สำหรับนักเทรดมือใหม่คงจะงงไม่น้อยเมื่อได้ฟังข่าววิเคราะห์หุ้นจากสำนักต่างๆ ที่บ้างเน้นการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) ที่เต็มไปด้วยคำศัพท์อย่างแนวรับ แนวต้าน ปริมาณซื้อขาย หรือเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) ที่ว่ากันตามความสามารถในการทำกำไรของบริษัท การเติบโตของจีดีพี และความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ยิ่งไปกว่านั้น สองสำนักนี้อาจให้คำแนะนำซื้อและขายไม่เหมือนกัน!
ก้าวแรกสู่ตลาดหุ้น เราจึงควรไปฝากเนื้อฝากตัวกับสำนักไหนอย่างน้อยสักสำนักหนึ่ง เพื่อให้การซื้อขายของเรามีหลักการ ไม่ใช่ใช้แต่สัญชาตญาณหรือคำแนะนำจากคนรู้จัก (แต่จะกำไรหรือไม่ก็อีกเรื่องนะครับ) ในบทความนี้ ผมจะพาไปทัวร์สั้นๆ เริ่มจากสองสำนักใหญ่ที่ครองยุทธภพ ได้แก่ สำนักเทคนิคและสำนักพื้นฐาน รวมถึงสำนักกระแสรองอย่างการตามสัญญาณข้อมูลภายใน และสำนักลงทุนโดยการซื้อขายตามดัชนีตลาด
สำนัก Technical Analysis – อ่านตลาด ฉวยจังหวะทำกำไร
สำหรับสำนักวิเคราะห์ทางเทคนิค ข้อมูลที่จำเป็นมีเพียง 2 อย่างเท่านั้น คือราคาและปริมาณการซื้อขายในอดีต ที่นักวิเคราะห์จะนำมาดัดแปลง แสดงผลเป็นชาร์ตรูปแบบต่างๆ หรือสร้างดัชนีชี้วัดใหม่ๆ เพื่ออธิบายและคาดการณ์ทิศทางของราคาในอนาคต โดยมีสมมติฐานสำคัญคือ ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นสะท้อน ‘ข้อมูล’ ที่มีทั้งหมดในตลาด อีกทั้งยังบอกอีกด้วยว่านักลงทุนจำนวนมาก (ซึ่งก็หมายถึงตลาดนั่นแหละ) กำลังคิดอย่างไรกับหุ้นตัวที่เราเล็งไว้
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าแค่ใช้ราคากับปริมาณซื้อขายในอดีตจะทำนายอนาคตได้จริงหรือ ?
เหล่านักวิเคราะห์สำนักเทคนิคอธิบายว่า การทำนายราคาหุ้นก็คล้ายกับพยากรณ์อากาศ คือใช้ข้อมูลในอดีตจำนวนมาก แม้ว่าจะผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่อย่างน้อยก็จะทำให้เราพอเห็น ‘สัญญาณ’ ของอนาคต การคาดการณ์ของการวิเคราะห์แบบเทคนิค จึงต้องอาศัยประสบการณ์ประกอบสมการเพื่อตัดสินใจ ไม่ใช่ว่าใช้คณิตศาสตร์เพียงอย่างเดียว
คำศัพท์น่ารู้ของสำนักนี้ เช่น เส้นแนวโน้ม (Trend Line) หมายถึง เส้นที่เป็นตัวแทนแนวโน้มของราคาหุ้นในอนาคต โดยพิจารณาจากราคาหุ้นในอดีต แนวรับและแนวต้าน (Support and Resistance) หมายถึงกรอบการเคลื่อนที่ของราคาหุ้น เช่น หุ้น A มีแนวรับ 100 บาท และแนวต้าน 120 บาท หมายความว่าหากราคาหุ้น A ลดลงอย่างต่อเนื่องจนแตะ 100 บาท ก็จะมีแรงซื้อเข้ามาช่วยหนุนไม่ให้หุ้น A ราคาต่ำกว่านี้ ในทางกลับกัน หากราคาหุ้น A เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปถึง 120 บาท ก็จะมีแรงขายไม่ให้หุ้น A ราคาสูงกว่านี้ คำแนะนำเบื้องต้นของสำนักเทคนิคคือซื้อในแนวรับ ขายในแนวต้าน
ข้อจำกัดของสำนักเทคนิคคือสมมติฐานที่ว่าอดีตสามารถทำนายอนาคตได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว วิกฤตการณ์หลายครั้งก็เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง อย่างวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น นอกจากนี้ การที่สำนักเทคนิคมีเครื่องมือหลากหลาย ทำให้การเปลี่ยนเทคนิคการคำนวณอาจได้คำตอบไม่เหมือนกัน
สำนัก Fundamental Analysis – พื้นฐานดี ซื้อร้อยครั้ง กำไรร้อยครั้ง
