(หมายเหตุ: ภาพประกอบบทความมีภาพที่เนื้อหารุนแรง)

19 พฤษภาคมของทุกปี อาจเป็นเพียงวันธรรมดาวันหนึ่งที่ไม่พิเศษอะไร แต่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 19 พฤษภาคม 2553 เป็นวันที่สังคมไทยทั้งสังคมมีบาดแผลใหญ่ สำหรับกลุ่ม ‘คนเสื้อแดง’ หรือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) วันดังกล่าวเป็นวันที่สร้างความเจ็บปวด นอกจากจะพ่ายแพ้ในการชุมนุมกดดันรัฐบาลแล้ว ยังสูญเสียเพื่อนร่วมอุดมการณ์ไปตลอดกาล

ในวาระครบรอบ 9 ปี ของเหตุการณ์การสลายการชุมนุม เราลองย้อนดู 9 ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมในปี 2553 เพื่อให้เข้าใจถึงเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวกันมาตลอด 9 ปี

 

1) “ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่” ข้อเรียกร้องของการชุมนุมใหญ่ ปี ‘53

จุดเริ่มต้นคือการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม นปช. เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปี 2552 ก่อนจะประกาศชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา เป้าหมายของการชุมนุมคือการเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากมีข้อสงสัยว่ามีการแทรกแซงทางการเมืองจนนำมาสู่การยุบพรรคพลังประชาชน แล้วจัดตั้งรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เดินทางไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อให้ข้อมูลในคดีการสลายการชุมนุมปี 2553 (ภาพเมื่อ 13 ธันวาคม 2555 โดย CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

ข้อสงสัยดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะเดิมพรรคเพื่อไทย (พรรคใหม่ที่ตั้งมาแทนพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบไป) ต้องการจะเสนอชื่อ  พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีรายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ได้เข้ามาเป็นตัวกลางดึงตัว ส.ส. จากพรรคชาติไทยพัฒนาที่นำโดย สนั่น ขจรประศาสน์ กับกลุ่มเพื่อนเนวินและกลุ่มมัชฌิมาซึ่งเคยเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชนมาร่วมตั้งรัฐบาลในนามพรรคภูมิใจไทย

 

2) เมื่อการเจรจาต่อรองล้มเหลว รัฐบาลเลือกใช้ความรุนแรง

ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ภายหลังการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม นปช. รัฐบาลอภิสิทธ์ได้ส่งตัวแทนรัฐบาลเจรจาเรื่องการยุบสภากับตัวแทน นปช. แต่ได้ข้อสรุปไม่ตรงกัน เนื่องจากรัฐบาลกำหนดกรอบเวลายุบสภาภายใน 9 เดือน ในขณะที่ฝ่าย นปช. ยืนยันว่าจะต้องยุบสภาภายใน 15 วัน ทำให้ข้อตกลงในการเจรจาไม่บรรลุผล และทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น

ต่อมา รัฐบาลอภิสิทธ์ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดฉุกเฉิน และมีการตั้งหน่วยงานศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์ และใช้ยุทธการ ‘ขอคืนพื้นที่’ หรือ การสลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ในวันที่ 10 เมษายน 2553 และมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ในเดือนพฤษภาคม รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้แถลงแนวทางการปรองดอง ซึ่งแกนนำกลุ่ม นปช. ก็ขานรับแนวทางดังกล่าว เพียงแต่มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม พร้อมยื่นข้อเสนอว่า ถ้า สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยอมมอบตัวจากกรณีมีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมในเหตุการณ์เดือนเมษายน 2553 พร้อมกับให้คืนสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีเพิลแชแนล และยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แกนนำ นปช. จะประกาศยุติการชุมนุมทันที

อย่างไรก็ดี รัฐบาลกำหนดเส้นตายให้กลุ่ม นปช. ยุติการชุมนุมในวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 แต่เนื่องจากข้อเสนอของกลุ่มนปช. ไม่ได้รับการตอบรับ กลุ่มนปช. จึงไม่ยุติการชุมนุม รัฐบาลกับทหารจึงใช้ยุทธการ “กระชับวงล้อม” และจบด้วยความรุนแรงอีกครั้ง

ภาพเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 โดย PEDRO UGARTE / AFP

3) การสลายการชุมนุมมีการใช้กระสุนจริง 111,303  นัด เป็นกระสุนซุ่มยิง 2,120 นัด

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) องค์กรที่จับตาความรุนแรงทางการเมืองในครั้งนี้ ระบุว่า ในปฏิบัติการของรัฐบาลเพื่อจัดการกับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีการเบิกใช้กระสุนปืนตั้งแต่ 11 มีนาคม – 19 พฤษภาคม 2553 เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 597,500 นัด และภายหลังได้นำไปคืนกรมสรรพาวุธ 479,577 นัด หรือ เท่ากับมีการใช้กระสุนในการสลายการชุมนุม 117,923 นัด ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นกระสุนจริง 111,303 นัด และเป็นกระสุนซุ่มยิง 2,120 นัด

4) การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี ‘53 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ศพ

หลัง ศอฉ. และรัฐบาลกำหนดเส้นตายให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมในวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 เค้าลางของความรุนแรงก็เริ่มเกิดขึ้นในวันถัดมา เนื่องจาก พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” ที่เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อคุมยุทธศาสตร์ทางทหาร ถูกกระสุนปืนความเร็วสูงยิงเข้าที่กะโหลกศีรษะระหว่างให้สัมภาษณ์นักข่าวจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

13 พฤษภาคม 2562 ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม ฝั่งสวนลุมพินี ขัตติยา สวัสดิผล พร้อมกิตติยา สวัสดิผล สองบุตรสาว ของพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง เดินทางมาวางดอกไม้จุดเทียนรำลึกครบ 9 ปี เหตุการณ์ลอบสังหารเสธแดงเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2553 แต่แม้เหตุการณ์จะผ่านไปนานแล้ว แต่เจ้าหน้าที่รัฐยังระแวดระวัง ไม่ต้องการให้มีการรำลึกอย่างเปิดเผย โดยตำรวจนำแผงเหล็กมากั้นห้ามประชาชนเข้าไปในบริเวณดังกล่าว ให้เฉพาะญาติเข้าไปรำลึกได้ แต่ก็ไม่สามารถห้ามประชาชนที่เตรียมมาร่วมการรำลึกได้ (ภาพเมื่อ 13 พฤษภาคม 2562 โดย ฐิตินันท์ เสมพิพัฒน์)

ข้อมูลจาก ศปช. ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ยังมีส่วนที่ไม่ตรงกัน โดยตัวเลขแรกของผู้เสียชีวิตหลังเหตุการณ์สงบลงคือ 89 ราย ซึ่งมาจากเว็บไซต์สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2553 ต่อมามีผู้เสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ตัวเลขเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 มียอดรวมผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ราย

ในจำนวนผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เช่น ฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี ที่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการสลายชุมนุม ญาติต้องใช้เวลากว่า 3 ปี หลัง ฟาบิโอเสียชีวิต จึงได้ผลการไต่สวนการตายจากศาลว่า เขาเสียชีวิตจากกระสุนฝั่งทหาร และเป็นข้อเท็จจริงเดียวที่ ‘อิซา’ น้องสาวของช่างภาพชาวอิตาลีเดินหน้าตามหาก่อนเธอจะเสียชีวิตในปี 2557

ฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพและนักทำสารคดีชาวอิตาลี เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 ในภาพนี้ อิซาเบลลา โปเลงกี น้องสาว เดินทางมาร่วมพิธีศพของพี่ชาย (ภาพถ่ายเมื่อ 24 พฤษภาคม 2553 โดย MANAN VATSYAYANA / AFP)

 

