เวลาที่รู้สึกเครียด จิตตก หรือไม่สบายใจ แต่ละคนมีวิธีแก้อย่างไรบ้าง? สำหรับผู้เขียนสิ่งแรกที่นึกถึงคงเป็นการพุ่งเข้าไปในร้านเบเกอรี่ ยืนอยู่หน้าตู้ขนมหวาน แล้วจิ้มทุกอย่างที่อยากกินนำกลับบ้าน เป็นความสุขเมื่อเดินเข้าไปในร้านแล้วได้กลิ่นหอมๆ ของขนมปังที่เพิ่งอบ รู้สึกชื่นชมทุกครั้งที่ได้เห็นขนมหน้าตาสะสวย และรู้สึกยินดีตลอดมากับการได้ลิ้มรสทุกความหวาน การก้าวเข้าไปในร้านเบเกอรี่จึงช่วยทำให้ผ่อนคลายเสมอ
หลังจากสัปดาห์ทำงานอันเหนื่อยล้าผ่านไป หรือผ่านช่วงดิ่งจมอารมณ์หม่นมัว บางที คุณอาจอยากได้ขนมปังหอมๆ สักก้อน หรือเค้กนุ่มๆ สักชิ้น ไว้ชโลมใจ เป็นรางวัลให้ตัวเอง…แต่ก่อนจะไปลิ้มรสจริง ขอเชิญคุณเติมกลิ่น รูป รส สัมผัสจาก ‘ของหวาน’ ที่อบอวลอยู่ในภาพยนตร์ 5 เรื่องนี้
Kiki’s Delivery Service (1989)
เรื่องนี้อาจจะไม่ได้โดดเด่นที่ขนมหวาน แต่ฉากของร้านเบเกอรี่ และกลิ่นอายบางอย่างก็มีความน่าสนใจอยู่ เป็นแอนิเมชันเรื่องเด่นอีกเรื่องจากสตูดิโอจิบลิที่ดัดแปลงเนื้อหามาจากนวนิยายของ เอโกะ คาโดโนะ (ตีพิมพ์ในปี 1985)
มิยาซากิกล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างความเป็นอิสระ และความเชื่อมั่นในวัยรุ่นสาวญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นจากการที่ตัวละครหลักพยายามก้าวผ่านไปสู่ชีวิตที่ต้องเติบโตขึ้น ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่พบบ่อยๆ ในช่วงวัยรุ่น เช่น การหางาน การต้องการเป็นที่ยอมรับ และการยืนหยัดด้วยตัวเอง
กิกิ—แม่มดฝึกหัดที่เพิ่งมีอายุครบ 13 ปี ตามธรรมเนียมแล้วเมื่อถึงวัยนี้ เธอจะต้องออกจากบ้านไปผจญโลกกว้างเป็นเวลา 1 ปี เพื่อที่จะเรียนรู้การใช้ชีวิต และเป็นแม่มดที่สมบูรณ์ กิกิเก็บกระเป๋าด้วยความตื่นเต้นแล้วผละจากบ้านอันอบอุ่นสู่เมืองใหญ่พร้อมกับจิจิ—แมวดำเพื่อนรัก
โคริโกะ เป็นเมืองใหญ่ติดทะเล ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา กิกิปรับตัวได้ไม่ดีนัก ทุกอย่างดูวุ่นวายและชุลมุนไปหมด แต่โชคดีที่เธอได้พบกับโอโซโนะ หญิงท้องแก่ เจ้าของร้านขนมปัง กิกิเลยได้งานพร้อมที่พักแบบโชคช่วย สิ่งที่กิกิต้องทำคือเฝ้าร้าน และขี่ไม้กวาดคู่ใจไปส่งขนมปังและของต่างๆ ตามออเดอร์
วันเวลาค่อยๆ ผ่านไป ซึ่งมันอาจไม่ง่ายนักในการปรับตัวและเรียนรู้ แต่อย่างไรเสียกิกิก็เติบโตขึ้นและก้าวข้ามไปได้ และโลกนี้ได้บอกให้เธอรู้ด้วยว่า เธอไม่ได้อยู่เพียงลำพัง
Chocolat (2000)
