ช่วงเวลาแห่งความสูญเสียย่อมยากลำบากเสมอ โดยเฉพาะเมื่อการสูญเสียนั้นเกิดขึ้นภายในครอบครัว นอกจากเรื่องจิปาถะอย่างเอกสาร หรือพิธีการงานศพแล้ว ความรู้สึกก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีเพียงเวลาที่เยียวยาได้
รัฐบาลอังกฤษประกาศจะรับรองกฎหมาย แจ็คส์ลอร์ (Jack’s Law) ในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวอนุญาตให้พ่อแม่ที่สูญเสียบุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือเสียชีวิตในครรภ์ สามารถลางานพิเศษได้เป็นเวลาสองสัปดาห์ โดยที่ยังได้รับค่าจ้างเท่าเดิม หากทำงานในบริษัทมาครบ 26 สัปดาห์
การรณรงค์เพื่อกฎหมายฉบับดังกล่าว เริ่มต้นขึ้นในปี 2010 เมื่อลูซี่ เฮิร์ดสูญเสีย ‘แจ็ค’ ลูกชายวัย 23 เดือน จากการจมน้ำ โดยหลังการสูญเสียลูกชายเพียงสามวัน พ่อของแจ็คก็ต้องกลับไปทำงานตามเดิม มิฉะนั้นจะถูกนายจ้างนับวันหยุดที่เหลือเป็นวันลาพักร้อนหรือลาป่วย อารมณ์ปั่นป่วนจากความสูญเสียทำให้ลูซี่เลิกกับพ่อของแจ็คและกลับไปใช้ชีวิตกับพ่อแม่ ก่อนที่เธอจะตัดสินใจเริ่มรณรงค์ประเด็นดังกล่าวในโลกออนไลน์และรวบรวมรายชื่อจำนวน 100,000 รายชื่อ เพื่อผลักดันเรื่องดังกล่าวเข้าสู่สภา
ลูซี่เล่าให้สำนักข่าวบีบีซีฟังว่า “หลายต่อหลายคนที่พบกับประสบการณ์เดียวกับฉันเล่าให้ฟังว่า นายจ้างบอกให้พวกเขาให้เวลากับตัวเองเท่าที่ต้องการ พวกเขาเลยหยุดงานไป 6 เดือน ก่อนกลับมาพบว่าใบลาออกถูกวางอยู่ที่โต๊ะ” ลูซี่กล่าวอีกว่า “การรณรงค์ตลอด 10 ปี ที่ทำให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ขึ้นเป็นความรู้สึกที่วิเศษมาก แต่มันก็ขื่นขมเช่นกัน”
แอนเดรีย ลีดสัมรัฐมนตรียุทธศาสตร์ธุรกิจ พลังงานและอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ความเศร้าจากการสูญเสียลูกนับเป็นความรู้สึกที่ยากหาสิ่งอื่นเปรียบ ฉันภูมิใจมากที่รัฐบาลนี้กำลังผ่านกฎหมายฉบับนี้ และทำให้สหราชอาณาจักรกลายเป็นประเทศแรกที่บังคับใช้กฎหมายนี้”
ปัจจุบัน กฎหมายฉบับเดิมระบุว่าทุกคนสามารลางานในกรณีที่พบกับเหตุการณ์ฉุกเฉินได้แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นเวลาเท่าไรอย่างแน่ชัด เพียงใช้คำว่าสมเหตุสมผลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างลางานนานเกินที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างนายจ้างสามารถหักวันหยุดพักร้อนหรือวันลาป่วยแทน รวมถึงไล่ออกได้
อ้างอิง:
https://www.getreading.co.uk/news/local-news/tragic-mum-lucy-herd-campaigns-4205124
https://www.bbc.com/news/business-51204068
Tags: สหราชอาณาจักร, สิทธิพื้นฐาน, แจ็คส์ลอร์