*มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ
เด็กผู้หญิงผมสั้นในชุดเดรสเลอะคราบเลือด เปรอะเปื้อนทั้งตัวและใบหน้า เธอเดินตรงเข้ามาหาผู้ชมด้วยดวงตาตื่นตระหนก และหวาดกลัว นั่นคือ ฉากเปิดเรื่องของ I Am Not Okay with This หากฉากเปิดเรื่องมีความสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่จะบอกว่า ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้พบเจอกับอะไร ฉากเปิดในที่นี้ก็ได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว เพราะนาทีที่อยู่ถัดจากนั้น มันจะพาเราไปรู้จักกับชีวิตอันแสนบัดซบของเด็กผู้หญิง Sydney Novak ที่ต้องรับมือกับชีวิตในวัยแตกเนื้อสาว ซึ่งเธอกำลังจะเล่าให้เราฟัง
1
“go f*ck yourself”
I Am Not Okay with This ซีรีส์จากเน็ตฟลิกซ์ เล่าเรื่องราวของ ซิดนีย์ เด็กสาววัยแรกรุ่น ภายนอกเธอไม่ต่างจากเด็กอื่นๆ เธอคือวัยรุ่นคนหนึ่งที่กำลังค้นหาและทดลองใช้ชีวิต นอกจากนี้เธอยังต้องรับมือกับความสัมพันธ์ที่บ้าน ซึ่งมีแม่ที่งานยุ่งจนไม่มีเวลาดูแลเธอและน้องชาย ส่วนพ่อของเธอนั้นเสียไปแล้ว เขาผูกคอตายในห้องใต้ดิน และการสูญเสียพ่อเป็นเรื่องที่ซิดนีย์ ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไม
ขณะเดียวกันในโรงเรียนเธอมีเพื่อนสนิทเป็นสาวผิวดำสุดป๊อปอย่างไดน่า และยังมีเด็กหนุ่มสุดเนิร์ดอย่างสแตนลีย์ที่ตกหลุมรักและคลั่งไคล้ซิดนีย์อย่างมาก แต่สิ่งที่ทำให้ซิดนีย์แตกต่างจากวัยรุ่นคนอื่นๆ นอกจากการมีสิวขึ้นที่ต้นขาแล้วก็คือ เธอมีพลังเหนือธรรมชาติซ่อนอยู่ มันรอเวลาที่จะตื่นจากการหลับใหล การเป็นวัยรุ่นปกติที่ต้องจัดการกับเคมีในร่างกายว่ายากแล้ว แต่พลังนั่นทำให้ชีวิตของซิดนีย์ซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้นไปอีก เธอไม่ได้ต้องการมัน เธอพยายามควบคุมมันเอาไว้
I Am Not Okay with This เป็นการกลับมาพบกันของสองนักแสดงเด็ก Sophia Lillis และ Wyatt Oleff ซึ่งทั้งสองเคยร่วมงานกันมาก่อนแล้วในหนังสยองขวัญบล็อคบัสเตอร์ It
I Am Not Okay with This ไม่ได้รับอิทธิพลมาจาก The End of the F***ing World แต่อย่างใด หากแต่มันคือจักรวาลเดียวกัน ทั้งในโลกของผู้สร้างและในโลกของหนัง เนื่องจากทั้งสองเรื่องล้วนเคยเป็นนิยายภาพมาก่อนโดย Charles Forsman และถูกดัดแปลงอย่างหลวมๆ มาเป็นซี่รี่ส์โดย Jonathan Entwistle เช่นกัน องค์ประกอบบางส่วนจึงมีความคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกของตัวละคร ลักษณะการเคลื่อนกล้อง เพลงประกอบ มุกตลก และงานกำกับศิลป์ในเรื่องที่มาในยุค 80s แม้จะอยู่ในไทม์ไลน์ปัจจุบัน แม้ตัวละครจะมีการใช้สมาร์ทโฟนและโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่นั่นก็เข้ากับบรรยากาศในท้องเรื่องซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกลจากคำว่าเมือง นอกจากนี้ตัวผู้สร้างเองยังได้หยอดอีสเตอร์เอ็กเล็กๆ ลงไปด้วย