ภาพยนตร์โรแมนติกที่มาจากนวนิยายในชื่อเดียวกันของ โจแอนน์ แฮร์ริส ซึ่งเคยแปลเป็นภาษาไทยเมื่อนานมาแล้วในชื่อ ‘ชิมรักจากช็อกโกแลต’ โจแอนน์เผยว่าตัวละครหลายตัวในเรื่องนี้ เธอได้รับอิทธิพลจากบุคคลในชีวิตของเธอเอง โดยเฉพาะลูกสาวและย่า
เมื่อกองถ่ายเริ่มต้นถ่ายทำ ผู้คนในหมู่บ้าน Flavigny-sur-Ozerain กว่า 370 คนก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ และจากจำนวนทั้งหมด มีคน 250 คนในหมู่บ้านแห่งนี้ที่ได้รับคัดเลือกมาเป็นนักแสดงประกอบฉาก และพวกเขาจะได้รับแจ้งในทุกๆ วันว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
นักแสดงหญิง จูเลียต บิโนช ทำการบ้านด้วยการเดินทางไปที่ร้านขายช็อกโกแลตในปารีส เพื่อเรียนรู้วิธีการทำช็อกโกแลต ซึ่งนอกจากจะได้ฝึกทักษะในการแสดงแล้ว ช็อกโกแลตที่เธอทำบางส่วนยังนำมาใช้ในงานด้วย
Chocolat เป็นเหมือนสงครามขนาดย่อมของลัทธินอกรีตและศาสนาคริสต์ หญิงสาวชื่อ เวียน เป็นสาวงามลูกครึ่งยิปซี เธอกับลูกนอกสมรสเดินทางไปทั่วยุโรปจนมาพบกับหมู่บ้านอันเงียบสงบในฝรั่งเศส การมาของเธอเปรียบได้กับ ‘ลมเจ้าเล่ห์ที่พัดมาจากทางเหนือ’ เวียนเปิดร้านช็อกโกแลตขึ้นที่นี่ ซึ่งพอดีกับฤดูถือศีลอดของชาวบ้าน
ภาพลักษณ์ของเวียนจึงไม่ต่างอะไรจากแม่มดที่คอยเย้ายวนให้คนหลงผิด เธอสร้างความขุ่นเคืองอย่างยิ่งให้กับท่านเคาน์ทผู้มีอิทธิพล เขาเลยปล่อยข่าวเสียๆ หายๆ เกี่ยวกับเธอไปทั่ว และห้ามไม่ให้ใครในหมู่บ้านมาข้องเกี่ยวด้วย แต่ความดีย่อมไม่อาจถูกมองข้าม เวียนสร้างความสัมพันธ์โดยการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือคนที่กำลังเดือดร้อน ซึ่งมันกลายเป็นความจริงที่ไม่มีใครค้านได้ และขณะที่เธอกำลังเปิดร้านช็อกโกแลตนั่นเอง เวียนก็ได้พบกับโจรสลัดหนุ่ม (รับบทโดย จอห์นนี่ เด็ปป์) คนที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเธอ ไม่ต่างอะไรจากที่เธอสร้างความเปลี่ยนแปลงให้หมู่บ้านแห่งนี้
My Blueberry Nights (2007)
ภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเรื่องแรกของผู้กำกับฯ หนังอารมณ์เหงาลายเซ็นชัด หว่อง การ์–ไว เนื้อหาดัดแปลงมาจากหนังสั้นของเขาเอง (ซึ่งเขาถ่ายทำตั้งแต่ช่วงแรกๆ ในอาชีพ) เรื่องนี้ได้นักแสดงนำที่เรารู้จักมักคุ้นดีอย่าง นอราห์ โจนส์ จูด ลอว์ เรเชล ไวส์ และนาตาลี พอร์ตแมน
