ในโลกของสตาร์ทอัพคงมีน้อยคนที่จะไม่รู้จัก ไคลี่ อึ้ง หรือ Khailee Ng ผู้ร่วมบริหาร 500 Startups บริษัทธุรกิจลงทุนด้านการเงินที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในซิลิคอน วัลเลย์ โดยมีการลงทุนมากกว่า 1,600 ครั้ง ใน 50 ประเทศ รวมไปถึง Tech Startups ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง GrabTaxi, HappyFresh, Carousell, Bukalapak รวมถึงบริษัทชื่อดังอีกหลายแห่ง โดยมีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในการบรรยายของเขาบนเวที CU 2016 ไคลี่ เริ่มต้นด้วยการเผยให้เห็นความสำคัญของ Tech Startups ที่มีต่อโลกใบนี้ โดยย้อนกลับไปในปี 2001 ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุด 5 บริษัทไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี แต่ขณะที่ปี 2016 โลกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลก 5 บริษัทล้วนเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ทั้งนี้เป็นเพราะทุกอุตสาหกรรมต้องอาศัยเทคโนโลยีในการเติบโต หรือแม้แต่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่จำเป็นต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตในอนาคตเช่นกัน

Photo: Creativities Unfold 2016, TCDC

ขณะที่ประเทศไทยเองวางแผนที่จะลงทุนในธุรกิจ Startups ประมาณ 570 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นเงินลงทุนที่ยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับการลงทุนทั่วโลกในขณะนี้ เช่นเดียวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีมูลค่าการลงทุนด้านสตาร์ทอัพเพียง 0.4% เมื่อเทียบกับตัวเลข GDP ซึ่งเป็นมูลค่าที่น้อยกว่าอินเดีย 5.7 เท่า และน้อยกว่าจีน 3.4 เท่า

เขากล่าวต่อไปว่า Tech Startups ไม่ใช่แค่เรื่องของวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสนใจ หลายคนอาจไม่รู้ว่า Tech Startups ที่ประสบความสำเร็จมากมายล้วนก่อตั้งโดยนักออกแบบที่แทบไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี ทั้ง Flickr, Vimeo, Tumblr, YouTube, Airbnb และอื่นๆ อีกมากมาย

เขาตั้งคำถามที่ท้าทายผู้ฟังว่า ถ้าสตาร์ทอัพเป็นเหมือนคลื่นลูกใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรม “ทางเลือกก็มีอยู่ 2 ทาง คือคุณจะยอมจมน้ำ หรือทำตัวเป็นนักโต้คลื่น?”

จากนั้นไคลี่เริ่มเล่าให้ฟังถึงเส้นทางก่อนที่เขาจะกลายเป็น Venture Capital หรือ VC ขนาดใหญ่อย่างเช่นทุกวันนี้ โดยเขาเริ่มจากการเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่อยากได้มือถือเล็กๆ เหมือนเพื่อนคนอื่นๆ จึงพยายามหาวิธีที่จะทำเงินด้วยสิ่งที่คนอื่นไม่คิดจะทำ ด้วยการโทรศัพท์เข้าไปในบริษัทต่างๆ ที่ยังไม่มีเว็บไซต์ และเสนอตัวที่จะทำเว็บไซต์ให้บริษัทเหล่านั้น จากนั้นจึงเป็นฟรีแลนซ์รับจ้างออกแบบเว็บไซต์อยู่เกือบ 10 ปี

ก่อนเกิดไอเดียที่อยากจะก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพของตัวเองอย่างจริงจังในเวลาต่อมา ซึ่งช่วงเวลานั้นถือเป็นช่วงที่เขารู้สึกตกต่ำที่สุดในชีวิต

