อนุสาวรีย์เป็นสิ่งก่อสร้างสำหรับระลึกถึง คุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งคือการเป็นเครื่องกีดขวางสายตา เพราะมักสร้างให้มีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะซึ่งมองเห็นและเข้าถึงได้ง่าย

รัฐจึงใช้อนุสาวรีย์เป็นกลไกในการสื่อสาร/สร้างองค์ความรู้ นโยบาย ทัศนคติ คำสอน รวมถึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างความทรงจำให้คนในสังคมได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับอดีตร่วมกันในเรื่องที่ต้องการ

ในสังคมไทย อนุสาวรีย์จำนวนมากมักบอกเล่าเรื่องราวของบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญอันแยกไม่ขาดจากเรื่องเล่าหลักตามแบบฉบับประวัติศาสตร์แห่งชาติ บทบาทสำคัญคือการเป็นรูปธรรมที่จับต้องและมองเห็นได้ของอดีต ทั้งยังเป็นเครื่องช่วยยืนยันถึงการเคยมีอยู่จริงของอดีตนั้นๆ อนุสาวรีย์จึงเป็นกลวิธีหนึ่งในการปลูกสำนึกทางประวัติศาสตร์ที่ได้ผลดีที่สุดของผู้ปกครอง ช่วยกำหนดเลือกสรรว่าสังคมควรจดจำอะไร และในแง่หนึ่ง ก็เพื่อให้ลืมอะไรอีกหลายอย่างไปด้วย

อดีตที่ตกหล่นในบางคราวนั้นเป็นไปอย่างไม่จงใจ ทว่าสิ่งที่ไม่ได้เล่าหรือถูกลืมก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งความสำคัญเสียทีเดียว แต่มันอาจเป็นเรื่องที่ไม่สามารถไปด้วยกันได้กับโครงเรื่องหลัก อดีตที่ไม่เข้าพวกเมื่อไม่ได้รับการเขียนให้เป็นประวัติศาสตร์ก็จะกลับกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์ชั้นรอง มีสถานะเป็นความทรงจำที่ได้รับการจดจำแค่เฉพาะกลุ่ม

ในกรณีของเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งไม่ได้มีที่ทางวางอยู่ในประวัติศาสตร์แห่งชาติ ฝ่ายผู้ถูกกระทำและสูญเสียจากเหตุสังหารหมู่มีความพยายามรวบรวมเอาชุดเรื่องเล่าของเหตุการณ์ที่เป็นชิ้นส่วนของอดีตกระจัดกระจาย มาผลิตสร้างเป็นสื่อชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือบันทึกความทรงจำ บทความ หรือกิจกรรมรำลึก ทั้งนี้เพื่อเขียนอดีตให้กับเหตุการณ์และค้านต่อความเพิกเฉยของรัฐ

หนึ่งในวิธีการที่น่าสนใจ คือการสร้าง ‘ประติมานุสรณ์ 6 ตุลา’ พื้นที่ทางความทรงจำเชิงกายภาพที่มีลักษณะเป็นได้ทั้งอนุสาวรีย์สำหรับรำลึกถึงเหตุการณ์ และอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต

ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสวนประติมากรรม ‘กำแพงประวัติศาสตร์: ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย’ อนุสรณ์สถานบอกเล่าและรำลึกถึงเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอดีตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริเวณด้านหน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

แผนจัดสร้างตั้งแต่การรื้อฟื้นเหตุการณ์ขึ้นครั้งแรก ในวาระครบรอบ 20 ปี เมื่อพ.ศ. 2539 ล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า เพราะไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ กระทั่งการเสียชีวิตของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปี 2542 จึงมีการรวบรวมเงินอุปถัมภ์บริจาค จนสามารถสร้างแล้วเสร็จในปีถัดมา นับแต่นั้นในงานรำลึกครบรอบเหตุการณ์ ประติมานุสรณ์ก็เป็นพื้นที่หลักสำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้ผู้เสียชีวิตตลอดมา

ตัวประติมานุสรณ์มีรูปลักษณ์เป็นประติมากรรมหินแกรนิตสีแดงขนาดยาว 6 เมตร ด้านสกัดตามแนวนอน สลักตัวหนังสือและตัวเลข คำว่า ‘๖ ตุลา ๒๕๑๙’ เต็มพื้นที่ ด้วยความสูงเพียง 95 เซนติเมตร ทำให้เป็นอนุสรณ์สถานขนาดเล็กเมื่อเทียบกับอนุสรณ์สถานอื่นๆ (นี่อาจเป็นที่มาของชื่อเรียกที่ผสมคำระหว่างประติมากรรมกับอนุสรณ์สถาน) ขนาดที่ไม่สูงมาก ทั้งยังวางราบไปกับพื้น เอื้อต่อการรู้สึกได้ถึงความใกล้ชิด เพราะคนดูไม่จำเป็นต้องแหงนมอง การตั้งอยู่ในระนาบเดียวกับคนดูมีนัยว่าเนื้อหาที่เล่าไม่ได้เป็นเรื่องที่สูงส่ง เกินเอื้อม และไกลตัว

พื้นผิวที่หยาบกร้านของตัวอักษร มีลักษณะเป็นเส้นแข็งโย้ไปเย้มา คือภาพแทนของความหยาบกระด้างและไม่หยุดนิ่งของเหตุการณ์ ความเหลื่อมล้ำกันของระนาบตัวอักษร บางมุมพุ่งออก บางส่วนจมหาย ทำให้มีลักษณะที่เคลื่อนไหวเรียกร้องต้องสายตาของคนดู

เมื่อเดินเข้ามาดูใกล้ๆ จะมองเห็นประติมากรรมนูนสูงหล่อด้วยทองเหลืองรมดำ แสดงภาพนักศึกษาและประชาชนถูกยิง ตอกอก นั่งยาง และแขวนคอจากการสังหารหมู่ ชำแรกลงอยู่ตรงที่ว่างระหว่างตัวอักษรบนแผ่นหิน ชิ้นส่วนประติมากรรมเหล่านี้สร้างขึ้นด้วยรูปแบบเหมือนจริง (realism) การทำภาพเหมือนเป็นความพยายามบ่งบอกถึงตัวตนของต้นแบบ เป็นวิธีกลายสถานะจากการเป็นบุคคลบนภาพถ่ายมาสู่การมีตัวตนสัมผัสจับต้องได้ในรูปลักษณ์ของประติมากรรม พร้อมยังสามารถเทียบเคียงได้กับภาพถ่ายเหตุการณ์ต้นฉบับ ระบุได้ว่าใครเป็นใคร หรือนำมาจากภาพใด

ความจงใจในการใช้ภาพอันรุนแรงจากเหตุการณ์ นอกจากต้องการสื่อสารแบบตรงไปตรงมาแล้ว ยังเป็นไปเพื่อเร่งเร้าความรู้สึกและอารมณ์ร่วมของคนดูอีกด้วย การจำต้องเข้ามาก้มมองดูในระยะใกล้ แล้วจึงเห็นภาพของประติมากรรมที่ชัดเจน ก็เน้นย้ำอย่างชัดแจ้งว่าเรื่องราวของ 6 ตุลานั้นเรียกร้องให้เข้าไปมองเห็นเป็นสำคัญ

ประติมานุสรณ์ตั้งอยู่บริเวณประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยฝั่งท้องสนามหลวง จุดเดียวกับที่กองกำลังของรัฐเข้าล้อมปราบนักศึกษาและประชาชน บริบทของพื้นที่ช่วยส่งผลให้การเล่าเรื่องของประติมานุสรณ์มีพลังยิ่งขึ้น จากสถานที่ซึ่งเกิดขึ้นจริงในเหตุการณ์ แต่ข้อด้อยของการตั้งอยู่ในเขตรั้วมหาวิทยาลัยก็คือเนื้อหาของประติมานุสรณ์ดูจะเป็นความทรงจำของคนในมากกว่าที่จะเป็นความทรงจำสาธารณะ เมื่อนำไปเทียบเคียงกับอนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเนื่องในเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเช่นเดียวกันอย่าง ‘อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา’ ที่ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน พื้นที่สาธารณะซึ่งผู้คนสัญจรไปมา ด้วยขนาดที่ใหญ่กว่ามากและเป็นสิ่งก่อสร้างของรัฐ ก็ดูจะได้เปรียบประติมานุสรณ์ 6 ตุลาในแทบทุกมิติ

อย่างไรก็ดี สถานะของเหตุการณ์ 14 ตุลาก็เป็นภาพสะท้อนของประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะแน่นิ่งตายตัว ตรงกันข้ามกับลักษณะของความทรงจำที่สามารถเลื่อนไหลและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่นการเกิดขึ้นของเว็บไซต์ ‘บันทึก 6 ตุลา’ (https://doct6.com/) แหล่งข้อมูลออนไลน์ที่รวบรวมข้อมูลและความทรงจำอันกระจัดกระจายของเหตุการณ์

