“หอพักของเราอยู่แถวสถานีรถไฟเชียงใหม่ เวลามองออกมาจากระเบียงจะเห็นดอยสุเทพพอดี ปีนี้มีข่าวไฟป่ารุนแรงกว่าทุกปี มองจากหอเห็นไฟลามแดงเลย รู้สึกว่าเราอยู่เฉยไม่ได้แล้ว” เปรมวดี วงค์ประเสริฐ หรือ ส้มจีน นักศึกษาสาววัย 23 ปี บอกถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทจากการ ‘นั่งมองดู’ สู่ ‘การลงมือทำ’
“ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันทำให้ผมเห็นคนสี่ประเภทในสังคม คือ คนที่นั่งดูปัญหา คนที่บ่นปัญหา คนที่หนีปัญหา และคนที่แก้ปัญหา ถ้าเราอยากช่วยดับไฟ เราต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง” สหัสศวรรษ เนตรตระสูตร หรือ ต่อ ชายหนุ่มวัย 37 ปี บอกถึงเหตุผลที่เข้าร่วมเป็นจิตอาสาดับไฟป่ามานานกว่าสามปี
แม้ว่าไฟป่าจะดับลงแล้ว แต่ภารกิจของจิตอาสายังคงเดินทางหน้าต่อเพื่อเตรียมรับมือกับไฟป่าในครั้งต่อไป ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บรรดาจิตอาสารุ่นเก่าและใหม่มีนัดมาเจอกันที่วัดผาลาด ทางขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขุดลอกฝายกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งเพื่อให้ผืนป่าฟื้นตัวเป็นบ้านให้สัตว์ป่าได้พักพิง พวกเขารวมตัวกันในชื่อกลุ่ม Go With Goodwill เพื่อขับเคลื่อนพลังเล็กๆ จากหนึ่งสมองและสองมือเพราะอยากเห็นเมืองเชียงใหม่กลับมาเป็นเมืองที่มีอากาศสดใสเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ภารกิจดับไฟป่า
“ไฟป่าต้องดับด้วยความรู้และสติ ไม่งั้นเราจะตายคนแรก” อมลพร หมอกแก้ว หรือ แนน จิตอาสาวัย 24 ปี เข้าร่วมติดตามลงพื้นที่ดับไฟป่ากับทีม ‘เสือไฟ’ ของเจ้าหน้าที่อุทยานมาหลายครั้งจนรู้ดีว่า ทุกก้าวย่างที่เดินเข้าหาไฟมีอันตรายมากเพียงใด
การทำงานของจิตอาสาดับไฟป่านอกจากใจเต็มร้อย ร่างกายแข็งแรงไม่เป็นภาระใคร ยังต้องมีทักษะองค์ความรู้เกี่ยวกับ ‘ป่า’ และ ‘ไฟ’ ควบคู่กันไปเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ งานจิตอาสาลงพื้นที่ดับไฟป่าจึงไม่ใช่งานที่ทุกคนจะมาด้วยหัวใจโลกสวยเพียงอย่างเดียว
ชายหนุ่มผู้มีประสบการณ์ติดตามทีมเสือไฟเข้าไปดับไฟป่าหลายครั้งกล่าวถึงประเภทของงานจิตอาสาว่าแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มจิตอาสาแนวหน้า กับ กลุ่มจิตอาสาแนวหลัง ซึ่งประเมินจากความพร้อมในสามเรื่อง
“เรื่องแรก ต้องรู้ตนเองก่อน ถ้ามีใจเต็มร้อย แต่ร่างกายเดินป่าไม่ไหว จะกลายเป็นภาระและอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต เวลาลงพื้นที่เจ้าหน้าที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างเดียว เพราะใจเขาอยู่กับไฟ เราต้องเดินตามให้ทัน สอง ต้องรู้จักป่า สังเกตทาง สังเกตทิศ ป่ากลางวันกับกลางคืนไม่เหมือนกัน สาม ต้องรู้จักธรรมชาติไฟป่า รู้เขารู้เรา ต้องรู้ว่าตอนนี้คุณอยู่ด้านไหนของไฟเพื่อถอยให้ทัน เพราะไฟป่าจะเปลี่ยนทิศทางไปตามลม”
ไฟป่าไม่สามารถดับได้ด้วยน้ำ แต่ดับได้ด้วย ‘แนวกันไฟ’ ที่มีระยะกว้างอย่างน้อย 8 เมตรเพื่อไม่ให้ไฟลุกลามข้ามมาอีกฝั่ง นักดับไฟป่าจึงต้องมีทักษะและอุปกรณ์ทำแนวกันไฟติดตัวเพื่อพาตนเองหนีให้รอดยามเผชิญหน้ากับไฟ ทว่า หากกิ่งไม้หักโค่นลงมาข้ามแนวกันไฟเมื่อไหร่ นั่นหมายความว่า พวกเขามีความเสี่ยงว่าจะถูก ‘ไฟล้อม’ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้นักดับไฟป่าเสียชีวิตไปแล้วหลายคน
“ถ้าไฟวิ่งมาหาเรา สิ่งแรกที่ต้องทำคือการลากแนวเบี่ยงหน้าดินด้วยคราดตื้นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟเข้ามาถึงเรา พอเจอแนวเบี่ยง ไฟจะหันหัวไปตามแนวที่เราเปิดทางไว้ ระหว่างนั้นจะมีเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งไปทำแนวกันไฟกว้าง 8 เมตรดักรออยู่ด้านหน้าก่อนที่หัวไฟจะวิ่งไปทางนั้น”
ชายหนุ่มเล่าเหตุการณ์เสี่ยงอันตรายเมื่อต้องเผชิญหน้ากับไฟป่าในระยะประชิดพร้อมกับเจ้าหน้าที่รวม 6 คนว่า
“ตอนนั้นไฟลามขึ้นข้างบนอยู่ห่างจากเราประมาณ 10 เมตรเท่านั้น เราต้องช่วยกันเอาคราดเปิดหน้าดินขวางเอาไว้เพื่อป้องกันไฟไม่ให้ข้ามมาทางพวกเรา แล้วเอาผ้าชุบน้ำนอนหมอบลงเพื่อไม่ให้สำลักควัน รอจนกว่าไฟจะวิ่งไปตามทางที่เราเบี่ยงไว้ เพราะเราไม่สามารถวิ่งไปทางไหนได้เลย”
นอกจากองค์ความรู้เรื่อง ‘ป่า’ และ ‘ไฟ’ แล้ว สิ่งที่จิตอาสาต้องเรียนรู้คือการทำงานร่วมกันเป็นทีม เพราะไม่มีใครสามารถดับไฟป่าได้เพียงลำพัง การรวมตัวกันจากคนหนึ่งคน สองคน สามคนจนกลายเป็นกลุ่มใหญ่จึงกลายเป็นความสนุกที่มีคนหลากหลายช่วงวัยแต่หัวใจเดียวกันมาเจอกัน
ผนึกกำลังคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่
เชียงใหม่นับเป็นเมืองที่มีภาคประชาสังคมเข้มแข็งมากที่สุดจังหวัดหนึ่ง ปัญหาไฟป่าและค่าฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงขึ้นทุกปีนำไปสู่การรวมตัวกันของภาคประชาสังคมในหลายระดับ หนึ่งในนั้นคือกลุ่ม Go with goodwill ซึ่งทำงานกับคนรุ่นใหม่โดยมีคนรุ่นเก่าเป็นผู้ใหญ่ใจดีคอยนัดแนะและหาทุนมาช่วยสนับสนุนการทำงานจิตอาสาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเตรียมความพร้อมแนวกันไฟ ลอกฝายกักเก็บน้ำ รวมทั้งกิจกรรมดีๆ อีกหลายอย่างที่ทำให้คนรุ่นใหม่ใช้พลังเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
