“ส่วนใหญ่งาน Data Visualization จะมีฟังก์ชันการให้ข้อมูลด้วย ไม่ใช่แค่ดึงดูดความสนใจอย่างเดียว ดังนั้นถ้าเราไม่มีข้อมูลมาก่อน เราก็จะทำโดยไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังทำอยู่ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าสิ่งที่ทำลงไปมันใช้ได้หรือเปล่า หรือบางอย่างที่คิดว่าเราเข้าใจแล้ว บางทีคนอื่นเขาก็อาจไม่เข้าใจเลยแม้แต่น้อย”
สิ่งสำคัญที่ ‘น้ำใส ศุภวงศ์’ กราฟิกดีไซเนอร์จาก Cadson Demak และ Boonmee Lab เล่าถึงการได้ลองทำ Data Visualization ที่เสนอข้อมูลเชิงลึกออกมาเป็นภาพ ช่วยสอนให้เธอเข้าใจถึงการทำงานกราฟิก ที่จำเป็นอย่างมากที่จะต้องเข้าใจข้อมูล เนื้อหา ที่กำลังจะเล่าออกมาเป็นภาพในขณะนั้น ทำให้ในตอนนี้คำว่า กราฟิกดีไซเนอร์ที่ดี สำหรับเธอ จึงหมายถึงการเข้าประชุมร่วมกับทีมข่าว ก่อร่างสร้างไอเดีย อีกทั้งต้องสืบค้นข้อมูลในงานที่กำลังทำอยู่ด้วยเช่นกัน
“มันไม่ถึงกับต้องไปดูข้อมูลดิบขนาดนั้น เพราะทีมคอนเทนต์เขาคัดเลือกมาให้แล้ว แต่บางทีเขาจะแนบลิงก์ข้อมูลดิบมาไว้ให้ด้วย ซึ่งเราก็จะเข้าไปดูเล่นๆ ในกรณีที่เป็นข่าว เป็นบทความที่ไม่ยาวมาก เพื่อช่วยให้ตัวเองเข้าใจสิ่งที่กำลังทำและอินกับงานของตัวเองมากขึ้น (หัวเราะ)”
“อีกอย่างคือการทำงานร่วมกับทีม เรื่องนี้เป็นความมหัศจรรย์ใจอยู่เสมอ เวลาที่เราได้ทำงานกับ 2 อาชีพนี้ (นักข่าวและโปรแกรมเมอร์) เพราะทุกครั้งเวลานั่งประชุมด้วย เรามักจะประทับใจในการจับประเด็น หาประเด็นเล่า ของคนพวกนี้ เขาคิดกันเร็ว หาข้อมูลเก่ง ซึ่งมันช่วยให้เราได้เรียนรู้ ได้เปิดหูเปิดตาว่าเทคโนโลยีปัจจุบันเขาไปถึงไหนกันแล้ว”
กระบวนการคิดในงานเชิง Data Visualization: 1. คุยหาประเด็น > 2. วางโครงเรื่อง > 3.ทำข้อมูล > 4. โปรดักชันหน้าบ้าน (ส่วนที่คนเห็น) > 5. โปรดักชันหลังบ้าน
“ปกติแล้ววิธีการทำงานจะเริ่มจากการประชุมก่อนเลย ใครมีไอเดียที่สนใจก็จะโยนมาก่อน โดยที่ยังไม่จำแนกว่าใครทำหน้าที่อะไรในงาน จากนั้นทีมข่าวก็จะเริ่มวางแผนไว้คร่าวๆ ให้สามารถใช้ได้จริงและแปลงเป็นรูปภาพได้มากขึ้น รวมไปถึงจะเริ่มคุยกับโปรแกรมเมอร์แล้วว่า ถ้าอยากทำแบบนี้มีทิศทางไหนที่พอเป็นได้บ้าง
“ซึ่งพอผ่านจุดนี้ได้ กราฟิกดีไซเนอร์จะมีบทบาทสำคัญในการเรียบเรียงข้อมูลทั้งหมดและนำเสนอออกไปในเชิง Data Visualization แต่ก็ต้องปรึกษากับทีมอยู่ดี ว่าสิ่งที่ดีไซเนอร์ทำอยู่มันตรงกับเนื้อหาที่ทีมข่าวอยากเล่าไหม เป็นสิ่งที่โปรแกรมเมอร์สามารถเอาไปพัฒนาต่อได้หรือเปล่า เพราะสุดท้ายโปรแกรมเมอร์จะทำหน้าที่เป็นหลังบ้านคอยดูแลงานทั้งหมดอีกทีหนึ่ง”
“ผลพลอยได้อย่างหนึ่งของการมาเวิร์กช็อปนี้สำหรับกราฟิกดีไซเนอร์คือ การได้ร่วมงานกับคนในสายที่จะมาอุดรอยรั่วในทักษะอื่นๆ เพราะส่วนใหญ่ในการเวิร์กช็อป เราจะได้งานที่ไม่สามารถทำให้สมบูรณ์ได้ด้วยตัวคนเดียว จึงเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับกราฟิกดีไซเนอร์ที่กำลังสนใจงานด้านนี้แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เราคิดว่าเวิร์กช็อปนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะได้รู้จักและร่วมงานกับอาชีพอื่นได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น”
Fact Box
Data Journalism Workshop เปิดรับสมัครถึงวันที่ 31 มกราคม 2020 มาร่วมสนุกกับวิธีใช้งาน Data เพื่องานเนื้อหาเชิงลึกที่จะช่วยคุณอัพสกิลการทำคอนเทนต์ด้วยข้อมูลในแบบของคุณ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักข่าว กราฟิกดีไซเนอร์ หรือโปรแกรมเมอร์ สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://themomentum.co/djw2020/