‘เซเซ่’ กับต้นส้มแสนรัก – ยักษ์ใจดีที่เป็นเพื่อนของเด็กกำพร้า – เจ้าหมีจากเปรูกับเรื่องเปิ่นๆ ที่สถานีแพดดิงตัน – ลอยละลิ่วไปกับร่มบินได้ของพี่เลี้ยงเด็กตระกูลแบงค์ส – หมีพูห์และผองเพื่อน วรรณกรรมเยาวชนคลาสสิคเหล่านี้มีทั้งเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม น้ำตา และจินตนาการแสนบรรเจิด แม้เมื่อแปลงมาสู่รูปแบบภาพยนตร์ เชื่อว่ามันยังคงจู่โจมใจให้หวนสู่ความเป็น ‘เด็ก’ ที่ยังมีอยู่ในตัวทุกคนได้เสมอ
My Sweet Orange Tree (2012)
ผลงานของนักเขียนชาวบราซิล โจเซ่ วาสคอนเซลอส เป็นเรื่องราวที่อยู่ในใจเขามานานถึง 20 ปี แต่เขาใช้เวลาในการเขียนเพียง 12 วัน หนังสือตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1968 และประสบความสำเร็จอย่างมาก ได้รับการดัดแปลงเป็นทั้งละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และละครเวที หนังสือแปลแพร่หลายในหลายภาษา แต่ก็ทิ้งเวลานานถึง 40 ปีกว่าหนังสือเล่มนี้จะตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เรื่องนี้เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่สะท้อนถึงความไร้เดียงสาในวัยเด็ก และโชคชะตาอันโหดร้ายชวนหมองหม่น
ในปี 2012 ชีวิตของ ‘เซเซ่’ ก็กลับมาสร้างความหวนไห้อีกครั้งในรูปแบบของภาพยนตร์ เรื่องเริ่มจากโจเซ่ได้รับหนังสือที่ตีพิมพ์แล้วของตัวเอง จากนั้นภาพยนตร์ค่อยๆ เล่าเรื่องจากความทรงจำของนักเขียนผ่านเหตุการณ์ย้อนหลัง และพาเราไปพบกับ ‘เซเซ่’ เด็กชายที่เฉลียวฉลาด อ่อนไหว ซุกซน และมีจินตนาการแตกต่างจากคนอื่น เซเซ่เป็นลูกคนที่สี่ในบรรดาพี่น้องห้าคน ฐานะทางครอบครัวไม่ดีนัก ทุกคนจึงต้องคอยช่วยเหลืองานในบ้านเท่าที่พอช่วยได้ในบ้าน
เมื่อครอบครัวต้องย้ายมาอยู่บ้านหลังใหม่ เซเซ่ก็ได้เพื่อนใหม่เป็นต้นส้มหลังบ้าน ต้นส้มที่มีชีวิตและเป็นเพื่อนเขาในทุกโมงยาม ต่อมาเซเซ่ได้เพื่อนใหม่อีกคนจากความดื้อซนของตัวเอง เขาเป็นชายโปรตุเกสที่เซเซ่เรียกว่า ‘โปรตุก้า’ ผู้ที่จะเข้ามาช่วยปลอบโยนหัวใจเด็กชายในภายหลัง
เนื้อหาในเรื่องดำเนินไปอย่างเรียบง่าย นำเสนอชีวิตเซเซ่ในแต่ละวันอย่างเป็นเส้นตรงว่าเขาต้องเจอเรื่องราวโหดร้ายอะไรบ้างในวัยเพียงเท่านั้น เขามีคลังคำมากมายในหัวที่ล้วนหยาบคาย เพราะได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ เขามีร่างกายบอบช้ำจากการที่ถูกพ่อลงโทษ ถึงแม้เซเซ่จะมีความร้ายกาจอยู่บ้างตามประสาเด็ก แต่เขาก็ไร้เดียงสาและมีหัวใจบริสุทธิ์ เปี่ยมไปด้วยความรัก เขาเพียงอยากได้ความรักอย่างที่เด็กคนหนึ่งพึงจะได้ แต่ทั้งหมดนั้นตกมาถึงใจเขาเพียงน้อยนิด และเมื่อหัวใจดวงน้อยของเซเซ่แตกสลาย– –แน่นอนว่า เราเองก็พลอยสั่นสะเทือนและต้องเสียน้ำตา
Paddington (2014)
