สื่อมวลชนจีนรายงานสถานการณ์ในฮ่องกงว่าเป็นการก่อจลาจล สร้างภาพผู้ประท้วงเป็นพวกแยกประเทศ ยกย่องกลุ่มชายฉกรรจ์ที่ทำร้ายผู้ชุมนุมเป็นผู้รักชาติ โซเชียลมีเดียแชร์ผังแสดงท่อน้ำเลี้ยงจากอเมริกา เหล่านี้ชวนให้สงสัยว่า ปักกิ่งกำลังจะใช้ไม้แข็งหรือเปล่า
ล่วงเข้าสัปดาห์ที่ 11 ของการประท้วง เครื่องมือควบคุมฝูงชนของตำรวจฮ่องกง ไม่ว่าสเปรย์พริก กระสุนยาง กระสุนถุงบรรจุลูกปรายตะกั่ว หรือแก๊สน้ำตา รวมถึงการจับกุมดำเนินคดี ดูจะไม่สามารถสกัดกั้นคลื่นผู้ชุมนุมได้
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา การประท้วงยกระดับเข้มข้นขึ้น สนามบินฮ่องกงต้องปิดทำการโดยปริยายในบางช่วงเวลา เพราะว่าผู้ชุมนุมปิดทางเข้าอาคารผู้โดยสารเนื่องจากกลัวตำรวจบุก พ่วงด้วยเหตุการณ์ผู้ชุมนุมช่วยกันจับชายสองคนมัดมือคุมตัวไว้ เพราะเชื่อว่าเป็นสายลับของจีน
ถ้ารัฐบาลฮ่องกงแก้ปัญหาการประท้วงไม่ตก ถ้าตำรวจฮ่องกงเอาไม่อยู่ และถ้าสถานการณ์เข้าขั้นรุนแรงต่อเนื่อง จีนคงไม่อยู่เฉย ดังที่เอกอัครราชทูตจีนประจำอังกฤษ หลิวเซี่ยวหมิง บอกเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ว่า ปักกิ่งจะไม่เอาแต่นั่งดูการก่อความไม่สงบในฮ่องกง จีนมีเครื่องมือและมีอำนาจมากพอที่จะจัดการอย่างเฉียบขาด
ปฏิบัติการด้านข่าวสารข้อมูลของทางการจีน ดูจะเข้มข้นสอดรับกับสถานการณ์ในฮ่องกง ภาพตำรวจกึ่งทหารชุมนุมพล พร้อมรถลำเลียงพลหุ้มเกราะจอดเรียงราย ภายในสนามกีฬาในเมืองเสิ่นเจิ้น ฟากตรงข้ามเกาะฮ่องกง กลายเป็น ‘คลิปแอบถ่าย’ ที่ทุกสำนักข่าวนำออกเผยแพร่ (Global Times via YouTube, 12 August 2019 ; AFP via YouTube, 15 August 2019)
นอกจากกลยุทธ์ เขียนเสือให้วัวกลัว เพื่อปรามผู้คนไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม การสร้างเรื่องเล่าและวาทกรรมที่วาดภาพผู้ประท้วงเป็น “พวกทำลายบ้านเมือง” มีการกระทำ “เยี่ยงการก่อการร้าย” ดูจะเป็นอีกกลเม็ดที่กลไกโฆษณาชวนเชื่อของจีนนำมาใช้ เพื่อระดมเสียงสนับสนุนต่อการรักษาสถานะเดิม ปฏิเสธประชาธิปไตยที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง
แยกปลาออกจากน้ำ
จีนจะทำอย่างไรกับการประท้วงในฮ่องกง ท่าทีลีลาการนำเสนอข่าวของสื่อในความควบคุมของปักกิ่ง อาจส่อสัญญาณให้จับแนวโน้มได้
ตอนที่เริ่มเกิดการประท้วง สื่อจีนแสดงจุดยืนในทำนองเดียวกับกรณีเทียนอันเหมิน คือ ไม่พูดถึงเลยแม้แต่นิดเดียว ทว่าหลังจากผู้ชุมนุมปะทะกับตำรวจ ขว้างปาป้ายสำนักงานติดต่อของจีนในฮ่องกง และนัดชุมนุมที่สนามบิน สื่อจีนกลับลำหันมารายงานข่าวการประท้วงอย่างครึกโครม แต่เน้นนำเสนอภาพลักษณ์ให้ดูเป็นลบ
ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา กระบอกเสียงของรัฐบาลจีนดูจะพยายามโดดเดี่ยวผู้ประท้วงออกจากแรงสนับสนุนของสังคม หนังสือพิมพ์ พีเพิลเดลี บอกว่า ทุกภาคส่วนในฮ่องกงเรียกร้องให้ผู้ประท้วงหยุดใช้ความรุนแรง บรรดาสื่อจีนโพสต์วิดีโอแสดงภาพการมีปากเสียงระหว่างผู้ชุมนุมกับผู้โดยสารที่สนามบิน