วงศ์ทวี ทวีประศาสน์ หรืออาจารย์โต อดีตอาจารย์สถาปัตย์ผู้ห่วงใยเมืองเชียงใหม่ในหลากหลายมิติ แม้ในวัยเกษียณและสุขภาพไม่แข็งแรง แต่ท่านก็ยังใช้ ‘หัวใจ’ ขับเคลื่อนพลังบวกส่งต่อไปให้คนรุ่นใหม่ในทุกวิถีทางที่ทำได้
“วันแรกที่ไฟไหม้ดอยสุเทพ ผมตัดสินใจขับรถขึ้นมาบนดอย ถึงจะดับไฟไม่ได้ แต่ส่งกำลังใจก็ยังดี ผมไปดูว่ามีอะไรที่ช่วยได้บ้างไหม เริ่มจากซื้อเครื่องดื่มเกลือแร่ใส่ถังน้ำแข็งมาให้ หลังจากนั้นก็เริ่มได้ความรู้มากขึ้นว่าเราจะช่วยกันในระยะยาวได้ยังไง”
การได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่และลงพื้นที่หลายครั้งทำให้อาจารย์โตมองเห็นว่า ปัญหาการเผาไร่และเผาป่ามีความซับซ้อนหลายมิติจนทำให้ความรุนแรงของค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มมากขึ้นทุกปี
“ปัญหาไฟป่าและค่าฝุ่น PM 2.5 ไม่เหมือนเมื่อก่อน มันมีหลายมิติทับซ้อนกันอยู่ บางกรณีมีคนคึกคะนองจุดไฟเล่นๆ จนลุกลาม บางกรณีเผาเพราะไม่ชอบหน้ากัน บางกรณีเผาเพื่อต้องการงบประมาณดับไฟ บางกรณีต้องการขยายพื้นที่การเกษตร เมื่อเราเอา ทุกมิติมารวมกัน ปัญหาไฟป่าจึงรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาไฟป่าเหมือนผู้ร้ายกับขโมย เราไม่รู้ว่าใครเป็นขโมย”
ยิ่งทำงานใกล้ชิดกับปัญหา ยิ่งรู้ว่าทางออกของปัญหาไม่สามารถแก้ได้ด้วยการตามดับไฟเมื่อเกิดเหตุ แต่ควรแก้ด้วยการสร้างจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันปกป้องผืนป่าที่เหลืออยู่ผ่านการชักชวนมาทำกิจกรรมจิตอาสาร่วมกันเพื่อส่งต่อองค์ความรู้จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นต่อไป
“ผมมีเด็กมัธยมกลุ่มหนึ่งมาเข้าร่วมกิจกรรมด้วย ผมเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า ‘แก๊งไอติม’ วันแรกที่เจอกัน ผมถามว่าคุณมาได้ไง เด็กบอกว่า ผมเห็นไฟไหม้ ผมทนไม่ได้เลยมา ถ้าเรามีเด็กพันธุ์นี้อยู่ แล้วเราสร้างเขาขึ้นมา อีกหน่อยเขาก็จะเติบโตต่อไป ยิ่งถ้ามีคนที่เป็นไอดอลสำหรับคนรุ่นใหม่มาเป็นแกนนำก็จะยิ่งทำให้เกิดพลังที่เข้มแข็งมากขึ้นและยั่งยืนกว่าการรอให้เกิดเหตุแล้วค่อยหาอาสาสมัครมาช่วยดับไฟหรือบริจาคข้าวปลาอาหาร”
