กำลังรบทางทะเลของจีนกำลังไล่กวดแสนยานุภาพของสหรัฐฯ นักการทหารอเมริกันประเมินว่า กองทัพปลดแอกสามารถเอาชนะอเมริกาได้หากกรณีไต้หวันจุดชนวนสงคราม และภายในปี 2030 แดนมังกรจะมีเรือรบผิวน้ำทัดเทียมกับแดนอินทรี ท้าทายความเป็นเจ้าสมุทรของสหรัฐฯ ในแถบแปซิฟิก

จีนจะเติบใหญ่อย่างสันติไหม ถึงจุดหนึ่ง จีนจะทำสงครามชี้ขาดสถานะจอมมหาอำนาจโลกหรือเปล่า ข้อนี้เป็นคำถามยอดฮิตตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คำตอบสุดท้ายยังมาไม่ถึง เพราะนั่นเป็นเรื่องของอนาคต แต่ที่แน่นอนในวันนี้ก็คือ จีนขยายอำนาจอย่างไม่หยุดยั้ง

นอกจากอำนาจในเชิงอิทธิพลโน้มน้าว แสวงหามวลมิตร และพัฒนาพลังทางเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า ‘soft power’ ผ่านความร่วมมือ ‘Belt and Road’ และผ่านวิสัยทัศน์สร้างประเทศเป็นแหล่งอุตสาหกรรมไฮเทค ‘Made in China 2025’ แล้ว จีนยังทุ่มเทยกระดับ ‘hard power’ ด้วยการเร่งปรับปรุงรี้พลสกลไกรให้ทันสมัยทัดเทียมมหาอำนาจอื่นๆ ด้วย

นักสังเกตการณ์บอกว่า การเดินหมากอำนาจในทั้งสองมิติจะเพิ่มน้ำหนักของจีนบนตาชั่งดุลกำลังในย่านแปซิฟิก ภายในเวลาไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า อเมริกาจะไม่ใช่มหาอำนาจทางทหารเพียงหนึ่งเดียวในแถบเอเชียตะวันออกอีกต่อไป

สหรัฐฯ เสี่ยงพ่ายจีน

พลเรือเอก แกรี่ รัฟเฮด นายทหารนอกราชการ อดีตหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการทางทะเลแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ประธานคณะกรรมการร่วมของสองพรรคการเมืองหลักที่สภาคองเกรสจัดตั้งขึ้นเพื่อทบทวนยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ บอกในรายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 ว่า ถ้าสหรัฐฯ รบกับจีนด้วยเรื่องไต้หวัน สหรัฐฯ อาจปราชัย

นับแต่สีจิ้นผิงขึ้นครองอำนาจเหนือพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐ และกองทัพเมื่อช่วงปลายปี 2012 ต่อต้นปี 2013 เป็นต้นมา ผู้นำจีนได้เสริมสร้าง “กำแพงสมุทร” ในทำนองเดียวกับที่กำแพงเมืองจีนเคยทำหน้าที่ป้องกันการรุกรานทางบก

ปราการทางทะเลปรากฏในรูปของการขุดลอกร่องน้ำและถมทะเลในแถบหมู่เกาะสแปรตย์ รวมทั้งติดตั้งระบบจรวดหลายชุด พล.ร.อ.ฟิลิป เดวิดสัน ให้ข้อมูลแก่รัฐสภาอเมริกันก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการของกองบัญชาการอินโด-แปซิฟิกเมื่อเดือนพฤษภาคม ว่า จีนสามารถควบคุมทะเลจีนใต้ได้แล้วในทุกสถานการณ์ เว้นแต่กรณีเกิดสงคราม

เป้าหมายของจีน คือ ควบคุมน่านน้ำใกล้บ้าน ที่เรียกว่า “สามสมุทร” ให้ได้ นั่นคือ ทะเลจีนใต้ ซึ่งคาบเกี่ยวกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทะเลจีนตะวันออก ซึ่งคาบเกี่ยวกับญี่ปุ่น และทะเลเหลือง ซึ่งคาบเกี่ยวกับคาบสมุทรเกาหลี

หนทางบรรลุยุทธศาสตร์ดังกล่าว ย่อมไม่พ้นการเสริมสร้างกองเรือน้ำลึก

ขยายกำลังรบทางทะเล

สถาบันยุทธศาสตร์ศึกษานานาชาติ (IISS) ในกรุงลอนดอน ระบุในรายงานเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ว่า ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา จีนปล่อยเรือรบ เรือดำน้ำ เรือสนับสนุน และเรือสะเทินน้ำสะเทินบก รวมกันแล้วมากกว่าจำนวนเรือทั้งหมดในกองเรือของอังกฤษเสียอีก โดยในช่วงปี 2015-2017 จีนปล่อยเรือมีน้ำหนักรวม 400,000 ตัน นับว่ามากกว่าที่อู่ต่อเรือของสหรัฐฯ ผลิตในช่วงเวลาเดียวกันกว่า 2 เท่า

