ชนชั้นนำนอกแถวมักถูกเบียดขับเมื่อยังมีชีวิต ถูกลบเลือนจากประวัติศาสตร์ชาติเมื่อหาชีวิตไม่แล้ว กรณีอดีตผู้นำจีน ‘จ้าวจื่อหยาง’ ผู้คัดค้านการปราบปรามนักศึกษาเมื่อปี 1989 เพิ่งได้รับอนุญาตให้ฝังอัฐิหลังมรณกรรมนานร่วมทศวรรษครึ่ง เป็นหนึ่งในตัวอย่างของแบบแผนอำนาจนิยมที่ว่านี้
จ้าวจื่อหยาง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และอดีตนายกรัฐมนตรี คิดต่าง ทำต่าง ผิดแผกจากกลุ่มพลังที่ครองอำนาจ เด็กจีนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ 30 ปีก่อน แทบไม่รู้จักบุคคลที่ได้รับการเคารพนับถือในหมู่นักประชาธิปไตยผู้นี้ เพราะนามของ “ท่านเลขาฯ จ้าว” ไม่มีให้สืบค้นแม้กระทั่งบนโซเชียลมีเดียในจีน
พิธีอันเงียบสงัด
ญาติพี่น้องของจ้าวเพิ่งได้ทำพิธีฝังเถ้ากระดูกในหลุมศพเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2019 หลังจากเขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2005 ขณะมีอายุ 85 ปี อัฐิของเขาได้รับการฝังร่วมกับภริยา เหลียงโปฉี ที่สุสานในเมืองฉานผิง ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 60 กม.
การจัดการฝังเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีรัฐพิธี ไม่มีคำเชิดชูเกียรติยศ ไม่มีสัญลักษณ์แสดงฐานะของผู้วายชนม์ที่เคยเป็นถึงเลขาธิการพรรค ป้ายหินสีเทาเหนือฮวงซุ้ยมีเพียงจารึกนามด้วยตัวอักษรสีดำแบบพื้นๆ ขณะด้านหน้าสุสานมีตำรวจในเครื่องแบบสองคนกับนอกเครื่องแบบสามคนเฝ้าจับตาอยู่ห่างๆ
ตอนทำพิธี มีเฉพาะคนในครอบครัวกับญาติไม่ถึง 20 คนมาร่วม มีคนมาคำนับไม่กี่คน ด้านข้างหลุมศพตั้งภาพถ่ายของจ้าวกับภริยา แต่วันรุ่งขึ้นก็ถูกเก็บออกไป เจ้าหน้าที่ห้ามนักข่าวถ่ายภาพ
จ้าวไม่ได้เข้าไปพำนักนิรันดรร่วมกับบรรดาวีรชนและแกนนำคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายในสุสานนักปฏิวัติเปาปาชานทางตะวันตกของกรุงปักกิ่ง
พิธีที่จัดขึ้นอย่างเงียบๆ ทั้งๆที่เจ้าตัวเสียชีวิตไปนานร่วม 14 ปีแล้ว สะท้อนว่า เรื่องราวของจ้าวจื่อหยางยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวในการเมืองจีน เช่นเดียวกับเหตุการณ์สังหารนักศึกษาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1989
ขวางทางปืนต้องถูกปลด
เศรษฐกิจการเมืองจีนในทศวรรษ 1980 เป็นช่วงเวลาของการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงท่ามกลางเศรษฐกิจการเมืองโลกที่มีทุนนิยมและประชาธิปไตยเป็นกระแสหลัก จ้าวจื่อหยางเข้ากุมบังเหียนนำพาประเทศในห้วงเวลาที่ชาติจีนมีคำถามตัวโตว่า เราจะไปทางไหนกัน
จ้าวดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 1980-1987 และขึ้นนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคในปี 1987 เขามีจุดยืนเป็นนักปฏิรูป ดังเช่นในการประชุมภายในของพรรคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1987 เขาพูดถึงการปฏิรูปการเมือง โดยบอกว่า “การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งแบบไม่มีตัวเลือก ยากที่จะเรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย”
เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขาที่กลายเป็นตำนานเล่าขานด้วยความชื่นชมในหมู่นักเสรีนิยม มีสองเรื่องใหญ่ๆ ด้วยกัน นั่นคือ ตอนที่เขาสนทนาพูดคุยกับเหล่าแกนนำนักศึกษา และถึงกับเดินทางไปที่จัตุรัสเทียนอันเหมินด้วยตนเอง เพื่อขอร้องให้นักศึกษายุติการอดอาหารประท้วง กับเรื่องเล่าที่ว่าเขาคัดค้านเติ้งเสี่ยวผิง ผู้กุมอำนาจตัวจริงในเวลานั้น ที่จะประกาศกฎอัยการศึก