ในการชุมนุมของคนเสื้อแดง มีนักข่าวและช่าวภาพเสียชีวิตสองคน คนหนึ่งคือ ฮิโรยูกิ มุราโมโตะ ช่างภาพและผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่น (บุคคลในภาพถ่ายทางซ้าย) ซึ่งทำงานให้กับสำนักข่าวรอยเตอร์ส เขาถูกยิงเสียชีวิตเมื่อช่วงสามทุ่มของวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา และฟาบิโอ โปเลงกี ช่าวภาพชาวอิตาลี (บุคคลในภาพถ่ายทางขวา) ที่ถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งทั้งสองวัน เป็นวันที่ ศอฉ.ส่งกำลังเข้าสลายการชุมนุมของ นปช. ภาพเมื่อ 10 เมษายน 2554 โดย PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

 

หรือ อย่าง ‘เฌอ’ สมาพันธ์ ศรีเทพ อายุ 17 ปี มีผลชันสูตรว่า เขาถูกกระสุนปืนลูกโดดยิงเข้าบริเวณศีรษะทำให้เนื้อสมองฉีกขาด หลังการเสียชีวิต ครอบครัวพยายามทวงถามหาความยุติธรรม แต่กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ความคืบหน้าคดีที่ปรากฏเป็นข่าวครั้งสุดท้าย คือ เมื่อปี 2556 ที่ระบุว่า พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ส่งเรื่องของสมาพันธ์ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ แต่ยังไม่ถึงชั้นศาลที่จะไต่สวนการตายว่าใครเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของเฌอ

อย่างไรก็ดี ในหนังสือ 98 ศพ ของกองบรรณาธิการข่าวสด ระบุรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ปี 2553 ไว้ที่ 98 ราย ซึ่งอ้างอิงจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ความแตกต่างของข้อมูลสองชุดคือ ข้อมูลในหนังสือ 98 ศพ ไม่มีชื่อผู้เสียชีวิตที่ ศปช. บันทึกไว้ 3 ราย และมีรายชื่อผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้เกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมโดยตรงอีก 6 ราย และมีอีก 2 ราย ที่ไม่ทราบว่าเป็นใคร เสียชีวิตจากเหตุอะไร และเกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือไม่

แม้จะยังยืนยันตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้ว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 แต่ที่ยืนยันได้คือ อย่างน้อย 94 คน

 

ครอบครัวศรีเทพและเพื่อน จุดเทียนวางดอกไม้ ณ หมุดเฌอ เพื่อรำลึก 9 ปี การเสียชีวิตของ สมาพันธ์ ศรีเทพ หรือเฌอ เด็กหนุ่มวัย 17 ปีที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ที่บริเวณทางเท้า ถนนราชปรารภ (ภาพเมื่อ 15 พฤษภาคม 2562 โดย ฐิตินันท์ เสมพิพัฒน์)

ครอบครัวของ‘เฌอ’ สมาพันธ์ ศรีเทพ อายุ 17 ปี และเพื่อน จุดเทียนวางดอกไม้ ณ หมุดเฌอ บริเวณทางเท้า ถนนราชปรารภ (ภาพเมื่อ 15 พฤษภาคม 2562 โดย ฐิตินันท์ เสมพิพัฒน์)

5) การไต่สวนการตายของศาล ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร

นับแต่การชุมนุมตั้งแต่เมษายน ถึงพฤษภาคม 2553 มีข้อถกเถียงว่าต้นตอความรุนแรงที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตนั้นมาจากฝ่ายใด ด้าน ศอฉ. ก็ระบุว่า มี ‘ชายชุดดำ’ ที่โจมตีทหารที่ปฏิบัติการ เช่น ปฏิบัติการ 10 เมษายน 2553 ซึ่งเป็นค่ำคืนที่เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อหลายชีวิต มีทหารเสียชีวิต 5 นาย รวมถึง พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ขณะเดียวกัน ก็มีประชาชนเสียชีวิตอีกราว 20 คน ซึ่งหากดูในรายละเอียดทั้งลักษณะอาวุธและเวลาการตาย ก็อาจจะพบข้อสังเกตได้ว่า การตายของแต่ละกลุ่ม น่าจะมาจากการปฏิบัติการของกลุ่มใด