ปัญหาของการทำงานตามกระแสเมื่อเกิดไฟไหม้จนเป็นข่าว คือ การบริหารจัดการสิ่งของบริจาคและการดูแลจิตอาสาที่ต่างคนต่างมาด้วยใจจนบางครั้งเกิดกระแสดราม่าย้อนกลับมาสร้างอคติและความขัดแย้งระหว่างคนทำงานด้วยกันแทน อาทิ การบริจาคอาหารเยอะเกินปริมาณคนทำงานจนเน่าทิ้งอย่างน่าเสียดาย การบริจาคอุปกรณ์ที่ไม่สามารถใช้งานได้ในพื้นที่จริง เป็นต้น ดังนั้น การสร้างจิตอาสาจึงต้องมีกระบวนการสร้างแบบถูกทางเพื่อให้ความปรารถนาดีของทุกคนบรรลุผลตามที่ตั้งใจ
คุณต้อม – สมประสงค์ สิงหวนวัฒน์ อดีตนักร้องดัง หนึ่งในผู้ใหญ่ใจดีที่ช่วยจัดหาเงินบริจาคมาซื้ออุปกรณ์ทำแนวกันไฟป่าและลงพื้นที่สำรวจปัญหาอย่างจริงจัง หลังจากย้ายมาปลูกบ้านอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่อย่างถาวรเมื่อห้าปีที่แล้วบอกเล่าด้วยความห่วงใยต่อสภาพแวดล้อมของเมืองเชียงใหม่ว่า
“ผมเคยออกเดินกับเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน รอบแรกยังไม่มีไฟไหม้ รอบสองเดินกลับมามีไฟไหม้แล้ว ไม่ใช่ไฟป่า แต่ไฟคนนี่ล่ะ วิกฤตตรงนี้เราจะโทษแต่ชาวบ้านอย่างเดียวไม่ได้ ต้องโทษนายทุนที่มีส่วนสนับสนุนให้เผาป่าด้วย เราต้องทำให้จริงจังเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ทุกคนอยากมาสัมผัสธรรมชาติ เราต้องช่วยกันทำให้เชียงใหม่กลับมาเป็นเมืองที่น่าอยู่เหมือนเดิม”
จุดไฟปกป้องผืนป่าในใจคนรุ่นใหม่
ยิ่งคลุกคลีกับปัญหา ยิ่งรู้ว่าไฟป่าและฝุ่นละอองไม่สามารถดับลงได้ด้วยการนั่งมอง พร่ำบ่น หรือก่นด่าผู้อื่นเพื่อสร้างอคติในสังคมออนไลน์ บรรดาคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ซึ่งพร้อมทั้งแรงกายแรงใจจึงเลือกพาตนเองมารวมตัวกันเพื่อลงมือทำอะไรสักอย่าง แม้อาจไม่เห็นผลในทันตา แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ไม่ได้นิ่งเฉยดูดายกับปัญหาอีกต่อไป
แนน สาวแนวแอดเวนเจอร์ที่ร่วมลุยไปดับไฟป่าแนวหน้ามาแล้วหลายครั้งบอกว่า
“ทุกคนอยากได้อากาศบริสุทธิ์ แต่การนั่งบ่น ไม่ลงมือทำ แล้วเราจะได้มันมายังไง”
ส้มจีน หนึ่งในแกนนำคนรุ่นใหม่ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในเชียงใหม่เล่าว่า นักท่องเที่ยวทุกคนจะบอกว่าอยากมาเชียงใหม่เพราะอยากสัมผัสอากาศดีๆ เธอจึงอยากมีส่วนร่วมเพื่อทำให้เชียงใหม่กลับมาเป็นเมืองท่องเที่ยวเหมือนเดิม
“หลายๆ คนถามว่า จะทำไปทำไม หน้าที่ก็ไม่ใช่ เราก็บอกว่า ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ แล้วป่าไม้ก็ไม่ใช่ของเราเหมือนกัน แต่มันเป็นบ้านเกิดเรา อากาศที่เราหายใจก็มาจากต้นไม้ ถ้าเราสูญเสียตรงนี้ไปก็เหมือนกับเราสูญเสียบ้านเกิด เราก็ต้องช่วยกันรณรงค์ให้คนรักป่า รักต้นน้ำ”
