โปรเม อัจฉริยะต้องสร้าง เป็นหนังชีวประวัติของ เม เอรียา จุฑานุกาล นักกีฬากอล์ฟหญิงไทยที่เคยคว้าตำแหน่งมือวางอันดับหนึ่งของโลก และเป็นคนไทยคนแรกที่ชนะรายการแอลพีจีเอทัวร์เมื่อปี 2016 ก่อนจะได้แชมป์ในอีกหลายรายการ หนังได้เล่าถึงชีวิตของเม และโม พี่สาวของเธอ ตั้งแต่ทั้งคู่ยังเป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆที่ถูกเคี่ยวเข็ญให้ออกกำลังกายและฝึกตีกอล์ฟตั้งแต่ยังเด็ก โดยตัวตั้งตัวตีของแผนการส่งสองหญิงไทยไประดับโลกนี้ ก็คือ คุณพ่อของเมและโม ที่มีความฝันไกลกว่าการให้ลูกประสบความสำเร็จแค่ในประเทศตนเอง
หนังให้ความสำคัญกับประเด็นของครอบครัวโดยมีเรื่องราวของกีฬาเป็นองค์ประกอบเสริม ทำให้แม้เราจะไม่ได้ชอบกีฬากอล์ฟก็สามารถดูได้สนุก และยังเล่าถึงกติกาเกี่ยวกับกีฬากอล์ฟให้เข้าใจได้ง่ายๆ ตามชีวประวัติจริงๆ ตัวคุณพ่อของโปรเมและโปรโมนั้น ชอบกีฬากอล์ฟตั้งแต่ธุรกิจตกแต่งภายในเจอกับวิกฤติปี 2540 โดยเขาหันไปเล่นกอล์ฟเพื่อเป็นการผ่อนคลาย และถึงกับบินไปฝึกที่สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นเขาจึงมีแผนการปั้นให้ลูกสาวทั้งสองคน คือเม และโม เป็นโปรกอล์ฟระดับโลก และปัจจุบัน ทั้งสองก็เป็นได้ตามที่เขาวาดหวังไว้จริงๆ (ไม่ใช่แค่เมเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ แต่โม หรือ โปรโม ก็แข่งขันจนได้อันดับหนึ่งในสิบของโลกด้วย)
แม้ภายนอกจะดูยิ้มแย้มแจ่มใส และมีเส้นทางอาชีพที่ประสบความสำเร็จ แต่หนังเรื่องนี้กลับทำให้รู้ว่าเบื้องหลังชีวิตของโปรเมเต็มไปด้วยความลำบาก ตั้งแต่ถูกควบคุมอาหาร ให้เรียนหนังสือได้ถึงแค่ช่วงพักเที่ยง ต้องทำตามตารางซ้อมของผู้เป็นพ่อที่เข้มงวดในทุกรายละเอียดตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอน และยังมีประเด็นความสัมพันธ์กับพ่อที่แตกหัก ซึ่งทำให้เราตั้งคำถามขึ้นมาว่า การจะ ‘สร้าง’ อัจฉริยะคนหนึ่งขึ้นมานั้น คนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในที่นี้คือเมและครอบครัว จะต้องจ่ายอะไรไปบ้าง
‘ความบ้า’ ดูจะเป็นหนึ่งในลักษณะที่ถูกกล่าวถึงเมื่อพูดถึงตัวละครของพ่อเมและโม (ในที่นี้จะหมายถึงเฉพาะตัวละคร เพราะอาจมีการแต่งเติมบทนอกเหนือจากชีวิตจริง) เขามีความฝันที่ทะเยอะทะยานกว่าคนทั่วไป และเขาก็บอกว่า แผนการระดับโลกทั้งหมดนั้นเขาไม่ได้ทำขึ้นมาด้วยความมั่นใจในตัวลูกสาวทั้งสอง แต่เป็นความ ‘มั่นใจในตัวเอง’ ว่าจะพาลูกไปไกลขนาดนั้นได้ต่างหาก บุคลิกที่จริงจังเสียจนบางครั้งเกินขอบเขตไปนั้นทำให้เกิดการขัดขืน ซึ่งบางครั้งก็มาจากลูกสาว และบางครั้งก็เป็นภรรยา เพราะไม่มีใครสามารถรับความคาดหวังที่มากขนาดนั้นได้ ฉากที่เมในวัยสาวสั่งก๋วยเตี๋ยวด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกในชีวิต และไม่สามารถใช้ตะเกียบได้เพราะไม่เคยทานอาหารชนิดนี้มาก่อน ได้ตอกย้ำให้เราเห็นราคาที่ต้องจ่าย กับวัยเด็กและบางเศษเสี้ยวของชีวิตที่ต้องเสียไป โดยที่ในเวลานั้นเธออาจไม่รู้เลยว่าเพื่ออะไรกันแน่
ในที่นี้เราจะยังไม่พูดถึงประเด็นที่ว่า เมื่อมันถูกอ้างอิงมาจากบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงๆ การบิดและนำเสนอตัวละครถึงขนาดนี้ มีที่มาอย่างไรหรือเกิดการดีลกันระหว่างโปรดักชั่นหรือไม่ อย่างไร แต่เราจะขอมุ่งไปถึงสิ่งที่หนังตั้งใจ ‘สื่อ’ ออกมาให้ผู้ชมแทน
ประเด็นเรื่อง ความคาดหวังของครอบครัว ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจน และอาจสะท้อนวัฒนธรรมครอบครัวของไทยหรือชาติเอเชียหลายชาติ เราเห็นพ่อแม่ชาวไทยหลายคนให้ลูกเข้าโรงเรียนก่อนเกณฑ์ หรือให้เรียนพิเศษหลายๆ ที่ตั้งแต่ยังเด็กมากเพื่อแข่งขันกับเด็กคนอื่นๆ เด็กไทยน่าจะเป็นหนึ่งในชาติที่ใช้เวลากับการเรียนมากที่สุดในโลก เมื่อเทียบดูแล้ว เราเห็นภาพคล้ายคลึงกับพ่อของเมและโมที่บังคับให้ลูกใช้เวลาอยู่บนกรีนและสนามกอล์ฟเกือบตลอดเวลา
เขาอาจสามารถทวงความชอบธรรมให้กับตัวเองว่าเขาไม่ได้ ‘บ้า’ ไปกว่าพ่อแม่ทั่วๆ ไปที่สอนให้ลูกโหยหาความสำเร็จอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และวัฒนธรรมไทยนั้นก็ให้อำนาจกับคำสั่งและแผนการของพ่อแม่มากพอสมควร ทำให้เด็กหลายคนต้องเดินตามกรอบของพ่อแม่โดยอาจไม่มีโอกาสถามตนเองว่าพวกเขาต้องการสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ เหมือนกับเมและโมที่แทบไม่เคยมีเวลาหยุดพักคิดถึงเรื่องของตัวเองด้วยซ้ำ
หนังยังฉายภาพผลพวงของความคาดหวังอันหนักหน่วงนี้ด้วย และมันกลับเป็นผลดี จุดแตกหักหนึ่งของเรื่องก็คือตอนที่เมทะเลาะกับพ่อจนพ่อของเธอทิ้งครอบครัวไป เมื่อนั้นการเดินทางภายในของเธอจึงเริ่มขึ้น เธอตัดสินใจที่จะตีกอล์ฟด้วยวิธีการของตนเอง แต่ก็ยังสลัดเงาของพ่อไม่ขาด ทุกครั้งที่จะตีลูกเธอจะมองไปข้างหลังเพื่อมองหาเขา อย่างไรก็ตาม นี่เป็นสิ่งดี เพราะเป็นช่วงที่เว้นว่างจากการบงการของพ่อนี่เองที่เธอเริ่มถามตัวเองว่าจริงๆแล้วเธอต้องการอะไร
คำตอบก็คือการเป็นมือวางอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งในครั้งนี้ไม่ได้ออกมาจากปากของพ่อหรือใครๆ แต่มาจากหัวใจของเธอเอง เธอได้เดินทางกลับไปสะสางปัญหาความสัมพันธ์ที่ยุ่งยากกับพ่อ และสามารถเดินออกมาจากเงาของเขา นั่นหมายความว่าทุกครั้งที่ตีลูกเธอจะไม่ต้องพะวงอีก และนั่นมันสำคัญมาก เพราะกีฬากอล์ฟ (และอาจรวมถึงกีฬาอื่นๆ) มีจุดสำคัญคือการแข่งขันกับสิ่งที่อยู่ในใจตนเอง
สุดท้ายแล้ว เครื่องหมายคำถามที่อยู่ในคำว่า อัจฉริยะต้องสร้าง ของเรื่องนี้เอง เพราะท้ายที่สุดแล้วหนังก็จบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง และความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าระหว่างทางที่ยากลำบากและเรียกร้องเกือบทั้งหมดของชีวิต ผลของมันก็กลับเป็นความสำเร็จ ทีนี้จึงอยู่ที่ว่า สำหรับผู้ชมแล้ว รางวัลกับสิ่งที่ต้องแลกไปมันคุ้มกันหรือไม่
แน่นอนว่าคงมีอีกหลายคนหลายครอบครัวที่แม้จะพยายามกันสุดชีวิต ก็ไม่ได้หมายความว่าจะถึงฝั่งฝันเสมอไป และไม่ใช่ว่าทุกคนจะอินกับสิ่งที่ถูกสร้างมาในที่สุดแบบโปรเม แต่ที่ในที่สุดภาพของความสำเร็จยังคงเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่หลายคนไม่ปฏิเสธ อย่างนี้แล้ว เด็กไทยจะก้าวผ่านกับดักของการ ‘ถูกสร้าง’ อยู่ตลอดเวลา ไปได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ชวนให้คิดกันต่อ
Tags: โปรเม อัจฉริยะต้องสร้าง