หลังจากเขาพบพูดคุยกับแกนนำนักศึกษาสองสัปดาห์ การประท้วงที่เทียนอันเหมินก็ถูกบดขยี้ด้วยกำลังทหาร ตัวเขาถูกปลดออกจากทุกตำแหน่ง และถูกกักบริเวณในบ้านพักเป็นเวลานานกว่า 15 ปีจนกระทั่งถึงแก่กรรม
ฐานะทางประวัติศาสตร์
เราจะประเมินสถานะทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำที่แตกแถวของจีนผู้นี้อย่างไร กลายเป็นเรื่องเข้าทำนอง ‘สองคนยลตามช่อง’
จูเลียน บี. จีเวิร์ตซ์ นักประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ศึกษาเศรษฐกิจการเมืองจีนในช่วงทศวรรษ 1980 บอกว่า จ้าวเป็นผีที่หลอกหลอนพรรคคอมมิวนิสต์จีน ฝ่ายหนึ่งมองว่า เขาเป็นวีรชนที่พยายามหยุดยั้งการปราบปรามเมื่อปี 1989 ขณะที่ฝ่ายทางการมองว่า เขาคือศัตรูที่มุ่งโค่นล้มระบอบสังคมนิยมของจีน
จ้าวขึ้นครองอำนาจในกรุงปักกิ่งหลังจากแสดงผลงานปฏิรูปเศรษฐกิจในระดับมณฑลอย่างโดดเด่น จนเป็นที่ต้องตาต้องใจของเติ้งเสี่ยวผิง นับแต่ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในปี 1980 จ้าวลงมือปฏิรูปเศรษฐกิจระบบตลาด ส่งเสริมการลงทุนของเอกชนและต่างชาติ พร้อมกับผ่อนคลายบทบาทของรัฐในการควบคุมราคาและสินค้าต่างๆ
ในการผลักดันประเทศไปในทิศทางเปิดเสรี เขาพยายามหลีกเลี่ยงที่จะปะทะในเชิงอุดมการณ์กับพวกหัวเก่า มุ่งเน้นแต่ด้านนโยบายเศรษฐกิจ แต่เมื่อได้เป็นเลขาธิการพรรคในปี 1987 ต่อจากหูเย่าปัง ซึ่งตกอำนาจไปเพราะถูกมองว่าใช้ท่าทีนุ่มนวลกับการประท้วงของนักศึกษา จ้าวก็ตกที่นั่งลำบาก เหตุเพราะความคิดที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจในพรรค
ในความคิดของเขา การปฏิรูปตลาดจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการเปิดเสรีทางการเมืองไปพร้อมกัน อันที่จริง เขาไม่ใช่นักประชาธิปไตยเสียทีเดียว เพียงแต่เห็นว่า พรรคคอมมิวนิสต์ต้องลดบทบาทและเปิดกว้างรับฟังทัศนะของฝ่ายตรงข้ามให้มากขึ้น
จุดพลิกผันในชีวิตของเขามาถึงในปี 1989 เมื่อเขาคัดค้านเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งต้องการใช้กฎอัยการศึกปราบปรามการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน อันเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงลุกลามไปทั่วประเทศ
ตัวเขาเองต้องการให้การประท้วงเลิกรายุติลงเช่นกัน แต่เขากับคนสนิทอยากใช้วิธีเจรจาและประนีประนอมมากกว่า เพื่อให้นักศึกษากลับไปเรียนหนังสือ จุดยืนเช่นนี้เองทำให้เขาถูกปลดก่อนที่ทหารจะถูกส่งเข้าไปบดขยี้ผู้ประท้วง อันเป็นเหตุให้มีคนตายหลายร้อย หรือบางตัวเลขบอกว่าหลายพัน
พรรคคอมมิวนิสต์ประณามจ้าวว่า เป็นพวกเปลี่ยนสีแปรธาตุ สร้างความแตกแยกภายในหมู่แกนนำพรรค และไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่อย่างเติ้งเสี่ยวผิง
ภายหลังอสัญกรรมของเขา มีการตีพิมพ์บทสนทนาระหว่างตัวเขากับคนที่ไปเยี่ยมเยือนที่บ้านพักออกมาหลายชิ้น ในบทสนทนาชิ้นหนึ่ง ซึ่งบันทึกโดยเพื่อนของเขาคนหนึ่ง ชื่อ จงเฟิงหมิง ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อปี 2010 จ้าวพูดกับเพื่อนคนนี้ว่า “จีนไม่ยอมเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย นั่นสวนทางกับกระแสโลก ไม่ช้าก็เร็ว จีนจะต้องเดินไปบนเส้นทางนั้น”
พิธีฝังอัฐิของจ้าวผ่านไปแล้ว สื่อของรัฐไม่ได้เอ่ยถึงแม้แต่น้อย เช่นเดียวกับเมื่อตอนที่เขาถึงแก่อสัญกรรม ซึ่งทางการจีนประกาศข่าวนี้ด้วยถ้อยคำเพียงสั้นๆ พร้อมข้อความบรรยายว่า “จ้าวได้ทำผิดพลาดอย่างร้ายแรง”
จ้าวคือชนชั้นนำนอกแถว เขาจึงไม่ได้รับสถานะ ‘ปูชนียบุคคล’
อ้างอิง:
ภาพปก: ที่ฝังเถ้ากระดูก ของ จ้าวจื่อหยาง (ภาพเมื่อ 19 ตุลาคม 2019 โดย NOEL CELIS / AFP)
Tags: จ้าวจื่อหยาง, เติ้งเสี่ยวผิง, ระบอบสังคมนิยมจีน, จีน, คอมมิวนิสต์, เทียนอันเหมิน, พรรคคอมมิวนิสต์