ตะวักกุร กัรมาน (Tawakkol Karman) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีและการต่อต้านความรุนแรงชาวเยเมน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2011 กล่าวว่าเธอกำลังตกเป็นเป้าโจมตีของสื่อซาอุดิอาระเบีย หลังจากได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 20 คณะกรรมการ oversight board หรือที่ถูกเรียกว่า ‘ศาลสูงแห่งเฟซบุ๊ก’ ที่มีการประกาศรายชื่อเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา

คณะกรรมการ oversight board คือกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิที่เฟซบุ๊กเชิญให้เข้ามาดูแลเนื้อหาทั้งบนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ซึ่งจะมีอำนาจเหนือซีอีโอของบริษัท ในการลบหรือจัดการกับเนื้อหาที่เป็นประเด็นอ่อนไหว หรือส่อไปทางความรุนแรง หรือสร้างความเกลียดชังต่างๆ ฯลฯ 

โดยผู้ที่เข้ามาเป็นกรรมการก็เช่น เฮลเล ธอร์นนิ่ง ชมิดต์ (Helle Thorning-Schmidt) อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศเดนมาร์ก หรือ อลัน รัสบริดเจอร์ (Alan Rusbridger) อดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวเดอะการ์เดียน ทั้งยังมีอดีตผู้พิพากษา นักข่าว หรือบรรดาผู้นำที่มีพื้นฐานด้านประชาสังคม วิชาการ และบริการสาธารณะ ฯลฯ กรรมการชุดนี้จะมีจำนวนทั้งสิ้น 40 คน โดยเฟซบุ๊กเพิ่งเปิดเผยรายชื่อ 20 คนแรกเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม และมีกัรมานเป็นหนึ่งในนั้น 

“เฟซบุ๊กทำพลาดอย่างร้ายแรง” สำนักข่าวซาอุดิ กาเซ็ตต์ กล่าว ทั้งยังระบุว่ากัรมานเป็นเครือข่ายกับกลุ่มติดอาวุธภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ที่ถูกแบนในอียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย และอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิ กาเซ็ตต์ยังกล่าวว่าแนวคิดหัวรุนแรงของกัรมานขัดต่อเป้าหมายของคณะกรรมการชุดนี้ที่เฟซบุ๊กจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างสังคมที่มีสันติและเสรีภาพ

หรืออาเหม็ด มุสซา (Ahmed Moussa) ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ชาวอียิปต์ก็พูดในรายการของเขาว่า “กัรมานนั้นสนับสนุนผู้ก่อการร้ายทั่วโลก มือของเธอเปื้อนเลือด” ขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนหนึ่งก็เข้าไปถล่มในโซเชียลมีเดียของเธอ

ทางฝั่งกัรมานกล่าวในทวิตเตอร์ของเธอถึงการโจมตีเหล่านี้ว่า “สิ่งที่สำคัญในตอนนี้คือเราจะต้องปลอดภัยจากเลื่อยชนิดเดียวกับที่หั่นร่างของจามาล คาช็อกกิเป็นชิ้นๆ” 

ที่ผ่านมาเธอเป็นอีกคนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้นายจามาล คาช็อกกิ นักข่าวที่ถูกสังหารในสถานทูตตุรกีหลังจากเขียนวิจารณ์มกุฎราชกุมารซาอุดิอาระเบีย ตลอดมาเธอยังต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกระบวนการอาหรับสปริงเมื่อปี 2011 และไม่ได้มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำประเทศแถบตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันเธอก็เคยเป็นสมาชิกพรรคอิสลาห์ในเยเมน ที่เป็นเครือข่ายของกลุ่มภารดรภาพมุสลิม 

เธอต้องลี้ภัยออกจากประเทศ หลังจากที่คณะปฏิวัติยึดครองอำนาจในเยเมน ปัจจุบันอาศัยอยู่ในกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี และล่าสุดนี้ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าเธอจะเริ่มทำงานในฐานะกรรมการ oversight board ของเฟซบุ๊กเมื่อไรและอย่างไร 

อ้างอิง:

https://www.aljazeera.com/news/2020/05/tawakkol-karman-bullied-saudi-media-facebook-nomination-200511142840805.html 

https://www.theguardian.com/technology/2020/may/06/facebook-oversight-board-freedom-expression-helle-thorning-schmidt-alan-rusbridger

https://saudigazette.com.sa/article/592865/World/Loss-of-face-for-Facebook-for-naming-Brotherhood-figure-to-oversight-board

https://twitter.com/TawakkolKarman/status/1259692063853096967

ภาพ: SUZAUDDIN RUBEL / AFP 

Tags: , , ,