กันยายน 2562 ผ่านวันเลือกตั้งทั่วไปมาแล้วห้าเดือน กระแส “การเมืองแห่งความกลัว” ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าโหมประโคมโดยฝ่ายรัฐบาลที่ครองอำนาจเป็นหลัก ยังคงพัดแรงอยู่ในสังคมไทย ทำให้คนจำนวนมากเสพข่าวด้วยความกลัวมากกว่าสติ ปัญหานี้ เมื่อประกอบกับอาการ “ภาวะการรับรู้ไม่ลงรอย” หรือ cognitive dissonance เท่ากับว่าคนจำนวนมากยังตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางศีลธรรม นอกจากจะไม่ยอมรับความจริงแล้ว ยังตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อหลากหลายรูปแบบที่พยายามสร้างและหล่อเลี้ยงความกลัวต่างๆ นานาในจิตใจ เป้าหมายสุดท้ายเพื่อให้คนยอมรับสนับสนุนรัฐบาลต่อไป ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ‘กลุ่มอำนาจเก่า’ ‘กลุ่มการเมืองจ้องล้มเจ้า’ ‘มหาอำนาจตะวันตกจอมจุ้นจ้าน’ หรือ ‘มารร้าย’ กลุ่มอื่น ตามแต่สถานการณ์จะอำนวย
ลองหันมามอง “ความกลัว” ผ่านมุมมองของเศรษฐศาสตร์การเมืองกันบ้าง ผู้เขียนอยากแปลและเรียบเรียงประเด็นจากบทความเรื่อง The Political Economy of Fear โดย โรเบิร์ต ฮิกส์ บนเว็บไซต์สถาบันมิเซส (Mises Institute) แถมพกด้วยความเห็นเมื่อหันกลับมามองสังคมไทย
ในแง่หนึ่ง เราอาจมองความกลัวว่าเป็น ‘ทรัพยากร’ ที่ผลิตอย่างอื่นได้ ในฐานะทรัพยากร มันอยู่ภายใต้กฎการถดถอยของผลผลิตส่วนเพิ่ม (law of diminishing marginal productivity) ไม่ต่างจากทรัพยากรอื่น ยิ่งรัฐบาลโหมกระพือความกลัวมากขึ้น (ในกระบวนการ ‘ผลิตความกลัว’ ของรัฐ) เสียงเรียกร้องของประชาชนให้รัฐคุ้มครองก็จะเบาลง
พูดอีกอย่างคือ ครั้งแรกที่รัฐบาลประโคมเรื่องอะไรก็ตามให้คนกลัว คนก็จะกลัวจริงๆ ครั้งที่สองที่ได้ยินเรื่องเดิมจะกลัวน้อยลง ครั้งที่สามยิ่งกลัวน้อยลงอีก ถ้าหากรัฐบาลเล่นไพ่ความกลัวมากเกินไป โดยเฉพาะถ้าหากไม่มีหลักฐานรองรับ สุดท้ายประชาชนก็จะชินชาและไม่แยแสอีกต่อไป
ถ้ามันเป็นสินทรัพย์ ‘ความกลัว’ ก็เป็นสินทรัพย์ที่ค่อยๆ เสื่อมตามเวลา มาคิอาเวลลีสังเกตว่า “อารมณ์ของมวลชนนั้นโลเลเหลาะแหละ …ถึงแม้จะง่ายที่จะหว่านล้อมให้พวกเขาเชื่ออะไรสักอย่าง ก็ยากที่จะทำให้พวกเขาเชื่อทางนั้นตลอด” สุดท้ายคนจะหายกลัวถ้าหากอันตรายที่ขู่ไว้ไม่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องลงทุนชดเชยค่าเสื่อมของความกลัว ด้วยการทุ่มเงินหล่อเลี้ยง พัฒนา และปรับปรุง ‘ทุนความกลัว’ ให้สูงอยู่เสมอ
ยกตัวอย่างเช่น ย้อนไปในยุคสงครามเย็นครึ่งศตวรรษที่แล้ว ความกลัวสหภาพโซเวียตของคนอเมริกันมักจะค่อยๆ ลดลงจนหมดไป จนกว่าจะเกิด ‘วิกฤต’ อะไรสักอย่างเป็นครั้งคราวซึ่งฟื้นฟูความกลัวขึ้นมาใหม่ ‘วิกฤต’ เหล่านี้ หลายครั้งอยู่ในรูปของ ‘ช่องว่าง’ (gap) ของศักยภาพทางทหารในด้านต่างๆ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต เช่น ช่องว่างความเข้มแข็งของกำลังพล ช่องว่างจำนวนเครื่องบินทิ้งระเบิด ช่องว่างขีปนาวุธ ช่องว่างระบบป้องกันขีปนาวุธ ช่องว่างงบประมาณกลาโหม ช่องว่างพิสัยระเบิดนิวเคลียร์ ฯลฯ