แม้ผู้ประท้วงฮาร์ดคอร์มีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ที่ออกมาเดินขบวนโดยสงบ แต่สื่อจีนเรียกสถานการณ์ในฮ่องกงแบบตีขลุมว่า “เหตุจลาจล” โดยโหมแพร่ภาพผู้ประท้วงขว้างปาก้อนอิฐ โห่ใส่ตำรวจ ปิดล้อมโรงพัก และใช้ถ้อยคำเรียกผู้ประท้วงว่า “พวกหัวรุนแรง” บ้าง “พวกอันธพาล” บ้าง ในขณะที่เรียกกลุ่มชายชุดขาวที่ทุบตีต่อยเตะผู้ชุมนุมว่า “ผู้รักชาติ”
แขวนป้ายเหมารวม ‘แยกประเทศ’
นอกจากสร้างภาพผู้ประท้วงเป็นผู้ก่อจลาจล สื่อจีนยังรายงานด้วยว่า คนพวกนี้ต้องการแยกฮ่องกงให้เป็นอิสระจากจีน เป็นพวกเรียกร้องเอกราช
พีเพิลเดลีเปิดประเด็นสนทนาทางเว่ยป๋อ ตั้งหัวข้อว่า “ปกป้องฮ่องกง ไม่เอาความรุนแรง” ปรากฏว่ามีคนเข้าไปคอมเมนต์กว่า 1 ล้านครั้ง ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุน บางส่วนเรียกร้องให้รัฐบาลจีนจัดหนัก ขณะที่อีกหนึ่งกระทู้ “ปกป้องธงชาติจีน” ก็ฮิตติดเทรนด์เช่นกัน หลังจากมีผู้ประท้วงในฮ่องกงโยนธงชาติจีนทิ้งลงทะเล
ขณะที่กระพือกระแสชาตินิยม เนื้อข่าวที่สื่อจีนไม่รายงาน คือ ทำไมชาวฮ่องกงจึงลุกขึ้นประท้วงตั้งแต่แรก เหตุการณ์ตำรวจใช้กำลังกับผู้ประท้วง และเหตุการณ์ชายชุดขาวยกพวกเข้าทำร้ายผู้ชุมนุมที่กำลังจะขึ้นรถใต้ดินกลับบ้านหลังเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่
ฟางเค่อเฉิง อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารของ Chinese University of Hong Kong ให้ความเห็นกับหนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน ในอังกฤษ ว่า สื่อมวลชนของแผ่นดินใหญ่ไม่ได้รายงานข่าวฮ่องกงตามหลักวารสารศาสตร์ แต่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อล้วนๆ เลือกหยิบเฉพาะในบางมุม บิดเบือนในบางประเด็น และขยายความเกินจริงในบางเรื่อง
ท่อน้ำเลี้ยงจากต่างชาติ
อีกกลยุทธ์ที่สื่อจีนนำมาใช้ก็คือ ตีข่าวว่าม็อบฮ่องกงมีต่างชาติหนุนหลัง รายงานข่าวในจีนไม่เพียงบอกว่า จูลี อีเดห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองของสำนักงานกงสุลสหรัฐฯ ประจำฮ่องกง ไปพบกับผู้ชุมนุม แต่ยังเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวและภาพถ่ายของเธอกับลูกๆ ด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น บนโซเชียลมีเดียยังมีการแชร์แผนผังแบบทฤษฎีสมคบคิด แสดงเส้นทางการเงินตั้งแต่สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ผ่านหน่วยงานรัฐบาลอเมริกัน พรรคการเมือง เอ็นจีโอ โดยอ้างว่าอเมริกาต่อท่อน้ำเลี้ยงถึงผู้ชุมนุม
อาจารย์ฟาง บอกว่า ตอนที่การเดินขบวนยังเป็นไปโดยสงบ จีนยังทำอะไรไม่ได้ แต่เมื่อเกิดเหตุรุนแรง กลไกโฆษณาชวนเชื่อก็สบโอกาส ป่าวร้องว่าต่างชาติแทรกแซง ปั่นกระแสชาตินิยมในหมู่ชาวจีน
นักสังเกตการณ์มองว่า การหันมาโหมความรู้สึกรักชาติเช่นนี้ อาจเป็นการตระเตรียมสังคมให้พร้อมยอมรับมาตรการเฉียบขาด ที่รัฐบาลปักกิ่งหรือรัฐบาลฮ่องกงจะนำมาใช้ในระยะต่อไป.
อ้างอิง:
AFP via Yahoo! News, 16 August 2019
ภาพปก: REUTERS/Tyrone Siu
Tags: ฮ่องกง, จีน, การชุมนุม, ส่งผู้ร้ายข้ามแดน