อีกหนึ่งสำนักใหญ่คู่ปรับตลอดกาลของสำนักเทคนิค คือสำนักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ที่ว่ากันด้วยข้อมูลสาธารณะล้วนๆ ตั้งแต่ข้อมูลระดับมหภาค เช่น การเติบโตของตลาดในประเทศและต่างประเทศ ระดับหนี้สิน ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ไปจนถึงระดับจุลภาค ความน่าสนใจของธุรกิจ โอกาสทางธุรกิจในอนาคต ต้นทุน กำไร และอัตราเติบโต นักวิเคราะห์เชิงพื้นฐานจะขยำข้อมูลมากมายมหาศาลเพื่อสร้างสมมติฐานคาดเดาว่าบริษัทจะสร้างกระแสเงินสด (Cash Flow) ได้เท่าไร แล้วคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าหุ้นในปัจจุบัน หรือเรียกว่า วิธีคิดลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow)
สำนักวิเคราะห์พื้นฐานเชื่อว่าในระยะยาว ราคาหุ้นจะเท่ากับมูลค่ากระแสเงินสดในอนาคตคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน หากจินตนาการง่ายๆ ก็คล้ายกับการที่เราคิดจะลงทุนในเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ เราก็ต้องคาดเดาว่าเครื่องซักผ้าดังกล่าวจะสร้างรายได้ในเราได้มากน้อยเท่าไรในอนาคต โดยที่คิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบันเพื่อเทียบเคียงกับต้นทุนที่เราต้องซื้อเครื่องซักผ้า หากรายได้มากกว่าเงินลงทุน เราก็ควรตัดสินใจลงทุน
การเลือกลงทุนในหุ้นหนึ่งตัวนั้นไม่ง่ายเหมือนลงทุนในเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ เพราะธุรกิจสมัยใหม่ ยิ่งบริษัทขนาดใหญ่ก็ยิ่งมีความซับซ้อน ต้องพิจารณาทั้งปัจจัยภายในประเทศ ภายนอกประเทศ รวมถึงโอกาสที่ธุรกิจจะมีที่ยืนในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนรวดเร็วจนยากจะตามทัน
หลายคนมักเข้าใจผิดว่าสำนักวิเคราะห์พื้นฐานคือการเฟ้นหาและเลือกซื้อหุ้นพื้นฐานดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว การวิเคราะห์พื้นฐานคือการเฟ้นหาหุ้นที่มูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) สูงกว่าราคาที่ซื้อขายในตลาด เช่น หุ้น B ซื้อขายกันในตลาดที่ราคา 100 บาท แต่นักวิเคราะห์พื้นฐานหลังจากรวบรวมข้อมูลมาประเมินมูลค่าของบริษัท พบว่ามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น B อยู่ที่ 120 บาท แต่ที่ราคาตกวูบวาบก็เพราะข่าวร้ายในระยะสั้น นักลงทุนจึงควรซื้อหุ้น B เพราะในระยะยาว หากนักลงทุนมีเหตุมีผล หุ้น B ก็จะปรับราคามาที่ 120 บาท ในทางกลับกัน แม้ว่าหุ้น B จะมีพื้นฐานดีเลิศลอยแค่ไหน อัตราเติบโตและความสามารถในการทำกำไรชนะทุกบริษัทในตลาด แต่หากประเมินพื้นฐานแล้วได้มูลค่าที่แท้จริงต่ำกว่ามูลค่าที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาด ก็เป็นอันว่าโบกมือลาดีกว่า
สำนักวิเคราะห์พื้นฐานนั้นใกล้ชิดกับการลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investing) ซึ่งมีมหาเศรษฐีอย่าง Warren Buffett ผู้ได้ฉายาเทพยากรณ์แห่งโอมาฮา (Oracle Of Omaha) จากฝีมือการเลือกหุ้นที่ทำให้เขาได้เป็นหนึ่งในคนที่รวยที่สุดในโลก ข้อจำกัดของการวิเคราะห์พื้นฐานคือสมมติฐานที่ว่านักลงทุนนั้นมีเหตุมีผล และตลาดมีเหตุมีผล ทำให้ราคาในระยะยาวจะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท ซึ่งบางครั้งอาจไม่เป็นจริง