ข้อดีของสถานภาพที่ไม่ชัดเจนเช่นนี้ ช่วยเอื้อประโยชน์ทางการศึกษา เห็นได้จากในระยะที่ผ่านมา เมื่อเวลาเดินมาถึงวันครบรอบเหตุการณ์ หลายๆ วงเสวนา โดยเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัย ก็ได้หยิบนำ 6 ตุลามาใช้เป็นกรณีศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน

นับเป็นเรื่องล้าสมัยไปเสียแล้ว หากจะกล่าวว่า 6 ตุลาคือความทรงจำอันเลือนราง เมื่อสิ่งข้างต้นบ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในแง่ของการศึกษา ยังไม่นับรวมการถูกนำไปต่อยอดเป็นผลงานรูปแบบต่างๆ ในแวดวงวรรณกรรม ภาพยนตร์ หรือศิลปะ (รวมไปถึงกระแสการตื่นตัวต่อ 6 ตุลา ที่ปรากฏหนาตาในโซเชียลมีเดีย นับแต่การรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา) อันเป็นการช่วยยับยั้งการหลงลืม พร้อมแสดงให้เห็นว่า 6 ตุลาไม่เพียงเป็นเรื่องของคนในอดีต หากยังมีผลกับคนในปัจจุบัน เราอาจไม่จำเป็นต้องเคยผ่านเหตุการณ์มาด้วย แต่ก็เลือกที่จะมองย้อนกลับไปได้ ตราบที่อดีตนั้นๆ สามารถนำมาตอบหรือตั้งคำถามต่อความเป็นปัจจุบันของตนเองได้

ในทางกลับกัน คงไม่ผิดนักหากเราจะเคลือบแคลงต่อ 6 ตุลา พร้อมตั้งคำถามว่าเราสามารถเชื่ออะไรได้แค่ไหนกัน ในเมื่อมันก็เป็นชุดความคิดหนึ่งของการเขียนอดีต

บริเวณด้านหลังและด้านข้างของประติมานุสรณ์ มีการสลักรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ เมื่อ 6 ตุลาไม่มีพื้นที่ในประวัติศาสตร์ ก็ราวกับว่าพวกเขานั้นไม่เคยมีตัวตนอยู่เลย การจารึกชื่อจึงเป็นวิธีคืนคุณค่าความเป็นมนุษย์ต่อผู้จากไป พร้อมกับให้คุณค่าด้านจิตใจเพื่อเยียวยาความเจ็บปวดแก่ญาติมิตรผู้ยังอยู่ สิ่งที่น่าสนใจคือ รายนามผู้เสียชีวิตที่จารึกอยู่บนประติมานุสรณ์นั้น ก็ปรากฏชื่อของประชาชนฝ่ายขวา ผู้ชนะจากเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2519 รวมอยู่ด้วย

พื้นที่ความทรงจำของผู้แพ้สงครามทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ ยังฟ้องว่า 6 ตุลาไม่เคยเป็นภาพของอดีตอันสมบูรณ์ ในความขาด คงเหลือเว้นที่ว่างให้เราเข้าไปมองเห็น เรียนรู้ ตั้งคำถาม และหาคำตอบได้ตลอดเวลา

 

อ้างอิง:

  • คณะกรรมการดำเนินงานสร้างกำแพงประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย. ประติมานุสรณ์  ๖ ตุลา ๒๕๑๙. จัดพิมพ์เนื่องในวาระพิธีเปิดประติมานุสรณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2543.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม รัฐ รูปการจิตสำนึก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2547.
  • สำหรับรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์หกตุลาทั้งฝ่ายเจ้าพนักงานและฝ่ายนักศึกษา ประชาชน ดูใน ธงชัย วินิจจะกูล, 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง: รวมบทความว่าด้วย 6 ตุลา 2519. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2558. หน้า 202
  • ธนาวิ โชติประดิษฐ. แผ่นดินไทยใต้ร่มพระบารมี: อนุสาวรีย์อันเนื่องมาแต่การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในภาคเหนือตอนบนกับปฏิบัติการสร้างความทรงจำของรัฐไทย. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา และสังคมวิทยาภาคใต้ ครั้งที่ 2: “ศาสตร์แห่งการจำ ศิลป์แห่งการลืม”. หน้า 289 – 303.
Tags: , , ,