หว่อง การ์–ไวนั้นเป็นแฟนตัวยงของ นอราห์ โจนส์ อยู่แล้ว นอราห์จึงเป็นตัวเลือกสำหรับบทบาทนี้โดยเฉพาะ หว่องเขียนบทขึ้นโดยคำนึงถึงความไร้ประสบการณ์ด้านการแสดงของเธอด้วย ตอนแรกนอราห์ตั้งใจจะเรียนการแสดงพื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเตรียมตัวสำหรับงานนี้ แต่ผู้กำกับฯ กลับบอกว่าเขาต้องการให้เธอเป็นธรรมชาติมากที่สุด ส่วนนาตาลี เธอต้องกลับมาตัดผมให้สั้นอีกครั้ง หลังจากเพิ่งผ่านการโกนผมรับบทในเรื่อง V for Vendetta (2005)
เรื่องราวเริ่มต้นในคืนอันเงียบเหงา ณ คาเฟ่เล็กๆ แห่งหนึ่งในนิวยอร์ก สถานที่ซึ่งกลายมาเป็นที่พักพิงใจของ เอลิซาเบธ หญิงสาวผู้สูญเสียความรักไปจนหัวใจแทบไม่สมประกอบ ที่นั่นเธอพบกับเจ้าของร้านนาม เจเรมี ชายหนุ่มนัยน์ตาเศร้า ผู้ไม่หมดหวังกับความรักหรือชีวิต เขาเองก็ถูกคู่รักทอดทิ้ง สิ่งที่หลงเหลือไว้มีเพียงกุญแจเล็กๆ ดอกหนึ่ง และในโหลหน้าร้านนั้นก็เต็มไปด้วยกุญแจหลายดอก กุญแจที่ไม่แน่ใจว่าจะมีใครมาขอคืนไหม แต่เจเรมีก็ปล่อยไว้ไม่คิดจะทิ้ง เพราะเขาไม่สามารถตัดสินใจแทนใครได้ ว่าประตูบานไหนสมควรถูกปิดไว้ตลอดกาล
นอกจากกุญแจแล้ว อีกสิ่งที่น่าจดจำของคาเฟ่แห่งนี้ก็คือพายบลูเบอร์รี่ ทุกๆ คืนจะมีคนเข้ามาสั่งขนมหวาน แต่กลับไม่มีใครสั่งพายบลูเบอร์รี่เลย ไม่ใช่ว่ามันไม่อร่อย เหตุผลก็เพียงแค่คนไม่เลือกที่จะสั่งมัน—ก็แค่นั้น เอลิซาเบธกับเจเรมีมีช่วงเวลาแห่งความสุขด้วยกันในคาเฟ่ยามค่ำคืน แต่เธอไม่ได้อยู่ในห้วงอารมณ์ที่พร้อมจะเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ ในคืนหนึ่งเธอจึงหายตัวไป…แล้วปล่อยให้เราได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ของตัวละครอื่นๆ ที่แตกร้าวเช่นเดียวกัน และได้แต่หวังว่าเธอจะกลับมาเพื่อปลดล็อกหัวใจของตัวเอง
Sweet Bean (2015)
เมื่อเอ่ยถึงชื่อผู้กำกับฯ ของ Sweet Bean หลายคนถึงกับเกิดคำถามขึ้นมาว่าฟังไม่ผิดใช่ไหม เพราะผลงานของ นาโอมิ คาวาเสะ ค่อนข้างเน้นความสดและสัญชาตญาณ โดยค่อยๆ กะเทาะเข้าไปในส่วนลึกของผู้ชมอย่างเราๆ
ภาพยนตร์อบอุ่นเรื่องนี้ประกอบไปด้วยสามตัวละครหลัก ได้แก่ คิริน กีกิ—คุณยายผู้แสนใจดีที่ฝากผลงานไว้มากมาย มาซาโตชิ นางาเสะ—นักแสดงชายที่มีผลงานในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง และคารายะ อูชิดะ—หลานสาวของคิรินเอง
Sweet Bean สร้างมาจากนวนิยายขายดีที่เกี่ยวกับร้านโดรายากิแห่งหนึ่ง (หนังสือแปลไทยในชื่อ ‘โดรายากิขนมนี้ทำด้วยใจ’) ซึ่งวันดีคืนดีก็มีหญิงชราชื่อโทคุเอะ มาขอสมัครเข้าทำงาน แน่นอนว่าต่อให้คุณยายไปสมัครงานร้านไหนก็คงไม่มีใครรับ เนื่องจากกอายุที่มากแล้ว เซนทาโรเองก็เช่นกัน เขาปฏิเสธคุณยายไปในทันที แต่เธอก็กลับมาใหม่พร้อมกับถั่วแดงกวน เมื่อเซนทาโรได้กิน เขาเป็นอันต้องรีบเปลี่ยนใจใหม่ รับคุณยายเข้าทำงาน เพราะถั่วแดงกวนของคุณยายอร่อยล้ำเหลือเกิน
นานวันเข้าถั่วแดงกวนของคุณยายโทคุเอะก็ช่วยพลิกฟื้นร้านของเซนทาโร จากที่ซบเซาก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง และยังมีเด็กสาวอีกคนที่แวะมาร้านนี้บ่อยๆ นั่นคือ วานากะ นักเรียนชั้นมัธยมฯ ที่มาอาศัยฝากท้องให้ได้กินอิ่มนอนหลับ ทั้งสามคนจึงคุ้นหน้ากันดี เหตุการณ์ดำเนินไปเหมือนว่าทุกอย่างกำลังไปได้สวย แต่ก็มีอันต้องมาสะดุด เพราะโชคชะตาไม่เข้าข้างคุณยายโทคุเอะ และมันก็หนักหนาเกินกว่าที่จะแก้ไขอะไรได้จริงๆ… เป็นภาพยนตร์ที่อบอุ่น แต่ก็กระตุกหัวใจให้วูบไหวไปพร้อมๆ กัน
The Cakemaker (2017)
ผลงานจากผู้กำกับฯ ชาวอิสราเอล Ofir Raul Graizer เขาเติบโตมากับความคลั่งไคล้ในภาพยนตร์ ทั้งหนังวัยรุ่น หนังสยองขวัญ หนังอิตาเลียนยุคเก่า และผลงานของทิม เบอร์ตันในยุคแรก หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปลายฯ เขาก็เริ่มทำงานหลากหลายรวมไปถึงงานในครัว จนกระทั่งได้พาตัวเองมุ่งหน้าสู่เบื้องหลังของโลกภาพยนตร์ และสำหรับเรื่อง Cakemaker เขาพัฒนาบทมาตั้งแต่ปี 2010 และต้องใช้ความพยายามยาวนานถึงเจ็ดปีในการหาทุนสนับสนุนเพื่อสร้างให้มันเป็นจริง
ในการเดินทาง เราไม่รู้หรอกว่าจะพบเจออะไรบ้างระหว่างทาง ดังเช่นที่ โอเรน ชายหนุ่มชาวอิสราเอลไม่คาดคิดว่าเขาจะพบความรัก ในขณะที่ตัวเองก็มีครอบครัวอยู่แล้ว โอเรนเดินทางมาทำธุรกิจที่กรุงเบอร์ลิน เขาพานพบผู้คนมากมายในเมืองใหญ่ รวมถึงโทมัส คนทำขนมผู้มีฝีมือ ทั้งสองคบกัน รักกัน หวานหอมไม่ต่างจากขนมที่เพิ่งออกจากเตา แต่แล้ววันหนึ่งโอเรนก็ประสบอุบัติเหตุอย่างไม่หวนคืน
โทมัสจึงเดินทางไปยังสถานที่ที่โอเรนเคยใช้ชีวิตอยู่ แล้วไปปรากฎตัวเพื่อสมัครงานที่คาเฟ่ของอานัทในเยรูซาเล็ม อานัทคือภรรยาม่ายของโอเรน ซึ่งยังทำใจได้ไม่ดีนักจากการจากไปของสามี อานัทรู้อยู่ว่าโอเรนมีคนอื่น แต่เธอไม่คาดคิดว่าคนคนนั้นคือโทมัส และโทมัสเองก็ไม่ได้เปิดเผยตัวตน แล้วภาพยนตร์ก็จะพาเราไปสำรวจว่าแต่ละคนมีวิธีการรับมือกับความเสียใจอย่างไร ไม่ว่าการเข้ามา การจากลา คำโกหก ความเป็นจริง เศษเสี้ยวความทรงจำ…และรสชาติของความรัก