรียบเทียบได้ว่าข้อเสนอใดดีที่สุด เราก็เลยบอกว่า โอเค โปรแกรมที่เขียนขึ้นมามันตอบโจทย์นี้ เพราะเรามีโปรโมชันของทุกธนาคารมารวมไว้ในที่เดียวกัน แล้วก็คำนวณตามเงื่อนไขการกู้ยืมของลูกหนี้ว่าในช่วงใดช่วงหนึ่ง โปรโมชันใดดีที่สุดสำหรับเขา แล้วก็ช่วยนำพาลูกหนี้ไปสู่ธนาคารผู้เสนอโปรโมชันนั้น ซึ่งที่ผ่านมาประมาณ 7 เดือน ก็มีคนเข้ามาในระบบของเราประมาณ 2 แสนคน ซึ่งเยอะมาก แต่ปัญหาก็เหมือนกับทุกสตาร์ทอัพ คือเรื่อง conversion rate การเปลี่ยนจาก 2 แสนคนที่สนใจ เป็น 2 แสนคนที่ได้รับการรีไฟแนนซ์จริง เป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุด
ถ้าเราสนใจโปรโมชันของธนาคารแห่งหนึ่ง เราก็ไปที่ธนาคารแห่งนั้นด้วยตัวเอง ไม่ต้องทำผ่านรีฟินน์ คือใช้รีฟินน์เป็นแค่แหล่งข้อมูล ทำแบบนั้นได้ไหม
ได้ครับ ก็มีคนทำอย่างนั้น ซึ่งเราก็ตระหนักว่าเขาอาจจะใช้เราเป็นแหล่งข้อมูลเท่านั้น จริงๆ แล้วผมไม่ได้คิดมาก คือแน่นอนว่าเมื่อทำแล้ว เราก็หวังว่ามันจะประสบความสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมาก็โอเค แต่โดยส่วนตัว ผมต้องการเพียงแค่กระตุ้นให้คนเข้าถึงข้อมูล แล้วก็คนรับรู้ในสิทธิและโอกาสที่ตัวเองมี แต่เราก็มีกลเม็ดนิดหนึ่ง คือสามธนาคารแรกที่เงื่อนไขดีที่สุด เราไม่ได้เปิดเผยชื่อ คือคุณต้องเข้าไปในขั้นตอนถัดไป คุณถึงจะรู้ว่าที่ดีที่สุดอันดับหนึ่ง สอง สาม คือธนาคารอะไร และเมื่อคุณเข้าไปตรงนั้นแล้ว ไม่ว่าหลังจากนั้นคุณจะเดินไปที่ธนาคารหรือคุณจะทำผ่านรีฟินน์ เราก็ได้ค่าคอมมิชชันจากธนาคาร
สุดท้ายแล้วเราได้จากธนาคาร เราไม่เคยเก็บจากลูกหนี้ เพราะจุดเริ่มต้นของเราคือ หนึ่ง เราต้องเป็นพื้นที่ที่เป็นกลาง เราไม่ได้ทำงานให้ธนาคารใดธนาคารหนึ่ง เพราะฉะนั้น ลูกหนี้ที่เข้ามาจะรู้ว่าเราไม่มีความลำเอียง และสอง เราไม่ได้ทำเงินกับลูกหนี้ ทั้งหมดที่เราทำคือลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ แล้วเราเก็บค่าคอมมิชชันจากธนาคารที่รับลูกหนี้ไปรีไฟแนนซ์
ประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับจากการรีไฟแนนซ์คืออะไร
เรากำลังพูดถึงการเพิ่มเงินในกระเป๋าจำนวนหลายพันถึงเป็นหมื่นบาทต่อเดือน คือเมื่อพ้น 3 ปีแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่อาจจะเป็นอัตราโปรโมชันใน 3 ปีแรก แทนที่จะปรับไปเป็น 7-8 เปอร์เซ็นต์ เขาสามารถรีไฟแนนซ์ไปที่ 4-5 เปอร์เซ็นต์ สมมติว่ามูลหนี้ 2-3 ล้านบาท ส่วนต่าง 2-3 เปอร์เซ็นต์มันเยอะมาก ระยะเวลา 20 ปีก็คิดเป็นเงินหลักล้าน เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือประหยัดได้เดือนละหลายพันบาท มันเปลี่ยนชีวิตคนได้เลย คุณลองนึกภาพดูก็ได้ สมมติว่าครัวเรือนหนึ่งอาจจะทำงานกัน 2 คน รายได้ของครัวเรือนคือ 50,000 บาท แล้วคุณประหยัดภาระดอกเบี้ยได้เดือนละ 5,000 บาท มันเป็นจำนวนที่มากนะ มันเปลี่ยนจากพออยู่ได้เป็นอยู่สบายได้เลย นี่คือสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นสิทธิ์ของเขาอยู่แล้ว เพียงแต่ด้วยเหตุผลต่างๆ นานาในอดีต ทำให้เขาเข้าไม่ถึงข้อมูล
ที่ผ่านมา เจอปัญหาอะไรบ้าง
เจอทุกอย่าง มันก็มีปัญหาที่ต้องค่อยๆ แก้ เอาเข้าจริง เราก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เราคิดว่าธนาคารก็แข่งกันอยู่แล้ว เราไม่ได้ไปแข่งกับธนาคาร เราเพียงแต่ช่วยชี้ให้ลูกค้าไปถูกที่เท่านั้นเอง ถามว่าธนาคารพอใจไหม ไม่พอใจ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งธนาคารก็อาจจะมองว่าเขาไม่อยากให้มีการแข่งขันที่โปร่งใสและชัดเจนมากถึงขนาดนี้ สมมติว่าธนาคารเสนอโปรโมชัน บางทีโปรโมชันที่เขาประกาศ ไม่ใช่โปรโมชันที่ดีที่สุด โปรโมชันที่ดีที่สุด เขากั๊กเอาไว้ กั๊กเอาไว้ให้กับใคร ให้กับลูกค้าที่อาจจะกำลังหนีเขา หรือลูกค้าที่ดีของเขา แต่เขาไม่ได้อยากเปิดเงื่อนไขที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าทุกคนรู้เท่ากัน คือธนาคารจะมีกลเม็ดของเขา ซึ่งเขาก็ไม่ได้อยากให้มันมีแสงสว่างหรือมีการเปิดเผยเงื่อนไขทั้งหมดของเขา
ผมเข้าใจเขานะ ที่เป็นประเด็นสำหรับเขาที่สุดก็คือเขาเสนอเงื่อนไขรีไฟแนนซ์ดีๆ เพื่อที่จะดึงลูกค้าจากธนาคารอื่น จริงๆ แล้วเขาไม่ได้คิดหรอกว่าอยากให้ลูกค้าของเขามาขอลดดอกเบี้ยในเงื่อนไขเดียวกัน เพราะเขาถือว่านั่นคือของที่อยู่ในมือ เพราะฉะนั้น บางครั้งสิ่งที่เราพบก็คือมีลูกค้าของธนาคารมาเข้าระบบรีฟินน์ พอเราส่งชื่อเขาไปที่ธนาคารของเขา บางธนาคารจะตั้งแง่ คล้ายๆ กับดึงเรื่อง คือไม่อยากลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้าของเขาอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น ความยากของเราส่วนหนึ่งก็คือสุดท้ายแล้ว เราต้องพึ่งการตัดสินใจของธนาคารอยู่ดี ข้อดีก็คือ มันมีการแข่งขันกันอยู่จริงในระบบธนาคาร เพราะมีอยู่ 10 กว่าธนาคาร ทั้งธนาคารใหญ่ ธนาคารกลาง ธนาคารเล็ก ซึ่งเงื่อนไขการแข่งขันจะต่างกัน มีทั้งธนาคารที่ผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยและธนาคารที่ผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างชาติ ซึ่งก็มีวิธีคิดและยุทธศาสตร์ในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกัน มีต้นทุนทางการเงินแตกต่างกัน และที่สำคัญก็คือมีธนาคารอีกกลุ่มหนึ่ง คือธนาคารที่เป็นของรัฐ ซึ่งมีพันธกิจในการช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว อย่างธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารออมสิน ซึ่งมีต้นทุนทางการเงินไม่สูง แถมพันธกิจของเขาส่วนหนึ่งก็คือการช่วยเหลือประชาชน เพราะฉะนั้น เขาก็มองว่าเราเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงประชาชนที่เขาอยากจะเข้าถึงเพื่อช่วยเหลืออยู่แล้ว
สุดท้ายแล้ว เราทำธุรกิจกับทุกธนาคาร แต่ท่าทีของแต่ละธนาคารตามจังหวะเวลาจะต่างกัน ซึ่งนี่คือข้อดีของการที่ลูกค้ามาที่รีฟินน์ เพราะถ้าลูกค้าไปที่ธนาคาร ลูกค้าอาจจะได้รับคำตอบจากธนาคารในมิติของธนาคารนั้นในจังหวะนั้น แต่ถ้าเขามาที่รีฟินน์ เราจะบอกเขาเลยว่าตอนนี้ธนาคารนี้กำลังมีโปรโมชัน หรือตอนนี้ธนาคารนี้เขาไม่รับ เราเหมือนกับเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีป้ายราคาของผู้ผลิตทุกเจ้าติดประกาศให้คนรับรู้ในที่เดียวกัน
บริการสินเชื่อลดภาระหนี้ (บ้านแลกเงิน) ซึ่งเป็นบริการล่าสุดของรีฟินน์ มีที่มาอย่างไร
พอทำเรื่องรีไฟแนนซ์บ้าน เราก็เริ่มคิดในมิติอื่นๆ เช่น ในอนาคต เราคิดว่าผู้ที่จะใช้ประโยชน์จากรีฟินน์อาจจะไม่ใช่เพียงแค่ธนาคาร คือเราพยายามเสนอตัวเองเป็นพาร์ตเนอร์กับธนาคาร ไม่ใช่เป็นคู่แข่งหรือไม่ได้ต้องการขัดขวางการทำธุรกิจของเขา แต่ในอนาคต อีกหนึ่งพาร์ตเนอร์ของเราคือ non-bank ที่อาจจะอาศัยเทคโนโลยีในการเข้ามาทำธุรกิจการธนาคารบางประเภท อย่างเรื่องการชำระเงิน เขามาแล้ว เช่น อาลีเพย์ (Alipay)
อีกเรื่องหนึ่งที่ในอนาคตเขาจะต้องสนใจแน่นอน คือเรื่องสินเชื่อ และสินเชื่อที่ปลอดภัยมั่นคงที่สุด ก็คือสินเชื่อบ้าน คราวนี้สมมติว่าคุณเป็น non-bank ไม่มีสาขา ไม่มีอะไรเลย คุณจะเข้าถึงลูกค้าได้อย่างไร คุณก็ใช้รีฟินน์เป็นเครื่องมือ ซึ่งถึงวันนี้ อย่างน้อยเราบอกคุณได้แล้วว่ามี 2 แสนคนที่เขาสนใจเรื่องนี้ เขาเป็นใครบ้าง ซึ่งมันก็อาจจะทำให้ non-bank เข้ามาแล้วแข่งขันได้เลยทันที ไม่ต้องมีสาขา ไม่ต้องมีอะไรทั้งสิ้น นี่คือยุทธศาสตร์ในก้าวต่อไปของเรา