ตัวละครหมี ‘แพดดิงดัน’ มาจากผลงานปลายปากกาของ ไมเคิล บอนด์ เป็นนิทานคลาสสิคสำหรับเด็กที่มีชื่อเสียงที่สุดเรื่องหนึ่ง เรื่องเริ่มจากวันคริสต์มาสในปี 1956 ไมเคิลกำลังหาซื้อของขวัญให้กับภรรยา แล้วเขาก็เจอตุ๊กตาหมีตัวสุดท้ายบนชั้นในร้าน ณ สถานีรถไฟแพดดิงตัน จึงตั้งชื่อมันตามสถานที่นั้น และเรื่องราวอันน่ามหศจรรย์ของแพดดิงตันก็เริ่มขึ้น โดยโครงเรื่องได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือพิมพ์เก่าฉบับหนึ่งที่แสดงให้เห็นขบวนรถของเด็กๆ ที่ต้องอพยพออกจากลอนดอนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง– –
ในป่าลึกของเปรูในอดีต นักสำรวจชาวอังกฤษได้พบกับหมีสายพันธุ์ที่เขาไม่รู้จักมาก่อน เขาต้องการพาหมีตัวนั้นกลับไปยังอังกฤษด้วย แต่เรื่องก็ไม่เป็นไปอย่างที่คิด เพราะกลายเป็นว่าเขากลับได้รับการช่วยเหลือจากหมี และได้รู้ว่าหมีตระกูลนี้แสนฉลาด มีความสามารถเทียบเคียงกับมนุษย์ ก่อนจากมา เขาบอกกับพวกหมีว่าหากหมีตัวไหนมีโอกาสเดินทางมาลอนดอน เขาพร้อมรอต้อนรับอยู่เสมอ
เวลาล่วงผ่านไปกว่า 40 ปี หมีแพดดิงตันก็เดินทางมาสู่ลอนดอน โดยหวังว่าจะได้พบกับ มอนต์โกเมอรี ไคลด์ นักสำรวจชาวอังกฤษที่เคยพบกับลุงและป้าของเขาในอดีต แต่ลอนดอนในความจริงกับจินตนาการนั้นช่างแตกต่างกัน จนแพดดิงตันเกือบจะถอดใจ โชคดีที่ได้ครอบครัวบราวน์มาช่วยเหลือเสียก่อน แต่แพดดิงตันก็สร้างความปั่นป่วนให้พวกเขาไม่น้อย เพราะยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ มิหนำซ้ำยังมีคนจ้องจะเอาตัวแพดดิงตันไปสตัฟฟ์ไว้อีก ความยุ่งเหยิงจึงไม่จบไม่สิ้นและหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่หมีแพดดิงตันมอบให้เราแล้ว มันยังแฝงประเด็นเกี่ยวกับภาวะของผู้ที่ต้องจากบ้านมาไกล ความเป็นคนนอก และการไม่ได้รับการยอมรับ ทั้งยังสะท้อนวัฒนธรรมอังกฤษในมุมเสียดสีอย่างชวนขัน
The BFG (2016)
จากวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังของนักเขียนเลื่องชื่อ โรอัลด์ ดาห์ล นักเขียนชาวเวลส์สายเลือดนอร์วีเจียน ที่ผลิตผลงานออกมามากมาย ร้อยเรียงความมหัศจรรย์เข้ากับจินตนาการ และแฝงไว้ด้วยข้อคิดที่อ่านได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีการนำหนังสือของเขามาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หลายเรื่อง สำหรับ The BFG เป็นผลงานการกำกับฯ ของพ่อมดแห่งฮอลลีวูด—สตีเวน สปีลเบิร์ก
นับเป็นครั้งแรกในรอบห้าสิบปีในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์ที่สปีลเบิร์ก กำกับภาพยนตร์ให้กับวอลต์ดิสนีย์ฯ เพราะเขานึกอยากสร้างภาพยนตร์จากหนังสือเรื่องนี้มาตลอดนับแต่ครั้งแรกที่ได้อ่าน “ผมคิดว่าโรอัลด์ ดาห์ล เป็นอัจฉริยะที่สามารถสร้างพลังให้กับเด็กๆ ได้” นอกจากนี้ สปีลเบิร์กยังลองโน้มน้าวให้ จีน ไวล์เดอร์ ปรากฎตัวในเรื่องนี้ด้วย แต่ไวล์เดอร์บอกปฏิเสธไป (เขาคือคนที่รับบทเป็น วิลลี่ วองก้า ใน Willy Wonka & the Chocolate Factory – 1971)
