ในวันที่ 1 ตุลาคม ระหว่างพิธีสวนสนามเฉลิมฉลองวันชาติครบ 70 ปี จีนจะแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สร้างเองภายในประเทศ เขี้ยวเล็บที่ถูกจับตาเป็นพิเศษคือ ขีปนาวุธที่ล้ำหน้ากว่าสหรัฐฯ กับโดรนไฮ-เทค
พิธีการซึ่งกำหนดมีขึ้นในวันอังคาร จัดอย่างยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ เพื่อปลุกเร้ากระแสชาตินิยม เสริมส่งความจงรักภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์ และตอกย้ำศรัทธาในตัวท่านผู้นำ สีจิ้นผิง ซึ่งจะกล่าวสุนทรพจน์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ณ จุดที่ท่านประธานเหมาเคยประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน
จีนแดงในทศวรรษที่เจ็ดผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ พร้อมกับเพิ่มพูนอิทธิพลทางการเมือง จ่อเทียบชั้นอเมริกา ยุโรป และพันธมิตรของชาติตะวันตก ขณะที่ขีดความสามารถด้านการทหารมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อสามอัญมณีหลักของการครองความเป็นหนึ่ง คือ เศรษฐกิจ การเมือง การทหาร ทำท่าจะอยู่ในมือจีนครบครันเช่นนี้ บรรดายักษ์ใหญ่ยักษ์เล็ก ตั้งแต่อเมริกา อียู อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น จนถึงประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย่อมไม่ละสายตาต่อพัฒนาการในจีน โดยเฉพาะในด้านกำลังรบ
ขีปนาวุธข้ามทวีป กับเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ ดูจะเป็นไฮไลต์สำหรับงานนี้
พิธีในความควบคุม
กระทรวงกลาโหมจีนแถลงว่า พิธีสวนสนามซึ่งจะกินเวลา 80 นาทีในปีนี้ ใช้กำลังพลราว 15,000 นาย เครื่องบินรบ เครื่องบินทิ้งระเบิด และอากาศยานชนิดอื่นๆกว่า 160 ลำ อาวุธยุทโธปกรณ์ร่วม 580 รายการ ทุกชิ้นที่จะนำออกแสดงล้วนผลิตในประเทศจีน และผ่านการทดสอบแล้ว
ประชาชนทั่วไปต้องติดตามชมพิธีผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือดูทีวีอยู่กับบ้าน คนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิธี มีเฉพาะมวลชนจัดตั้งของพรรคและรัฐเท่านั้น ซึ่งจะมีประมาณ 60,000 คน
ในลานจัตุรัสอันกว้างใหญ่ ถือเป็นพื้นที่ควบคุม ห้ามบินโดรน ห้ามปล่อยบอลลูนหรือลูกโป่ง ห้ามเล่นว่าว ห้ามปล่อยประทีปโคมไฟ ห้ามปล่อยนกพิราบ นัยว่าเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัย
ตามสถานที่สาธารณะ ตั้งแต่สถานีรถไฟ ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงตรอกซอกซอย มีการวางกำลังตำรวจและอาสาสมัครคอยรักษาการณ์อยู่ทั่วกรุงปักกิ่ง ป้องกันไม่ให้มีการประท้วง หรือแสดงออกซึ่งการต่อต้านระบอบปกครองแบบพรรคเดียว
ขีปนาวุธอานุภาพสูง
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา นักสังเกตการณ์ด้านการทหารต่างวิเคราะห์วิจารณ์ภาพถ่ายอาวุธชนิดต่างๆที่เข้าร่วมในการซ้อมสวนสนาม ปะติดปะต่อชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ว่า ภาพที่เห็นน่าจะเป็นอาวุธชนิดไหน มีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นจากรุ่นก่อนหน้าอย่างไร เทียบเคียงกับสินทรัพย์ด้านความมั่นคงของตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกา
พระเอกที่ถูกจับจ้องมากที่สุด คือ ขีปนาวุธข้ามทวีปชนิดทิ้งตัว รุ่น ตงเฟิง-41 ซึ่งบรรทุกบนยานยนต์ทหาร ว่ากันว่า เจ้ารุ่นนี้เป็นขีปนาวุธที่มีอานุภาพสูงที่สุดในโลกในปัจจุบัน
ศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา หน่วยงานคลังสมองในสหรัฐฯ บอกว่า ตงเฟิง-41 ยิงได้ไกล 15,000 กม. นับว่าไกลกว่าขีปนาวุธทุกรุ่น และแต่ละลูกสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ 10 หัวรบ ถ้ายิงจากแผ่นดินจีน ตงเฟิง-41 จะถล่มเป้าหมายบนพื้นทวีปสหรัฐฯ ได้ใน 30 นาที
ตงเฟิง-41 บรรทุกได้ทั้งบนยานยนต์และรถไฟ ในขณะที่ขีปนาวุธ มินิตแมน 3 ของสหรัฐฯ ต้องยิงขึ้นจากไซโล และบรรทุกได้แค่ 1 หัวรบ แม้เดิมออกแบบให้ติดตั้งได้ 3 หัวรบ แต่ต้องลดเหลือหัวรบเดียว เพราะติดขัดสนธิสัญญาที่ทำกับรัสเซีย
อย่างไรก็ดี กลุ่มศึกษานิวเคลียร์ Bulletin of the Atomic Scientists บอกว่า ถึงแม้แบบดีไซน์จะบรรทุกได้ 10 หัวรบ แต่ในทางปฏิบัติ ตงเฟิง-41 คงติดตั้งหัวรบจริงแค่ 3 หัว นอกนั้นเป็นหัวรบหลอก
อาวุธยิงไกลที่ถูกจับตามากอีกตัวหนึ่ง คือ ขีปนาวุธทิ้งตัวที่ยิงจากเรือดำน้ำ รุ่น เจแอล-2 ซึ่งเป็นอาวุธหลักของเรือดำน้ำชั้นจิ๋น ขับเคลื่อนด้วยพลังนิวเคลียร์
เวลานี้ จีนมีเรือดำน้ำชั้นจิ๋น (Jin-class submarines) ประจำการ 4 ลำ กำลังสร้างอีก 2 ลำ เจแอล-2 เป็นขีปนาวุธจำพวกหัวรบเดี่ยว เรือดำน้ำชั้นนี้แต่ละลำสามารถติดตั้งเจแอล-2 ได้ 12 ลูก
ขีปนาวุธรุ่นนี้ยิงได้ไกล 7,200 กม. ถ้ายิงจากชายฝั่งของจีนจะครอบคลุมเป้าหมายถึงมลรัฐอะแลสกาเท่านั้น ถ้าต้องการพิชิตเป้าหมายบนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ เรือดำน้ำจีนต้องฝ่าแนวป้องกันของสหรัฐฯ ในละแวกหมู่เกาะญี่ปุ่นและในมหาสมุทรแปซิฟิกไปให้ได้ก่อน
ข่าวกรองฝ่ายตะวันตกบอกว่า เจแอล-3 อยู่ระหว่างการพัฒนา เพิ่งทดสอบยิงครั้งหลังสุดเมื่อเดือนมิถุนายน ถ้าโชว์ตัวในวันที่ 1 ตุลาคม คงต้องยอมรับในความเก่งกาจของจีน
อากาศยานไฮ-เทคไร้คนขับ
ยุทโธปกรณ์ที่จับตากันเป็นพิเศษในกลุ่มนี้มีหลายตัว ตัวที่โดดเด่นคือ ยานร่อนความเร็วเหนือเสียง ดีแอล-17 ซึ่งเวลาปล่อยต้องเกาะติดไปกับจรวด เมื่อขึ้นไปถึงระดับความสูงที่ต้องการ จรวดนำส่งจะถูกสลัดทิ้ง แล้วยานก็นำเอาขีปนาวุธ ทั้งแบบหัวรบปกติหรือหัวรบนิวเคลียร์ มุ่งหน้าไปยังเป้าหมาย
ยานร่อนชนิดนี้บินต่ำและบินเร็วเหนือเสียงอย่างน้อย 5 เท่า หรือ 6,115 กม./ชม. สามารถบินหลบหลีกการตรวจจับของเรดาร์ได้ คาดว่าจีนจะประจำการอากาศยานรุ่นนี้ในปี 2020 ส่วนยานจำพวกเดียวกันของสหรัฐฯ จะพร้อมประจำการในปี 2022 แต่บรรทุกได้เฉพาะหัวรบปกติ
เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลของจีนก็น่าสนใจ ภาพถ่ายที่บันทึกตอนซ้อมบ่งบอกว่า เอช-6เอ็นอาจผ่านการอัปเกรดให้ติดตั้งจรวดขนาดใหญ่ได้ ซึ่งอาจเป็นขีปนาวุธสำหรับทำลายเรือ รุ่น ดีเอฟ-21 รวมทั้งอัปเกรดให้บินเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกได้ไกลขึ้น
นั่นแปลว่า เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ จะต้องออกห่างจากชายฝั่งของจีนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เครื่องบินรบ เอฟ/เอ-18 ไปถึงเป้าหมายในจีนยากขึ้น
อากาศยานของจีนแบบอื่นๆ ยังมีอีก เช่น โดรนความเร็วเหนือเสียง รูปร่างลู่ลม รุ่นดีอาร์-8 โดรนสำหรับปล่อยจากเรือบรรทุกเครื่องบิน รุ่น Sharp Sword และโดรนสำหรับปล่อยจากเรือดำน้ำ ซึ่งถือเป็นนาวาไร้คนขับใต้ผิวน้ำลำแรกของจีน
งานฉลองวันชาติครบ 70 ปีในวันอังคารนี้ จีนจัดหนักจัดเต็ม เพื่อเสริมสร้างอำนาจต่อรอง ท่ามกลางความสัมพันธ์อันคุกรุ่นกับสหรัฐฯ ไต้หวัน คู่พิพาทในย่านทะเลจีนใต้ รวมทั้งคู่แข่งในเอเชีย.
อ้างอิง:
Financial Times, 23 September 2019
New York Times, 28 September 2019
ภาพ: Naohiko Hatta/Pool via REUTERS
Tags: อาวุธ, วันชาติจีน, จีน