ส่วนที่ว่ามาโยงกับบัตรเครดิตได้อย่างไร สิ่งที่เราพบก็คือมีคนจำนวนมากที่มีบ้านโดยไม่มีสินเชื่อ คือปลอดสินเชื่อ หรือมีการกู้ซื้อบ้าน โดยที่ส่วนมูลค่าของบ้านมันเกินมูลหนี้ไประดับหนึ่ง ไม่ว่าจะปลอดหนี้หรือจะยังมีส่วนมูลค่าที่เกินมูลหนี้ เราสามารถเอาส่วนนั้นมาแปลงเป็นเงิน เพื่อที่จะเอาเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า เพราะมีบ้านเป็นหลักประกันไปรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต ซึ่งเป็นหนี้ที่แพงที่สุดในระบบ เราก็เลยติดต่อกับสถาบันการเงินที่สนใจจะทำธุรกิจนี้อยู่แล้ว เหมือนกับเราเป็นเอเยนต์ คุณมีวงเงินเท่าไร เขาก็บอกว่ามี 3-4 หมื่นล้าน เงื่อนไขของคุณคืออะไร เขาก็จะกำหนดมาว่าหนี้สินต้องไม่เกินกี่เท่าของรายได้ มูลค่าของบ้านต้องไม่ต่ำกว่ากี่เปอร์เซ็นต์ของมูลหนี้โดยรวม เงื่อนไขสำคัญๆ ประเภทนี้ แล้วเราก็จัดทำโปรโมชันผ่านระบบของเรา คนก็สามารถเอาบ้านของตนมาแปรเป็นเงิน เพื่อนำไปชำระหนี้ ซึ่งมันเป็นประโยชน์มหาศาล เพราะกับสถาบันการเงินที่เราติดต่อ แล้วแต่ระดับความเสี่ยงของผู้กู้ยืม อัตราดอกเบี้ยมันอยู่ระหว่าง 5.5-9 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับหนี้บัตรเครดิต ถ้าบวกค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้วคือ 20-26 เปอร์เซ็นต์ มันประหยัดเงินได้เยอะมาก เนื่องจากการกู้ยืมด้วยบ้านเป็นการกู้ยืมระยะยาว ระยะเวลาการผ่อนชำระมันก็ถูกยืดออกไป ก็เลยทำให้ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนมันน้อยลงไปด้วย
ตอนเจรจากับธนาคาร เขาชอบไอเดียนี้หรือไม่
เขาชอบ บางธนาคารเขาก็ทำธุรกิจนี้อยู่แล้ว มุมมองของธนาคารที่มีต่อเราคือเราช่วยประหยัดค่าทำการตลาดให้กับเขา ส่วนแบ่งค่าคอมมิชชันที่ให้กับเรา มันต่ำกว่าต้นทุนของเขาเยอะมาก ถ้าเขาทำการตลาดเอง
บริการใหม่มีผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง
เรามีรายได้แล้ว เกือบจะตั้งแต่วันแรกเลย ซึ่งปกติสตาร์ทอัพจะไม่มี คือยังไม่ได้กำไร แต่มีรายได้ แล้วก็มีฐานข้อมูลเยอะขึ้นทุกวัน ซึ่งตรงนี้มีค่ามาก ในอนาคต มันจะเป็นประโยชน์ต่อเราในการประเมินวิธีการช่วยลดภาระให้กับประชาชนต่อไป แต่เราก็มีเงื่อนไขของเรา คือเป้าหมายของเราตั้งแต่แรกคือเพิ่มความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้ที่ติดต่อเข้ามาหาเรา เพราะฉะนั้น ไม่มีวันที่เราจะขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลิตภัณฑ์เงินกู้ มีแต่จะเสนอทางเลือกเรื่องการลงทุนให้กับเขา ซึ่งเรื่องนี้พอเป็นไปได้
มีลูกค้าที่ไม่ผ่านการพิจารณาจากธนาคารบ้างไหม