“ผมมีไอเดียนี้วนเวียนอยู่ในหัวตลอดเวลา แม้แต่เวลาตื่นก็ยังฝันถึงมัน มีความเชื่อเกี่ยวกับมันอย่างลึกซึ้ง เห็นภาพของมันชัดเจน เชื่ออย่างสุดหัวใจว่ามันเป็นไปได้ อยากเผยแพร่ให้คนทั่วโลกได้รับรู้ แต่พอผมเล่าไอเดียนี้ให้เพื่อนฟัง เพื่อนถามผมกลับมาว่า มันคืออะไรวะ”

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขารู้สึกท้อแท้ และทุกครั้งที่มีไอเดียใหม่ๆ เขาก็จะบอกตัวเองเสมอว่า มันเป็นไปไม่ได้หรอก ล้มเลิกความคิดเสียเถอะ จนนานวันเข้า เมื่อกลับมาพิจารณาตัวเองอย่างลึกซึ้ง เขาเริ่มเรียนรู้ว่า

“จริงๆ แล้วคนที่บอกว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่แม่ ไม่ใช่เพื่อน ไม่ใช่คนบนโลกใบนี้ แต่เป็นตัวเราเองที่ขยำไอเดียนั้นทิ้งด้วยตัวเอง ถ้าเราให้ความสนใจกับมัน ฟูมฟักไอเดียเล็กๆ นั้นให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ say yes กับความคิดที่ท้าทาย เลิกเหยียบย่ำไอเดียตัวเอง เมื่อ say yes กับไอเดียเล็กๆ สุดท้ายไอเดียใหญ่ๆ ก็จะตามมา คนที่จะช่วยเหลือเราในการทำตามความฝันก็จะตามมา”

นอกจากนี้เขายังมอบเคล็ดลับสำคัญที่จะเร่งการเติบโตความฝันให้กลายเป็นความจริงอย่างรวดเร็วมากขึ้น หลังจากที่เราได้ say yes กับความคิดของตัวเองไปแล้ว โดยมอบโจทย์ให้ทุกคนลองทำดังนี้

– ใช้เวลา 1 วันร่างไอเดียนั้นออกมา

– หาเพื่อน 1 คนที่จะช่วยคุณทำไอเดียนั้นให้เป็นจริง

– สร้างสรรค์ 1 ผลิตภัณฑ์ที่คุณคิดว่าจะขายได้

– พยายามขายผลิตภัณฑ์นั้นให้ได้เพียง 1 ครั้ง

– และเก็บรับฟีดแบ็กที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นดีขึ้น 1 ความคิดเห็น

– จากนั้นก็ทำซ้ำตั้งแต่แรกอีกครั้ง และอีกครั้ง

พร้อมให้เหตุผลว่า ศัตรูอันดับ 1 สำหรับคนเราทุกวันนี้คือเวลา ถ้าคุณใช้เวลานานขึ้นกับความคิดของตัวเอง ความคิดนั้นก็จะมีโอกาสล้มหายตายจากได้ง่ายขึ้น ที่ดีที่สุดคือ ‘ต้องเดี๋ยวนี้’ อย่ามัวแต่เล่าไอเดียให้ใครฟัง แต่จงลงมือทำตอนนี้เลย

อีกวิธีที่จะเร่งไอเดียให้กลายเป็นความจริงเร็วขึ้น คือการเข้าไปสนับสนุนไอเดียที่เป็นไปได้ของคนอื่น วางอีโก้ของตัวเองไว้ข้างๆ ไม่ต้องมีอำนาจควบคุมทุกอย่าง แต่เราก็สามารถฟูมฟักไอเดียนั้นให้กลายเป็นความสำเร็จได้เช่นกัน

ไอเดียต่อไปที่เขาจะทำคือการสร้างโลกที่เต็มไปด้วยเพื่อน หรือ A World of Friend ที่ทุกคนต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งเขามองว่าเป็นโลกที่มีคุณค่าสำหรับทุกไอเดียอย่างแท้จริง

พร้อมทิ้งท้ายด้วยคำถามต่อผู้ฟังว่า

คุณจะออกแบบอนาคตของคุณไหม?

คุณจะ say yes กับไอเดียต่อไปของตัวเองหรือเปล่า?