รายงานในสหรัฐฯ และชาติตะวันตกหลายชิ้น บอกว่า เวลานี้ กองทัพเรือจีนมีเรือรบและเรือดำน้ำ 400 ลำ ผลการศึกษาของวิทยาลัยการทัพเรือสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 จีนจะมีเรือรบและเรือดำน้ำกว่า 530 ลำ ขณะที่เพนตากอนระบุว่า จนถึงสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพเรือสหรัฐฯ มีเรือรบและเรือดำน้ำ 288 ลำ

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธการทางทะเลในสหรัฐฯ บางราย ประเมินว่า จีนจะมีเรือผิวน้ำขนาดใหญ่ในจำนวนและคุณภาพพอฟัดพอเหวี่ยงกับกองทัพเรือสหรัฐฯ ภายในปี 2030

อย่างไรก็ดี ในสเกลระดับโลก สหรัฐฯ ยังคงครองอำนาจทางทะเล ด้วยเหตุที่อเมริกามีความเหนือกว่าในแง่ของคุณภาพอาวุธยุทโธปกรณ์ เนื่องจากมีเทคโนโลยีเหนือชั้นกว่าของจีน

นายทหารเรือนอกราชการของจีนนายหนึ่ง บอกว่า กองทัพเรือจีนยังตามหลังสหรัฐฯ อย่างน้อย 3 ทศวรรษ ปัจจุบัน อเมริกายังนำหน้าอยู่หลายช่วงตัว อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในระดับพื้นที่เฉพาะจุด พูดได้ว่า น่านน้ำชายฝั่งอยู่ในกำมือของจีนแล้ว

อัดฉีดเสริมสร้างเขี้ยวเล็บ

กองทหารโบราณเดินด้วยท้อง กองทัพสมัยใหม่เดินด้วยเงิน รายงานของ Jane’s By IHA Markit บริษัทสารสนเทศการทหาร ซึ่งเสนอต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงและเศรษฐกิจสหรัฐฯ -จีนของสภาคองเกรส ฉายภาพว่า ในช่วงปี 2015-2021 ค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมของจีนจะเพิ่มขึ้น 55 เปอร์เซ็นต์จาก 1.679 แสนล้านดอลลาร์ฯ เป็น 2.608 แสนล้านดอลลาร์ฯ

นับเฉพาะกองทัพเรือจีน งบประมาณจะเพิ่มขึ้น 82 เปอร์เซ็นต์จาก 3.14 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ เป็น 5.71 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายป้องกันประเทศของจีนนับแต่ปี 2000 ที่เปลี่ยนจุดเน้นจากการรับมือภัยคุกคามทางบก และป้องกันชายฝั่ง เป็นการปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลและเส้นทางการค้าในทะเลหลวง

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า อู่ต่อเรือสำคัญหลายแห่งในเซี่ยงไฮ้ ต้าเหลียน กวางโจว และหวู่ฮั่น กำลังสร้างเรือรบและเรือดำน้ำแทบไม่ได้หยุด ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2017 มีการปล่อยเรือพิฆาตติดอาวุธหนักรุ่น 055 แล้วหลายลำ บางแห่งกำลังต่อเรือพิฆาตรุ่น 052D ซึ่งติดตั้งจรวดสำหรับโจมตีเป้าหมายในทะเลและบนอากาศ

นอกจากนี้ จีนยังกำลังต่อเรือสะเทินน้ำสะเทินบกขนาดใหญ่ ซึ่งจะสามารถใช้สำหรับยกพลขึ้นบกที่ไต้หวันหรือหมู่เกาะเตียวหยู ที่ญี่ปุ่นอ้างกรรมสิทธิ์ในชื่อ เซนกากุ ได้ รวมทั้งจีนยังจัดฝึกการยกพลขึ้นบกอย่างต่อเนื่อง รายงานของเพนตากอนเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วคาดการณ์ว่า ภายในปี 2020 จีนจะมีกำลังนาวิกโยธิน 30,000 นาย

นี่ยังไม่นับเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สอง ซึ่งปล่อยลงน้ำที่เมืองต้าเหลียนเพื่อทดสอบการเดินสมุทรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

จีนยังมีเขี้ยวเล็บที่กำลังพัฒนาอีก 2 อย่าง คือ เรือดำน้ำ กับขีปนาวุธ สัปดาห์นี้หมดเนื้อที่สัมปานแล้ว ขอกลับมาว่าต่อในสัปดาห์หน้า.

 

อ้างอิง:

Reuters, 23 April 2019

Reuters, 30 April 2019

 

ภาพโดย AFP

Tags: , , ,