เมื่อวันอังคาร แต่แทนที่จะสแกนหน้าเข้าออฟฟิศทำงานตามปกติ ผมกลับมานั่งรอขึ้นเครื่องฯ อยู่ที่สนามบินดอนเมือง—ไม่ได้ลาพักผ่อน แต่กำลังจะไปราชการต่างหาก เพื่อลงพื้นที่สอบสวนวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (Extensive drug-resistance tuberculosis: XDR-TB) ที่จังหวัดแห่งหนึ่ง

เพราะ XDR-TB ได้รับการประกาศให้เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ทีมสอบสวนและควบคุมโรคจากส่วนกลางจะต้องลงพื้นที่ภายในเวลาที่กำหนด

วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก

หลายคนน่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ ‘วัณโรค’ ธรรมดา (ไม่ดื้อยา) มาบ้างแล้ว ล่าสุดที่ได้รับความสนใจจากสังคมคือกรณีคุณน้ำตาล เดอะสตาร์ ซึ่งความจริงก็ไม่ได้ธรรมดาขนาดนั้น เพราะเชื้อวัณโรคหรือ M. tuberculosis สามารถหลบอยู่ในร่างกายของเราได้ตลอดชีวิต

วันร้ายคืนร้าย ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง เชื้อก็จะแสดงอาการออกมา โดยการรักษาจะต้องใช้ยาด่านแรกมากถึง 4 ตัว!

และยังต้องกินนานถึง 6 เดือน!! (คือต้องกินยา 4 ตัวก่อนนอนทุกวันไป 2 เดือน จากนั้นลดเหลือ 2 ตัวก่อนนอนทุกวันไปอีก 4 เดือน) ต่างจากโรคปอดอักเสบธรรมดาที่ใช้ยาเพียงตัวเดียวในการรักษา และกินไม่เกิน 7 วันเท่านั้น

นั่นก็เพราะยาแต่ละตัวออกฤทธิ์คนละตำแหน่ง เลยต้องใช้ยาหลายตัวเพื่อเสริมฤทธิ์กันและป้องกันการดื้อยา ส่วนที่ต้องใช้เวลานานก็เพราะเชื้อวัณโรคโตช้าและต้องกำจัดเชื้อออกจากร่างกายให้หมด

ทว่าจนแล้วจนรอดเชื้อก็สามารถปรับตัวแข่งกับการพัฒนายาของเราได้ เริ่มจากดื้อยาด่านแรก 2 ตัวสำคัญ (จากทั้งหมด 4 ตัวตอนแรก) กลายร่างเป็น ‘วัณโรคดื้อยาหลายขนาน (Multidrug-resistance Tuberculosis: MDR-TB)’ จากนั้นก็ลามมาถึงยาด่านที่สอง เพิ่มอีก 2 ตัว ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นยาชนิดฉีดแล้วด้วย รวมเป็นดื้อทั้ง 2+2 = 4 ตัวแบบนี้จะเรียกว่า ‘XDR-TB’

ตัวเดียวกับที่ผมกำลังมาตามหาอยู่นั่นเอง

จากธรรมดารักษากันอยู่ ‘ครึ่งปี’ เพิ่มขึ้นเป็นเกือบๆ ‘2 ปี’ ส่วนค่ารักษาจากหลัก ‘พัน’ เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ‘ล้าน’

การสอบสวนวัณโรคดื้อยาฯ

ผมเดินทางไปถึงพื้นที่ทันเวลาพอดี ผู้ป่วย XDR-TB ถูกแยกตัวไว้ในห้องแยกโรคความดันลบ (negative pressure room) แล้ว เพราะวัณโรคติดต่อผ่านทางอากาศที่เราสูดอากาศหายใจเข้าไป การที่ความดันของห้องเป็นลบจะทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในอากาศถูกดูดเข้าไปกำจัดในเครื่องกรองอากาศ และไม่แพร่กระจายออกภายนอก

ประเด็นแรกของการสอบสวนคือ สาเหตุของการติดเชื้อวัณโรคดื้อยา โดยมีความเป็นไปได้ 2 อย่างคือ 1.ติดเชื้อวัณโรคธรรมดาก่อน แล้วเชื้อค่อยๆ พัฒนาเป็น MDR หรือ XDR-TB ภายหลัง หรือ 2.ติดเชื้อ XDR-TB เข้าไปตั้งแต่แรก เพราะอย่างแรกเกิดภายใน ‘ตัวคนไข้’ เอง ส่วนอย่างหลังแสดงว่าจะต้องมีแหล่งของ XDR-TB อยู่ใน ‘ชุมชน’