สำนัก Insider Trading – กำลังภายในพิชิตชัยเหนือตลาด
Insider Trading หมายถึง การใช้ข้อมูลภายในโดยผู้มีสถานะที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารวงใน (insiders) เช่น ผู้บริหาร ประธานคณะกรรมการบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชี เพื่อซื้อขายหุ้นในตลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี กฎหมายไทยไม่ได้ห้ามเหล่า Insiders ซื้อขายหุ้นอย่างเด็ดขาด แต่เปิดโอกาสให้ซื้อขายโดยห้ามใช้ข้อมูลภายในที่ยังไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณะ โดยต้องรายงานการซื้อขายต่อกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ภายใน 3 วันหลังวันที่ทำการซื้อขาย โดย กลต. นั้นจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวบนเว็บไซต์ภายใน 1 วันทำการ
คงไม่ต้องหยิบยกทฤษฎีใดมาอธิบาย ก็คงพอเดากันได้ว่ายังงั้ยยังไง เหล่าผู้ที่เข้าถึงข้อมูลภายในก็มีข้อมูลที่ทรงคุณค่า หรือมีความรู้ความเข้าใจใกล้ชิดกับธุรกิจตัวเองมากกว่านักลงทุนทั่วไป งานวิจัยในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา อิตาลี รวมถึงประเทศไทย ต่างก็ยืนยันตรงกันว่า การซื้อขายหุ้นของเหล่าอินไซเดอร์สร้างกำไรเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ โดยใช้เครื่องมือชื่อว่า Event Study
สำหรับประเทศไทย หากศึกษาตามสัญญาณการซื้อขายของเหล่าวงในจะพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว การซื้อขายดังกล่าวจะสามารถจับสัญญาณตลาดได้อย่างแม่นยำ กล่าวคือ ซื้อหุ้นเมื่อราคาลดลงต่ำ และขายหุ้นเมื่อราคาพุ่งขึ้นสูง ทั้งนี้ นักลงทุนก็ยังมีโอกาสทำกำไรโดยซื้อขายตามสัญญาณตลาดที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ แต่ก็ควรกระทำโดยระมัดระวัง เนื่องจากสัญญาณดังกล่าวอาจเป็นการซื้อขายที่เกิดขึ้นเนื่องจากอินไซเดอร์ต้องการเงินด่วนหรือต้องการคะแนนเสียงเพื่อโหวตในการประชุมผู้ถือหุ้นก็ได้ อีกทั้งวันที่อินไซเดอร์ทำการซื้อขายจริงก็ไม่ตรงกับวันที่ประกาศบนเว็บไซต์ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าตลาดได้ปรับราคาหุ้นตามสัญญาณที่อินไซเดอร์ส่งมาหรือยัง
ข้อจำกัดหลักของการตามสัญญาณข่าววงใน คือเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่าสัญญาณดังกล่าวน่าเชื่อถือขนาดไหน และเหตุผลเบื้องหลังการซื้อขายหุ้นของผู้มีข้อมูลภายในคืออะไร เรียกได้ว่าต้องใช้ประสบการณ์วิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน เพราะหากหลับตาซื้อตามทุกการซื้อขายก็อาจจะหมดตัวได้ง่ายๆ
สำนัก Passive Investing – นิ่งสงบสยบตลาด
เป็นข่าวฮือฮาเมื่อปลายปีที่ผ่านมาซึ่งพาดหัวว่า ‘ผู้บริหารกองทุนรัฐเนวาดามูลค่า 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทำอะไรในหนึ่งวัน คำตอบคือ ไม่ได้ทำอะไรเลย’ นี่คือหนึ่งตัวอย่างของผู้สมาทานสำนัก Passive Investing ที่เชื่อว่าการลงทุนที่จะได้รับผลตอบแทนดีที่สุด คือการลงทุนอ้างอิงตามดัชนี ถ้าเทียบในไทยก็เช่นการลงทุนในหุ้นทุกตัวที่ปรากฏใน SET50 โดยจัดการสัดส่วนเท่ากับสัดส่วนมูลค่าตลาดของหุ้นแต่ละตัวต่อมูลค่าตลาดรวม แล้วนั่งรอดอกผลจากการลงทุนโดยปรับพอร์ตฟอร์ลิโอให้น้อยที่สุด
หลายคนอาจขมวดคิ้วสงสัย ว่าวิธีนี้คิดมาแล้วหรอ ?
