ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีกำหนดเยือนอินเดียในสัปดาห์นี้ ถึงแม้สหรัฐอเมริกากับอินเดียยังเจรจาข้อตกลงด้านเศรษฐกิจไม่ลงตัว เพราะผู้นำสหรัฐฯ กับนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ต่างชูนโยบายกีดกันการค้า แต่ทั้งสองฝ่ายมีจุดร่วมตรงกันอย่างหนึ่ง คือ มองจีนเป็นภัยคุกคามที่ต้องผนึกกำลังทัดทาน

ในวันจันทร์ (24 กุมภาพันธ์) ทรัมป์จะเริ่มการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 2 วัน นับเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 7 ที่ไปเยือนแดนภารตะ แม้ว่ายังไม่มีการลงนามข้อตกลงสำคัญในระหว่างการเยือน ประเทศเจ้าภาพก็ได้ตระเตรียมการต้อนรับไว้อย่างน่าเร้าใจ 

ในสายตาของทรัมป์ ยักษ์เศรษฐกิจอันดับสามของเอเชียอย่างอินเดียเป็นตลาดใหญ่ที่ชวนน้ำลายสอ ที่ตั้งของอินเดียมีความสำคัญในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่มุ่งถ่วงรั้งอิทธิพลจีนในภูมิภาค อีกทั้งเสียงโหวตของคนอเมริกันเชื้อสายอินเดียในสหรัฐฯ ราว 3 ล้านเสียง ยังน่าหมายปองสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน  

ในสายตาของโมดี สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าที่ต้องญาติดีไว้ก่อน เพราะอินเดียได้เปรียบดุลการค้าปีละหลายหมื่นล้านดอลลาร์ฯ นอกจากนี้ การกระชับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจโลกย่อมส่งสัญญาณไปยังคู่แข่งอย่างจีน ว่า อินเดียมีเพื่อนตัวโตเบ้อเริ่ม

สร้างกำแพงบังสลัม

ในวันแรกของการเยือน โดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมด้วยสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เมลาเนีย พร้อมด้วยบุตรสาว อิแวนกา และบุตรเขย จาเร็ด คุชเนอร์ จะยกขบวนไปเปิดสนามคริกเก็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เมืองอาเมดาบาด รัฐคุชราต ฐานเสียงของโมดี

ที่สนามกีฬาซาร์ดาปาเทล ทรัมป์จะปราศรัยกับชาวอินเดียราว 100,000 คนในงานมหกรรมที่มีชื่อว่า “นมัสเตทรัมป์” ซึ่งเจ้าภาพจัดให้ผู้นำอเมริกันเป็นการตอบแทนที่ฝ่ายสหรัฐฯ เคยจัดงาน “ฮาวดี้โมดี” ให้ผู้นำนิวเดลีได้ปราศรัยกับชาวอินเดียที่เมืองฮุสตัน มลรัฐเท็กซัส เมื่อปีที่แล้ว

ระหว่างทางไปยังสนามกีฬาแห่งใหม่ จะมีผู้คนยืนเรียงรายต้อนรับผู้นำทำเนียบขาวนับแสน ถึงแม้ไม่ได้มากมายขนาด 6-10 ล้านคนอย่างที่ทรัมป์บอกกับสื่อมวลชนอย่างตื่นเต้นด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน แต่ก็พูดได้ว่าเป็นการต้อนรับที่เอิกเกริกที่สุด

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายเจ้าภาพปัดกวาดบ้านเมืองเป็นการใหญ่ นอกจากสร้างกำแพงยาว 700 เมตรเพื่อปิดบังย่านสลัมจากสายตาอาคันตุกะแล้ว ยังไล่จับสุนัขจรจัด วัว และลิงตามถนนหนทางด้วย 

หลังจากทำพิธีเปิดสนามกีฬา ทรัมป์กับครอบครัวจะบินไปยังเมืองอัครา ชมวิวตะวันตกดินที่ทัชมาฮาล ในวันอังคาร ผู้นำทั้งสองฝ่ายจะพูดจาความเมืองกันที่กรุงนิวเดลี    

ทำข้อตกลงฉบับมินิ

มีข่าวว่า ทรัมป์กับโมดีอาจทำข้อตกลงการค้าฉบับกระเป๋า พอให้เป็นของติดไม้ติดมือกลับบ้านสำหรับผู้นำสหรัฐฯ 

ว่ากันว่าอาจเป็นข้อตกลงนำเข้ามอเตอร์ไซค์ฮาร์เลย์-เดวิดสัน ผลิตภัณฑ์นมเนย ยุทโธปกรณ์บางอย่าง เช่น เฮลิคอปเตอร์ รุ่น Seahawk ของล็อกฮีดมาร์ติน จำนวน 24 ลำ มูลค่า 2,600 ล้านดอลลาร์ฯ รวมถึงข้อตกลงจัดจ้างบริษัทพลังงานอเมริกัน เวสติงเฮาส์ ให้สร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 6 ชุด 

นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงที่อาจทำกันในครั้งนี้อีกบางฉบับ เช่น ระบบป้องกันขีปนาวุธสำหรับเมืองหลวงของอินเดีย และเฮลิคอปเตอร์ รุ่น Apache จำนวน 6 ลำ เพื่อเสริมฝูงบินที่อินเดียมีใช้งานอยู่แล้ว 22 ลำ  

เหตุที่ต้องทำข้อตกลงแค่พอหอมปากหอมคอ เพราะทั้งสองฝ่ายยังไม่บรรลุการเจรจาการค้าทวิภาคี เนื่องจากผู้นำทั้งคู่ต่างปกป้องตลาดภายใน ทรัมป์ชูนโยบาย ‘America First’ ขณะที่โมดีชูคำขวัญ ‘Make in India’ ตั้งแต่เป็นนายกฯ สมัยแรกเมื่อปี 2014 

ความสัมพันธ์ด้านการค้าของทั้งสองฝ่ายไม่สู้ราบรื่นนัก อินเดียเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 23,300 ล้านดอลลาร์ฯ เมื่อปี 2018 รัฐบาลทรัมป์จึงขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมจากอินเดีย และเมื่อปี 2019 ยังยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้า หรือจีเอสพี ที่ให้กับอินเดียด้วย

โมดีตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ หลายรายการ พร้อมกับจำกัดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ และประกาศมาตรการภาษีศุลกากรอีกหลายอย่างในแผนงบประมาณฉบับใหม่ 

มิตรภาพที่ไม่ลงรอย

นอกจากประเด็นระหองระแหงด้านการค้าแล้ว สหรัฐฯ กับอินเดียยังมีความไม่ลงรอยในด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศในระดับหนึ่งด้วย 

เรื่องที่ต่างไม่สบอารมณ์ในกันและกัน คือ กรณีสหรัฐฯ กดดันให้อินเดียหยุดซื้อน้ำมันจากอิหร่าน กรณีอินเดียเตรียมที่จะบังคับให้บริษัทอเมริกันที่เข้าไปประกอบการต้องเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าชาวอินเดียไว้ในประเทศ 

นอกจากนี้ กรณีอินเดียมีแผนจะซื้อขีปนาวุธแบบ S-400 จากรัสเซีย ทำให้สหรัฐฯ ชั่งใจว่าจะตอบโต้อินเดียตามกฎหมายที่ทรัมป์ประกาศใช้เมื่อปี 2017 หรือไม่ กฎหมายฉบับนี้มีชื่อว่า แคตซา (CAATSA – Countering America’s Adversaries Through Sanctions) ซึ่งมุ่งคว่ำบาตรรัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ 

อินเดียพึ่งพาระบบอาวุธของรัสเซียมาช้านาน ในช่วงปี 2013-2018 อาวุธนำเข้าของอินเดียมีแหล่งที่มาจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วน 58 % ขณะที่นำเข้าจากสหรัฐฯแค่ 15 %

ขณะเดียวกัน บางปีกในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ยังวิจารณ์อินเดียเกี่ยวกับมาตรการด้านความมั่นคงและการปิดกั้นการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตในแคว้นแคชเมียร์ รวมทั้งการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมในกรณีกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ แน่นอนว่าโมดีไม่ชอบใจกับเสียงวิจารณ์เหล่านี้  

รวมพลังปรามจีน

แม้มีประเด็นปีนเกลียวกันหลายเรื่อง ไมเคิล คูเกิลแมน รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียใต้ ศูนย์วิลสัน หน่วยงานคลังสมองในสหรัฐฯ อธิบายสาเหตุที่สหรัฐฯ กับอินเดียกระชับความร่วมมือว่า เป็นเพราะจีนขยายอำนาจอย่างรวดเร็ว ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องหยุดยั้งจีน 

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สหรัฐฯ จัดการซ้อมรบทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ร่วมกันเป็นครั้งแรกในอ่าวเบงกอล ในชื่อรหัส Tiger Triump มีทหารอินเดียเข้าร่วม 1,200 นาย ทหารอเมริกัน 500 นาย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอินเดีย เจฟ สมิธ แห่งหน่วยงานคลังสมอง Heritage Foundation ในกรุงวอชิงตัน บอกว่า อินเดียรู้สึกว่าตัวเองถูกปิดล้อมหนักขึ้นหลังจากกองทัพเรือจีนเข้ามาป้วนเปี้ยนในมหาสมุทรอินเดียเป็นประจำ

เอียน เบรเมอร์ ประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมือง ยูเรเชียกรุ๊ป บอกว่า สหรัฐฯ ต้องการยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศที่เป็นแกนของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ประเทศทั้งสองมองจีนเป็นภัยคุกคาม จึงประสานนโยบายกันเพื่อรับมือกับข้อน่าวิตกนี้

สหรัฐฯ กับอินเดียจะแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง อย่างไร ในท่ามกลางเงื้อมเงาของจีน ตีตั๋วนอนชมได้เลย เพราะหนังเรื่องนี้ยังอีกยาว

 

อ้างอิง :

ภาพ: REUTERS/Adnan Abidi

 

Tags: , , , ,