หลังจากที่มีผู้ออกมาแสดงความกังวลที่สมาชิกพรรคพลังประชารัฐหลายคนยังคงตบเท้าฝ่าไวรัสเข้าร่วมงานวันเกิดภรรยาของสมาชิกพรรค ทั้งที่รัฐบาลพยายามรณรงค์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงงานที่มีผู้คนรวมตัวกันจำนวนมาก ส่วน ส.ส. ปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้ออกมาชี้แจงเรื่องการร่วมกิจกรรมงานแต่ง งานบวช พร้อมเผยวาทะเด็ดว่า “งดก็คือทำได้อยู่” (Getsunova อาจกำลังตีอกชกหัวอยู่เบาๆ ที่คิดไม่ได้ก่อน ส.ส. ท่านนี้)

วลีที่ประกอบขึ้นจากองค์ประกอบที่มีความหมายขัดแย้งกันในลักษณะนี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า oxymoron (ราชบัณฑิตบัญญัติไว้ว่า ปฏิพจน์) และมีอยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวในภาษาอังกฤษ

ดังนั้น สัปดาห์นี้เราจะไปดู oxymoron ที่พบเจอได้บ่อยในภาษาอังกฤษกัน

ก้าวร้าวที่ไม่ก้าวร้าว

“เพราะเธอมาช้า พอถึงคิวแล้วเลยต้องปล่อยผ่านไป เลยอดกินร้านนี้เลย

วันนี้อุตส่าห์ได้คิวแท้ๆ แต่ไม่เป็นไร ไว้วันหลังมาก็ได้ ร้านนี้คนเยอะตลอด คงมีบุญได้กินอะเนอะ”

เฮ้ย โกรธก็ด่าเลยตรงๆ

ไม่ต้องมาพยายามพูดอ้อมค้อมให้รู้สึกผิด

จะก้าวร้าวก็ก้าวร้าวมาเลย

แบบนี้เขาเรียกแอบก้าวร้าว ก้าวร้าวซ่อนเร้น

Passive aggressive

เห็นด้วยแต่ไม่เห็นด้วย

เธอคิดว่ามาตรการรับมือโรคระบาดของรัฐบาลมีประสิทธิภาพแล้วเหรอ

ฉันไม่เห็นด้วยเลย

แต่เราเห็นต่างกันก็ได้

มนุษย์คงคิดเหมือนกัน เห็นพ้องต้องกันทุกเรื่องไม่ได้เนอะ

ถ้าอย่างนั้นเรายอมรับแล้วกันว่าเราคิดต่างกัน

Agree to disagree

ความลับที่ไม่ลับ

โรงเรียนนี้เขาประกาศปาวๆ ว่าไม่มีแป๊ะเจี๊ยะ

แต่ใครๆ ก็รู้ว่าเซ่นผู้อำนวยการได้

รู้ยันเรตว่าต้อง ‘บริจาค’ เท่าไหร่ถึงจะฝากเด็กได้

ถือเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้แต่พูดดังไม่ได้ ต้องเก็บไว้เป็นความลับ

จะพูดว่าเป็นความลับที่ไม่ลับก็คงไม่ผิด

Open secret

เงียบที่ไม่เงียบ

เจ้านายเรียกพนักงานโรงแรมทุกคนเข้าห้องประชุม

หารือเรื่องการทำงานในภาวะไวรัสระบาด

เจ้านายบอกว่าโรงแรมจะไปไม่รอด

จำเป็นต้องขอให้หยุดงานแบบไม่จ่ายเงิน

ทั้งห้องเงียบกริบ

ทุกคนมองหน้ากันแต่ไม่มีใครพูดอะไรออก
ความเงียบงันนั้นดังอื้ออึงจนปวดแก้วหู

Deafening silence

หวานแต่ขม

แม้วันนี้แสนขมขื่นถึงคราวต้องจากลา

แต่เมื่อหวนนึกถึงวันวาน

ก็อดยิ้มให้กับความทรงจำแสนหวานไม่ได้

ถือเป็นประสบการณ์ที่ขื่นขมระคนหวาน สุขปนทุกข์

Bittersweet*

ใช้คำว่า sweet sorrow ก็ได้ มาจากประโยคเต็ม Parting is such a sweet sorrow. (การจากลาเป็นความระทมอันแสนหวาน) ในเรื่อง โรมิโอและจูเลียต ของเชคสเปียร์

ต้นฉบับที่เป็นก๊อปปี้

แม้ว่า copy จะแปลว่าคัดลอกหรือทำสำเนาได้

แต่ copy ที่เป็นคำนามมีความหมายว่า ฉบับ ด้วย
ดังนั้น เพื่อแยกฉบับสำเนาออกจากต้นฉบับ
เอกสารต้นฉบับจึงเรียกว่า

Original copy

โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย

ใครว่าโดดเดี่ยวต้องอยู่ลำพัง

มีคนรายล้อมรอบตัวมากมายก็รู้สึกโดดเดี่ยวไม่มีใครได้

ถ้าเธอก็รู้สึกโดดเดี่ยว

และฉันก็รู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนกัน

เรามานั่งโดดเดี่ยวด้วยกัน จะได้ไม่เดียวดายดีไหม

Alone together

เกลียดที่ไม่เกลียด

เรารักค่ายมือถือที่เราใช้นะ

เพราะสัญญาณแรง

ขึ้นเขาลงห้วยไม่ต้องกลัวถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

แต่ก็เกลียดเหลือเกินที่คิดแพงกว่าค่ายอื่น
แถมเวลาโทรเข้าศูนย์บริการทีคือรอจนลูกบวชได้เลย

รักก็รัก เกลียดก็เกลียด

เป็นความสัมพันธ์แบบรักปนชัง

Love-hate relationship

ตายแต่ยังหายใจ

ชีวิตทรมานเหลือแสน

ทุกวันต้องฝ่าฝุ่นฝ่าไวรัส

ออกไปทำงานหาเช้ากินค่ำ

ได้เงินแค่พอค่าข้าวค่าเช่าห้องไปวันๆ

วันไหนหยุดคือไม่มีข้าวกิน

อยากจบชีวิตเฮงซวยก็ไม่ได้เพราะมีคนในครอบครัวก็ดูแล

อยากหยุดทำงานก็หยุดไม่ได้

ชีวิตไร้ซึ่งความสุขใดๆ รู้สึกเหมือนตายทั้งเป็น

Living death

โหดร้ายเพื่อปรานี

วันนี้ถึงเวลาต้องพูดความจริงกับเธอตรงๆ แล้ว

แม้ความจริงอาจโหดร้าย เธอฟังแล้วอาจเจ็บปวด

แต่ขอให้รู้ว่าเรากำลังแสดงความปรานี

เพราะถ้าเราไม่พูดวันนี้

เธอจะหลงทู่ซี้ทำสิ่งที่เธอทำได้ไม่ดี

เสียเวลาเปล่าๆ ปลี้ๆ ไม่พอ

คนยังจะตราหน้าเธอไปอีกนานแสนนาน

เชื่อเราเถอะว่าเธอทำงานบริหารงานบ้านเมืองไม่ได้

ลงจากตำแหน่งแล้วไปปลูกต้นไม้ที่บ้านเถอะ

ขอโทษที่ต้องทำร้ายจิตใจ แต่ฉันหวังดีกับเธอจริงๆ

Be cruel to be kind*

*มาจากเรื่อง แฮมเล็ต ของเชคสเปียร์

 

บรรณานุกรม

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม อังกฤษ-ไทย. ราชบัณฑิตยสถาน: กรุงเทพฯ, 2545.

American Heritage Dictionary of the English Language

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Clark, Stewart, Graham Pointon. Word for Word. Oxford: London, 2003.

Fahnestock, Jeanne. Rhetorical Style: The Uses of Language in Persuasion. OUP: New York, 2011.

Forsyth, Mark. The Elements of Eloquence: How to Turn the Perfect English Phrase. Icon Books: London, 2013.

Harris, Robert A. Writing with Clarity and Style: A Guide to Rhetorical Devices for Contemporary Writers. Routledge, New York, 2018.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Tags: , ,