ซึ่งเมื่อทบทวนประวัติของผู้ป่วยแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอย่างหลัง คือสูดเอา XDR-TB เข้าไปเลย เพราะไม่เคยป่วยเป็นวัณโรคมาก่อน

ดังนั้นประเด็นต่อมาคือต้องค้นหา ‘แหล่ง’ ของ XDR-TB ว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อติดต่อมาจากใคร? พร้อมทั้งค้นหา ‘ผู้สัมผัสโรค’ ว่าใครที่มีโอกาสได้รับเชื้อต่อจากผู้ป่วยรายนี้บ้าง? (ขอสรุปเป็นแผนผังให้เข้าใจง่ายตามรูปนะครับ) เพราะจะต้องติดตามพวกเขามาคัดกรองการติดเชื้อวัณโรค เพื่อควบคุมไม่ให้โรคแพร่กระจายออกไป

แผนผังการสอบสวนโรค XDR-TB โดยผู้ป่วยวัณโรคมักมีอาการภายหลังจากสัมผัสเชื้อ เช่น จากผู้ป่วยคนก่อนหน้า ไม่เกิน 2 ปี (สีชมพู) และเมื่อติดเชื้อแล้ว ผู้ป่วยอาจแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 3 เดือนก่อนที่จะมีอาการหรือก่อนจะได้รับการวินิจฉัย (สีฟ้า)

การป้องกันวัณโรคดื้อยาฯ

ขอตั้งต้นจากครอบครัวที่มีผู้ป่วยวัณโรคธรรมดาก่อน อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าการรักษาวัณโรคใช้ระยะเวลานานและถ้าหากกินยาไม่สม่ำเสมอหรือไม่ครบสูตรจะทำให้เชื้อดื้อยาได้ จึงอาจมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามากำกับด้วยการให้ผู้ป่วยกินยาต่อหน้าทุกวัน (Directly Observed Treatment Short course: DOTS) หรือคนในครอบครัวก็อาจทำหน้าที่นี้แทนได้

 ระยะที่ผู้ป่วยยังอาจแพร่เชื้อได้คือ 2 สัปดาห์หลังรับการรักษา ซึ่งในปัจจุบันหลายโรงพยาบาลจะขอความร่วมมือให้ผู้ป่วยนอนที่ โรงพยาบาลในระยะนี้ไปเลย ทั้งเพื่อสังเกตการกินยา ผลข้างเคียงของยา และควบคุมโรคไปพร้อมกัน

ระหว่างนี้ญาติสามารถปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่บ้านให้อากาศถ่ายเทสะดวกและมีแสงแดดส่องถึง เพื่อทำลายเชื้อวัณโรค รวมถึงเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยติดตามการรักษาจนครบ 6 เดือน

ส่วนญาติที่อาศัยภายในบ้านเดียวกัน และผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยต้องสังเกตอาการติดเชื้อวัณโรคของตัวเอง ได้แก่ ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์, ไอเป็นเลือด, ไข้เกิน 1 สัปดาห์, เหงื่ออกตอนกลางคืน, น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หากมีข้อใดข้อหนึ่งให้มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แต่ถ้ามีเด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปีให้พามาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเลย

สำหรับการป้องกัน XDR-TB ก็ไม่ต่างกัน ยกเว้นการแยกตัวผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจะเข้มงวดกว่า คืออย่างน้อย 1 เดือน และจนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อในเสมหะ 2 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ การดูแลทางด้านจิตใจก็สำคัญไม่แพ้การรักษาทางด้านร่างกาย รวมถึงการช่วยเหลือทางสังคม เช่น การชดเชยรายได้ การทำความเข้าใจกับชุมชนไม่ให้เกิดการตีตรากับผู้ป่วยและความตื่นตระหนก

นอกจากนี้ชุมชนก็อาจเข้ามามีส่วนร่วมในการค้นหาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ให้เข้ามารับการรักษาได้อีกด้วย หรือแม้กระทั่งท่านผู้อ่าน หากมีคนไข้ใกล้ชิดมีอาการสงสัยวัณโรคก็สามารถแนะนำให้เขามาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลได้เช่นกัน

 

Fact Box

  • ประเทศไทยเป็น 1 ใน 30 ประเทศที่มีอัตราป่วยด้วยวัณโรคสูง 156 รายต่อประชากร 1 แสนคน ในจำนวนนี้คาดว่ามีวัณโรคดื้อยาร้อยละ 2.2 และ 24 ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นครั้งแรก และในผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาวัณโรคมาก่อนตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงกลางปีนี้มีรายงานผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) รวม 37 ราย
Tags: , , ,