มีอยู่แล้วครับ ซึ่งเราก็พยายามกรอง เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเกณฑ์ในแง่ของเครดิตเป็นอย่างไร แต่ตอนที่ลูกค้าให้ข้อมูลเรื่องหนี้สินกับเรา เขาอาจจะบอกไม่หมด พอไปถึงธนาคาร ธนาคารเขาเช็กผ่านเครดิตบูโร เขาก็จะได้ข้อมูลที่แท้จริง ซึ่งมันก็อาจไม่ตรงกับที่เรารับรู้มาแต่แรก ก็เลยอาจจะทำให้การพิจารณาตกไป หรือบางทีเขาควรจะผ่าน แต่เงื่อนไขของธนาคารทำให้เขาไม่ผ่านการพิจารณา กลุ่มนี้ก็มีไม่น้อย ซึ่งในขั้นตอนต่อไป ผมเพิ่งประชุมกันว่าเราต้องหาคำตอบให้กับกลุ่มนี้ให้ได้
กลุ่มนี้คือใคร เรื่องนี้น่าสนใจมาก และผมมองว่าเป้าหมายของเราคือช่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ก็คือกลุ่มที่กู้ยืมมา 3 ปี ไม่เคยผิดนัดชำระ ไม่ได้มีปัญหากับเครดิตบูโร ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ประเภทไหนเลย แต่ไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งตามตรรกะแล้ว หนึ่ง เขาได้พิสูจน์ตัวเองแล้วในสายตาของเรา สอง เขาคืนหนี้ไปแล้วบางส่วน เพราะฉะนั้น มูลหนี้ของเขาลดลงด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับวันที่เขากู้แต่แรก เขาน่าจะมีความเสี่ยงน้อยลง แต่ปรากฏว่าทำไมธนาคารไม่ยอมรับ ซึ่งเมื่อเราวิเคราะห์ในประเด็นนี้ก็พบว่าเป็นเพราะระหว่างทาง เขาไปเพิ่มหนี้ประเภทอื่น เขาอาจจะไม่เคยผิดนัดชำระ แต่ความเสี่ยงของเขาเพิ่มขึ้น อาจจะซื้อรถเพิ่ม หรือกู้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือรายได้ของเขาลด หรือมีหนี้เพิ่ม แต่รายได้ไม่เพิ่ม ทำให้สัดส่วนหนี้กับรายได้มันเริ่มสะท้อนความเสี่ยงที่สูงขึ้น และโดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดี ธนาคารอาจจะระมัดระวังมากขึ้น
อย่างไรก็แล้วแต่ ผมก็ยังรู้สึกว่าเราต้องหาวิธีช่วยกลุ่มนี้ให้ได้ เพราะกลุ่มนี้คือกลุ่มที่มีภาระน้อยลง และมันมีผลต่อชีวิตของเขามากที่สุด คนที่มีบ้านหลังละ 40-50 ล้าน ช่วยได้ก็ดี แต่คนที่ช่วยแล้วมีผลต่อสังคม มีผลต่อครอบครัวของเขาจริงๆ คือคนที่กู้ 2-3 ล้านบาทนี่แหละ และสามารถประหยัดได้เดือนละ 3,000-4,000 บาท
แวดวงสตาร์ทอัพของไทยตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
โอเค คุณดูพาดหัวหนังสือพิมพ์วันนี้ (15 มิถุนายน) ‘ดันไทยเป็นผู้นำฟินเทค’ นี่คือปาฐกถาของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นเรื่องดีที่ผู้นำทางการเมืองเห็นความสำคัญ แต่ปัญหาคือยังไม่เห็นว่าแล้วท่านจะทำอะไรเพื่อให้เราเป็นผู้นำฟินเทค