จากการรวบรวมผลคำวินิจฉัยของศาลในการไต่สวนการตายของพลเรือนระหว่างวันที่ 10 เมษายน -19 พฤษภาคม 2553 ของสำนักข่าวประชาไท พบว่า ในคำวินิจฉัยของศาลมีอย่างน้อย 12 คำวินิจฉัยที่ระบุว่า ผู้ตาย “เสียชีวิตจากกระสุนที่มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร” ที่ปฏิบัติการอยู่ ซึ่งในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 4 คำวินิจฉัยที่ระบุว่า ผู้ตายเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หรือ “เสียชีวิตจากกระสุนของเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่”

หน่วยกู้ชีพกำลังเอาผ้าคลุมร่างของผู้ชุมนุมสองคนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง (ภาพเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 โดย PEDRO UGARTE / AFP)

ในจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีคำวินิจฉัยการไต่ส่วนการตาย มีผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยตรง เช่น ด.ช. คุณากร ศรีสุวรรณ อายุ 12 ปี ศาลไต่สวนการตายแล้วพบว่า เขาเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนความเร็วสูงที่ทะลุหลัง โดยลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ ยังมีคดี 6 ศพในวัดปทุมวนาราม ที่ก่อนหน้านั้น นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เผยเมื่อ 17 พฤษภาคม 2553 ว่าได้ประสานกับ โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและสันติวิธีมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อประสานไปยังเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่ชุมนุม ขอให้พื้นที่ในวัดเป็น ‘เขตอภัยทาน’ หากผู้ชุมนุมหรือทหารเข้ามาก็ขอให้ปลดอาวุธให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งได้รับการตอบรับจากเจ้าอาวาส แต่เมื่อถึงเวลาสลายการชุมนุมจริง ปรากฏว่าผู้ชุมนุมไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้เนื่องจากไม่ปลอดภัย ผู้ชุมนุมจำนวนมากจึงหลบเข้าไปในเขตวัด ที่แม้จะอยู่ในเขตอภัยทานแล้ว แต่ท้ายที่สุด แม้แต่เต็นท์พยาบาลที่อยู่หน้าวัดปทุมฯ ก็ยังถูกยิงจนมีผู้เสียชีวิตรวม 6 ศพ

1 ใน 6 ของผู้เสียชีวิต คือ กมนเกด อัคฮาด อาสาพยาบาลที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม เนื่องจากถูกยิงด้วยกระสุนจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ เธอมีบาดแผลถูกยิงทะลุผิวหนังมากถึง 11 แห่ง จากผลรายงานการชันสูตรพลิกศพของสถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเธอเสียชีวิตอยู่ในเต็นท์พยาบาลที่มีสัญลักษณ์กาชาด

ทั้งนี้ นอกจาก กมนเกด อัคฮาด ยังมีผู้อื่นที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามอีก 5 ราย ทั้งที่วัดปทุมวนารามถูกใช้เป็น “เขตอภัยทาน” เพื่อรับผู้ได้รับบาดเจ็บเข้ามาหลบภัย โดยผลการไต่สวนการตายของศาลก็ชี้ชัดว่า เกิดจากกระสุนของฝั่งทหารบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส และ ‘ไม่มีชายชุดดำ’ ในที่เกิดเหตุ

เมื่อคราววาระครอบ 7 ปี ของการสลายการชุมนม ศปช. ออกแถลงการณ์ ว่า “แม้ว่ารัฐบาลและ ศอฉ .พยายามกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้ายและมีอาวุธร้ายแรง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้เสียชีวิตรายใดมีอาวุธร้ายแรงที่สามารถทำร้ายเจ้าหน้าที่ในระยะไกลได้ ผลการไต่สวนการตายของผู้ชุมนุมโดยศาลอาญาจำนวน 18 ราย ล้วนยืนยันข้อเท็จจริงนี้”

