ศาสตราจารย์เรมี ชาร์เรล และเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัย แอ็กซ็อง มาร์แซย์ ฝรั่งเศส ได้ทำการทดลองฆ่าเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุโรคโควิด-19 ด้วยการใช้ความร้อนถึง 60 องศาเซลเซียส (140 องศาฟาเรนไฮต์) เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง พบว่าไวรัสยังไม่ตายทั้งหมด ต่อมาเมื่อเพิ่มอุณหภูมิไปเกือบถึงจุดเดือดจึงสามารถฆ่าไวรัสได้อย่างสมบูรณ์
รายงานนี้เผยแพร่ใน bioRxiv.org แต่เป็นรายงานที่ยังไม่ผ่านการตรวจทานจากผู้ทรงคุณวุฒิ ถึงอย่างนั้น หากผลลัพธ์ตามรายงานนี้เป็นจริง จะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของช่างเทคนิคในห้องปฏิบัติการที่ทำงานกับไวรัสเป็นอย่างมาก เนื่องจากไวรัสยังไม่ตายทั้งหมด
ทีมวิจัยเพาะเชื้อไวรัสในเซลล์ไตของลิงเขียวแอฟริกัน ซึ่งเป็นเซลล์มาตรฐานที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงไวรัส โดยได้สายพันธุ์ไวรัสมาจากผู้ป่วยในกรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมนี โดยนำเซลล์ไว้ในหลอดที่เป็นตัวแทนของสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันสองประเภท ประเภทที่หนึ่งมีสภาพแวดล้อมที่ ‘สะอาด’ และประเภทที่สองสภาพแวดล้อมที่ ‘สกปรก’ ซึ่งมาจากโปรตีนสัตว์เพื่อจำลองการปนเปื้อนทางชีวภาพแบบในชีวิตจริง เช่น ในช่องปากของคน
หลังจากการให้ความร้อนพบว่าสายพันธุ์ไวรัสในสภาพแวดล้อมที่สะอาดจะตายลง ในขณะที่สายพันธุ์ไวรัสในสภาพแวดล้อมที่สกปรกยังมีบางส่วนที่มีชีวิตรอด ซึ่งอธิบายได้ว่ากระบวนการให้ความร้อนส่งผลให้การติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจน แต่ก็ยังมีไวรัสบางส่วนที่รอดจากความร้อน ที่พร้อมจะทำให้การติดเชื้อเกิดขึ้นอีกรอบได้
โดยวิธีการทดสอบด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานหนึ่งชั่วโมงนี้ เป็นวิธีที่ได้รับการดัดแปลงในห้องปฏิบัติการทดสอบหลายแห่งเพื่อซึ่งใช้ทดลองกับไวรัสร้ายแรงหลายชนิดรวมถึงอีโบลาด้วย แต่สำหรับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ การใช้ความร้อนที่อุณหภูมินี้เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการสรุปผล เพราะตัวอย่างที่ใช้อาจจะมีปริมาณไวรัสต่ำ จึงสามารถฆ่าเชื้อได้ในสัดส่วนที่มาก แต่ในตัวอย่างที่มีปริมาณไวรัสสูงกว่า อาจจะให้ผลที่แตกต่างออกไป
ในการทดลองนี้ทีมวิจัยยังพบว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ ตัวอย่างเช่น การใช้ความร้อนที่อุณหภูมิ 92 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 15 นาทีจะทำให้ไวรัสตายอย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้อุณหภูมิที่สูงเช่นนี้ ทำให้สามารถแยกส่วน RNA ของไวรัสได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง และลดความไวของการทดสอบ ในห้องปฏิบัติการ นักวิจัยจึงแนะนำให้ใช้สารเคมีแทนความร้อน เพื่อฆ่าไวรัสและสร้างสมดุลระหว่างความปลอดภัยของนักวิจัยในห้องปฏิบัติการและประสิทธิภาพของผลทดสอบ
แม้ผลการทดลองของทีมนักวิจัยจากฝรั่งเศสจะให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ แต่ในสถานการณ์ในชีวิตจริงอาจมีความซับซ้อนมากกว่าการจำลองในห้องปฏิบัติการ
“ไวรัสนั้นมีพฤติกรรมที่แตกต่างไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง โครงการวิจัยจำนวนมากยังอยู่ระหว่างการไขปริศนาเหล่านี้” ศาสตราจารย์เรมี ชาร์เรล กล่าว
ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันว่าการระบาดในซีกโลกเหนืออาจจะบรรเทาลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล และการศึกษาบางชิ้นก็ได้ชี้ให้เห็นว่าประเทศเขตร้อนมีรายงานการติดเชื้อน้อยกว่าในประเทศเขตหนาว
แต่ข้อสังเกตเหล่านี้ยังต้องดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ทั้งมาตรการที่แข็งแกร่งของรัฐ ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบว่า งานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ชี้ว่ามีสัญญาณว่าโควิด-19 สามารถแพร่กระจายอย่างต่อเนื่องได้ตลอดฤดูร้อน
นอกจากนี้ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Network Open เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยชาวจีนรายงานว่ามีการระบาดในกลุ่มผู้ติดเชื้อจากห้องอาบน้ำสาธารณะในเมืองหวายอัน จังหวัดทางตะวันออกของมณฑลเจียงซู
โดยผู้ป่วยมาที่ห้องอาบน้ำในวันที่ 18 มกราคมเพื่ออาบน้ำและซาวน่า คนแปดคนรวมถึงพนักงานอีกคนหนึ่งติดเชื้อในเวลาต่อมาประมาณสองสัปดาห์
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ อ่างอาบน้ำมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสและมีความชื้นเฉลี่ย 60 เปอร์เซ็นต์ แม้การศึกษานี้มีข้อจำกัด เพราะไม่รู้ว่าการติดเชื้อเกิดจากอ่างอาบน้ำที่มีอุณหูมิสูง หรือจากละอองในอากาศ หรือพื้นผิวที่มีการปนเปื้อน เช่น ลูกบิดประตู แต่นักวิจัยกล่าวว่า เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้ไม่อ่อนกำลังลงเลย แม้ในสภาวะอบอุ่นและชื้น
อ้างอิง
https://jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2763473
https://sg.news.yahoo.com/coronavirus-survive-long-exposure-high-075328125
ภาพ : Alberto PIZZOLI / AFP
Tags: โคโรนาไวรัส, โควิด-19, วิจัยโควิด-19