จึงไม่แปลกถ้าจะมีการเปรียบเทียบในแง่ของเนื้อหาของทั้งสองเรื่อง ขณะที่ The End of the F***ing World พูดถึงความคับข้องใจของหนุ่มสาวที่ต้องมีชีวิตต่อความเป็นไปที่ไม่ได้ดั่งใจบนโลกอันระทมทุกข์นี้ และความรักของพวกเขาทั้งสองก็ไม่ได้เป็นยารักษาแผล แต่บางครั้งมันก็แปรสภาพเป็นของมีคมทิ่มแทงกันและกัน และมันยังมุ่งเน้นไปที่ความบ้าคลั่งของตัวละครเยาว์วัยทั้งสอง ขณะที่ I Am Not Okay with This จะเล่าเรื่องการ (พยายาม) ก้าวข้ามพ้นวัยของสาววัยแรกรุ่นซึ่งเธอรู้สึกแปลกแยก และเล่าในมุมมองที่แฟนตาซีกว่า
2
“Just, sometimes its feels like the people I love don’t love me back”
ก่อนหน้าที่จะรู้จักกับชีวิตห่วยๆ ของซิดนีย์อย่างที่เธอบอกไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่า “go f*ck yourself” หลายคนน่าจะรู้จักกับชีวิตไฮสคูลของแคร์รี่ (Carrie) เด็กสาวที่มีพลังเหนือธรรมชาติซึ่งทำให้เห็นถึงความน่ากลัวของพลังงานนี้ เดิม Carrie เป็นนิยายขึ้นหิ้งอีกเล่มหนึ่งของสตีเฟ่น คิง ก่อนจะถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน เมื่อปี 1976 และถูกนำมารีเมกใหม่อีกครั้งปี 2013 สิ่งที่น่าสนใจคือ ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าของซิดนีย์จะมีความคล้ายคลึงกันกับแคร์รี่ แต่ปมและการการคลี่คลายของเรื่อง รวมถึงฉากหลังนั้นแทบจะไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่น่าคิดคือ แม้พลังในตัวหญิงสาวอย่างแคร์รี่และซิดนีย์ที่แทบจะเป็นเรื่องเล่าคู่ขนานกันนั้น มันอุปมาถึงสิ่งที่ต่างกัน รวมถึงกระทั่งแรงขับของพลังดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน
ขณะที่โลกในหนัง Carrie พลังของเธอกลายเป็นบาป เป็นสิ่งที่เลวร้ายทางศาสนา เป็นสิ่งที่ต้องกำจัด ไม่ใช่แค่ทำให้พลังนั้นหายไป แต่แม่ของเธอพยายามฆ่าเธอด้วยซ้ำไปเพื่อให้เธอได้ไปอยู่กับพระเจ้า ขณะที่ในโรงเรียนเธอก็กลายเป็นของเล่นสำหรับเพื่อนบางคน จนวันหนึ่งพันธนาการที่ล่ามพลังนั้นได้พังลง เราจึงได้เห็นความโกรธแค้น อึดอัดในตัวหญิงสาวปะทุออกมาราวกับภูเขาไฟที่พร้อมจะทำลายล้างทุกสิ่ง