“การเสียชีวิตและบาดแผลของผู้เสียชีวิตฝ่ายพลเรือน เกือบทั้งหมดเสียชีวิตจากกระสุนปืน โดยมากกว่าร้อยละ 50 พบบาดแผลบริเวณช่วงบนของลำตัว อาทิ ใบหน้า ศีรษะ หน้าอก ท้อง ปอด และลำคอ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ประสงค์ให้ถึงแก่ชีวิต”

ครอบครัวของ ‘บุญทิ้ง ปานศิลา’ และ ‘กิตติพันธ์ ขันทอง’ รำลึกวาระการจากไปในปีที่ 9 บุญทิ้งเป็นอาสาสมัครกู้ชีพวชิรพยาบาล อายุ 25 ปี วันเกิดเหตุ บุญทิ้งพยายามเข้าไปช่วยเหลือชายคนหนึ่งที่ถูกยิง แต่เมื่อไปถึงก็กลับเป็นฝ่ายถูกยิงด้วย เมื่อบุญทิ้งถูกยิงล้มลง กิตติพันธ์ซึ่งเห็นเหตุการณ์พยายามเข้าไปช่วยเหลือจนถูกยิงเสียชีวิตไปอีกคน ทั้งสองเสียชีวิตที่บริเวณถนนราชปรารภเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 (ภาพเมื่อ 15 พฤษภาคม 2562 โดย ฐิตินันท์ เสมพิพัฒน์)

ณัฎฐธิดา มีวังปลา ตัวแทนอาสาสมัครกลุ่มวชิรพยาบาล อ่านแถลงการณ์และถวายสังฆทาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับ ‘บุญทิ้ง ปานศิลา’ และ ‘กิตติพันธ์ ขันทอง’ (ภาพเมื่อ 15 พฤษภาคม 2562 โดย ฐิตินันท์ เสมพิพัฒน์)

6) มีการ “โฆษณาชวนเชื่อ-ให้ข้อมูลเท็จ-แทรกแซงสื่อ” ระหว่างปฏิบัติการสลายการชุมนุม

ในรายงานของ ศปช. ระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง รัฐบาลได้ใช้ “ข้อมูลข่าวสาร” เป็นเครื่องมือในการจัดการกับการชุมนุมและสร้างความชอบธรรมให้กับปฏิบัติการทางการทหาร โดยการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารถูกนำมาใช้ในการอภิปรายในรัฐสภา สื่อสารภายในหน่วยงานรัฐ และการสื่อสารกับสื่อมวลชน

โดยลักษณะของปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลถูกแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) การโฆษณาชวนเชื่อด้วยการสร้างวาทกรรมโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุม เช่น ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ มีการแต่งเรื่องผังล้มเจ้าแต่ไม่มีหลักฐานจะเอาผิดใคร 2) การบิดเบือนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ เช่น การแถลงข่าวของ ศอฉ. ที่ปฏิเสธการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมบริเวณถนนราชปรารภ และ 3) การแทรกแซงการทำงานของสื่อ โดยมีเอกสารจากหน่วยงานของกองทัพถึงผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ และขอให้งดภาพข่าวที่มีความรุนแรง

7) ศาลชี้ เสื้อแดงไม่เกี่ยวข้องเหตุเพลิงไหม้ ‘เซ็นทรัลเวิลด์-ตลาดหลักทรัพย์’

ข้อกล่าวหาสำคัญที่เกิดกับกลุ่มผู้ชุมนุมในปี 2553 คือ ‘เสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง’ แต่จากข้อเท็จจริงในชั้นศาลกลับให้ข้อเท็จจริงที่ต่างออกไป เช่น กรณีเหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้อง สายชล แพบัว และ พินิจ จันทร์ณรงค์ ผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลงมือวางเพลิงห้างดัง เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พฤษาภาคม 2562 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ให้ 6 บริษัทประกัน จ่ายเงินประกันค่าเสียหายให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และโจทก์ร่วม เป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท หลังถูกวางเพลิงวันสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 19 พ.ค. 53 ชี้พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่าเหตุเพลิงไหม้เป็นผลมาจากการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลและเป็นการก่อการร้ายเพื่อหวังผลทางการเมือง

