ผู้เขียนติดตามการประท้วงในฮ่องกงอยู่พอสมควร และพอจะทราบอยู่ว่าหัวใจของการประท้วงคือการต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่อาจนำไปสู่การส่งตัวนักโทษทางการเมืองซึ่งต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งอาจเป็นการขุดรากถอนโคนกลุ่มผู้ต่อต้านดังกล่าว และปูทางสู่การเข้ามามีอำนาจโดยสมบูรณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ในเกาะฮ่องกงตามวิสัยทัศน์ของพรรคฯ ที่ต้องการรวบรวมจีนให้เป็นหนึ่งเดียว

ประเด็นดังกล่าวน่าจะเพียงพอที่เป็นเชื้อไฟของการประท้วงที่ต่อเนื่องยาวนาน แต่หลายครั้งที่สำนักข่าวต่างประเทศหยิบยกประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมาผสมโรง แรกเริ่ม เราเลือกที่จะอ่านผ่านๆ เพราะคิดว่าฮ่องกง ประเทศซึ่งสามารถจัดอยู่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ศูนย์กลางทางการเงินแห่งเอเชียที่มีจีดีพีต่อหัวสูงลิ่ว กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำประกันที่ 37 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 145 บาทต่อชั่วโมง แถมรัฐบาลฮ่องกงยังจ่าย ‘เงินปันผล’ แบบไร้เงื่อนไขให้กับผู้มีรายได้น้อย เช่น เมื่อปีที่ผ่านมาราว 15,000 บาท เนื่องจากมีงบประมาณเหลือเฟือ

เราควรเอะใจตั้งแต่ได้ไปเหยียบเกาะฮ่องกงแล้วว่าสภาพความเป็นอยู่ของชาวฮ่องกงนั้นไม่ได้ดีเลิศอย่างที่คิดไว้ งานหนักที่ต้องทำหามรุ่งหามค่ำ เมืองพลุกพล่านอัตคัด หลายแห่งเสื่อมโทรม และตึกสูงที่ซอยยิบย่อยราวกับห้องพักรูหนูยาวไกลสุดลูกหูลูกตา

แม้ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจของฮ่องกงในมุมหนึ่งจะเลิศลอย แต่อีกด้านของเหรียญเดียวกันนั่นคือความเหลื่อมล้ำกลับน่าสะเทือนใจ เพราะเมืองใหญ่แห่งนี้เป็นนครที่พูดได้เต็มปากว่าเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก เมื่อได้อ่านเรื่องราวของชาวเมืองและคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง ผู้เขียนไม่แปลกใจเลยว่าทำไมพวกเขาต้องออกมาเดินบนท้องถนนเพื่อส่งเสียงให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานานจากระบบทุนนิยมสุดขั้ว

เหลื่อมล้ำรุนแรงบนเกาะฮ่องกง

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ดัชนีชี้วัดราคาที่อยู่อาศัยซึ่งแพร่หลายที่สุดในฮ่องกงระบุว่า 20 ปีที่ผ่านมานั้น ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นราว 4 เท่าตัว ฮ่องกงเป็นที่โด่งดังว่าชั่วโมงการทำงานโหดหินและราคาอสังหาริมทรัพย์สูงลิ่ว ชื่อเสียงเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง เพราะรายงานราคาอสังหาริมทรัพย์โดยบริษัท CBRE ซึ่งเปรียบเทียบราคาบ้านใน 35 เมืองใหญ่ระบุว่าอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงนั้นเข้าขั้น ‘จ่ายไม่ไหว’ โดยเฉลี่ยที่ 1.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 37 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าอันดับสองคือสิงคโปร์ราว 12 ล้านบาท ส่วนค่าเช่าคอนโดมิเนียม 2 ห้องนอนก็แพงที่สุดในโลกเช่นกัน คือ 3,685 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือกว่า 110,000 บาทต่อเดือน

