คณะรัฐมนตรีอินเดียประกาศห้าม ‘การผลิต นำเข้า และจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า’ โดยให้คำอธิบายว่าบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและจะทำให้การสูบบุหรี่ระบาดในหมู่เยาวชน โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี สำหรับผู้กระทำผิด พร้อมระบุว่าไม่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบกับผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบดั้งเดิม 

แม้จะยังไม่มีรายงานแน่ชัดเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่ปกติแล้วการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่จะช่วยนำไปสู่การเลิกบุหรี่ โดยผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าให้ความเห็นว่าการสั่งห้ามบุหรี่ไฟฟ้าจะนำไปสู่การกลับไปสูบบุหรี่ของผู้ที่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว

ในขณะที่ Nirmala Sitharaman รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงินของอินเดีย เปิดเผยว่า มีหลักฐานจากสหรัฐอเมริกาและอินเดียที่แสดงให้เห็นว่าหนุ่มสาวบางคนเห็นว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘สไตล์’ เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นผู้เสนอนโยบายดังกล่าวที่เห็นว่าการสั่งแบนบุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยป้องกันการระบาดของมันในหมู่คนหนุ่มสาว

ทั้งนี้ อินเดียมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใหญ่มากกว่า 100 ล้านคนและเป็นผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน ทำให้อินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพขนาดใหญ่สำหรับบริษัทผลิตบุหรี่ไฟฟ้า   อย่างไรก็ตาม อินเดียสูญเสียประชากรมากกว่า 900,000 คนต่อปีจากโรคที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกลดลงเล็กน้อย เหลือประมาณ 1 พันล้านคน ในขณะที่ผู้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากประมาณ 7 ล้านคนในปี 2011 เป็น 41 ล้านคนในปี 2018 และกลุ่มวิจัยการตลาด Euromonitor ประมาณการว่าจำนวนผู้ใหญ่ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะเพิ่มจำนวนเป็นกว่า 55 ล้านคนภายในปี 2021

โดยนักสูบในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสใช้เงินกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐในการสูบบุหรี่และผลิตภัณฑ์ไร้ควันในปีที่ผ่านมา และสหรัฐอเมริกามีรายงานผู้ป่วยถึง 450 รายที่ป่วยด้วยโรคปอด ซึ่งมีอาการเหนื่อยล้าจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 รายใน 33 รัฐ นักวิจัยด้านสุขภาพในสหรัฐอเมริกาจึงกำลังพยายามอย่างหนักที่จะพิสูจน์ว่า อาการป่วยมีผลมาจากสารบางชนิดของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือเป็นผลจากการใช้ในปริมาณที่มากเกินไป

การเดินหน้าออกกฎของอินเดียเกิดขึ้นใน 1 วันหลังจากนิวยอร์กกลายเป็นรัฐที่ 2 ของสหรัฐอเมริกาต่อจากมิชิแกนที่ห้ามไม่ให้ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรุงแต่งรสชาติ เนื่องจากความกังวลว่ารสชาติจะดึงดูดผู้ใช้งานเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งดึงดูดให้เด็กและเยาวชนเข้ามาในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการติดนิโคติน

ที่มา

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-49738381

https://edition.cnn.com/2019/09/17/health/new-york-ban-on-flavored-e-cigarettes/index.html

ภาพ: PRAKASH SINGH / AFP

Tags: