ความคิดวิปริตมาจาก ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ผู้บัญชาการหน่วยเอสเอส ที่สั่งให้สร้างซ่องโสเภณีขึ้นในค่ายกักกัน หมายจะมอบผู้หญิงให้เป็นรางวัลแก่นักโทษในค่ายฯ ที่ขยันทำงาน
มักดาเลนานั่งคอยอยู่บนเตียงแคบๆ เหมือนทุกค่ำ รอคอยเวลาคล้ายถูกสาปแช่ง 2 ชั่วโมงที่จะมาถึง แสงสีซีดสาดลงมาในห้อง ดอกไม้ในแจกันบนโต๊ะข้างเตียงทอดเงายาวลงพื้น เวลาประมาณ 1 ทุ่ม ที่ค่ายกักกันบุเคนวาลด์ มักดาเลนานั่งคอยอยู่ในซ่องประจำค่ายกักกัน บริเวณด้านหน้ามีกลุ่มนักโทษชายยืนเข้าแถวเรียงแนว ไม่ช้ามักดาเลนาก็ได้ยินเสียงผู้ชายเหล่านั้นถูกต้อนเข้ามา ทหารเอสเอสเปิดประตูห้อง ผลักนักโทษชายคนหนึ่งเข้ามา แล้วปิดประตู การรอคอยโมงยามที่คล้ายถูกสาปแช่งสิ้นสุดลง ความทุกข์ทรมานเริ่มต้นขึ้น
มักดาเลนาเป็นโสเภณีภาคบังคับหนึ่งในจำนวนหลายร้อยคนที่ถูกเกณฑ์มาทำงานในซ่องของค่ายกักกัน ให้กับพวกนาซี ผู้หญิงจำนวน 174 คนมีชื่อระบุตัวตนได้ แต่อีกหลายคนไม่มีชื่อปรากฏเป็นหลักฐาน ซ่องโสเภณีหญิงเคยมีอยู่ในค่ายกักกันขนาดใหญ่ 10 แห่ง อย่างเช่น ดาเคา บุเคนวาลด์ และเอาชวิตซ์ ซึ่งทหารนาซีสร้างไว้ระหว่างปี 1942-1945
บรรดาผู้หญิงที่ถูกเกณฑ์ตัวมามีค่าเป็นรางวัลสำหรับนักโทษชายระดับหัวแถว นักโทษในค่ายคนไหนขยันทำงานจะได้รับบัตรกำนัลไว้สำหรับซื้อบุหรี่และอาหาร หรือแม้กระทั่งผู้หญิง ไอเดียนี้มาจากหัวสมองของไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ผู้บัญชาการหน่วยเอสเอส ซึ่งมีหน้าที่ดูแลค่ายกักกันทั้งหมดด้วย
วันที่ 23 มีนาคม 1942 ฮิมม์เลอร์เขียนจดหมายรายงาน “ข้าพเจ้าถือเป็นเรื่องจำเป็นที่จะจัดหาผู้หญิงเข้าไปไว้ในค่ายเพื่อตอบแทนผู้ต้องขังที่ขยันทำงานในรูปแบบของรางวัล” สำหรับเขาแล้ว ผู้หญิงไม่ต่างอะไรกับ ‘สิ่งของแลกเปลี่ยน’ ในการกระตุ้นให้นักโทษทำงานหนักขึ้น และบรรลุเป้าหมายเร็วขึ้น
ฝันร้ายของมักดาเลนาเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 1943 เธอและผู้หญิงคนอื่นๆ ยืนเข้าแถวอยู่ในห้อง ภายในค่ายกักกันเมืองราเวนส์บรึก ที่ด้านหน้าหัวแถวมีหมอประจำค่ายและผู้บังคับบัญชาค่ายบุเคนวาลด์ยืนอยู่ มักดาเลนาก้าวออกมายืนหัวแถวเมื่อถึงคิว ในสภาพเปลือยกาย นายทหารกวาดสายตามองเธอทั่วร่าง ก่อนบอกว่า “รูปร่างดี ขุนเสียหน่อย เดี๋ยวก็มีน้ำมีนวล” ผู้หญิงที่ถูกเลือกถูกนำไปขึ้นรถที่จัดไว้
ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา พวกเธอก็มาถึงห้องภายในค่ายกักกันบุเคนวาลด์ ผู้ดูแลหญิงประกาศให้ทุกคนรับรู้ว่าตอนนี้พวกเธออยู่ในซ่องนักโทษ ทุกคนจะได้กินอยู่อย่างดี หากว่าทุกคนปฏิบัติตามคำสั่งก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น มักดาเลนาได้ห้องหมายเลข 13 สัปดาห์ต่อมา ซ่องโสเภณีก็เปิด ตั้งแต่คืนแรก มีผู้ชายเข้ามาในห้องเธอ 6 คน มักดาเลนาบันทึกชื่อของพวกเขาเก็บไว้ และเป็นเอกสารที่นักวิจัยชื่อ โรเบิร์ต ซัมเมอร์ ค้นพบในภายหลัง
ซัมเมอร์ใช้เวลานานถึง 10 ปีในการค้นหาเอกสารที่เป็นหลักฐานบอกเล่าถึงชะตากรรมของผู้หญิง หลักฐานรายชื่อนักโทษที่ใช้บริการ วันหยุดงาน และรายงานการพบแพทย์
แต่ทว่าความทุกข์ทรมานที่มักดาเลนาต้องเผชิญนั้นไม่ปรากฏเป็นหลักฐานในเอกสาร นักประวัติศาสตร์หญิงชาวเยอรมันคนหนึ่งสันนิษฐานว่า สิ่งที่เธอต้องพบเจอภายใน 2 ชั่วโมงของแต่ละค่ำคืน คือผู้ชายที่เดินเข้าออกห้องเธอ ซึ่งแต่ละคนใช้เวลาเพียงไม่ถึง 15 นาที