รัฐบาลอเมริกันสมัยสงครามเย็นจะประกาศข้อมูล ‘ช่องว่าง’ เหล่านี้อยู่เนืองๆ หรือไม่ก็ (จงใจ) ให้มันรั่วไหลออกมาในสื่อ ประกาศทีคนก็กลัวที นับเป็นวิธีหล่อเลี้ยงความกลัวที่ต้นทุนต่ำมาก เรื่องนี้ถูกนำไปล้อเลียนอย่างแสบสันต์และโด่งดังในภาพยนตร์คลาสสิกเรื่อง ดร. เสตรนจ์เลิฟ ในฉากหนึ่ง ประธานาธิบดีและนายพลใหญ่ทั้งหลายครุ่นคิดกันว่าจะเอาตัวรอดจากระเบิดนิวเคลียร์ล้างโลกอย่างไร ตกลงกันว่าจะพิทักษ์ชาวอเมริกันที่เหลือรอดไว้ในอุโมงค์เหมืองลึกสุดกู่ จังหวะนั้น นายพล ‘บั๊ก’ เทอร์จิดสัน ผู้ยังหมกมุ่นกับความได้เปรียบของกองกำลังโซเวียต ก็โพล่งขึ้นมาว่า “ท่านประธานาธิบดีครับ เราต้องไม่ยอมให้เกิดช่องว่างอุโมงค์เหมืองนะครับ!”
แน่นอน อันตรายที่รัฐพยายามฉายภาพให้เราเห็นนั้นใช่ว่าจะอยู่ในจินตนาการทั้งหมด แต่ปัญหาก็คือรัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลที่ทหารมีอำนาจบริหาร มักอยากวาดภาพอันตรายให้ดูรุนแรงเกินจริงเพื่อหล่อเลี้ยงความกลัว ซึ่งความกลัวนี้ก็เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการทุ่มเงินงบประมาณมหาศาลกับการรักษา ‘ความมั่นคง’ ซึ่งเป็นคำที่ถูกตีความกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ
ในประเทศไทย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ประกาศใช้ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังรัฐประหารปี 2549 ทำให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กลายเป็นหน่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีเป็น “ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” (ผอ.รมน.)
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและบทบาทของกองทัพ อธิบายในบทความ กอ.รมน. กับการเมืองไทย รัฐซ้อนรัฐ ทหารซ้อนพลเรือน ว่า “หลังจากรัฐประหาร 2557 ผู้นำทหารได้แก้ไข พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน 2551 เพื่อให้เกิดการขยายอำนาจของทหารให้มากขึ้น โดยอาศัยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 51/2560 …การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการ ‘รื้อใหญ่’ และทำให้ กอ.รมน.มีสถานะเป็น “ผู้ควบคุมงานความมั่นคง” ของประเทศไว้ทั้งหมด
“ในเชิงสาระ การขยายบทบาทเช่นนี้เห็นได้อย่างชัดเจนจากการปรับเปลี่ยนนิยาม โดยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีความหมายว่า “การดำเนินการเพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข และฟื้นฟูสถานการณ์ใดที่เป็นภัย หรืออาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข ทำลาย หรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ รวมถึงในกรณีที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้กลับสู่ภาวะปกติเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ” (ข้อ 1)
“หากพิจารณาจากการกำหนดนิยามใหม่เช่นนี้ ภารกิจของ กอ.รมน. คือการขยายบทบาทในเรื่องของการป้องกันภายในสำหรับศตวรรษที่ 21 เพราะคำสั่งนี้เปิดโอกาสให้ กอ.รมน.สามารถกำหนดเองว่า “สถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัย” ซึ่งเท่ากับเปิดช่องทางให้เกิดการตีความได้อย่างไม่จำกัด
“อันจะทำให้กองทัพในอนาคตสามารถมีบทบาทกว้างขวางอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเราจะไม่สามารถควบคุมการตีความของฝ่ายทหารเช่นนี้ได้เลย
“สภาวะเช่นนี้อาจทำให้ถูกตีความได้ว่า กอ.รมน.ในอนาคตกำลังกลายเป็น “รัฐบาลทหารแปลงรูป” ที่ควบคุมประเทศผ่านการตีความปัญหาความมั่นคงได้อย่างไม่จำกัด”
งบประมาณปี 2561 ของ กอ.รมน. เลยหลักหมื่นล้านบาทไปแล้ว ครอบคลุมประเด็นหลากหลายตั้งแต่ ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ บำบัดผู้ติดยาเสพติด ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ แผนการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ และยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ
ประเด็นเหล่านี้ล้วนถูกตีความว่าเป็นประเด็น “ความมั่นคง” อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ทั้งสิ้น
รัฐบาลทหารและ กอ.รมน. ในฐานะ “รัฐบาลทหารแปลงรูป” จะครองอำนาจในสังคมไทยไปอีกนานเพียงใด แน่นอนว่าส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับแรงสนับสนุนจากประชาชน ด้วยเหตุนี้รัฐและสื่อของรัฐและที่เข้าข้างรัฐจึงมีแรงจูงใจที่จะหล่อเลี้ยงความกลัวของประชาชนอย่างน้อยบางส่วนไปเรื่อยๆ ด้วยการขับเน้นภาพ ‘ศัตรู’ (ที่ไม่ใช่ ‘พวกเรา’) ผู้อยู่เบื้องหลัง ‘วิกฤต’ และเพื่อไม่ให้ความกลัวอ่อนกำลังกลายเป็นความไม่แยแส รัฐและสื่อฝ่ายรัฐจึงมีแรงจูงใจที่จะสร้าง ‘วิกฤต’ ให้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ไม่ต่างจาก ‘ช่องว่างศักยภาพ’ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น
ยิ่งภาพของ ‘ศัตรู’ และ ‘วิกฤต’ ที่ ‘เกิดจาก’ ศัตรูฟังดูมีเหตุผล ความกลัวในหมู่ประชาชนก็จะยิ่งดำรงอยู่ได้นาน แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากคนเห็นว่า ‘ศัตรู’ และ ‘วิกฤต’ ที่พยายามวาดนั้นไม่ใช่ความจริง เป็นเพียงข่าวปลอมหรือโฆษณาชวนเชื่อไร้สาระ คนก็จะยิ่งมีโอกาสหลุดพ้นจากความกลัวได้ง่ายขึ้น ตั้งคำถามต่อการกระทำของรัฐได้อย่างมีสติ และมีเหตุมีผลมากกว่าเดิม
การวาดภาพใครสักคนว่าเป็นศัตรู แบ่งแยกเป็นพวกเขากับพวกเรา นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกระพือความกลัวแล้ว ยังอาศัยจุดอ่อนทางจิตวิทยาของมนุษย์ ซึ่งช่วยให้เราเอาตัวรอดในยุคบุพกาลป่าเถื่อนที่ไร้กฎกติกามารยาทใดๆ ชนเผ่าของเราต้องระแวดระวังปกป้องทรัพยากรจากการแย่งชิงของเผ่าอื่น
เราจะหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของความกลัวได้อย่างไร ผู้เขียนคิดว่าจุดตั้งต้นที่ดีก็คือ พยายามทำความรู้จักและถ้ามีโอกาสก็ทำความเข้าใจกับบรรดาคนที่ถูกตราหน้าและวาดภาพเป็น ‘ศัตรู’ ให้มากขึ้น พยายามเสพสื่อให้หลากหลายมากขึ้น และคุยกับคนที่คิดไม่เหมือนกัน เพราะเรามักจะกลัวสิ่งที่เราไม่รู้จัก ยิ่งเรารู้จักมากขึ้น เราก็มีแนวโน้มว่าจะกลัวสิ่งนั้นน้อยลง มีภูมิต้านทานข่าวปลอมและข้อมูลเท็จต่างๆ เกี่ยวกับพวกเขามากขึ้น
ตราบใดที่เราเป็นเหยื่อของการเมืองแห่งความกลัว ตราบนั้นก็ยากที่เราจะใช้เหตุผล ในเมื่อความกลัวไม่ใช่เรื่องของเหตุผล และด้วยเหตุนั้น เราจึงไม่สามารถแยกแยะระหว่างความจริงกับความเท็จ และไม่ใส่ใจที่จะติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐ
พูดสั้นๆ ก็คือ เหยื่อของการเมืองแห่งความกลัวไม่อาจเป็น “พลเมืองตื่นตัว” หรือ active citizen ได้ เพราะมัวแต่กลัวภาพ “ศัตรู” ซึ่งแท้จริงอาจไม่ใช่ศัตรูแม้แต่น้อย
Tags: cognitive dissonance, ความกลัว, ความมั่นคง, การเมืองแห่งความกลัว, ภาวะการรับรู้ไม่ลงรอย