ตามข้อเท็จจริงคือเราเสนอไปแล้ว และที่เสนอก็แค่เสี้ยวเดียวของสิ่งที่ประเทศเพื่อนบ้านเขาทำ อย่างเรื่องเงินที่ภาครัฐสนับสนุน สิงคโปร์ กระทรวงการคลังสนับสนุนฟินเทคประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเลเซียให้งบประมาณปีละประมาณ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของไทยที่สมาคมฟินเทคประเทศไทยขอรัฐบาล แล้วยังไม่ได้ คือประมาณ 700,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเขาอาจจะพิจารณาให้แค่ 1 ปีด้วย ไหนๆ เราพูดถึงเรื่องเงิน เราก็วัดด้วยเงิน สิ่งที่จับต้องได้
แล้วรัฐก็ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee) สมาคมฟินเทคฯ ก็ขอเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งก็โอเค แต่ประเด็นคือพอเข้าไป สิ่งที่เราเห็นคือมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเยอะมาก คนที่เข้าใจประเด็นของท่านสมคิดจริงๆ มีไม่กี่คน คือมันไม่มีเอกภาพ แต่ก็มีหลายคนที่เขาเห็นความสำคัญ แม้แต่ สนช. ก็ทำงานใกล้ชิดกับเราในการรับฟังว่ามีประเด็นทางกฎหมายที่ควรแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อเปิดทางให้ฟินเทคเกิดขึ้นได้ ซึ่งสำคัญมาก แบงก์ชาติกับ กลต. ก็ตื่นตัว แต่การขับเคลื่อนโดยรวมถือว่าช้า
คุณกรณ์มีหนี้บ้างไหม
ไม่มี ผมคิดว่าผมมีเครดิตนะ แต่ผมไม่มีหนี้ คือผมไม่ใช่คนธรรมดา หมายความว่าตั้งแต่เล็ก ผมเป็นคนที่มีวินัยทางการเงินสูงมากคนหนึ่ง คนที่เข้าใจผมผิด บางทีเขาจะหาว่าผมเค็ม แต่คนที่รู้จักผมดีจะรู้ว่าไม่ใช่ เพราะผมจะไม่ลังเลกับการใช้เงินในหลายๆ เรื่อง อย่างการช่วยเหลือคน หรือกับตัวเองก็คือจะไปกินที่ไหน จะไปเที่ยวที่ไหน อะไรต่ออะไร ก็คือเต็มที่ เพียงแต่ผมจะใช้ในระดับที่ไม่ทำให้เป็นภาระ หรือมีความเสี่ยงต่อผมและครอบครัวในทุกกรณี แม้แต่การเข้ามาทำงานการเมือง ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าทำให้คนหมดตัวไปแล้วตั้งกี่คน มีแต่จ่าย ไม่มีรับ ผมก็ให้คำมั่นไว้กับภรรยา บอกว่าเชื่อผม ผมจะบริหารให้ครอบครัวไม่เดือดร้อน แล้วผมก็ทำอย่างนั้นมาโดยตลอด
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะอีกขาหนึ่ง ผมเน้นหนักเรื่องการลงทุน เงินที่ผมมี มันจะไม่อยู่เฉยๆ มันจะต้องมีการนำไปขยายผล แล้วผมก็กำหนดเป้าไว้ในแง่ของความเสี่ยงที่ผมรับได้ทางด้านการลงทุน เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงอยู่แล้ว มันเป็นของคู่กัน โดยการประเมินว่าวงเงินที่ผมต้องใช้ ภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดของผมในแต่ละปี มันจะอยู่ในระดับประมาณเท่าไร เพื่อที่จะทำให้ลูกผมไปเรียนหนังสือได้ ภรรยาผมมีชีวิตที่มีความสะดวกสบายในระดับที่พอควร และพอผมรู้ว่าผมต้องใช้เงินเท่าไร