‘โซฟี’ เป็นเด็กหญิงวัย 10 ขวบที่อาศัยในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าของกรุงลอนดอน เธอมักนอนไม่หลับ และยังคงตื่นอยู่ใน ‘ชั่วโมงอสูรหรรษา‘ เวลาที่ผู้คนอาจหายตัวไป และมีอสูรกายปรากฎตัว และแล้วในคืนหนึ่งขณะที่ทุกคนหลับสนิท โซฟีกลับถูกจับตัวไปโดยยักษ์ใหญ่ ‘บีเอฟจี’ (BFG – Big Friendly Giant) รู้ตัวอีกทีโซฟีก็อยู่ในอีกดินแดนอันแปลกตา บีเอฟจีอธิบายว่าตนไม่สามารถอนุญาตให้โซฟีกลับไปยังโลกของเธอและเปิดเผยการมีอยู่ของพวกยักษ์ได้ ดังนั้นเขาจึงต้องจับตัวเธอมา
ฝ่ายโซฟีที่เคยหวาดกลัวยักษ์ในตอนแรกก็ผ่อนคลายลง เมื่อได้รู้ว่าบีเอฟจีนั้นไม่เหมือนยักษ์ตัวอื่นๆ เพราะเขาไม่กินคน แต่เป็นยักษ์ใจดี ทั้งยังยอมตอบคำถามสารพัด นอกจากนี้บีเอฟจียังพาเธอไปยังสถานที่เก็บสะสมฝัน และสอนเวทมนต์ให้ด้วย แต่การที่โซฟีอยู่ในดินแดนแห่งนี้ก็ทำให้เกิดปัญหา เพราะมันชักนำให้ยักษ์ใจร้ายตัวอื่นเข้าใกล้เธอและลอนดอนไปพร้อมๆ กัน และก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป โซฟีกับบีเอฟจีต้องหาทางป้องกันเรื่องร้ายเหล่านี้ให้ได้
Mary Poppins Returns (2018)
Mary Poppins เป็นภาพยนตร์จากค่ายดิสนีย์ที่มีความเป็นมาน่าสนใจ เพราะเดิมทีนักเขียน พี.แอล. เทรเวอรส์ ไม่อยากขายลิขสิทธิ์ผลงานให้กับใคร ด้วยเหตุผลส่วนตัวหลายๆ อย่าง จนจนแล้วจนรอด วอลท์ ดิสนีย์ ก็นำ ‘แมรี ป็อปปินส์’ มาโลดแล่นบนจอสำเร็จ (ซึ่งเรื่องส่วนนี้ก็มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เช่นกัน ในชื่อ Saving Mr.Banks – 2013)
เมื่อครั้งภาพยนตร์ Mary Poppins (1964) กำลังดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ อยู่นั้น ทางวอลท์ ดิสนีย์ ต้องการให้นักแสดงหญิง จูลี แอนดรูส์ รับบทนี้ ซึ่งพอดีกับที่เธอกำลังตั้งครรภ์และยังไม่สามารถทำงานได้ แต่ด้วยความที่ดิสนีย์เจาะจงให้เป็นเธอเท่านั้น พวกเขาจึงยอมเลื่อนการถ่ายทำออกไป แล้วประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยอีกครั้ง เมื่อมีการประกาศสร้าง Mary Poppins Returns (2018) เพราะ เอมิลี บลันต์ ผู้รับบทนำกำลังตั้งครรภ์เช่นเดียวกัน ดิสนีย์เลยต้องเลื่อนการถ่ายทำอีกครั้งด้วยเหตุผลเหมือนเมื่อกว่า 50 ปีก่อน
ภาพยนตร์ในภาคนี้ เล่าถึงเหตุการณ์ 30 ปีให้หลังจากภาคแรก ไมเคิล แบงค์ส เติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีลูกๆ ถึงสามคน แต่ตอนนี้เขากำลังประสบปัญหาใหญ่ เพราะไม่นานมานี้เขาเพิ่งสูญเสียภรรยาไป เธอเป็นภรรยาที่น่ารัก คอยดูแลทุกคนในครอบครัวและทุกเรื่องภายในบ้าน แต่ตอนนี้เขากำลังจะโดนยึดบ้าน หากไม่หาเงินมาชำระภายในห้าวัน ไมเคิลกับพี่สาวจำได้ว่าพวกเขามีใบถือหุ้นเป็นหลักทรัพย์อยู่ แต่ปัญหาคือไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน ท่ามกลางปัญหาใหญ่หลวงนี้ เด็กๆ ก็พลอยได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