ด้วยราคาโหดหินเช่นนี้ คนฮ่องกงจำนวนมากจึงต้องทนใช้ชีวิตในห้องเช่ารูหนู บางคนอาจแบ่งห้องเป็นพื้นที่เล็กๆ ขนาดเพียง 5 ตารางเมตรเพื่อปล่อยเช่าซึ่งแน่นอนว่าผิดกฎหมาย ห้องลักษณะดังกล่าวมีชื่อเล่นว่าโลงศพหรือกรงขัง แต่นั่นคือทางเลือกไม่กี่ทางหากไม่ต้องการที่จะไปนอนข้างถนน หรือหลบในร้านฟาสต์ฟู้ดส์ 24 ชั่วโมงในฐานะผู้ลี้ภัยในแมค (McRefugees)

ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงราว 20 เท่าของค่าเฉลี่ยมัธยฐานของรายได้ต่อปีทำให้คนรุ่นใหม่หมดอนาคตที่จะครอบครองบ้านและเริ่มครอบครัวของตนเอง ชาวฮ่องกงที่สำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ไปสัมภาษณ์ยังต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ในห้องเช่าขนาดจิ๋วบนเตียงสองชั้นที่เขาต้องแบ่งกับพี่สาวอายุ 30 ปี ทั้งที่ทั้งสองทำงานเต็มเวลา

(ภาพ: ISAAC LAWRENCE / AFP)

ภาพใหญ่ของความเหลื่อมล้ำสะท้อนในค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ที่สูงถึง 0.539 ตัวเลขดังกล่าวจะมีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 โดยหากมีค่าเท่ากับ 1 นั้นจะตีความได้ว่าคนหนึ่งคนครอบครองรายได้ทั้งหมดของประชากร ในขณะที่ผู้ที่มีรายได้เฉลี่ยสูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์แรกนั้น มีรายได้ 44 เท่าหากเทียบกับกลุ่มประชากรที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ และแนวโน้มความเหลื่อมล้ำก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีประชากรกว่า 1.3 ล้านคนใช้ชีวิตอยู่ในความยากจน ทั้งๆ ที่หลายครอบครัวมีงานทำเป็นหลักแหล่ง

ที่น่าตกใจคือ ตัวเลขคนยากจน 1.3 ล้านคนเทียบเท่ากับ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดในฮ่องกง!

ความไม่พอใจพุ่งเป้าไปที่ตระกูลมหาเศรษฐีซึ่งครอบครองธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มูลค่ามหาศาลในฮ่องกง และยังคงรวยวันรวยคืนเนื่องจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งชาวฮ่องกงยังมองว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่เหล่านี้ และไม่พยายามแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยยึดเอาวิธีปฏิบัติทางการคลังแบบอนุรักษนิยมจนมีเงินล้นเหลือและต้องเอานำมาแจกจ่ายให้กับประชาชนไม่ต่างจากเงินปันผล แต่เงินก้อนดังกล่าวไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือปัญหาราคาที่อยู่อาศัยพุ่งสูงขึ้นแต่อย่างใด

การประท้วงดังกล่าวย่อมกระทบต่อความมั่งคั่งของตระกูลร่ำรวยเหล่านั้น สะท้อนได้จากราคาหุ้นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ร่วงกราว และการคาดการณ์มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่อาจปรับตัวลดลงในปีหน้า คัดง้างกับแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอดีต จึงไม่น่าแปลกใจที่เหล่าลูกหลานนักธุรกิจอย่างตระกูลกว๊ก (Kwoks) จะตั้งโต๊ะแถลงข่าวเรียกร้องให้หยุดการใช้ความรุนแรงในการประท้วง และปรากฏตัวในการชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ทางออกเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าว แครี่ หลำ (Carrie Lam) ประธานบริหารรัฐบาลชุดปัจจุบันก็เตรียมตั้งโต๊ะพูดคุยกับผู้ชุมนุม โดยนอกจากประเด็นหลักคือความอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่และร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว ก็ยังมีประเด็นการแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินขาดแคลนในฮ่องกง