มิว บอกว่าแม้เธอจะย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยในเมืองกรุง แต่ทุกครั้งที่เธอเห็นข่าวไฟไหม้ป่าภาคเหนือ หัวใจเธอก็ร้อนรนอยากกลับบ้านเพื่อร่วมปกป้องผืนป่าบ้านเกิด เธอจึงใช้เวลาช่วงหยุดพักเรียนมาร่วมทีมจิตอาสาดับไฟป่า พร้อมกับได้เรียนรู้ ‘มหาวิทยาลัยชีวิต’ ที่กว้างกว่าเดิม
“หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาทำให้มุมมองของเราเปลี่ยนไป เราเรียนรู้ที่จะฟังมากขึ้น และถ่อมตัวในการแสดงความคิดเห็นในโลกโซเชี่ยลมากขึ้น เพราะบางทีข้อมูลที่เราได้รับมาอาจเป็นแค่เศษเสี้ยวที่เรารู้ก็ได้ อยากให้คนรุ่นใหม่ หยุดเพื่อฟังก่อน บางทีเราเร็วต่อการตัดสินคนอื่นและรีบวิจารณ์หรือเปล่า”
ต่อ ชายหนุ่มผู้มากประสบการณ์งานจิตอาสาดับไฟป่ามากว่าสามปีจนวันนี้กลายเป็นผู้นำน้องๆ รุ่นใหม่มองเห็นทิศทางการปกป้องผืนป่าแบบยั่งยืนว่า
“เราอยากให้มีหน่วยงานจัดอบรมการทำแนวกันไฟเพราะเราควรจะทำต่อไปทั้งปี ไม่ใช่แค่ช่วงที่มีไฟป่า เพราะจะทำให้เรารับมือกับไฟป่าในระยะยาวได้ การได้มาทำงานอยู่กับเจ้าหน้าที่ทั้งวันทั้งคืน เราได้เห็นเลยว่า เวลาเกิดไฟป่าขึ้นมา เจ้าหน้าที่จะมีจำนวนไม่เพียงพอ บางวันเจ้าหน้าที่ต้องออกมาดับไฟวันละ 3 รอบ เพราะกิ่งไม้ที่มีไฟมันกลิ้งตกลงไป บางทีเขามีใจอยากไปดับไฟ แต่สังขารไม่ไหวแล้ว เราต้องช่วยกันเพิ่มทักษะให้จิตอาสาและชาวบ้านมีความรู้มากขึ้นเพื่อให้พวกเราได้เข้ามาช่วยกันดูแลป่าอย่างยั่งยืน”
ด้วยปัญหาไฟป่ามีความสลับซับซ้อน การสร้างกำลังคนทำงานจิตอาสาจึงต้องมีโครงสร้างการทำงานแบบครบวงจร มิใช่การทำตามกระแสชั่วครั้งชั่วคราว
“ยิ่งเจอปัญหาใหญ่ ยิ่งรู้สึกว่า เราต้องสร้างคนมากขึ้นกว่าเดิม เราต้องค่อยๆ ปลูกป่าในใจคนไปด้วย ทำให้เขาเห็นว่าปัญหาเชื่อมโยงกันนะ งานอาสาทำได้หลายส่วน ถ้าร่างกายไม่พร้อม มาเป็นฝ่ายเสบียง หรือช่วยกำลังเงินก็ได้ ป่าเป็นของทุกคนที่ใช้อากาศร่วมกัน ทุกคนช่วยดูแลป่าได้ คนที่มีกำลังเงิน กำลังกาย คนหนุ่มสาวมีแรงแต่ไม่มีเงิน คนสูงวัยมีเงินแต่ไม่มีแรงก็มาช่วยกัน”
มิว นักศึกษาสาวพลัดถิ่นฐานไปเรียนเมืองกรุงกล่าวสรุปด้วยรอยยิ้มเชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ว่า
“ถ้าเราเป็นก้อนหินเล็กๆ รวมกันหลายคนก็จะก่อเป็นฝาย ช่วยทำให้สายน้ำไหลเชี่ยวชะลอตัวลงได้เหมือนกัน เราทุกคนสามารถช่วยทำให้โลกใบนี้สวยงามขึ้นได้ด้วยสองมือเราดีกว่านั่งมองดูปัญหาเพียงอย่างเดียว”
ภาพ : กลุ่ม Go With Goodwill
Tags: เชียงใหม่, PM2.5, ไฟป่าเชียงใหม่, จิตอาสาดับไฟป่า, Go With Goodwill