แล้วสายลมก็เริ่มเปลี่ยนทิศ…พัดพาพี่เลี้ยงสาวพร้อมร่มคันโตให้มาปรากฎตัว อีกครั้ง เธอคือ ‘แมรี ป็อปปินส์’ พี่เลี้ยงที่เคยช่วยดูแลครอบครัวแบงค์สมาแล้วในอดีต ซึ่งคราวนี้เธอก็จะมาทำหน้าที่นั้นอีกครั้ง โดยช่วยดูแลบรรดาเด็กๆ ทั้งสามให้พบกับผจญภัยครั้งใหม่ ทั้งท้องทะเล โรงละคร และค่ำคืนของสายหมอก เสียงหัวเราะจะคืนมา ความสุขจะหวนคืน และเรื่องร้ายๆ ทั้งหลายจะต้องผ่านพ้นไปก่อนที่สายลมจะเปลี่ยนทิศ…
Christopher Robin (2018)
ใครบ้างจะไม่เคยได้ยินชื่อของ ‘วินนี่–เดอะ–พูห์’ หมีที่ใส่เสื้อสีแดงเอวลอยและเป็นเพื่อนสนิทของเด็กชายตัวน้อย ‘คริสโตเฟอร์ โรบิน’ หลังปรากฎตัวในหนังสือเรื่องสั้นครั้งแรกในปี 1926 ชื่อของพูห์ก็ไม่เคยหายไปไหน ซึ่งส่งผลให้ลูกชายของเอ.เอ.ไมลน์ — ผู้เขียน กลายเป็นเด็กที่มีชื่อเสียงที่สุดไปด้วย
เรื่องของวินนี่–เดอะ–พูห์ ที่เขียนโดยเอ.เอ.ไมลน์ ได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งรอบตัวในชีวิตของเขา ทั้งลูกชาย ตุ๊กตาหมี และป่าแอชดาวน์ที่โรบินชอบไปวิ่งเล่นจนกลายมาเป็นป่าร้อยเอเคอร์
แต่กับเรื่อง Christopher Robin บริคแฮม เทย์เลอร์ได้แรงบันดาลใจมาจากบทสุดท้ายของ The House at Pooh Corner เป็นเรื่องที่มุ่งเน้นไปที่โรบินในวัยผู้ใหญ่ โดยเสนอให้กับทางดิสนีย์ แต่โครงการก็ถูกพับไป จนปี 2015 คริสติน เบอร์ โน้วน้าวให้เทย์เลอร์นำเรื่องนี้กลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง และในฉากหนึ่งที่อียอร์อ่านบทกวีในงานเลี้ยงอำลา ก็คือบทกวีฉบับย่อมาจาก The House at Pooh Corner
เรื่องราวในวัยเด็กผ่านพ้นไป จนคริสโตเฟอร์ โรบิน เติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เขามีภรรยาเคียงข้าง และมีลูกสาวตัวน้อยชื่อ แมเดลีน แม้เขาจะมีทุกอย่างสมบูรณ์พร้อมในชีวิต แต่โรบินกลับไม่ค่อยมีความสุขนัก เขามักทำงานหามรุ่งหามค่ำ ไม่ค่อยมีเวลาให้ภรรยา และแทบไม่ได้ทำหน้าที่พ่อของลูก ความเครียดทำให้แรงใจของเขาเริ่มถดถอย แล้วในจังหวะนั้นเอง ‘เพื่อนเก่า’ ของเขาที่ไม่ได้พบกันมาเนิ่นนานก็โผล่ขึ้นมาที่ใจกลางกรุงลอนดอน…นั่นคือหมีพูห์และผองเพื่อน เพื่อให้โรบินได้หวนกลับมามองเห็นคุณค่าของความสัมพันธ์กับคนรอบตัว พวกเขาจะพาโรบินย้อนไปสู่ความทรงจำและความรู้สึกเก่าๆ ที่จะนำไปสู่คุณค่าบางอย่างในใจ และความฝันที่ทำหล่นหายไป ให้โรบินกลับมีความสุขและค้นพบตัวตนในแบบที่ตัวเองรัก
Fact Box
- เผื่อใครที่อยากย้อนกลับไปอ่านวรรณกรรมเยาวชนที่สร้างเป็นภาพยนตร์แนะนำทั้ง 5 เรื่องนี้ ทุกเรื่องมีการแปลเป็นฉบับภาษาไทยแล้วทั้งสิ้น ลองเสาะหามาหวนสู่วัยเยาว์กันได้ในอีกรสชาติหนึ่ง
- ต้นส้มแสนรัก / มัทนี เกษกมล แปล / แพรวเยาวชน
- แพดดิงตัน / แมกไม้ แปล / แพรวเยาวชน
- ยักษ์ใจดี / สาลินี คำฉันท์ แปล / ผีเสื้อ
- แมรี ป็อปปินส์ กลับมาแล้ว / สาลินี คำฉันท์ แปล / ผีเสื้อ
- บ้านมุมพูห์ / ธารพายุ แปล / แพรวเยาวชน