ทว่าโลกของซิดนีย์พลังของเธอ ถูกขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกแปลกแยกจากเพศ (แม้เป็นการยากที่จะสรุปอย่างแปะป้ายว่าเธอคือไบเซกชวลเพียงเพราะเธอสามารถร่วมเพศกับเพศชายได้ ในขณะที่เธอก็มีใจให้กับเพื่อนสาวคนสนิท) เราพอจะเห็นว่าการมีใจให้เพื่อนสนิทเป็นเรื่องที่เธอไม่กล้ายอมรับตรงๆ ไปจนถึงการสูญเสียพ่อไปอย่างเป็นปริศนา และที่เธอต้องอาศัยอยู่กับแม่ก็ไม่ใช่ชีวิตที่เธอใฝ่ฝันถึงมันมากนัก และเมื่องานคืนสู่เหย้ามาถึง ความรู้สึกที่เธอมีต่อไดน่าเพื่อนสาวคนสนิทถูกเปิดโปงโดยแฟนเก่าของไดน่า พลังที่เธอพยายามเก็บซ่อนไว้ก็ระเบิดออกมา
สิ่งที่ทำให้เราสนใจ คือ พลังเหนือธรรมชาติซึ่งเรียกกันว่า ‘Telekinesis’ ที่รุนแรงเหล่านี้มักผูกติด ยึดโยงอยู่ในตัวของเด็กสาว (หรือหญิงสาว) มากกว่าที่มันจะอยู่ในตัวของโฮโมเซเปียนเพศชาย และพลังนี้มักจะมาพร้อมกับอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับเหตุและผล ซึ่งเราสามารถอนุมานได้ไหมว่า มันเป็นความเชื่อที่ว่ามนุษย์เพศหญิงเจ้าอารมณ์ ขณะที่เพศชายถนัดเหตุและผล และแม้ว่าท้ายสุดแล้วนั่นจะเป็นเพียงอคติที่มีต่อเพศหญิงเสียมากกว่า เราเลยเห็นตัวละครเพศหญิงที่มีพลังเช่นนี้ ซึ่งพวกเธอมักจะควบคุมพลังไม่ได้ และลงท้ายด้วยการสร้างความเสียหายให้กับตัวเธอเอง และคนรอบข้าง ซึ่งบ่อยครั้งมันหมายถึงความตาย
สิ่งนี้ยังปรากฏในตัวละครดังๆ อย่างแอล ใน Stranger Things หรือแม้แต่ จีน เกรย์และ สการ์เล็ต วิช แม้สองคนหลังจะมีสถานะเป็นฮีโร่ แต่เหตุใดพลังของพวกเธอถูกทำให้เป็นเรื่องเลวร้าย ควรแก่การเก็บไว้ มากกว่าจะสามารถใช้มันได้อย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่เด็กผู้ชายมีเหล่าซูเปอร์ฮีโร่มากมายให้ชื่นชม เอาใจช่วย แต่พวกเด็กผู้หญิงกลับรู้จักเพียงอิสตรีผู้มีพลังที่เป็นอันตราย มันจึงเหมือนกับว่าพวกเธอไม่ได้มีพลังพิเศษ เป็นเพียงผู้ป่วยทางจิตเสียมากกว่า
และแน่นอนว่าในหนังประเภทนี้ตัวร้ายมักจะเป็นเพศชายที่มีลักษณะต้องตาม toxic masculinity ทุกประการ และเมื่อตัวเรื่องไม่ได้พาเราไปสำรวจชีวิตของเหล่าผู้ร้ายเหล่านี้ดีพอ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย ตัวละครเหล่านี้จึงเป็นเพียงภาพแทนนามธรรมของสิ่งเลวร้ายมากกว่าจะหมายถึงพฤติกรรมที่มีอยู่จริงของตัวละคร ตัวละครอย่างแบรด ซึ่งเป็นแฟนหนุ่มของไดน่า การเข้ามาของเขาทำให้เวลาที่ไดน่าเคยใช้ร่วมกับซิดนีย์หายไป นอกจากนี้ความนิยมในตัวแบรดซึ่งเป็นหนุ่มนักกีฬา หน้าตาดี ไม่ว่าจะพูดอะไรทุกคนก็พร้อมจะคล้อยตาม แทบจะอยู่ตรงกันข้ามกับซิดนีย์เด็กสาวน่าเบื่อ ที่เป็นเพียง wallflower และฉากต้นเรื่องที่คุณครูกำลังอธิบายเรื่องการแข็งตัวขององคชาติ แล้วแบรดก็เล่นมุกตลกเกี่ยวกับการแข็งตัว ก็นับเป็นการเปิดตัววายร้ายหน้าหล่อที่ชวนให้ขำขื่นได้อย่างน่าจดจำ
สิ่งที่เหยื่อ (หรือในที่นี้คือเพศหญิง) จะสามารถกระทำล้างแค้นได้ ก็มีเพียงหนทางเดียวคือการใช้พลังเหนือธรรมชาติ ซึ่งหากเป็นบริบทไทยๆ เราจึงได้เห็นหนังผีที่ผู้หญิงเป็นเหยื่อ และโอกาสเดียวในการทวงคืนความยุติธรรมของเธอคือการตายไปเสียเท่านั้น
อีกนัยหนึ่ง ตัวละครฝั่งตรงข้ามที่เราอาจจะมองข้ามไปอยู่บ่อยครั้ง คือ เหล่าผู้สร้างสรรค์เรื่องราวทำนองนี้ที่หลายครั้งใช้ male gaze มองไปยังตัวละครของพวกเขา (หลายครั้ง อย่างคุกคาม) ซึ่งเป็นเรื่องของยุคสมัยที่ทำให้ต้องระมัดระวังในการนำเสนอมากขึ้น และใน I Am Not Okay with This เราจะไม่เห็นสายตาแบบนั้น และให้ความเป็นธรรมกับเพศชายไปด้วย ตัวละครอย่างสแตนลีย์ซึ่งเป็นตัวละครที่เพี้ยนๆ บ้าๆ บวมๆ เอง ก็ถูกกระทำจากผู้ชายด้วยกันเอง และผู้ที่กระทำไม่ใช่จากเพื่อนร่วมชั้นเรียนหากแต่คือพ่อ ผู้ให้กำเนิดของเขาเอง พ่อของสแตนลีย์มักจะแสดงท่าทางแย่ๆ และมีคำพูดเย้ยหยันว่าเขาแต่งตัวเหมือนพวกตุ๊ด และเขามีความสุขในบ้านหลังเล็กๆ เมื่อต้องอยู่คนเดียว เช่น ในบทสนทนาที่สแตนลีย์บอกกับซิดนีย์ว่า เขารู้สึกมีความสุขทุกครั้งเวลาที่พ่อไม่อยู่บ้าน
หนึ่งในตัวละครที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ชายคือแม็กกี้ แม่ของซิดนีย์ เธอพยายามที่จะเป็นแม่ที่ดี ทั้งทำงานจนไม่มีเวลาพัก และพยายามดูแลบ้านให้อยู่ในความเรียบร้อย และขอความร่วมมือจากซิดนีย์ในบางครั้ง แต่ดูเหมือนว่านั่นจะไม่ใช่ครอบครัวในแบบที่ซิดนีย์ต้องการ ในค่ำวันหนึ่งขณะที่ซิดนีย์เดินลงไปยังห้องใต้ดิน แม่ของเธอนั่งรออยู่ และตัดสินใจเล่าบางอย่างเกี่ยวกับพ่อของเธอให้ฟังว่า หลังจากที่พ่อของเธอเข้าร่วมกับกองทัพ ก็เกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เขาไม่สามารถเอามันออกไปจากหัวได้ มีระเบิดเกิดขึ้น และไม่มีใครที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นรอด มีเพียงพ่อของเธอเท่านั้น แต่เขาไม่สามารถลบเรื่องราวนั้นออกไปจากได้ และลงท้ายด้วยความตายในห้องใต้ดินที่เงียบเชียบและอุณหภูมิเย็นยะเยือกนี้ ภาระทั้งหมดของครอบครัวจึงตกมาอยู่ที่แม็กกี้และเธอเป็นห่วงซิดนีย์อย่างมาก เธอกำชับว่าหากซิดนีย์รู้สึกถึงบางสิ่งในตัว ขอให้บอกเธอ แต่ก็อย่างที่เราคาดเดาได้ ซิดนีย์ไม่ได้บอกแม่ว่าเธอก็รู้สึกเช่นนั้น
ความรุนแรงอาจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนคาดหวังจะได้เห็น เราอยากพูดถึงฉากจบของ The End of the F***ing World ซึ่งในท้ายสุดของเรื่อง เมื่อปมปัญหาขับเคลื่อนมาสู่เวลาที่พร้อมเกิดการนองเลือด และจุดจบของตัวละครทั้งหมดคือความตายหรือถูกทำลายล้าง แต่หนังไม่ได้หยิบยื่นทางเลือกนั้นให้ มันเลือกทางออกที่อ่อนโยน ละมุนละม่อม มันคือความหวัง —หวังที่จะมีชีวิตในโลกที่ไม่เป็นดั่งใจ— และแม้ซีรีส์จะไม่ได้บอกวิธีในการใช้ชีวิตให้มีความหวังอย่างไร แต่ซีรีส์บอกเพียงว่าจงยอมรับความเจ็บปวดอันเกิดจากผลการกระทำ และอยู่กับมันต่อไปเพื่อเรียนรู้
3
“I tried , I tried to be normal But I’m just not wired that way”
จากที่หนังปูมาทั้งหมด เราคาดเดาได้ไม่ยากว่าเมื่อมาถึงตอนจบ เราจะได้เห็นความเลือดสาดโลกแตกแบบ Carrie ซึ่งฉากจบของหนัง หญิงสาวผู้เป็นเหยื่อของความเลวร้าย หลังจากที่เธอทำลายงานพรอมจนวอดวาย เธอกลับมาที่บ้านและถูกแม่ทำร้ายซ้ำอีก แต่เธอก็ใช้พลังนั้นเพื่อป้องกันตัวแต่เธอรู้สึกผิดที่ทำให้แม่ตาย แล้วบ้านก็พังทลายลงมา เธอก็ติดอยู่ในนั้นกับร่างของแม่และรูปปั้นของพระเยซูคริสต์
ขณะที่จุดระเบิดของซิดนีย์คือ เธอต้องการให้แบรดหยุดป่าวประกาศความลับและเรื่องราวอ่อนแอต่างๆ ของเธอที่เขียนไว้ในไดอารี่และเขาดันได้อ่านมัน ลงท้ายพลังของเธอทำให้หัวของแบรดระเบิดเหมือนลูกโป่งถูกเจาะ เศษซากอวัยวะที่แตกออกนั้นกระจายเป็นบริเวณกว้าง เกิดความอลหม่านขึ้น ซิดนีย์เดินออกมาด้วยสภาพเหม่อลอย เหมือนในฉากเปิดเรื่อง และซีรี่ส์นี้จบลงที่ซิดนีย์ไปหลบอยู่ในที่แห่งหนึ่งเพียงลำพัง และได้เจอกับใครอีกคนหนึ่งซึ่งอาจจะมีพลังไม่ต่างจากเธอ ซึ่งเรื่องราวหลังจากนี้จะตามมา ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2021 กับซีซั่นสอง
ขณะที่แคร์รี่ถูกนำเสนอในทางสยองขวัญ ท้ายที่สุดเธอจำเป็นต้องถูกทำให้หายไป แต่ซิดนีย์เป็นเพียงเด็กมิลเลนเนียลที่พยายามจะเป็นคนปกติ และเธอก็ไม่จำเป็นต้องตายเหมือนสาวๆ พลังจิตรุ่นพี่ในอดีตอีกต่อไป ซิดนีย์ได้รับโอกาสในการอยู่ต่อ แม้ว่าเหตุผลนั้นอาจจะเป็นไปเพียงเพื่อเหตุผลทางการตลาดก็ตาม
และเพื่อไม่ให้เป็นการตีความไปเกินกว่าเนื้อหนังมังสาของ I Am Not Okay with This อันมี coming of age เป็นหัวใจหลัก คือ วัยรุ่นกลุ่มนี้จะได้เรียนรู้ชีวิตที่โตขึ้น มันอาจเป็นชีวิตที่พวกเขาไม่ได้ชอบ และพลังในตัวของพวกเขาอาจจะถูกลิดรอนไปทั้งจากผู้ใหญ่ที่โตกว่า หรือแม้แต่เพื่อนในวัยเดียวกันก็ตาม และเราหวังว่าเมื่อพวกเขารู้สึกไม่โอเค พวกเขาจะกล้าพอที่จะพูดออกมาดังๆ ว่า พวกเขา “ไม่โอเค” แม้ว่ามันจะทำให้ใคร ‘หัวระเบิด’ ไปบ้างก็ตาม
อ้างอิง:
https://www.insider.com/i-am-not-okay-with-this-jonathan-entwistle-easter-eggs-2020-2
Tags: Netflix, ซีรีส์, I Am Not Okay with This