จะดีแค่ไหน ถ้าสมาร์ทโฟนที่เราใช้ มาจากร้านค้าที่ขายและให้บริการเครือข่ายจากบริษัทที่เราเป็นสมาชิกและผู้ถือหุ้น นั่นหมายความว่าทุกยอดการโทรและใช้งานอินเทอร์เน็ต สตางค์ที่จ่ายจะเวียนมาเข้ากระเป๋าคุณด้วย
สำหรับตลาดทุนของไทยวันนี้ เรื่องนี้จะเป็นจริงได้ถ้าคุณมีเงินหนาพอจะเล่นหุ้น แต่มันจะเป็นจริงได้ทันทีสำหรับคนทุกคน ถ้าธุรกิจนั้นหันมาใช้ระบบ ‘สหกรณ์’ (Co-operative) แบบที่ วิเวียน วูเดลล์ (Vivien Woodell) ใช้กับสตาร์ทอัพบริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตชื่อ The Phone Co-op ของอังกฤษ
วิเวียน วูเดลล์ ก็เหมือนอีกหลายๆ คน ที่ค้นพบมิชชั่นในชีวิตแบบไม่ตั้งใจ ในช่วงต้นทศวรรษ 80 ขณะที่มาร์กาเรต แธตเชอร์ ยังกุมบังเหียนรัฐบาลอังกฤษ วูเดลล์เล่าว่าแนวคิดกระแสหลักตอนนั้นกำลังพูดแต่เรื่องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่เขากลับชอบซื้อของจากร้านสหกรณ์ เพราะเห็นว่ารูปแบบธุรกิจที่ลูกค้าก็คือสมาชิกและเจ้าของ ดูน่าสนใจและยั่งยืนกว่า แต่แล้ววันหนึ่ง ขณะพาเพื่อนจากประเทศกานาไปซื้อของที่สหกรณ์ในเมืองออกซ์ฟอร์ดที่ตัวเองเป็นสมาชิก เพื่อนดันไปเห็นว่าสหกรณ์นั้นวางขายส้มยี่ห้อ Outspan จากแอฟริกาใต้ ซึ่งขัดต่อมติของสหประชาชาติที่ต่อต้านการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้ด้วยมาตรการบอยคอตทางเศรษฐกิจ
ในการประชุมสมาชิกครั้งถัดมา วูเดลล์จึงเข้าร่วมและประท้วงสิ่งที่เกิดขึ้น ต่อมาเขายังรวมกลุ่มกับเพื่อนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานบริหารสหกรณ์ดังกล่าว ในวัยเพียง 23 ปี วูเดลล์กลายเป็นประธานสหกรณ์แห่งนั้นที่อายุน้อยที่สุด แต่ไม่กี่ปีให้หลัง เขาก็ค้นพบว่า การปรับเปลี่ยนองค์กรต้องอาศัยปัจจัยอื่นและทักษะการบริหารที่มากกว่าแนวคิดและอุดมการณ์
เพื่อพิสูจน์ว่าโมเดลสหกรณ์เป็นจริงได้ในโลกธุรกิจ เขาจึงก่อตั้ง The Phone Co-op สตาร์ทอัพให้บริการโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ในปี 1998 ที่เมืองชิพปิง นอร์ตัน จากจุดเริ่มต้นที่มีสมาชิกเพียงไม่กี่คน และทุนตั้งต้น 36,000 ปอนด์ ปัจจุบัน โฟน โค-อ็อพ มีผลประกอบการถึง 12.5 ล้านปอนด์ มีลูกค้ากว่า 30,000 ราย สมาชิกสหกรณ์ราว 9,000 ราย และพนักงานบริษัท 70 คน ผู้จะได้รับเงินปันผล 11% ต่อปีตามชั่วโมงทำงาน
ต่อคำถามว่า เคยเสียดายหรือไม่ ที่ไม่ตักตวงความสำเร็จจากธุรกิจนี้ไว้แต่เพียงผู้เดียว เพราะระบบสหกรณ์คือการกระจายผลกำไรและความสำเร็จไปในหมู่สมาชิก วูเดลล์บอกว่า “ผมไม่ได้อยากรวย แต่อยากพิสูจน์ว่าเราสามารถปฏิรูปแนวคิดเรื่องสหกรณ์ให้เท่าทันกับโลกธุรกิจสมัยใหม่ได้ และอันที่จริง ความสำเร็จของโฟน โค-อ็อพ เกิดขึ้นได้ ก็เพราะเราเป็นสหกรณ์ ไม่ใช่แค่บริษัทบริษัทหนึ่ง ปกติคนจะปวดหัวเวลามีปัญหากับผู้ให้บริการโทรศัพท์ แต่สัมพันธภาพระหว่างเรากับลูกค้าจะต่างไป เพราะพนักงานทุกคนรู้สึกเสมอว่าลูกค้าก็คือเจ้าของบริษัทด้วย เพราะใครๆ ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ของเราได้”
วูเดลล์เล่าถึงปรัชญาของระบบสหกรณ์ว่า ในระบบทุนนั้น สัมพันธภาพระหว่างมนุษย์จะถูกแปลงเป็นสินค้าและกำไร แต่ในระบบสหกรณ์ กิจการนั้นๆ ดำรงอยู่เพื่อให้บริการแก่สมาชิกและลูกค้าคนอื่นๆ ตามหลักคิดที่เห็นพ้องต้องกัน หากสามารถขยายสเกล และนำไปปรับใช้ในธุรกิจต่างๆ เช่น พลังงาน การเกษตร หรือแม้แต่สินค้าอุปโภคอื่นๆ ได้มากเท่าไร ก็จะสร้างเสถียรภาพโดยรวมให้แก่ระบบเศรษฐกิจมากเท่านั้น พร้อมกับยกตัวอย่างว่า Co-op Movement ในอังกฤษ นับวันจะยิ่งขยายตัวมากขึ้น อย่าง Midcounties Co-operative ก็ประสบความสำเร็จกับกิจการรับดูแลเด็ก และกำลังขยายกิจการไปสู่ภาคพลังงานด้วยฐานลูกค้ากว่า 400,000 ราย
“ลองนึกถึงยักษ์ใหญ่ในวงการออนไลน์ตอนนี้ดูสิครับ ไม่ว่ากูเกิล เฟซบุ๊ก หรือ อีเบย์ พวกเขาเป็นตัวกลางที่เราแทบจะหนีไม่พ้น เขาเรียกตัวเองว่าทำธุรกิจแบบ sharing economy แต่มันไม่ใช่ มันเป็นเศรษฐกิจแบบผูกขาดและหักหัวคิว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้เลยในระบบสหกรณ์ ลองนึกดูนะครับ ถ้า Uber หรือ Airbnb ใช้รูปแบบสหกรณ์ เจ้าของธุรกิจก็คือคนขับแท็กซี่ คนให้เช่าห้องพักและคนเดินทาง พวกเขาจะไม่ใช่แค่คนใช้หรือให้บริการที่ถูกหักหัวคิวจากคนคิดระบบอีกต่อไป”
FACT BOX:
ปัจจุบัน ในประเทศอังกฤษมีสหกรณ์รูปแบบต่างๆ อยู่ราว 7,000 สหกรณ์ รวมจำนวนสมาชิกกว่า 17.5 ล้านราย ทำรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจของอังกฤษโดยรวมราว 34,100 ล้านปอนด์
Tags: The Phone Co-op, สหกรณ์, Vivien Woodell