ในขณะที่เราได้ยินชื่อปรัชญาการใช้ชีวิตอย่างฮุกกะ (Hygge) ของเดนมาร์ก ให้ความหมายถึงชั่วโมงพิเศษที่เต็มไปด้วยความรู้สึกสบาย หรือลากอม (Lagom) ของสวีเดน ที่ให้ความหมายว่า ‘ความพอดีนั้นดีที่สุด’ หรือคำว่า ฟรีลุฟต์สลีฟ (friluftsliv) ศัพท์จากประเทศนอร์เวย์ที่แปลความหมายว่า เชิญชวนทุกคนออกไปสนุกกับชีวิตกลางแจ้ง แนวคิดหรือปรัชญาการใช้ชีวิตต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลกเหล่านี้กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ด้วยผู้คนต่างมองหาวัฒนธรรมที่แตกต่าง เพื่อการเติมเต็มที่มากกว่า

หมุนแผนที่โลกกลับมาแล้วปักหมุดประเทศญี่ปุ่นประเทศที่รายงานจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าเป็นประเทศที่ประชากรมีอายุยืนมากที่สุดในโลก เจาะจงไปเฉพาะเมืองโอกินาวาที่เป็นใจกลางของเมืองที่ประชากรอายุยืนมากที่สุด ด้วยเหตุผลสำคัญไม่ใช่แค่การเข้าถึงวัตถุดิบอาหารที่ดีจำนวนมาก (คนในเมืองนี้บริโภคผลิตภัณฑ์จากเต้าหู้และถั่วเหลืองมากที่สุดในโลก มีผักและผลไม้หลากหลายที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ) แต่ชาวโอกินาวายังมาพร้อมรูปแบบการรับประทานอาหารที่เรียกว่า hara hachibu หรือการกินอิ่มเพียง 80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เฉลี่ยกินเพียงวันละ 1,200 แคลเลอรีเท่านั้น

ชาวโอกินาวายังมาพร้อมรูปแบบการรับประทานอาหารที่เรียกว่า hara hachibu หรือการกินอิ่มเพียง 80 เปอร์เซ็นต์

ไม่ใช่แค่เพียงอาหารอย่างเดียวที่ทำให้อายุยืนเกินร้อยปีได้ ยังรวมถึงการมีกิจกรรมกลางแจ้ง ชาเขียวคุณภาพดี อากาศกึ่งเขตร้อนที่ให้อุณหภูมิพอเหมาะการได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ผู้คนมีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ

รวมถึงสิ่งที่ แดน บิวท์เนอร์ (Dan Buettner) นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านพื้นที่ในโลกที่ผู้อยู่อาศัยอายุยืนมากที่สุด ที่ยืนยันว่า ‘อิคิไก’ (ikigai – 生き甲斐) คือความลับเบื้องหลังอายุยืนร้อยปีของคนญี่ปุ่น เขาพบคำตอบนี้จากการพูดคุยกับผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นชาวประมงอายุ 100 ปีที่ค้นพบอิคิไกจากการออกไปตกปลากับครอบครัวสัปดาห์ละ 3 ครั้ง หรือหญิงชราวัย 102 ปี ที่รู้สึกถึงอิคิไกในระหว่างที่อุ้มลูกของเหลน

อิคิไก คำนี้จึงให้ความหมายว่า ‘จุดมุ่งหมาย’ หรือ ‘เหตุผลของการมีชีวิตอยู่’ คือเหตุผลที่ทำให้เราตื่นมาในทุกๆ เช้า ไม่ว่าจะเป็นอากาศเย็น กาแฟร้อนๆ แสงพระอาทิตย์ขนนุ่มๆ ของสัตว์เลี้ยงพื้นบ้านที่ไม่เปื้อนฝุ่น ความสดของผัก อะไรก็เป็นได้ เพราะอิคิไกคือคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่เราสามารถรับรู้ได้ในชีวิต

อิคิไกเป็น ‘ปัญญา’ ที่ซ่อนอยู่ในปรัชญา โอบล้อมความเซนเอาไว้ภายใน คือการสร้างความสุขและสุขภาพที่ดีของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ผ่านการรู้สึกตัวและการค้นพบตัวตน สามารถเข้าใจได้ผ่านหลักการสี่ข้อ คือ 1. อะไรคือสิ่งที่คุณรักที่จะทำ 2. อะไรคือสิ่งที่สร้างรายได้ให้คุณ 3. อะไรคือสิ่งที่โลกต้องการ 4. อะไรคือสิ่งที่คุณมีทักษะทำได้ดี

ในปี 2001 นักวิจัย อะกิฮิโระ ฮาเซกาวา (Akihiro Hasegawa) นักจิตวิทยาคลินิกและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโตโย เอวะ (Toyo Eiwa University) เขียนในงานวิจัยถึงคำว่าอิคิไกในฐานะคำที่เป็นส่วนหนึ่งในภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่น ประกอบขึ้นด้วยสองคำคือ อิคิ (iki) ที่แปลว่าชีวิต และ ไก (gai) ที่แปลว่าคุณค่าทางจิตใจ