ผมก็กลับมาดูว่าทั้งทรัพย์สินและเงินที่ผมสามารถนำไปลงทุนได้ ผมมีประมาณเท่าไร จากนั้นก็จะคำนวณได้ว่าผมต้องรับความเสี่ยงประมาณเท่าไร ผมถึงจะได้ผลตอบแทนในระดับที่ผมมีความจำเป็นจะใช้ แล้วถ้าผมประเมินว่ามันเป็นระดับความเสี่ยงที่ผมน่าจะบริหารจัดการได้ ก็โอเค ในระยะหลัง ผลตอบแทนที่เป็นไปได้ ตามความเสี่ยงที่เหมาะสม มันต่ำลง ผมก็ต้องไปปรับขาการใช้จ่าย ต้องบอกภรรยาว่าเราอาจจะใช้เหมือนกับสองปีก่อนไม่ได้นะ เพราะว่าแนวโน้มผลตอบแทนจากการลงทุนมันอาจจะสู้สองปีที่แล้วไม่ได้
มันต้องเป็นการดูทั้งสองขา คือขารายได้กับขารายจ่าย คุณจะดูขาใดขาหนึ่งเท่านั้นไม่ได้ แล้วผมก็ต้องถือว่าโชคดีที่มีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัวได้ ก็เลยไม่เคยจำเป็นจะต้องมีหนี้ แต่คนที่เขามีทรัพย์สินเงินทองมากกว่าผมและเป็นหนี้ด้วยก็มีเยอะ เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่คน ต้องอยู่ในความพอดี ผมขอใช้คำนี้ดีกว่า อย่าใช้เงินเกินตัว
จะแก้ปัญหาหนี้ของคนไทยได้อย่างไร
ก็อย่างที่ผมบอกว่าต้องมีทั้งสองส่วน คือส่วนขารายได้และส่วนขารายจ่าย รวมทั้งเรื่องของความรู้และการปลูกฝังเรื่องวินัย ทุกอย่างมันต้องไปด้วยกัน คุณจะเพียงแค่ยกหนี้ให้เขาเหมือนกับที่หลายรัฐบาลทำก็ไม่เคยแก้ความยากจนได้สักที เขาก็กลับไปก่อหนี้เพิ่ม และถ้าโอกาสในการทำมาหากินหรือรายได้ไม่สูงขึ้น ก็มีแต่จะก่อหนี้ขึ้นมาเพิ่มเติม
เรื่องค่านิยมเป็นสิ่งสำคัญ ทำไมครูจึงเป็นหนี้เยอะมาก คำตอบส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเขามีเครดิตทางสังคม พูดง่ายๆ คือเขากู้ได้ พอกู้ได้ก็เลยกู้ อีกส่วนคือเรื่องค่านิยมที่มีค่าใช้จ่ายทางสังคมสูงเหมือนกัน ไปงานนั้นงานนี้ก็ต้องใส่ซอง ตอนที่ผมเป็น ส.ส. ผมก็เห็น ลูกบวชลูกแต่ง ชาวบ้านก็คาดหวังอยู่แล้วว่าจะต้องมีการใส่ซองเมื่อเราได้รับเชิญ แต่อีกมิติหนึ่งคือชาวบ้านกู้ยืมเงินมหาศาลเพื่อรักษาสถานะทางสังคม หรืออาจจะใช้คำว่าหน้าตาในงานประเพณีต่างๆ ซึ่งมันเป็นภาระทั้งสิ้น ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่อง ทำแต่พอดีก็น่าจะพอแล้ว แต่เขาไม่ได้คิดเหมือนเรา ก็ต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนกันไป
Tags: สตาร์ทอัพ, หนี้ส่วนบุคคล, Fintech, หนี้บัตรเครดิต, กรณ์ จาติกวณิช, หนี้รถยนต์, หนี้ครัวเรือน, หนี้จากการขายฝาก, ฟินเทค, รีฟินน์, Refinn, บริการสินเชื่อลดภาระหนี้, บ้านแลกเงิน, รีไฟแนนซ์, บริการรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัย