ความตั้งใจของ ‘ไทง้วนคาเฟ่’ คาเฟ่สไตล์ไชนีสโมเดิร์นที่ซุกซ่อนอยู่หลังศาลเจ้าโจวซือกงของชุมชนตลาดน้อย คือการสร้างคอมมูนิตี้ที่เชื่อมโยงกับวิถีของชาวจีน ทั้งสถาปัตยกรรมที่คงรูปลักษณ์เอาไว้แบบเดิม และเสิร์ฟเมนูที่รังสรรค์ขึ้นด้วยวัตถุดิบในครัวคนจีน พลิกแพลงออกมาเป็นความแปลกใหม่ที่เข้าถึงได้ง่ายทั้งคนรุ่นใหม่ตลอดจนอากงอาม่า ได้กลายมาเป็นจุดหมายใหม่ที่แม้จะเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม แต่ก็เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คาเฟ่นิยม และได้รับการบอกต่อในเวลาไม่นาน

โครงสร้างเดิมของบ้านไทง้วนเองกี่ ซึ่งมีความหมายถึง คนรุ่นแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่ในย่านนี้ คือสถาปัตยกรรมสไตล์จีน ซึ่งเป็นที่พำนักของชาวจีนฮกเกี้ยน ที่ข้ามน้ำมาตั้งรกรากเมื่อราวสองร้อยปีก่อน โดยเจ้าของคือ อากงตันฮองเอ๋ง ตัณดาราพร ซึ่งมีอาชีพนำเข้าสุราจากต่างประเทศมาจำหน่ายในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 โดยใช้สถานที่แห่งนี้เป็นล้งเก็บสินค้า และตกทอดต่อมาจนถึงเจ้าบ้านคนปัจจุบัน ที่ยังคงอนุรักษ์บ้านเรือนแบบดั้งเดิมเอาไว้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของอาคารบ้านเรือนแถบนั้นที่กลายเป็นห้องแถวหรือตึกแถวไปแล้วเกือบทั้งหมด

อายุที่เดินทางมาพ้นสองร้อยปีทำให้บ้านหลังนี้ทรุดโทรมไปตามเวลา โครงการย่านจีนถิ่นบางกอก โดยทีมสถาปนิกและนักวิจัยของโครงการ จึงเข้ามาร่วมปรับปรุงและต่อเติมให้บ้านกลับมามีสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด ด้วยการรักษาและซ่อมแซมอาคารประธานหลังเดิม และสร้างอาคารใหม่ที่ปีกซ้ายขวาของบ้านซึ่งเคยถล่มลงมาเมื่อปี 2558 เพราะเหตุการณ์ฝนตกติดต่อกันจนทำให้โครงสร้างไม้ที่ผุกร่อนและการค้ำยันที่ไม่สามารถรับน้ำหนักได้ 

ปัจจุบันบ้านสองชั้นหลังนี้แบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็นสองส่วน โดยชั้นบนคือสำนักงานของทีมงาน ‘ปั้นเมือง’ และชั้นล่างเปิดเป็นคาเฟ่ ที่วางคอนเซ็ปต์เป็น ‘บ้าน’ ที่ให้แขกได้เข้ามาแวะพัก ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวที่ชอบการเดินตามตรอกซอกซอย ไปจนถึงผู้คนในละแวกนั้นในบรรยากาศที่มีกลิ่นอายของอดีตโชยอยู่ 

นอกจากโครงสร้างหลักที่ได้รับการซ่อมแซมแล้ว ไม้ทุกชิ้นซึ่งอยู่ภายในอาคารยังเป็นของเดิม เพิ่มเติมเพียงทาสีและเคลือบแล็กเกอร์เพื่อรักษาเนื้อไม้ ปูกระเบื้องดินเผาในส่วนหน้า ส่วนโซนด้านในซึ่งกั้นเพิ่มขึ้นออกห้องนั้นปูด้วยกระเบื้องสไตล์ชิโนโปรตุกีส ที่เจ้าของคาเฟ่เลือกมาจากปีนัง ติดบานเฟี้ยมขนาดใหญ่สำหรับกั้นเป็นห้องประชุมขนาดย่อมๆ หน้าบ้านประดับโคมแดงคู่ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งสิริมงคล การออกแบบภายในที่ยึดตามหลักฮวงจุ้ย พร้อมข้าวของตกแต่งที่ดูแล้วเหมือนบ้านหลังหนึ่งมากกว่าจะเป็นคาเฟ่แบบจงใจ ด้วยที่นั่งซึ่งปล่อยสเปซโล่งในบางส่วน ซึ่งการตกแต่งนี้ได้ศิลปินจาก Artslonga คือคุณยุ้ย-จตุพร วงษ์ทอง ศิลปินที่อยู่เบื้องหลังการตกแต่งล้ง 1991 โรงแรมในเครือแมริออท และอื่นๆ อีกหลายแห่งเป็นผู้ออกแบบ 

