เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ได้กลายเป็นความบันเทิงที่แทรกซึมเข้าไปในทุกบ้าน และทุกแพลตฟอร์ม ด้วยความที่ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิงรายนี้มีคอนเทนต์ให้เราแหวกว่ายตามหาราวกับไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งซีรีส์ออริจินัล ภาพยนต์สารคดีและรายการทีวีที่มีให้ดูได้ไม่รู้เบื่อ

แต่กว่าจะเป็นเน็ตฟลิกซ์ในวันนี้ที่มียอดคนดูกว่า 150 ล้านคนทั่วโลก ใน 190 ประเทศ นับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย จากร้านเช่าวิดีโอทางไปรษณีย์พลิกวิกฤตการถูกเทคโนโลยี disrupt สู่ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิงรายใหญ่ที่สุดในโลก หลายคนอาจสงสัย เน็ตฟลิกซ์ทำได้อย่างไร? 

หนังสือ ทำไม NETFLIX ถึงมีแต่คนโคตรเก่ง เขียนโดย แพตตี้ แมคคอร์ด อดีตเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายจัดสรรทรัพยากรบุคคลที่เน็ตฟลิกซ์ เปิดเผยถึงเคล็ดลับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรตลอด 14 ปีที่เธอทำงานอยู่ที่เน็ตฟลิกซ์ และมีส่วนร่วมในการปลุกปั้นให้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีแต่คนเก่งและมีแต่คนอยากเข้ามาทำงานมากที่สุดบริษัทหนึ่งในซิลิคอน วัลเลย์ 

แพตตี้ แมคคอร์ดเกริ่นนำด้วยการเผชิญการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเน็ตฟลิกซ์เฉลี่ย 30% ต่อไตรมาส และการครอบครองอินเตอร์เน็ตแบนด์วิดท์มากถึงหนึ่งในสามของสหรัฐอเมริกา คิดดูว่าเน็ตฟลิกซ์ต้องยิ่งใหญ่และเป็นที่นิยมมากขนาดไหน

แรงจูงใจที่ยอดเยี่ยมที่สุดคือการได้ร่วมทำให้สำเร็จ คือบทแรกของหนังสือเล่มนี้ แพตตี้บอกว่าเวลาคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน เธอให้ความสำคัญกับคนที่ชอบความท้าทาย ยินดีกับการเจอกับปัญหาเพื่อจะแก้ไขมัน การได้คนเก่งมาร่วมทีมไม่ใช่แค่เรื่องเงินหรือผลประโยชน์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และเมื่อรับเข้ามาทำงานแล้ว จงไว้ใจและเชื่อมั่นว่าเขาจะทำงานได้ดี

พนักงานทุกคนควรเข้าใจธุรกิจที่ตัวเองทำ บทที่สองของหนังสือที่เป็นเรื่องการสื่อสารระหว่างหัวหน้าทีมกับลูกน้อง ความจำเป็นที่พนักงานทุกคนไม่ว่าจะในระดับขั้นไหน จำเป็นต้องรับรู้ถึงธุรกิจที่ตัวเองทำอยู่ เป้าหมายของทีมและองค์กร ทิศทางที่จะเดินไป รวมถึงอุปสรรคและปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วม และนี่คือสิ่งที่เน็ตฟลิกซ์ทำอย่างสม่ำเสมอ

คนเราไม่ชอบให้ใครโกหกและปั่นหัว บทที่สามว่าด้วยการฝึกความจริงอย่างตรงไปตรงมา และรับกับคำวิจารณ์แรงๆ เหล่านั้นได้ นี่อาจจะเป็นสิ่งที่คนเรายากจะยอมรับ แต่แพตตี้บอกว่าเป็นสิ่งที่องค์กรจำเป็นต้องทำ เพื่อให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น

ถกเถียงกันอย่างดุเดือด บทที่สี่คือการฟาดฟันทางความคิดของคนทำงานระหว่างการประชุม หากแต่ต้องอยู่บนข้อเท็จจริงเพียงเท่านั้น และออกความเห็นกันอย่างตรงไปตรงมา แม้บรรยากาศการประชุมจะดูดุเดือดราวกับฆ่ากันตาย แต่สุดท้ายหลังการประชุมทุกคนก็คือเพื่อนร่วมงานกัน 

สร้างบริษัทวันนี้ให้เป็นบริษัทที่คุณอยากอยู่ในวันหน้า บทที่ห้ากำลังบอกเราว่าที่เน็ตฟลิกซ์มักมองไปข้างหน้าเสมอและตลอดเวลา อย่าให้อดีต ความผูกพันกับพนักงานหรือเพื่อนร่วมทีมมาฉุดรั้งอนาคตขององค์กร คำกล่าวส่วนหนึ่งของบทนี้บอกว่า ‘คุณกำลังสร้างทีม ไม่ได้สร้างครอบครัว’

บางคนก็เก่งไปเสียทุกงาน บทที่หกเป็นเรื่องของหัวหน้าทีมในการหาใช้คนให้ถูกกับงาน และมองหาคนเก่งเพื่อเข้ามาร่วมทีมอยู่เสมอ ความโหดร้ายของเน็ตฟลิกซ์ก็คือคุณอาจจะต้องจากองค์กรนี้ไป แม้คุณจะยังทำงานได้ดี เพียงเพราะอาจมีคนเก่งกว่าคุณ หรือมีทักษะบางอย่างที่หัวหน้าทีมต้องการ 

จ่ายให้พนักงานตามค่าที่คุณควรเห็น บทที่เจ็ดของหนังสือที่อาจเป็นการสร้างความแตกต่างในเรื่องการจ่ายเงินเดือนหรือการคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน ในแง่หนึ่งแพตตี้ไม่นิยมการอ้างอิงฐานเงินเดือนจากตลาดเสมอไป เธอบอกว่าถ้าพนักงานคนนั้นมีความสามารถที่จะทำเงินให้บริษัทได้มากอย่างที่ควรจะเป็น ก็ให้เงินเดือนสูงๆ ไปเลย

ศิลปะของการจากลาด้วยดี บทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ที่ฟังดูโหดร้ายสำหรับพนักงานที่ต้องลาจากเน็ตฟลิกซ์ เพียงเพราะพวกเขาอาจทำงานได้ไม่ดีพอหรือไม่เข้ากับองค์กรนี้อีกต่อไป แต่ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่เก่ง แพตตี้เสนอว่าต้องพูดความจริงและให้ฟีดแบคการทำงานกับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อถึงเวลาที่พวกเขาต้องออกไป จะได้ไม่พูดถึงแง่ลบต่อบริษัท

ข้อดีที่โดดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือการแบ่งหัวข้อย่อยๆ ในแต่ละบท ช่วยให้เราจับประเด็นและเข้าใจได้ง่าย พร้อมตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นภาพ และตอนท้ายยังมีการสรุปย่อและคำถามชวนคิดไว้ให้เราอีกต่างหาก 

หนังสือเล่มนี้อาจไม่ใช่การบอกเล่าประวัติการก่อตั้งของเน็ตฟลิกซ์ แต่เป็นคู่มือแนะนำการสร้างวัฒนธรรมการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากกว่า และหลักการเหล่านี้คงไม่ได้เวิร์กแค่ที่เน็ตฟลิกซ์ องค์กรหรือบริษัทของคุณ ก็สามารถเรียนรู้และปรับใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของคุณเอง เพื่อให้ทุกคนในองค์กรพร้อมจะพากันเดินไปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน