ในโลกของเทคโนโลยี หลายคนคุ้นเคยกับชื่อของไอบีเอ็ม (IBM) ในฐานะบริษัททางด้านคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีเทคโนโลยีจำนวนมาก แต่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา บริษัทเจอความท้าทายจำนวนมากในการปรับตัวใหม่ๆ ให้เข้ากับอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่นการเข้าซื้อกิจการบริษัท เรท แฮท (Red Hat) บริษัทด้านซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สเจ้าดังของโลก
ในอีกมิติหนึ่ง เทคโนโลยีเองกำลังมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ กับชีวิตมนุษย์ ความกังวลว่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จะมีบทบาทที่สำคัญมากยิ่งขึ้น กลายมาเป็นประเด็นสำคัญอย่างมากในโลกปัจจุบันที่ต้องการรักษาสมดุลระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรต่างๆ
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในระดับโลกที่เกิดขึ้น มีความสำคัญอย่างไรกับประเทศไทย? ไอบีเอ็มประเทศไทยจึงจัดงาน ทิงค์ ไทยแลนด์ (Think Thailand) ขึ้นเป็นครั้งแรก และเปิดตัวสองความร่วมมือระหว่างบริษัทและองค์กรอื่นๆ ร่วมกัน นอกจากเพื่อย้ำจุดยืนและความเปลี่ยนแปลงของไอบีเอ็มแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลด้วย
ไอบีเอ็ม ยังคงมีบทบาทในประเทศไทย จากสำรวจประชากรสู่ความร่วมมือ
ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ระบุว่าเป้าหมายของไอบีเอ็ม คือการผสานระหว่างคนและเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่นความร่วมมือกับ สตาร์ฮับ (StarHub) หนึ่งในผู้ให้บริการโทรคมนาคมของสิงคโปร์ ในการคิดท่าเต้นใหม่ๆ ให้กับมนุษย์ ด้วยการเรียนรู้จากภาพการเต้นของบุคคลต่างๆ
สำหรับประเทศไทย บริษัทเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งมาอย่างยาวนานด้วยการเข้ามาทำสำรวจประชากรก่อน จากนั้นจึงขยายความร่วมมือไปยังมิติอื่นๆ มาก การเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีด้านดิจิทัลในอนาคตนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง และจะให้ความร่วมมือกับทางหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นของประเทศอย่างเต็มที่
บทบาทนี้ถูกตอกย้ำโดยนางแฮริเอท กรีน (Harriet Green) ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไอบีเอ็มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ชี้ว่า ประเทศไทยกำลังพยายามปรับเปลี่ยนบทบาทของประเทศให้ไปสู่โลกดิจิทัลมากยิ่งขึ้น บทบาทของไอบีเอ็มจึงเป็นการสนับสนุนให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงในฐานะส่วนหนึ่งของภาคเอกชนที่จะสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น
กรมศุลกากรเริ่มใช้งานบล็อกเชนกับการนำเข้าสินค้าทางเรือ
การประกาศแรกเกิดขึ้นระหว่างไอบีเอ็มและกรมศุลกากร โดยใช้ระบบ ‘เทรดเลนส์’ (TradeLens) ของไอบีเอ็มที่พัฒนาร่วมกันกับเมอส์ก (Maersk) บริษัทด้านขนส่งทางเรือรายใหญ่ของโลก บนเทคโนโลยีของบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาใช้งานเพื่อลดปัญหาของเอกสาร และการตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐเป็นหลัก
ระบบดังกล่าวจะทำให้กรมศุลกากรและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถติดตามสินค้าแบบอัตโนมัติ รวมถึงรายละเอียดของสินค้าต่างๆ ด้วยความเร็วที่แทบจะทันทีจากสมาชิกของแพลตฟอร์มและเครือข่าย โดยตั้งใจที่จะทำเพื่อการตรวจปล่อยสินค้าต่างๆ ล่วงหน้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการทำงานให้ง่ายขึ้นกว่าเดิม รวมถึงทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น ในอีกมิติหนึ่งเป็นการบริหารความเสี่ยง (risk management) ในการนำเข้าสินค้าต่างๆ ได้ดีขึ้นกว่าเดิม ลดความเสี่ยงในการปลอมแปลงใบสำแดงอากร
กรมศุลกากรและฝ่ายต่างๆ สามารถติดตามสินค้าแบบอัตโนมัติ รวมถึงรายละเอียดของสินค้าต่างๆ ด้วยความรวดเร็วโดยตั้งใจที่จะทำเพื่อการตรวจปล่อยสินค้าต่างๆ ล่วงหน้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ในอีกมิติหนึ่งเป็นการบริหารความเสี่ยง (risk management) ในการนำเข้าสินค้าต่างๆ ได้ดีขึ้นกว่าเดิม ลดความเสี่ยงในการปลอมแปลงใบสำแดงอากร
เทคโนโลยีนี้เปิดให้ใช้แล้ว และมีบริษัทที่ร่วมกับแพลตฟอร์มนี้มากกว่า 100 แห่งแล้ว ในส่วนของเทคนิคตอนนี้สามารถมองเห็นเอกสารต่างๆ ได้แล้ว และกำลังพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับเจ้าหน้าที่ซึ่งเริ่มไปบ้างแล้วที่แหลมฉบัง และจะใช้อย่างเต็มที่ภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้
ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน สร้างคนรองรับกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากความร่วมมือกับกรมศุลกากรแล้ว บริษัทยังร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บมจ.เอไอเอส บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดตัวความร่วมมือจากโครงการ พีเทค (P-TECH: Pathway in Technology Early College High School) โครงการสร้างการเรียนรู้และจ้างงานด้านเทคโนโลยีสำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ที่เน้นเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ เป็นหลัก เจาะเป้าหมายกลุ่มวิชาชีพ
โครงการนี้จะเริ่มต้นขึ้นในปีหน้า เป็นโปรแกรมการเรียน 5 ปี นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้การสนับสนุนจากองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในการให้คำแนะนำ การฝึกงาน รวมถึงโอกาสในการถูกจ้างงานในสายนี้ ทั้งหมดเพื่อผลักดันให้มีแรงงานในสายนี้อย่างพอเพียง หลังจากที่ความสนใจของนักเรียนไทยในการศึกษาต่อสายนี้ เหลือเพียง 20% เท่านั้น
การปรับเปลี่ยนที่ดี คือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเทคโนโลยี
นอกจากการแถลงสองเรื่องใหญ่ข้างต้นแล้ว ยังมีการแถลงเรื่องย่อย อย่างเช่น ความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงศรีอยุธยาในการพัฒนาระบบงานด้านไอทีให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก
คุณฐากร ปิยะพันธ์ ผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงค์กิงและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่าความสำคัญที่สุดคือการทำให้ตัวเองสอดคล้องไปกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น การเปิดบัญชีที่ไม่ต้องไปธนาคารอีกต่อไป นอกจากนั้น เขามองว่าธนาคารจะเป็นหนึ่งในบริการรูปแบบใหม่ที่พร้อมให้ลูกค้าสามารถเข้ามาใช้งานได้ตลอดเวลา บทบาทของธนาคารจะเน้นเรื่องของความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม และนี่คือหัวใจของการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับของคนกับเทคโนโลยีในอนาคต
แต่เทคโนโลยีนั้นไม่ใช้เฉยๆ แต่จะต้องพัฒนาทั้งระบบงานภายใน และเพิ่มประสบการณ์ของลูกค้า ซึ่งในกรณีของธนาคารกรุงศรีอยุธยานั้น ถ้าบางอย่างไม่สามารถซื้อได้ ก็สร้างขึ้นมาเอง นอกจากนั้น ยังต้องดูเรื่องของข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน เพื่อให้เข้าใจถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และสามารถปรับตัวได้
ในแง่นี้ เทคโนโลยีเป็นเสมือนตัวที่ให้เกิดความเป็นไปได้สำหรับธุรกิจ (business-enabler) ซึ่งทำให้ความท้าทายที่สำคัญที่สุด อยู่ที่การปรับตัวของธุรกิจไปเรื่อยๆ ให้สอดรับกับทั้งเทคโนโลยีและความต้องการของมนุษย์ แต่ทั้งหมดคือการยึดมนุษย์ในฐานะเป็นแกนกลางของการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้
และนี่น่าจะเป็นหัวใจของธุรกิจในยุคปัจจุบันและอนาคต ที่จะต้องปรับตัวและเรียนรู้กันต่อไป เพื่อจะทำให้มนุษย์และเทคโนโลยีอยู่ร่วมกันได้
Tags: ทิงค์ ไทยแลนด์, Think Thailand, IBM, บล็อกเชน, กรมศุลกากร, ไอบีเอ็ม, TradeLens