คำตอบคือใช่ครับ แนวคิดดังกล่าวยึดทฤษฎีการลงทุนสมมติฐานว่าด้วยความมีประสิทธิภาพของตลาด (Efficient Market Hypothesis) ซึ่งเป็นแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ยูจีน ฟามา (Eugene Fama) สรุปสั้นๆ ว่า หากตลาดมีประสิทธิภาพ ราคาหุ้นก็จะสะท้อนข้อมูลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นราคาและปริมาณในอดีตตามสำนักวิเคราะห์เชิงเทคนิค ข้อมูลระดับมหภาคและจุลภาคของสำนักวิเคราะห์เชิงพื้นฐาน รวมทั้งข้อมูลภายในของบริษัท ดังนั้น ป่วยการที่จะพยายามเอาชนะตลาด และการลงทุนที่ดีที่สุดก็คือการลงทุนโดยกระจายสินทรัพย์เลียนแบบตลาดนั่นเอง
ข้อจำกัดหลักของสำนักนี้คือ ไม่มีตลาดซื้อขายหุ้นในประเทศใดที่เข้าสู่สภาวะมีประสิทธิภาพตลอดเวลา เนื่องจากนักลงทุนยังมีความเป็นมนุษย์ซึ่งซื้อขายตามอารมณ์ บทพิสูจน์ว่าตลาดไม่มีประสิทธิภาพ เช่น เหตุการณ์ฟองสบู่ดอตคอม หรือวิกฤติซับไพรม์ อีกหนึ่งข้อจำกัดของนักลงทุนรายย่อยคือไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอจะลงทุนในพอร์ตฟอร์ลิโอเลียนแบบตลาด นักลงทุนส่วนใหญ่ที่เชื่อในสำนักนี้จึงมักจะลงทุนผ่านกองทุนเป็นหลัก
นอกจาก 4 สำนักข้างต้น เทรดเดอร์บางรายก็เลือกสายไฮบริด โดยสายที่ฮอตฮิตที่สุดคือสำนักเทคนิคและสำนักพื้นฐาน ที่มักจะใช้ศาสตร์จากสำนักพื้นฐานเพื่อคัดเลือกหุ้นที่น่าสนใจ และใช้วิชาจากสำนักเทคนิคเพื่อรอจังหวะซื้อขายตามแนวโน้มตลาด
อ่านมาถึงตรงนี้ คาดว่าคงจะเห็นภาพความคิดและความเชื่อของเหล่านักลงทุนแบบกว้างๆ ถ้าหากเลือกได้ว่าจะเข้าสำนักไหน ก็อย่าลืมไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนนะครับ
FACT BOX:
ทฤษฎีสมมติฐานว่าด้วยความมีประสิทธิภาพของตลาด ที่เสนอโดย ยูจีน ฟามา แบ่งระดับความมีประสิทธิภาพของตลาดออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
- Strong Form Efficiency หมายถึงราคาหุ้นนั้นสะท้อนข้อมูลทุกอย่างในตลาด ดังนั้นไม่ว่าใครหน้าไหนใช้กลยุทธ์ใดก็ไม่สามารถเอาชนะตลาดได้
- Semi-strong Form Efficiency หมายถึงราคาหุ้นสะท้อนข้อมูลในระดับจุลภาคและมหภาคซึ่งเกี่ยวกับบริษัท รวมถึงราคาและปริมาณการซื้อขายในอดีต ดังนั้นจะมีเพียงผู้มีข้อมูลภายในซึ่งยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะเท่านั้นที่สามารถทำกำไรได้
- Weak Form Efficiency หมายถึง ราคาหุ้นจะสะท้อนข้อมูลจากปริมาณการซื้อขายและราคาในอดีต ดังนั้นสำนักวิเคราะห์เชิงพื้นฐานจะสามารถทำกำไรได้
ส่วนสำนักวิเคราะห์เชิงเทคนิคนั้น จะทำกำไรได้ก็ต่อเมื่อตลาดไร้ประสิทธิภาพ กล่าวคือ นักลงทุนซื้อขายโดยไม่ใช้ข้อมูลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลภายในที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือภาพรวมเศรษฐกิจ แม้แต่ราคาและปริมาณการซื้อขายในอดีตก็ไม่เอามาคำนวณ
เรียนรู้ต่อได้ที่
สำนัก Technical Analysis
การวิเคราะห์ทางเทคนิค
สำนัก Fundamental Analysis
การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน
สำนัก Insider Trading
Insider Trading and Corporate Governance: The Case of Germany
Insider Trading: Evidence From Thailand
Insider Trading, News Releases, and Ownership Concentration
สำนัก Passive Investing
What Does Nevada’s $35 Billion Fund Manager Do All Day? Nothing