แทรกแซงทางทหาร แทรกแซงทางการเมือง หรือแค่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอยู่วงนอก คือความเป็นไปได้อย่างน้อย 3 ทางสำหรับสหรัฐฯ เกาหลีใต้ หรือจีน ที่จะตัดสินใจเดินหมาก หากเกิดสุญญากาศทางอำนาจในกรุงเปียงยาง

เสียงลือเสียงเล่าอ้าง คิมจองอึนตายแล้ว คิมจองอึนกลายเป็นผัก ถูกหักล้างหลังจากสื่อรัฐบาลแพร่ภาพผู้นำเปียงยางปรากฏตัวเมื่อปลายสัปดาห์ แต่เสียงวิตกวิจารณ์ยังไม่หมดไป เกิดคำถามใหม่ว่า ถ้าระบอบปกครองของตระกูลคิมล่มสลาย อำนาจภายนอกจะเอาอย่างไรกับรัฐนิวเคลียร์แห่งนี้

ในช่วงเวลา 3 สัปดาห์นับแต่คิมไม่ได้ไปร่วมงานเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดของคิมอิลซุง ปู่ของเขา ผู้ก่อตั้งประเทศ เมื่อวันที่ 15 เมษายน เกิดข่าวลือมากมายเกี่ยวกับสุขภาพของเขา และมีการคาดเดาต่างๆ นานาว่า ถ้าเขาเสียชีวิต หรือไม่สามารถปกครองได้ ใครจะรับไม้ต่อ 

คิมปรากฏตัวเมื่อวันศุกร์ (1 พ.ค.) โทรทัศน์เกาหลีเหนือรายงานข่าวเมื่อวันเสาร์ แสดงภาพท่านผู้นำไปตัดริบบิ้นเปิดโรงงานผลิตปุ๋ยฟอสเฟต ที่เมืองซุนชอน ทางตอนเหนือของกรุงเปียงยาง 

ถึงแม้รายงานข่าวนี้ช่วยยืนยันข่าวกรองของเกาหลีใต้ที่ว่า เขาสบายดี แต่นั่นยังไม่อาจลบล้างข้อห่วงกังวลที่ว่า สมมติเขาเกิดตายอย่างปุบปับ การผ่องถ่ายอำนาจในกรุงเปียงยางส่อเค้าไม่ราบรื่น แต่ละฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลี จะเคลื่อนขยับรับมืออย่างไร จีนกับอเมริกาจะส่งทหารเข้าแทรกแซงหรือไม่

ใครคุมปุ่มนิวเคลียร์

เหตุที่เกาหลีเหนือตกเป็นเป้าจับตาของนานาชาติเสมอมา ก็เพราะประเทศนี้ครอบครองแสนยานุภาพทางทหารที่น่าครั่นคร้าม แต่มีระบอบปกครองที่ปกปิดลี้ลับ ยากที่จะประเมินเจตนา 

คนภายนอกแทบไม่รู้สายสนกลในของโครงข่ายอำนาจในกรุงเปียงยาง ฝักฝ่ายต่างๆ ในกองทัพเกาหลีเหนือ จึงไม่อาจคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ของการช่วงชิงอำนาจที่อาจเกิดขึ้น

ด้วยกำลังพลประจำการ 1.2 ล้านนาย เขี้ยวเล็บสำคัญคือ ขีปนาวุธและระเบิดนิวเคลียร์ พร้อมกับมีจีน ซึ่งมีขีดความสามารถที่จะถ่วงดุลมหาอำนาจตะวันตก เป็นมิตรใกล้ชิด เกาหลีเหนือจึงมีสถานะเป็นหมากอีกตัวบนกระดานหมากรุกยุทธศาสตร์ย่านเอเชียตะวันออก

หลายฝ่ายจึงต้องตระเตรียมแผนเผชิญเหตุ ในกรณีการสืบทอดอำนาจของตระกูลคิมเกิดปัญหาไม่ราบรื่น ส่งผลให้อำนาจบัญชาการและควบคุมกำลังทางนิวเคลียร์ตกอยู่ในสถานการณ์ล่อแหลม

แผนปฏิบัติการ 5029

วอชิงตันกับโซล พันธมิตรสหรัฐฯ เริ่มเตรียมแผนปฏิบัติการทางทหารกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเกาหลีเหนือมาตั้งแต่ปี 1997 แผนนี้กำหนดกรอบอย่างกว้างๆ สำหรับรับมือกับความไร้เสถียรภาพในเกาหลีเหนือ มีชื่อเรียกว่า Conceptual Plan (CONPLAN) 5029 

ต่อมาในปี 2009 ฝ่ายสหรัฐฯ เสนอแผนที่เรียกว่า Operational Plan (OPLAN) 5029 กำหนดให้ฝ่ายอเมริกันเป็นผู้บัญชาการของกองกำลังผสมที่จะเข้าไปทำสงครามในเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ รัฐบาลโซลยังไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ โดยบอกว่าเป็นแผนที่ “ล่วงล้ำอธิปไตยของเกาหลีใต้” และยืนยันที่จะยอมรับแค่ CONPLAN เท่านั้น 

