จากการสำรวจประชากรกวางเรนเดียร์ประจำปีในกลุ่มหมู่เกาะระยะไม่เกิน 1,200 กิโลเมตรจากขั้วโลกเหนือของกลุ่มนักวิจัยจากสถาบันขั้วโลกนอร์เวย์ (Norwegian Polar Institute) พบซากกวางเรนเดียร์ประมาณ 200 ตัว ซึ่งเชื่อว่าอดตายในฤดูหนาวที่ผ่านมา

อาไชด์ ออนวิก พีเดอร์เซน หัวหน้าคณะสำรวจในครั้งนี้กล่าวว่า จำนวนการตายของกวางเรนเดียร์ที่สูงผิดปกติในครั้งนี้เป็นผลมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศเคยชี้ว่ากำลังเกิดขึ้นเร็วเป็นทวีคูณในแถบอาร์กติกและในส่วนอื่นๆ ของโลก

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้ฝนตกมากขึ้น เมื่อฝนตกลงมาบนหิมะและก่อตัวเป็นชั้นน้ำแข็งบนทุนดรา ทำให้สภาพการแทะเล็มอาหารต่างๆ ของสัตว์ในแถบนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ในช่วงฤดูหนาวกวางเรนเดียร์ในหมู่เกาะสฟาลบาร์จะหาพืชพันธุ์อาหารบนพื้นหิมะโดยใช้กีบเท้าของพวกมันคุ้ย แต่หากพื้นเกิดการสร้างชั้นน้ำแข็งอันเนื่องมาจากฝนตก จะทำให้กีบเท้าของมันไม่สามารถคุ้ยผ่านชั้นน้ำแข็งลงไปได้ จึงทำให้มันอดอาหาร และตายในที่สุด

อย่างไรก็ตามตามข้อมูลจาก อาไชด์ ออนวิก พีเดอร์เซน ระบุว่า การเก็บสถิติจำนวนการเสียชีวิตของกวางเรนเดียร์เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบนั้น มีการบันทึกสถิติไว้ก่อนหน้านี้เพียงครั้งเดียว คือในช่วงก่อนและหลังฤดูหนาวปี 2007-2008 แต่การสำรวจจำนวนประชากรกวางเรนเดียร์นั้นมีการทำมาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปีแล้ว 

นอกจากนี้จำนวนการตายของกวางเรนเดียร์ที่สูงขึ้น ยังเป็นผลจากจำนวนประชากรกวางเรนเดียร์ที่เพิ่มสูงขึ้นในแถบหมู่เกาะน้อยใหญ่ของนอร์เวย์ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ทำให้ฤดูร้อนอุ่นมากขึ้น ส่งผลให้กวางต่อสู้แย่งชิงหากินในบริเวณทุ่งหญ้าเดียวกันมากขึ้นนั่นเอง 

ข้อมูลจากสถาบันขั้วโลกนอร์เวย์ยังบอกอีกว่า นับแต่ยุค 1980s เป็นต้นมา จำนวนประชากรกวางเรนเดียร์ในหมู่เกาะสฟาลบาร์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และตอนนี้มีกวางเรนเดียร์อยู่ประมาณ 22,000 ตัว

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/world/2019/jul/30/deaths-of-200-reindeer-in-arctic-caused-by-climate-change-say-researchers 

https://www.independent.co.uk/environment/reindeer-arctic-climate-change-die-starvation-norway-a9026071.html 

https://www.sciencealert.com/a-record-number-of-reindeer-have-been-found-dead-in-norway-due-to-climate-change 

ภาพ :

AFP PHOTO /ELIN VINJE JENSSEN/NORWEGIAN POLAR INSTITUTE/ HANDOUT

Tags: , ,