เมื่อรัฐบาลกำลังเดินหน้าตามโรดแมปการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ คำว่า ‘นวัตกรรม’ ดูเหมือนจะเป็นคำฮ็อตฮิตในทุกๆ วงการของบ้านเราไปโดยปริยาย รวมถึงวงการพิพิธภัณฑ์ด้วย
วันนี้เราจึงขออาสาพาไปทดลองหลากหลายนวัตกรรมในมิวเซียม ตั้งแต่ QR code, projection mapping, ไปจนถึง เทคโนโลยีภาพเสมือน (Augmented Reality) ให้รู้กันไปเลยว่าบ้านเรามีอะไรที่ล้ำๆ ไม่แพ้ต่างประเทศกับเขาบ้าง แล้วมันตอบโจทย์ลดช่องว่างระหว่างตัวพิพิธภัณฑ์กับสังคมสมัยใหม่ได้จริงหรือไม่? อย่างไร?
Interactive Display
หลายๆ พิพิธภัณฑ์ในบ้านเรา มีการออกแบบนิทรรศการและการจัดแสดง ที่ประยุกต์ (และทุ่มทุน) ใช้เทคโนโลยีต่างๆ มากมายมาช่วยเล่าเรื่องให้น่าสนใจและเป็นที่จดจำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจำลองประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น การฉายภาพยนตร์สี่มิติในนิทรรศรัตนโกสินทร์ ไปจนถึง อุโมงค์ลมความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ให้ผู้ชมเรียนรู้สภาพอากาศแบบเขตแอนตาร์กติกา ของพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันภาพจำของมิวเซียมในฐานะห้องเก็บของนั้นค่อยๆ หายไปหมดแล้ว การให้ข้อมูลในนิทรรศการมักทำควบคู่กับกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมด้วย ยกอีกตัวอย่างที่เราชอบคือ ห้อง ‘ไทยชิม’ ที่มิวเซียมสยาม เล่าเรื่องความเป็นมาของอาหารไทย ผ่านจอโปรเจคชั่นที่จะทำงานเมื่อผู้ชมหยิบจานเปล่ามาวางบนโต๊ะ เป็นคอนเซ็ปท์ Live Kitchen ให้เราได้เห็นการถอดรหัสอาหารจานโปรดของเราบนจานแบบต่อหน้าต่อตา อาทิ ‘ไข่เจียว’ ‘ผัดไทย’ และ ‘แกงมัสมั่น’ เป็นต้น ให้ทั้งความสนุก และตื่นตาตื่นใจ จนลืมไปเลยว่าห้องนี้ไม่มีวัตถุจัดแสดงอยู่ซักชิ้นเดียว
Coding Collection
ขณะเดียวกันหากใครได้มีโอกาสไปเดินพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลายๆ แห่งทั่วประเทศ ก็จะเริ่มเห็นการแปะ QR Code ไว้หน้าโบราณวัตถุให้ผู้ชมได้ลองยิง เพื่อเปิดลิงค์ของพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ http://www.virtualmuseum.finearts.go.th ในมือถือหรืออุปกรณ์แทปเล็ตขึ้นมาดูประกอบการเยี่ยมชมได้ ซึ่งบางคนอาจจะตั้งคำถามว่า “ในเมื่อเขามาถึงพิพิธภัณฑ์แล้ว ทำไมถึงอยากให้ผู้ชมไปจ้องจอมากกว่าของจริงที่อยู่ตรงหน้า?” อันนี้ต้องตอบว่า เพราะเราสามารถหยิบจับวัตถุจัดแสดงได้แบบ 360 องศาในเว็บไซต์ แบบที่ไม่สามารถทำได้กับวัตถุจัดแสดงที่อยู่ในตู้กระจกในพื้นที่จริง ดังนั้นการใช้พิพิธภัณฑ์เสมือนจึงเป็นเหมือนต่อยอดข้อจำกัดทางกายภาพของพิพิธภัณฑ์ไปในตัว
ซึ่งเบื้องต้น กรมศิลปากร ได้เริ่มติดตั้งระบบคิวอาร์โค้ดแล้วในอุทยานประวัติศาสตร์ 9 แห่ง 168 รายการ, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 41 แห่ง 686 รายการ และโบราณสถาน 16 รายการ แล้วเรียบร้อย
นอกจากนี้ ทางกรมศิลป์ฯ ยังวางแผนที่จะทำ QR code เพื่อให้ข้อมูลเฉพาะด้านเพิ่มเติมสำหรับผู้ใช้ที่มีความต้องการเฉพาะ เช่น การนำ QR code มาให้บริการแปลภาษามือสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน เป็นต้น
อนึ่ง นอกจากที่จะให้ผู้ชมได้พินิจพิเคราะห์แบบใกล้ชิดบนจออุปกรณ์ของตนแล้ว การสแกนวัตถุแบบ 3 มิติ จากในคลังของพิพิธภัณฑ์ยังเป็นการทำทะเบียนวัตถุเชิงลึกแบบไม่เคยมีมาก่อน กล่าวคือ ในสมัยก่อนเราจะคุ้นกับการทำทะเบียนวัตถุด้วยรูปภาพและข้อเขียน แต่การสแกนวัตถุนั้นสามารถขยายฐานข้อมูลให้ครอบคลุมลักษณะทางกายภาพทั้งหมด อาทิ พื้นผิวจากทุกซอกทุกมุมของวัตถุ ไปจนถึงร่องรอยที่อาจมองไม่เห็นด้วยสายตา ทำให้นักวิจัยสามารถทำการศึกษาค้นคว้าวัตถุได้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวไปสู่ฐานข้อมูลลักษณะเดียวกันในพิพิธภัณฑ์อื่นๆเป็นเครือข่ายในอนาคตได้ด้วย เผลอๆ ยังสามารถส่งไฟล์ให้ผู้ชมทางบ้านไปพิมพ์ออกมาจากเครื่อง 3d printer เป็นของชำรวยเก๋ๆ ได้อีก
