ในปัจจุบัน บทบาทและความเสมอภาคระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในยุคสังคมดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ในช่วงระหว่างการปรับเปลี่ยนนั้น จะเห็นได้ว่าส่วนหนึ่งของสังคมจากทั่วทุกมุมโลกก็ยังมีการเรียกร้องความเสมอภาคให้กับสตรีอยู่อย่างต่อเนื่อง
คุณเคยได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ไหม ทนายสาวชาวเม็กซิโกรายหนึ่งที่ไม่ค่อยท่องโลกออนไลน์มากนัก เพราะกังวลว่าแฟนของเธอจะไม่พอใจ หรือเรื่องราวของแพทย์หญิงในอินเดียที่มีการปรับเปลี่ยนการค้นหาวิดีโอของเธอก่อนที่จะออกจากระบบ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินจากคนในครอบครัวหากพวกเขาเห็นเนื้อหาวิดีโอที่เธอรับชม หรือบล็อกเกอร์สาวชาวบราซิลที่คิดจะออฟไลน์เพราะทุกครั้งที่เธอโพสต์อะไรไป เธอมักจะได้รับคอมเมนต์ในเชิงคุกคามทางเพศที่รุนแรง
ภายใต้โลกอินเทอร์เน็ตที่เราเห็นว่า ‘ใคร’ ก็สามารถเข้าถึงได้นั้น ยังมีผู้หญิงอีกหลายกลุ่มในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลกที่ยังไม่อาจเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างเสมอภาค ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงการศึกษา ปัจจัยทางวัฒนธรรม หรือระยะห่างทางภูมิศาตร์ และไม่เพียงแค่การเข้าไม่ถึง ในพื้อนที่ที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตได้นั้น ผู้หญิงเองต่างก็มีประสบการณ์ในการเผชิญกับเรื่องท้าทายและความเสี่ยงต่างๆ บนโลกออนไลน์มากมาย
ปัจจุบัน 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกมีผู้ชายท่องโลกออนไลน์มากกว่าผู้หญิง และในหลายๆ กรณีไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของทางเลือก จากรายงานของ Google ที่มีชื่อว่า “Towards Gender Equity Online” ที่จัดทำขึ้นในประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และอีก 5 ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว พบว่ามีปัจจัยมากมายและอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีอิสระเต็มที่
ความน่าสนใจของรายงานฉบับนี้แม้จะให้เห็นว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งในพื้นที่ไม่กี่ประเทศในโลกที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ถึงอย่างนั้นในโลกที่มีประชากรหญิงมากกว่าชายนี้ กลับพบว่าโดยรวมแล้วผู้ชายนั้นมีโอกาสเข้าไปท่องโลกออนไลน์ได้มากกว่าผู้หญิงอยู่ดี
โลกออนไลน์ โลกของผู้ชาย
นอกจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ที่ผู้ชายมีโอกาสเข้าถึงมากกว่าผู้หญิงแล้ว หากสำรวจคอนเทนต์หรือข้อมูลในโลกออนไลน์ก็จะพบว่า อัลกอริทึมการแนะนำวิดีโอ บทความ หรือบล็อก ฯลฯ ที่ปราฏอยู่อย่างดาษดื่นั้นยึดถือรสนิยมและความสนใจของผู้ชายเป็นหลัก เรื่องราวของผู้หญิงที่เป็นแบบอย่างและชุมชนออนไลน์ที่เกี่ยวกับผู้หญิงมีจำนวนน้อย ทั้งจากปปัจจัยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือความความลำบากในการสร้างคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดีย หรือแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์
ผู้หญิงต้องเผชิญกับข้อจำกัดมากมายในการใช้งานออนไลน์เเม้เเต่ในพื้นที่ส่วนตัว ในหลายๆ ครั้งพวกเธอจำเป็นต้องลบประวัติการค้นหา หรือใช้เครื่องมือล็อคแอปฯ เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของตนเองบนอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงบนโลกอินเทอร์เน็ตยังหวาดกลัวในเรื่องของความปลอดภัยเนื่องจากมีความเสี่ยงมากมาย เช่น การสะกดรอยตามบนโลกออนไลน์ การสวมรอยแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น (เช่นการใช้รูปโป๊เปลือยหรือรูปโปรไฟล์ปลอม) การโจรกรรมข้อมูล และการแชร์ข้อมูลและรูปภาพที่ไม่ต้องการให้แชร์
เศรษฐกิจดิจิทัล
เซอร์ ทิม เบอร์เนอร์ส–ลี ผู้คิดค้น “เวิลด์ ไวด์ เว็บ” (World Wide Web) ได้เขียนไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ความเสมอภาคทางเพศบนโลกออนไลน์เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” การที่ผู้หญิงจะสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้อย่างเสมอภาคกับผู้ชายนั้น ไม่ได้มีนัยสำคัญเพียงเรื่องสิทธิ หรือความเสมอภาคเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลของ McKinsey กล่าวว่า การทลายช่องว่างระหว่างเพศในเอเชียแปซิฟิกจะช่วยเพิ่มจีดีพีของภูมิภาคนี้ได้ถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 ซึ่งสูงกว่าจีดีพีที่เกิดจากธุรกิจปกติถึง 12% สำหรับโลกดิจิทัลสิ่งดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้หญิงสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีอิสระและเต็มที่
อย่างกูเกิลเอง ตอนที่เริ่มพัฒนาแอปฯ Neighbourly ในอินเดีย ซึ่งเป็นแอปฯ ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถถามและตอบคำถามภายในชุมชนของพวกเขา กูเกิลได้เพิ่มฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยเพื่อให้ผู้หญิงสามารถปกป้องตัวตนและความเป็นส่วนตัวของพวกเธอลงไปด้วย โดยยึดตามข้อเสนอเเนะจากชุมชน หรือการเสริมสร้างทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นผู้หญิงในโครงการ Women Will ของกูเกิลที่มีการจัดฝึกอบรมผู้หญิงจำนวน 38 ล้านคนทั่วโลก รวมถึงในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สามารถตอบโจทย์นั้นได้ และโครงการ Internet Saathi ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาวิทยากรฝึกอบรมสำหรับผู้หญิงในหมู่บ้านห่างไกลในอินเดีย
ไม่เพียงแค่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ผู้คนที่เป็นนอน–ไบนารี มักจะถูกเลือกปฏิบัติ และถูกตัดสินด้วยอคติทางเพศบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในโลกออนไลน์ตามมา ที่ไม่ได้มีเพียงแค่หญิงหรือชายเท่านั้น เรายังเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่สามารถท้าทายการเลือกปฏิบัติที่ล้าสมัยเหล่านี้ได้ และเราก็พร้อมสนับสนุนทุกคนให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วยความเท่าเทียม เพราะเราเชื่อว่าเทคโนโลยีจะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อมันทำงานเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง
เขียนโดย แจ็คกี้ หวาง Country Manager, Google ประเทศไทย ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://services.google.com/fh/files/misc/toward_gender_equity_online.pdf
Tags: กูเกิล, สิทธิสตรี, ความเสมอภาค