การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ทำให้แต่ละประเทศมีมาตรการรับมือและการเยียวยาในระยะสั้นที่แตกต่างกัน บางประเทศมีการเสนอให้ใช้ Herd Immunity ที่เชื่อในเรื่อง Nudge Theory ว่าควรให้กลุ่มคนที่แข็งแรงสร้างภูมิคุ้มกัน บางประเทศก็เลือกใช้การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดการระบาด ส่วนหลายประเทศก็เลือกที่จะปิดเมือง ปิดประเทศ หรือปิดการเข้าออกประเทศชั่วคราวเพื่อจำกัดการระบาด
แน่นอนว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในปีนี้อย่างแน่นอน หลายสถาบันการพยากรณ์เศรษฐกิจได้ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงอย่างน้อย 0.5% หลายประเทศก็พยายามประคับประคองเศรษฐกิจด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง การให้เงินช่วยเหลือแรงงานในช่วงที่ไม่สามารถไปทำงานได้ ซึ่งอาจพอช่วยเยียวยาเศรษฐกิจได้บ้าง
ปัญหาที่รุนแรงระดับนี้ จึงเกิดคำถามว่า มาตรการระยะยาวหรือโมเดลทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?
Coronavirus Capitalism
นาโอมิ ไคลน์ (Naomi Klein) นักข่าวอาวุโสและนักเคลื่อนไหวทางความคิดที่มีผลงานการวิพากษ์ระบบทุนนิยมร่วมสมัยอย่างลุ่มลึก ได้ฉายภาพให้เห็นถึงระบบทุนนิยมที่มาพร้อมกับวิกฤตเศรษฐกิจผ่านคลิปวิดีโอใน The Intercept_ สื่อเชิงสืบสวนสอบสวนว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือภัยพิบัติ ประชาชนอยู่ในสภาวะสิ้นหวัง หวาดกลัว และอ่อนแรงทางการเมือง รัฐมักจะฉวยโอกาสร่วมมือกับทุนใหญ่เสมอ
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น นาโอมิยกตัวอย่างการออกมาตรการของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า มีการเสนอตัดลดเงินเข้ากองทุนประกันสังคม (payroll tax) เพื่อให้ประชาชนมีเงินใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แต่ในขณะเดียวกองทุนประกันสังคมก็เสี่ยงที่จะล้มละลาย เนื่องจากมีเงินเข้ามาไม่มากพอที่จะบริหารกองทุนต่อ นอกจากนั้นทรัมป์ยังให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลือกลุ่มทุนอีกหลายเจ้า เช่น อุตสาหกรรมการบิน บริษัทเดินเรือสำราญหรู โรงงานที่ใช้น้ำมันและถ่านหินในการผลิต รวมไปถึงการให้กลุ่มทุนประกันภัยเข้าปรึกษาหารือ
ส่วน FED หรือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็พร้อมอัดฉีดเงินถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ย้ำว่า 1.5 ล้านล้าน!) เข้าสู่ระบบสูงอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้ตลาดหุ้นตกต่ำจากความเสียหายทางเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกหยุดชะงักที่นักลงทุนพากันเทขายหุ้น นาโอมิสะท้อนให้เห็นว่าชีวิตของกลุ่มทุนที่มีโอกาสเสี่ยงติดไวรัสน้อย กลับมีความสำคัญเร่งด่วนมากกว่าประชาชนที่ไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพได้
นาโอมิมองว่า มาตรการที่ทรัมป์กำลังทำไม่ว่าจะเป็นการลดการหักเงินหรือการปิดประเทศชั่วคราว จะนำหายนะมาสู่ชีวิตประชาชนอย่างยิ่ง และอาจจะนำไปสู่การแปรรูปกองทุนประกันสังคม หรือที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือการนำแผนปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจที่เสรีมากกว่านี้มาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ ซึ่งถ้าหากสหรัฐฯ ไม่สามารถควบคุมโรคระบาดให้เข้าสู่สภาวะปกติก่อนเลือกตั้ง ทรัมป์ก็อาจจะขอให้มีเลื่อนการเลือกตั้งออกไป
พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นบทที่เราพอจะรู้มาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากพรรคใดก็ตาม รัฐพยายามอุ้มกลุ่มทุนใหญ่ที่ร่ำรวยและรักษาชื่อไว้ไม่ให้ล้มละลายหายจากไป มากกว่าความห่วงใยต่อครอบครัวของชนชั้นแรงงาน โดยเฉพาะ Gig Workers หรือ แรงงานอิสระที่รับงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์จำนวนมหาศาล ที่ไม่มีประกันสุขภาพคุ้มครองการรักษาโรคอุบัติใหม่ การไปตรวจโรค ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ต้องจ่ายเอง และถ้าหากตรวจพบเจอว่าติดเชื้อไวรัส ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยจากการหยุดทำงานเพื่อกักบริเวณหลายสัปดาห์ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายๆ อื่นและหนี้ยังคงเท่าเดิม
ยิ่งถ้าหากว่า Gig Workers รู้ตัวว่าติดเชื้อไวรัสจริง แต่ด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจทำให้หยุดงานไม่ได้ เขาก็ต้องออกไปทำงานและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ก็จะยิ่งทำให้เชื้อไวรัสระบาดมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม รัฐบาลมีข้อมูลและสามารถออกมาตรการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้อย่างเร่งด่วนอยู่แล้ว เพราะถ้าภาครัฐมองข้ามปัญหาเหล่านี้ไปอย่างสิ้นเชิง ปัญหาในอนาคตก็อาจมาเยือน เช่น คนล้มละลายจนนำไปสู่การก่ออาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น หรือ คนมีบ้านกลับต้องเป็นคนไร้บ้านต้องอาศัยบนท้องถนน
การแก้ปัญหาไม่จำเป็นต้องใช้แนวทางตลาดเสรีเสมอไป
ในช่วงหลังวิกฤตมักจะมีการเสนอแนวคิดปฏิรูปเศรษฐกิจหลายรูปแบบ แนวคิดที่เคยถูกมองว่าเป็นไปไม่ได้ก็อาจจะถูกหยิบขึ้นมาใช้ได้ นาโอมิเสนอว่ารัฐบาลไม่จำเป็นจะต้องเลือกแนวคิดเสรีนิยมใหม่ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยการให้เสรีกับกลุ่มทุนมากกว่าเดิม ซึ่งจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำให้ถ่างออกมากขึ้น
แต่เรายังมีทางเลือกอื่นอยู่อีกหลายแนวทาง หากย้อนกลับไปหลังวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในทศวรรษ 1930 ซึ่งทำให้อัตราการว่างงานจาก 4% เพิ่มเป็น 25% แฟลงกลิน ดี. รูสเวลท์ (Franklin D. Roosvelt) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น จึงได้เสนอแผนปฏิรูปเศรษฐกิจหลังวิกฤตด้วยโครงการ New Deal
เป้าหมายสำคัญของรูสเวลท์ ก็คือต้องการลดอัตราการว่างงานและสร้างระบบสวัสดิการสังคมไปพร้อมกัน ในโครงการ New Deal จึงได้มีการเสนอ Social Safety Net หรือ โครงข่ายคุ้มครองทางสังคม ซึ่งให้สิทธิคุ้มครองประชาชนเต็มรูปแบบ ตั้งแต่เงินชดเชยการเลิกจ้าง สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า การตั้งกองทุนเงินบำนาญหลังเกษียณ การศึกษาฟรีในสถาบันการศึกษาของรัฐ โครงการที่อยู่อาศัยราคาถูก การอุดหนุนงบประมาณช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภคให้ถูกลง
ระบบนี้ได้รับการตอบรับที่ดีและประสบความสำเร็จในการทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลกครั้งที่ 2 ในทศวรรษ 1970 ทำให้รัฐบาลตัดลดงบประมาณที่เคยอุดหนุนโครงการต่างๆ ลง แล้วให้กลุ่มทุนเอกชนเข้ามามีบทบาทในการจัดการความเป็นอยู่ผู้คนแบบระบบตลาดมากขึ้น ซึ่งการให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นและรัฐบาลมีบทบาทน้อยลงก็ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมพุ่งสูงขึ้นเช่นเดียวกับกำไรของกลุ่มทุนใหญ่
ทางเลือกสำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจในอนาคต
ในช่วงหลังแม้จะมีการเสนอโมเดลเศรษฐกิจใหม่ๆ เช่น โครงการเงินเดือนให้เปล่า (Universal Basic Income: UBI) ที่ทดลองใช้ในบางประเทศ หรือ โครงการเงินช่วยเหลือคนทำงานที่มีรายได้น้อย (Negative Income Tax: NIT) แต่นาโอมิเห็นว่าช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการประท้วงใหญ่หลายละรอก เช่น ขบวนการ ‘ยึดวอลล์สตรีท (Occupy Wall Street) การประท้วงเรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ การประท้วงเหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาที่ใหญ่กว่าการที่จะแก้ปัญหาได้ด้วย UBI หรือ NIT เพราะฉะนั้นควรจะเสนอแพ็กเกจนโยบายให้ครอบคลุมปัญหาหลายมิติมากกว่าแค่ปัญหาความยากจน หลายคนจึงได้พูดถึง Green New Deal เพื่อเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาวิกฤตในระยะยาว
อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ–คอร์เทซ (Alexandria Ocasio-Cortezs) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดาวรุ่งจากพรรคเดโมแครตเป็นหนึ่งในผู้ที่นำข้อเสนอของกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมมาผลักดันแผนนโยบาย Green New Deal เข้าสู่สภาคองเกรส แม้ Green New Deal จะเป็นการเสนอแพ็กเกจนโยบายที่ครอบคลุมหลายปัญหา แต่สามารถสรุปได้ด้วยคำว่า Green และ New Deal
ในส่วนของคำว่า ‘Green’ แผนนโยบายนี้ต้องการให้รัฐบาลลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน อุตสาหกรรมที่สร้างฝุ่นพิษ การขนส่งที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก โดยการเปลี่ยนเครื่องจักรและเครื่องยนต์ต่างๆ ให้เป็นพลังงานสะอาดทั้งหมดภายใน 10 ปี เพื่อแก้ต้นตอปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟไหม้ป่า พายุหิมะถล่มแบบไม่คาดคิด
ทางออกที่ Green New Deal เสนอคือ การผลักดันให้ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยการให้อาคารและบ้านติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมันและถ่านหิน การสนับสนุนอุตสาหกรรมและระบบยานยนตร์ไฟฟ้า ตั้งแต่รถโดยสารสาธารณะ รถไฟ และรถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อให้เปลี่ยนการใช้พาหนะเครื่องยนต์เติมน้ำมันมาเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงการสร้างจุดจอดที่สามารถชาร์จไฟฟ้าได้อย่างครอบคลุม
ส่วน ‘New Deal’ ว่าด้วยการ ‘เรียน–งาน–บ้าน–พยาบาล’ กล่าวคือ รัฐจะประกันคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษาใหม่ที่เสริมสร้างทักษะและความเชี่ยวชาญในอนาคต ขณะเดียวกันภาครัฐก็จะลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานคุณภาพสูงมากขึ้น เพื่อให้เกิดการจ้างงานและค่าแรงที่มากพอสำหรับเลี้ยงดูครอบครัว การทำโครงการบ้านในราคาที่คนรายได้น้อยสามารถซื้อได้และอยู่ในทำเลใกล้เมือง การเข้าถึงการรักษาพยาบาลคุณภาพดีในราคาถูก
เหตุที่ต้องนำเอาเรื่องการประกันคุณภาพชีวิตกลับมาเป็นนโยบายสำคัญใน Green New Deal เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ทำให้เกิด Gig Workers ที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์มจำนวนมาก แต่ Gig Workers ก็เข้าไม่ถึงสวัสดิการและไม่สามารถต่อรองค่าจ้างได้ ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งคาดการณ์กันว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้อาจติดลบ ส่งผลให้บางแพลตฟอร์มที่ดีและเคยได้รับความนิยมก็จะล้มหายจากระบบไป อันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ Gig Workers ทันที ส่วนการหางานใหม่ในช่วงที่เกิดโรคระบาดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ในการเลือกตั้งปลายปีที่จะมาถึงนี้ พรรคเดโมแครตยังได้ใช้ Green New Deal เป็นแผนนโยบายในการหาเสียง ในการดีเบตเมื่อสัปดาห์ก่อน เบอร์นี แซนเดอร์ส และโจ ไบเดน สองผู้สมัครท้าชิงตำแหน่งแคนดิเดตประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต เห็นด้วยกับการเสนอ Green New Deal ในเชิงหลักการ แต่ทั้งคู่เห็นต่างในรายละเอียดในการแปลงหลักการไปสู่ทำนโยบายจริง โดยที่แซนเดอร์สมองว่า แผนนโยบายดังกล่าวสามารถทำสำเร็จได้ภายในปี 2030 ส่วนไบเดนมองว่าแผนนโยบายนี้น่าจะใช้เวลามากถึง 30 ปี
การแข่งขันของ เบอร์นี แซนเดอร์ส และโจ ไบเดน ในการท้าชิงตำแหน่งตัวแทนผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต จึงเป็นหนึ่งในการปะลองพลังทางความคิดเชิงนโยบายว่า New Green Deal จะสามารถเปลี่ยนฉากทัศน์ทุนนิยมอเมริกาหลังวิกฤตโควิด-19 ได้หรือไม่ หรือจะกลับไปฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการให้ทุนใหญ่มีบทบาทนำและสร้างความเหลื่อมล้ำเช่นเดิม
อ้างอิง
Coronavirus Capitalism — and How to Beat It https://www.youtube.com/watch?v=niwNTI9Nqd8&feature=youtu.be&fbclid=IwAR2cI3oBzH0lDzAHGJ8TJlE3p6K_De1m_5FddpOTkgdrd7xfLNGWQFIyMTs
VanGiezen, R., & Schwenk, A. E. (2001). Compensation from before World War I through the Great Depression. Compensation and Working Conditions, 6(3), 17-22.
King, D. S. (1987). The Decline of the Keynesian Welfare State Consensus. In The New Right Politics, Markets and Citizenship (pp. 49-69). Palgrave, London.
Fed to Inject $1.5 Trillion in Bid to Prevent ‘Unusual Disruptions’ in Markets
Green New Deal FINAL
https://apps.npr.org/documents/document.html?id=5729033-Green-New-Deal-FINAL
EGEB: What Biden and Sanders said about the Green New Deal in the debate
https://electrek.co/2020/03/16/egeb-biden-sanders-green-new-deal-debate/
The Covid-19 crisis is a chance to do capitalism differently https://www.theguardian.com/commentisfree/2020/mar/18/the-covid-19-crisis-is-a-chance-to-do-capitalism-differently?CMP=fb_gu&utm_medium=Social&utm_source=Facebook#Echobox=1584546927
Tags: สหรัฐอเมริกา, โดนัลด์ ทรัมป์, นโยบายเศรษฐกิจ, โคโรนาไวรัส, โควิด-19