คำว่าอิคิไกสามารถย้อนกลับไปได้ถึงในช่วงยุคเฮอัง (Heian period) จากรายงานของฮาเซกาวา “ไก (gai) มาจากคำว่า kai (ที่แปลว่า หอย ในภาษาญี่ปุ่น ที่คนญี่ปุ่นสมัยก่อนใช้แทนการใช้จ่าย เป็นตัวแทนวัดคุณค่าของสิ่งต่างๆ ในยุคนั้น) แปลว่ามีคุณค่าที่สำคัญมาก” ดังนั้นคำว่าอิคิไกจึงกลายมาจากคำที่ให้ความหมายถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่เช่นเดียวกับคำอื่นในภาษาญี่ปุ่นอย่างเช่น ยาริไก (yarigai) ที่แปลว่าคุณค่าของการลงมือทำหรือฮาตาระคิไก (hatarakigai) ที่แปลว่าคุณค่าของการทำงาน

Photo by Josh Wilburne on Unsplash

กอร์ดอน แมททิวส์ (Gordon Matthews) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่ง Chinese University of Hong Kong และผู้เขียนหนังสือเรื่อง What Makes Life Worth Living?: How Japanese and Americans Make Sense of Their Worlds กอร์ดอนกล่าวว่า อิคิไกเป็นเหมือนสิ่งที่นำพาไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น เพราะคนจะได้รู้ว่ามีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวให้มีชีวิตอยู่ แต่เขาเองก็มีข้อกังวลว่า คนจะเข้าใจว่าอิคิไกเป็นทางเลือกไลฟ์สไตล์ใหม่ แท้จริงแล้วอิคิไกเป็นเพียงสิ่งธรรมดา ‘เป็นเหมือนกับข้อเท็จจริง’

หนึ่งในข้อถกเถียงสำคัญของวิธีคิดแบบนี้คือการปรับใช้ เนื่องจากมีข้อสังเกตว่าอิคิไกเป็นปรัชญาที่เกิดขึ้นจากพื้นฐานทางลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศหรือกายภาพเฉพาะของประชากรญี่ปุ่น แต่แท้จริงแล้ว อิคิไกสามารถเริ่มต้นได้จากระดับเล็กๆ อย่างเช่นการเปลี่ยนวิถีการกินอาหารหรือรู้จักสังเกตรายละเอียดในแต่ละวัน อิคิไกจึงสามารถปรับใช้ได้กับคนหลายรุ่นหลายเจเนอเรชัน

Photo by Alexandre Chambon on Unsplash

ไม่ว่าจะเป็นเจนเนอเรชันเอ็กซ์ ที่การเข้าสู่วิกฤตวัยกลางคน มาพร้อมกับการหาความหมายของชีวิต อิคิไกช่วยค้นหาโดยเริ่มต้นจากงาน ครอบครัว และการใช้เวลาว่าง เกิดเป็นความสมดุลที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนผ่านได้อย่างไม่เคว้งคว้างเกินไป

หรือจะเป็นผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล กลุ่มที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าและความจริงแท้เป็นที่หนึ่ง เส้นแบ่งระหว่างความเป็นส่วนตัวมากพอกับความเป็นส่วนรวม อิคิไกจึงเป็นหลักการในการพิจารณาคุณค่าที่ให้กับกลุ่มมิลเลนเนียลได้

อิคิไก จึงให้ความหมายว่า ‘จุดมุ่งหมาย’ หรือ ‘เหตุผลของการมีชีวิตอยู่’ คือเหตุผลที่ทำให้เราตื่นมาในทุกๆ เช้า

อย่างแน่ชัดที่สุดคืออิคิไกในเจเนอเรชันเบบี้บูมเมอร์ ประชากรที่มีอายุยืนยาวขึ้นและต้องการอยู่ได้ด้วยตัวเองให้ได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เบบี้บูมเมอร์สามารถปรับใช้อิคิไกเพื่อจดจำเป้าหมายของชีวิต เตรียมพร้อมในช่วงก่อนเกษียณ (pre-tiree) จนถึงหลังเกษียณที่มองเห็นความงดงามและคุณค่าในชีวิตแต่ละวันได้

อิคิไกจะไม่มีประโยชน์หากเรายังไม่สามารถตอบคำถามสำคัญสี่ข้อข้างต้นได้ มันไม่ใช่ไลฟ์สไตล์หรือเทรนด์ใหม่ แต่เป็นสัญญาณในรูปแบบคำถามที่ทำให้เราตระหนักถึงเป้าหมายและคุณค่าของชีวิต ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวที่บางคนอาจจะยังไม่มี แต่ขอเพียงได้เริ่มต้นทบทวนตัวเองและจดจำเป็นหลักไว้ในใจ จุดเริ่มต้นเล็กๆ เพียงเท่านี้ อิคิไกก็ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์แล้ว

 

ตรวจสอบข้อมูลและตรวจทานภาษาญี่ปุ่นโดย ธนกฤต สวนสัน

ภาพประกอบโดย ภัณฑิรา ทองเชิด

ที่มา:
www.weforum.org
www.bbc.com/capital
www.businessinsider.com
www.amazon.com

Tags: , ,