สิงคโปร์ ต้นแบบของการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย

การแก้ปัญหาราคาที่อยู่อาศัยและจำนวนอสังหาริมทรัพย์ขาดแคลนของสิงคโปร์มักถูกหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาสำหรับการแก้ปัญหาของฮ่องกง เพราะสองเมืองใหญ่มีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก ทั้งเคยอยู่ใต้อาณานิคม ภูมิประเทศเป็นเกาะ ตั้งตัวเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยระบบทุนนิยม แต่ในปัจจุบัน สิงคโปร์กลับไม่มีปัญหามากนักในประเด็นที่อยู่อาศัย ในทางกลับกัน ชาวสิงคโปร์ราวร้อยละ 90 มีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูงมาก

อะไรทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองที่มีที่อยู่อาศัยซึ่งสามารถซื้อหาได้ และใหญ่โตโอ่อ่าหากเทียบกับฮ่องกง? คำตอบดังกล่าวอยู่ที่สองประเด็นหลักคือ สิงคโปร์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับนโยบายเคหะเพื่อสาธารณะ (Public Housing) และการที่สิงคโปร์ไม่มีกลุ่มนักธุรกิจนั่งอยู่ในสภานิติบัญญัติ

สองปัจจัยดังกล่าวนำไปสู่ความแตกต่างของเมืองในปัจจุบัน สิงคโปร์มีสัดส่วนบ้านที่จัดหาโดยภาครัฐสูงถึงร้อยละ 80 ในขณะที่ฮ่องกงมีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ในแง่การกระจายตัวของเมือง ประชากรฮ่องกง 7.5 ล้านคนต้องแออัดอยู่ในพื้นที่เมือง 285 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นราวร้อยละ 26 ของพื้นที่ทั้งหมด ในขณะที่ประชากรสิงคโปร์ 5.6 ล้านคนกระจายตัวอยู่ในพื้นที่เมือง 518 ตารางกิโลเมตร เทียบเท่ากับร้อยละ 72 ของพื้นที่ทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ภูมิประเทศของฮ่องกงนั้นแตกต่างจากสิงคโปร์ค่อนข้างมาก เนื่องจากฮ่องกงนั้นเต็มไปด้วยภูเขาสูงที่ยากจะแปลงสภาพเป็นที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์อีกด้วย อย่างไรก็ดี ที่ดินว่างเปล่าในชนบทของฮ่องกงก็ยังมีพร้อมที่จะพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย แต่ปัญหาใหญ่ที่ฮ่องกงต้องเผชิญคือที่ดินเหล่านั้นอยู่ในมือของตระกูลร่ำรวยจำนวนหยิบมือซึ่งแน่นอนว่ามีเส้นสายทางการเมืองที่เข้มแข็ง

    การประท้วงใหญ่ในฮ่องกงคือการส่งสัญญาณของคนบนท้องถนนให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่หนักหน่วง สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลฮ่องกงและพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่าจะให้ค่ากับฝ่ายใด ระหว่างประชาชนจำนวนมากและมหาเศรษฐีจำนวนหยิบมือ

 

เอกสารประกอบการเขียน

Hong Kong Inequality Report

Economist: Hong Kong’s tycoons ‘are the problem’ underlying recent unrest

Tiny Apartments and Punishing Work Hours: The Economic Roots of Hong Kong’s Protests

Hong Kong Needs a Housing Lesson From Singapore

Homeless in Hong Kong: soaring costs fuel housing crisis in Asian financial hub

Hong Kong has been the least affordable city in the world for 9 years running, and the housing crisis is one of the factors fueling the 12-week protests

Hong Kong property tycoons in Beijing’s crosshairs

15th Annual Demographia International Housing Affordability Survey: 2019

 

 

Tags: , ,