“คอนเซ็ปต์ของเราคือจีนโมเดิร์น คือจัดในรูปแบบของฝรั่ง แต่เอารากเหง้าของความเป็นคนจีนมาใช้ ทั้งสี วัสดุ และการจัดวางข้าวของ อย่างสีเราใช้สีแดง เขียว เหลือง ซึ่งมีความฉูดฉาดและจะดูเด่นขึ้นมาจากผนังเก่า เพราะส่วนผนังเราไม่ทำอะไรเลย ไม่ได้ทาสี มายังไงก็ยังงั้น เพราะเราไม่อยากทำอะไรที่แปลกแยกไปจากพื้นที่”

บ้านหลังนี้ถูกสร้างสตอรี่ให้เป็นบ้านของพ่อค้าวาณิชสมัยก่อน ที่เป็นยี่ปั๊วะและขายต่อ จึงมีทั้งคนมาขึ้นของ มาซื้อของ ข้าวของในบ้านจึงมีทั้งของฝรั่ง ของแขก และของจีนคละกัน สร้างสีสันให้กับบ้านด้วยการจัดดอกไม้ที่เปลี่ยนธีมไปตามฤดูกาล ซึ่งคุณยุ้ยเพิ่งมารู้ภายหลังว่าต้นตระกูลเป็นบ้านของพ่อค้าอยู่แล้วจริงๆ จึงกลายเป็นความเหมือนโดยบังเอิญที่ทำเอาอาม่าในละแวกนั้นถึงกับเอ่ยปากว่า “เหมือนบ้านเขาเลย สมัยก่อนบ้านหลังนี้เขาก็มีแบบนี้” 

“เราไม่อยากให้คนรู้สึกเหมือนมาร้านกาแฟ เลยขอจัดแบบไม่มีแปลน จัดตามความรู้สึก เหมือนเป็นศิลปะจัดวาง ที่นำความเป็น conceptual มาใช้ เฟอร์นิเจอร์ไม่เหมือนกันเพราะบ้านคนจีนสมัยก่อนเขาชอบซื้อของมาแบบไม่เข้ากันหรอก และเราจัดพร็อพจากภาพจิตรกรรมจีนโบราณที่จะมีหุ่นนิ่งอย่างน้ำเต้าแทนความรุ่งเรือง เราก็เอาสิ่งเหล่านี้มาเพนต์บนผนัง เหมือนเป็นคำอวยพรให้กับเจ้าของบ้านและแขก” 

หมั่นโถวดิป

ความเป็นจีนโมเดิร์นไม่เพียงแต่ถูกนำมาใช้ไปกับการตกแต่ง หากยังรวมถึงการสร้างสรรค์เมนูที่เข้ากันอย่างไม่หลุดคอนเซ็ปต์ ‘หมั่นโถวดิป’ ที่นึ่งมากำลังเหมาะแล้วอบอีกหนึ่งขั้นตอนจนผิวเกรียมสวย กรอบนอกนุ่มใส เสิร์ฟร้อนๆ มากับเครื่องจิ้มสามอย่าง คือ ช็อกโกแลต นมข้นหวาน และเนยถั่ว หรือ ‘เปี๊ยะวาฟเฟิล’ ที่วางอยู่ตรงหน้า ทั้งไส้หมูแดงและไส้เผือกไข่เค็ม ที่ผ่านการคัดเลือกมากว่าสิบไส้ เป็นขนมเปี๊ยะก้อนกลมสุดอร่อยที่ออกแบบสูตรมาโดยเฉพาะเพื่อให้ตัวแป้งสามารถคงรูปได้สวยเมื่อเข้าพิมพ์วาฟเฟิล เข้ากันดีกับชาจีนสมุนไพร ชาที่ดึงเอาสมุนไพรจีนมาเป็นส่วนประกอบ ทั้งเม็ดเก๋ากี้และซานจาที่ให้สรรพคุณทางยากับดอกเก๊กฮวย หรือจะเลือกชาผลไม้ที่ได้รสชาติเปรี้ยวเจือหวาน ซึ่งเติมน้ำร้อนได้แบบไม่จำกัด แถมยังเสิร์ฟมาพร้อมของหวานเล็กๆ อย่างสัมปันนีและวุ้นกรอบ