บริเวณแยกดินแดง เมื่อ 17 พฤษภาคม 2553 (ภาพโดย NICOLAS ASFOURI / AFP)

8) ทหารที่ทำงานใน ศอฉ. มีตำแหน่งต่อหลังการรัฐประหาร

หลังการรัฐประหาร สิ่งที่น่าสนใจคือ รายชื่อผู้ที่มีตำแหน่งสำคัญของ ศอฉ. ตามตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2553 กลับมามีบทบาทในรัฐบาลและได้รับตำแหน่งในรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557

ยกตัวอย่าง เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เป็นรองผู้อำนวยการ ศอฉ. ได้นั่งตำแหน่งรองหัวหน้า คสช. และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอฉ. เป็นสมาชิก คสช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือ พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตกรรมการ ศอฉ. ก็ยังมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในยุคคสช. ก่อนจะไปรับตำแหน่งองคมนตรี

อีกทั้ง ยังมีคนที่ไปดำรงตำแหน่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เช่น  พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรือ และ พล.อ.อ. อิทธพร ศุภวงศ์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ

นอกจากนี้ ยังมี พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตหัวหน้าส่วนยุทธการ ศอฉ. และ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข อดีตรองหัวหน้าส่วนยุทธการ ศอฉ. รวมถึง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน ที่เคยเป็น ผบ.ร.11 รอ. ที่บัญชาการของ ศอฉ. ก็ยังมารับตำแหน่งใน สนช. และทั้งสามคนยังรับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่งตั้งที่คัดเลือกโดย คสช. อีกด้วย

9) กระบวนการยุติธรรมของผู้เสียชีวิตมีแต่ถอยหลัง ไม่มีความคืบหน้า

ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุม ทั้งญาติของผู้เสียชีวิตและแกนนำกลุ่ม นปช. พยายามจะทวงหาความยุติธรรมเพื่อให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษ แต่ความยุติธรรมก็ไม่เคยมาถึง

นับตั้งแต่ปี 2556 อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง อภิสิทธิ์ อดีตนายกฯ และ สุเทพ อดีตรองนายกฯ ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าโดยเจตนา จากกรณีที่ทั้งสองออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม แต่คำตัดสินศาลชั้นต้นไปจนถึงศาลฎีกากลับยกฟ้อง โดยระบุเหตุผลทางเทคนิคกฎหมายว่าคดีนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ควรยื่นฟ้องกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

อย่างไรก็ดี ในปี 2558 ป.ป.ช. เคยมีมติว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว และในปี 2560 ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องอีกครั้ง จากการขอให้รื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุม ปี 2553 โดยอ้างว่าพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนไม่เพียงพอ ทั้งที่ผลคำวินิจฉัยการไต่ส่วนการตายของศาลหลายครั้ง ระบุข้อเท็จจริงว่า การสลายการชุมนุมของรัฐบาลส่งผลให้มีคนเสียชีวิต

มาจนถึงวันนี้ เวลาผ่านไปแล้ว 9 ปี ความขัดแย้งทางการเมืองมีแต่จะรุนแรงและบานปลายหนัก ความตายของคนนับร้อยก็ยังไม่ได้รับความกระจ่างจากกระบวนการยุติธรรม เราจึงเห็นการเรียกร้องความเป็นธรรมของญาติและมิตรสหายของผู้เสียชีวิตผ่านการรำลึกถึงความสูญเสีย โดยไม่รู้ว่าจะอีกนานเท่าไรจึงจะเห็นความยุติธรรม

Tags: , , , , , , , ,