แผนการรับมือการล่มสลายของระบอบปกครองในเปียงยางที่ว่านี้ มีเป้าหมาย 2 อย่างใน 2 กรณี นั่นคือ รักษาความมั่นคงตามแนวชายแดนของสองเกาหลี และควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ หากว่ารัฐบาลเปียงยางหมดสภาพที่จะปกครองอีกต่อไป หรือหากเกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์

สหรัฐฯ เสนอแผนการนี้ด้วยความวิตกที่ว่า คลังแสงนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนืออาจถูกนำออกใช้ ถูกลักขโมย หรือถูกขายออกนอกประเทศ 

ภายใต้ทางเลือกนี้ ถ้าสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้จะร่วมกันเปิดปฏิบัติการทางทหารในเกาหลีเหนือจริงๆ ทั้งสองอาจต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น มิฉะนั้นแล้ว คงหนีไม่พ้นกับข้อครหาว่าเป็นการทำสงครามรุกราน

ปฏิกิริยาตอบโต้จากจีน

ในมุมภูมิรัฐศาสตร์ จีนถือว่าเกาหลีเหนือเป็นกันชน ป้องกันการกระทบกระทั่งกับกองกำลังอเมริกันในเกาหลีใต้ ปักกิ่งมองว่า เสถียรภาพทางการเมืองในเกาหลีเหนือเป็นเครื่องค้ำประกันความมั่นคงของจีน ความวุ่นวายในกรุงเปียงยางอาจส่งคลื่นผู้อพยพนับล้านบ่าไหลเข้าไปในดินแดนของตนเอง

ดังนั้น จีนจึงเป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจที่อาจยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์พลิกผันในเกาหลีเหนือ ส่วนรูปแบบของการเกี่ยวข้องจะเป็นอย่างไรนั้น ยากที่จะคาดเดาได้ในเวลานี้ 

นักวิเคราะห์บางรายบอกว่า จีนคงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเข้าแทรกแซงทางทหาร โดยอาจพยายามประคับประคองการแสวงหาทางออกทางการเมืองในเปียงยาง ด้วยการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นด้านหลัก 

หรือถ้าไปไกลกว่านั้น จีนอาจส่งทหารเข้าไป แล้วผลักดันให้เกิดระบอบปกครองใหม่ที่ยังคงเป็นมิตรกับปักกิ่ง 

อย่างไรก็ตาม ถ้าอเมริกาเข้าใกล้พรมแดนจีน ปักกิ่งอาจส่งทหารข้ามพรมแดนเข้าไปในเกาหลีเหนือ อย่างที่เคยทำในสงครามเกาหลีเมื่อ 70 ปีก่อน 

นี่ยังไม่นับความเสี่ยงที่ว่า ถ้ากองกำลังสหรัฐฯ กับทหารจีนต่างหมายมุ่งที่จะเข้าควบคุมฐานนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ อะไรจะเกิดขึ้น?

สูตร ‘แทรกแซง’ ของเกาหลีใต้

หากเกิดสุญญากาศทางอำนาจในเปียงยาง ผู้สังเกตการณ์บางคนคาดการณ์ว่า รัฐบาลโซลอาจเข้าแทรกแซงทางการเมือง ด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองชั่วคราว 

อย่างไรก็ดี เกาหลีใต้คงไม่สามารถระดมกำลังทหารได้มากพอที่จะเข้าไปรักษาเสถียรภาพในเกาหลีเหนือได้โดยลำพัง ถ้าเลือกที่จะใช้สูตรนี้จริงๆ คงต้องเป็นความร่วมมืออย่างน้อยสองฝ่ายกับสหรัฐฯ

นักวิเคราะห์บางรายบอกว่า เผลอๆ เกาหลีใต้อาจใช้จังหวะนี้รวมชาติเสียเลย   

ปัญหาที่ต้องขบคิดก็คือ ชนชั้นนำของเกาหลีเหนือจะยอมรับการแทรกแซงจากภายนอกหรือเปล่า ประชาชนชาวเกาหลีเหนือ ซึ่งถูกปลูกฝังความรักชาติอย่างเข้มข้น จะคิดอ่านอย่างไร

การกลับมาปรากฏตัวของคิมจองอึน ช่วยคลายความวิตกไปได้เปลาะใหญ่ เมื่อพินิจดูฉากสถานการณ์ในแบบต่างๆ ที่ว่ามาแล้ว ย่อมเป็นการดีสำหรับทุกฝ่ายที่จะเดินหน้า “ถอดถอนนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี” เพื่อปลดชนวนความไม่แน่นอนทั้งหลายทั้งปวง.

 

อ้างอิง:

Tokyo Business Today, 24 April 2020

AP, 1 May 2020

New York Times, 2 May 2020

AFP via Yahoo! News, 2 May 2020

ภาพ: EYEPRESS NEWS / EYEPRESS VIA AFP

Tags: , , ,