เปี๊ยะวาฟเฟิล

เลมอนโซดา

สำหรับสายกาแฟ ที่ร้านมีกาแฟพื้นฐานเช่นเดียวกับร้านกาแฟทั่วไป แต่ที่มีที่นี่เพียงร้านเดียวและยังไม่เคยดื่มจากร้านไหน คือ ‘พลัมเอสเพรสโซ่’ บ๊วยโซดาที่ท็อปมาด้วยเอสเพรสโซ่ช็อต เป็นการดื่มกาแฟที่สว่างและสดชื่นที่สุด แต่แก้วนี้จะไม่ให้รสชาติแบบกาแฟจ๋า เพราะเราจะได้กลิ่นกาแฟและบ๊วยในสัดส่วนเท่าๆ กัน คนที่ไม่ดื่มกาแฟจึงสามารถเอนจอยกับแก้วนี้ได้ ส่วนคอกาแฟหนักๆ อาจจะรู้สึกว่านี่ไม่เหมือนกาแฟสักเท่าไร แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่อยากชวนให้ลอง

มิกซ์ฟรุตโซดา

หรือหากไม่อยากดื่มชากาแฟ ลอง ‘เลมอนโซดา’ ที่น้ำแข็งจะมีเนื้อบ๊วยฝังอยู่ในก้อน ให้รสชาติสดชื่นเปรี้ยวหวานลงตัว อีกแก้วคือ ‘มิกซ์ฟรุตโซดา’ น้ำลิ้นจี่กับน้ำผลไม้รวม ท็อปปิ้งด้วยเจลลี่ส้มและเจลลี่สตรอว์เบอร์รี่เพื่อเพิ่มรสสัมผัส นอกจากนี้ยังมีของหวานที่นอกจากเค้กเผือก เค้กมะพร้าวอ่อน และเค้กหม้อแกง ซึ่งอาจจะไม่ได้มีเสิร์ฟทุกวันขึ้นกับว่าทางร้านสามารถหาวัตถุดิบที่ดีได้ ยังมีของหวานที่ดูง่ายแต่จัดหน้าตาได้ครีเอตอย่างชอร์เบต์เต้าทึง วุ้นน้ำขิง วุ้นน้ำลำไย ท็อปด้วยเต้าทึง และวุ้นเก๊กเก๋ากี้ ซึ่งมีส่วนผสมของเกสรดอกเก๊กฮวยและเม็ดเก๋ากี้ เสิร์ฟมาพร้อมน้ำตาลแดง ให้คนกินได้เพิ่มความหวานได้เอง เพราะสูตรปกติจะค่อนข้างหวานน้อย และในอนาคตจะเพิ่มอาหารคาวซึ่งเป็นของว่างง่ายๆ เข้าไปในเมนู ที่แน่นอนว่าย่อมไม่ละทิ้งความเป็นจีนตามคอนเซ็ปต์

พลัมเอสเพรสโซ่

ชาจีนสมุนไพร

ร้านนี้อาจไม่สะดวกนักหากจะนำรถไปเพราะไม่มีที่จอด แต่สามารถจอดได้ที่ศาลเจ้าโจวซือกงและวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร และถ้าหากใครเป็นมนุษย์สายพันธุ์ที่ชอบเดินเล่นตามตรอกทะลุออกซอยอยู่แล้ว ย่านตลาดน้อยยังมีมุมให้ค้นหาอยู่อีกมาก รวมถึงคาเฟ่แห่งนี้ด้วย 

Fact Box

 

Tags: ,