Augmented Reality
พูดถึงการต่อยอดด้วยเทคโนโลยี คงต้องพูดถึงอีกโปรเจกต์หนึ่งที่ซ่อนอยู่ใน วัดเทพธิดาราม พระอารามหลวงชั้นตรีที่ตั้งอยู่ริมถนนมหาไชย เขตพระนครนี่เอง โดยวัดนี้เขามีของดีอยู่หลายอย่าง ทั้ง พระปรางค์ทิศทั้ง 4 รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยจีนตามสมัยนิยมของรัชกาลที่ 3, หอไตร, รูปหล่อภิกษุณีจำนวน 53 องค์ และ กุฎิของกวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ หรือ สุนทรภู่ ที่ถูกปรับปรุงให้เป็น ‘พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่’ ภายใต้การดูแลของ ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิวราภรณ์ โดยเมื่อพูดถึงตัวการออกแบบพิพิธภัณฑ์ ท่านได้บอกกับเราว่า หนึ่งในโจทย์หลักคือพื้นที่ของกุฏินั้นมีขนาดเล็ก อีกทั้งตัวอาคารของวัดเองก็ถูกจัดเป็นโบราณสถานสำคัญ การสร้างต่อเติมจึงเป็นเรื่องที่ยากและละเอียดอ่อนมาก ท่านจึงตัดสินใจลงทุนหลักล้านไปกับเทคโนโลยี Augmented Reality เพื่อเป็นการขยายพื้นที่ประสบการณ์จากกายภาพสู่โลกเสมือน
ปัจจุบันผู้เข้าชมสามารถถ่ายภาพและวิดีโอผ่านแอปพลิเคชั่นในมิวเซียม แสดงภาพเสมือนว่าเราย้อนเวลากลับไปอยู่ในฉากเดียวกันกับภิกษุภู่ ผู้เคยจำพรรษาอยู่ที่กุฏินี้ช่วง พ.ศ. 2383 มีทั้งฉากที่ท่านกำลังต้อนรับ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ หรือ พระองค์เจ้าวิลาศ อยู่ที่ศาลา หรือฉากที่ท่านกำลังเด็ดใบชาอยู่หน้ากุฏิของท่าน ไปจนถึงฉากที่ท่านกำลังประพันธ์ผลงานอยู่ในกุฏิด้วย
วิธีการทำลายกรอบของเวลาที่แบ่งอดีต/ปัจจุบัน/อนาคต ด้วยนวัตกรรมนี้ นอกจากจะสร้างความตื่นตาตื่นใจแล้ว ยังทำให้ผู้เข้าตระหนักถึงบริบทของพื้นที่ที่ตนกำลังยืนอยู่ได้อย่างดี แถมยังชวนให้เชื่อมโยง ‘วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้’ อาทิ สุนทรียะในบทกวีของสุนทรภู่มาสู่ปัจจุบัน ตามสโลแกนของท่านเจ้าคุณที่ว่า “สุนทรภู่ never dies”
Museum Fatigue
อย่างไรก็ดี เราขอเตือนให้มิวเซียมและผู้ใช้ต้องพึงระวังสิ่งที่เรียกว่า Museum Fatigue หรือความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นในผู้ชมจากดูนิทรรศการที่ ‘เยอะ’ เกินไป ไม่ว่าจะด้วยเนื้อหาหรือกิจกรรมต่างๆ ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีจึงต้องคำนึงถึงความสามารถในการเข้าถึงและรับข้อมูลของผู้ใช้ด้วย หลายๆ ครั้ง การใส่เทคโนโลยีเข้าไปในมิวเซียมแบบไม่ดูกาลเทศะ แทนที่จะเป็นตัวช่วย แต่กลับกลายเป็นปัญหาเสียแทน อาทิ การเลือกเทคโนโลยีที่ซับซ้อนเกินเรื่อง ทำให้อุปกรณ์เสียง่าย เสียบ่อย งบซ่อมบำรุงก็แพงมาก มีระบบใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ของเก่าตลอด ขัดกับระบบจัดซื้อจัดจ้างที่กว่าจะทำเรื่องเสร็จ นวัตกรรมที่เลือกไว้ก็ตกรุ่นไปเสียแล้ว หรือพอจะทิ้งก็ยังมีข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ย่อยสลายยากอีก ฯลฯ หรือในบางกรณีที่นิทรรศการล้ำมาก แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีนั้นๆ ก็ไม่สามารถช่วยให้ผู้เข้าชมมีประสบการณ์ที่ดีขึ้นเช่นกัน ดังนั้นการปรับให้พิพิธภัณฑ์ ‘ทันสมัย’ นั้น นอกจากเรื่องเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมแล้ว อาจจะต้องปรับเปลียนวิสัยทัศน์ของทุกๆ คนในองค์กรไปด้วยพร้อมๆ กันด้วย
ที่มาภาพ
http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/index.php/en/
Tags: พิพิธภัณฑ์, Museums Now, Museum Minds, เทคโนโลยี