สำหรับนักโทษที่มีโอกาสเที่ยวซ่องโสเภณีก็มีกฎระเบียบให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเช่นกัน พวกเขาได้รับอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์กับโสเภณีในท่านอน (Missionary) เท่านั้น “ทหารเอสเอสจะคอยส่องมองทางช่อง ถ้านักโทษคนไหนใช้เวลานานเกินไป พวกเขาก็จะถีบประตูเตือน” ผู้ต้องขังที่ดาเคาเคยเล่าให้ฟัง ทหารนาซีจะเข้มงวดเรื่องการแบ่งแยกชาติพันธุ์ ยิวและรัสเซียนจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าซ่องโสเภณี นักโทษทั่วไปที่เข้าใช้บริการต้องแลกบัตรกำนัลมูลค่ากว่า 2 ไรช์มาร์ก ซึ่งก็ถูกกว่าค่าบุหรี่ 20 มวน
โสเภณีไม่เคยเห็นเงิน ทว่าซ่องก็เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้พวกเธอมีชีวิตอยู่รอด ไม่ต้องอยู่กินอย่างลำบาก หรือใช้แรงงานหนัก โอกาสจะหลุดพ้นออกจากขุมนรก-ถ้าไม่ตาย-แทบไม่มี
แต่แผนการของไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ดำเนินไปไม่ถึงเป้าหมาย จำนวนคนใช้บริการลดน้อยลง นักโทษส่วนใหญ่ดิ้นรนต่อสู้เพื่อการอยู่รอดเพียงอย่างเดียว เสร็จงานหนักในแต่ละวัน พวกเขาโหยหาแต่อาหารการกิน แทบไม่มีใครคิดอยากจะหลับนอนกับผู้หญิง นักโทษการเมืองบางกลุ่มในดาเคาถึงขั้นบอยคอตซ่องโสเภณีด้วยซ้ำ
หรือไม่ นักโทษที่เข้าไปใช้บริการบางคนต้องการแค่เพียงพูดคุยกับผู้หญิง อดีตนักโทษคนหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเคยมีโอกาสเข้าไปในซ่องเพียงครั้งเดียว แต่ครั้งนั้น เขาแค่นั่งที่ขอบเตียงข้างๆ หญิงโสเภณี 15 นาทีผ่านไปกับการพูดคุยกัน บางขณะก็นิ่งเงียบ
อนุสรณ์สถานค่ายกักกันหลายแห่งไม่กล่าวถึงประเด็นซ่องโสเภณี โรเบิร์ต ซัมเมอร์ ไปเจอเอกสารในกล่องปิดตายเข้าโดยบังเอิญ ภายหลังสงคราม ไม่มีใครหยิบยกหัวข้อการบังคับผู้หญิงไปเป็นโสเภณีหรือความรุนแรงทางเพศขึ้นมาวิพากษ์ ตราบถึงทุกวันนี้ บางส่วนก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ ในอนุสรณ์สถานที่ดาเคาไม่มีการกล่าวถึงซ่องโสเภณีในเอกสารแนะนำ ภายในห้องพิพิธภัณฑ์มีแผ่นกระดานสีขาวเทาวางประดับหลายแผ่น บอกเล่าประวัติและเรื่องราวของสถานที่ซึ่งเคยเป็นค่ายกักกัน มีกระดานเพียงแผ่นเดียวเท่านั้นที่บอกเรื่องราวแตกต่างจากกระดานแผ่นอื่นๆ คือกล่าวถึงซ่องโสเภณี ทว่าปราศจากรายชื่อกลุ่มผู้หญิงที่ถูกบังคับให้มาเป็นโสเภณี
จากหลักฐานที่เป็นเอกสาร พบว่ามีผู้หญิง 19 คนถูกเกณฑ์มาที่ค่ายกักกันในดาเคา ระหว่างเดือนเมษายนถึงธันวาคม 1944 ซัมเมอร์พบหลักฐานว่าเฉพาะวันที่ 24 ตุลาคม 1944 มีนักโทษจำนวน 76 คนเข้าไปใช้บริการที่เรือนแถว 170a
มักดาเลนารอดชีวิตจากยุคปกครองของนาซีมาได้ 17 เดือนเต็มที่เธอต้องทำงานเป็นโสเภณีอยู่ในซ่องที่ค่ายกักกันบุเคนวาลด์ เธอไม่ได้รับการติดต่อหรือความช่วยเหลือใดๆ จากภายนอกค่ายกักกัน ตอนที่คู่ชีวิตในค่ายของเธอได้รับพัสดุของขวัญวันคริสต์มาสจากแม่ของเขา มักดาเลนารับไม่ได้ เธอแอบไปกรีดข้อมือ สำหรับความพยายามจะฆ่าตัวตายครั้งนั้น ทำให้เธอต้องถูกขังในบังเกอร์มืดนาน 2 สัปดาห์
ปี 1944 มักดาเลนาหลุดพ้นออกจากซ่องโสเภณี ภายหลังสงคราม เธอแทบไม่ปริปากพูดถึงช่วงเวลาในอดีตกับใครเลย และเธอไม่เคยได้รับเงินค่าชดเชย เหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ อีกหลายคน
มักดาเลนาเสียชีวิตในปี 2010
อ้างอิง:
www.spiegel.de
www.focus.de
www.merkur.de