ตอนนี้ในสหรัฐอเมริกา มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการตีความอิโมจิมากขึ้นเรื่อยๆ ศาลต้องเผชิญกับความยากลำบากในการพิจารณาคดี โดยเฉพาะเมื่ออิโมจิถูกใช้เป็นหลักฐาน คดีที่ใช้อิโมจิเป็นหลักฐานในปี 2017 มี 33 คดี ในปี 2018 มี 53 คดี ส่วนครึ่งปีแรกของ 2019 มีอย่างน้อย 50 คดีแล้ว
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 เอริค โกลด์แมน นักวิชาการด้านกฎหมายมหาวิทยาลัยซานตา คลารา ซึ่งเก็บข้อมูลการใช้อิโมจิเป็นหลักฐานในศาลสหรัฐฯ เปิดเผยว่า คดีที่ใช้อิโมจิเป็นหลักฐานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และน่ากังวลว่าศาลจะจัดการอย่างไรกับความกำกวมของอิโมจิที่เราเห็นและใช้กัน
ครั้งแรกที่อิโมติคอนปรากฏในศาลคือปี 2004 คดีส่วนใหญ่มักเป็นคดีล่วงละเมิดทางเพศและอาชญากรรม ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในที่ทำงาน อัยการคาเรน เอส เอลเลียต ที่ทำคดีความเกี่ยวกับอิโมจิยกตัวอย่างว่า อาจจะมีคนที่ส่งสัญลักษณ์ข่มขู่ เช่น รูปปืน รูปการชี้นิ้ว แล้วก็ตามด้วยการใส่สัญลักษณ์ว่าล้อเล่น แต่มันล้อเล่นหรือจริงจังกันแน่ หรือคนนั้นใช้เพื่อป้องกันตัวเองในภายหลังว่า ที่ส่งไปไม่ได้จริงจัง เดิมเราเคยคิดกันว่า อิโมจิหน้ายิ้มมีความหมายเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นก็น่าจะโอเคที่จะใช้ในศาล แต่ตอนนี้ก็รู้แล้วว่ามันตีความได้ไม่เหมือนกัน
จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติสำหรับศาลสหรัฐฯ เลยว่า ควรจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ ผู้พิพากษาบางคนอาจจะบรรยายลักษณะของอีโมจิในคำถามต่อลูกขุน แทนที่จะให้ลูกขุนดูและตีความเอง ทั้งที่การใช้คำพูดบรรยายอิโมจินั้นไม่น่าจะเพียงพอสำหรับการแปลความหมายที่ถูกต้อง ส่วนบางคดีอีโมจิถูกลบออกจากหลักฐาน
ที่ผ่านมาอิโมจิมักถูกมองว่าเป็นความพยายามในการสร้างอารมณ์ขันระหว่างการสนทนา เมื่อมีปัญหาจำเลยก็จะบอกว่า แค่ล้อเล่น แต่ผู้ที่ได้รับรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ หรือไม่ อิโมจิไม่ใช่ภาษาสากล แม้อิโมจิที่มีมากกว่า 2,823 ไอคอนถูกกำหนดโดย Unicode Consortium แต่มันถูกนำไปใช้ตีความได้หลายอย่าง ถ้าใช้แบบไร้บริบทหรือตัวอักษร เช่น อิโมจิรูปฝ่ามือประกบกัน ในบางประเทศอาจใช้เพื่อหมายถึงการไหว้ บางประเทศแปลว่า ทำมือไฮไฟว์ หรืออิโมจิรูปควันออกจมูก บางคนตีความว่าโกรธมาก แต่จริงๆ แล้วมันหมายถึงชัยชนะ
นอกจากนี้ความหมายของอิโมจิยังขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มที่ใช้อีกด้วย แม้จะมีการกำหนดมาตรฐานอิโมจิเดียวกันแล้วก็ตาม แต่ลักษณะของอิโมจิก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบของเครื่องนั้นด้วย เช่น แอนดรอยด์กับไอโอเอส มีผลการศึกษาการให้คะแนนไอคอนอิโมจิยอดนิยม เมื่อปี 2016 ของมหาวิทยาลัยมินนิโซตาพบว่า รูปอิโมจิรูปยิ้มยิงฟันที่มีคิ้วโก่ง คนใช้แอนดรอยด์เห็นว่า เป็นหน้าที่มีความสุขสุดๆ แต่คนใช้ไอโอเอสบอกว่า มันเหมือนยิ้มของคนที่พร้อมจะต่อสู้ หรืออิโมจิในไอโอเอส 6.0 ก็ไม่เหมือนกับ ไอโอเอส 10.0
ความรู้ความเข้าใจต่อเทคโนโลยีการสื่อสารของผู้พิพากษาเป็นสิ่งที่ทั้งอัยการและนักกฎหมายเสนอ โกลด์แมนบอกว่า ผู้พิพากษาต้องตระหนักถึงความสำคัญของอิโมจิในการสื่อสารทุกแบบ ต้องแน่ใจว่าอิโมจิที่ใช้เป็นหลักฐานน่าเชื่อถือ เขายังเชื่อว่า หากผู้พิพากษาคุ้นเคยกับอิโมจิมากขึ้น ก็จะหาวิธีปรับให้เข้ากับหลักกฎหมายที่มีอยู่ได้ ส่วนอัยการเอลเลียตบอกว่า ศาลต้องพัฒนาหาแนวทางที่บังคับให้ทนายความได้รับภาพที่ถูกต้องจริงๆ ว่าถูกส่งและรับจากแพลตฟอร์มไหนบ้าง แล้วแสดงต่อผู้พิพากษาและลูกขุน
ที่มา:
https://edition.cnn.com/2019/07/08/tech/emoji-law/index.html
https://www.theverge.com/2019/2/18/18225231/emoji-emoticon-court-case-reference
Tags: กระบวนการยุติธรรม, กฎหมาย, อิโมจิ, สหรัฐอเมริกา