สำหรับคนที่เริ่มศึกษาเรื่องการวางแผนการเงิน จะพบว่ามีสินค้าการเงินตัวหนึ่งที่แทบทุกคนควรต้องมี นั่นก็คือ ‘ประกันชีวิต’ อาจเป็นเพราะว่าประกันชีวิตยังเป็นสินค้าการเงินเพียงตัวเดียวในตลาดที่สามารถบริหารเรื่องความเสี่ยงภัยหรือเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าประกันชีวิตก็มีหลากหลายประเภท ที่สำคัญยังเป็นสินค้าการเงินตัวที่มีภาระผูกพันในระยะยาวด้วย
ดังนั้น หากเราต้องการทำประกันชีวิตสักฉบับ สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ความเข้าใจที่มีต่อประกันชีวิต เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อแบบเราๆ หรือคนขายก็ต่างยังมีความเข้าใจผิดในเรื่องนี้อยู่พอสมควร บทความนี้ เราลองมาดูกันดีกว่า ว่ามีอะไรบ้างที่เราน่าจะต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่
1. ซื้อประกันชีวิตเพียงเพื่อเป้าหมายลดหย่อนภาษีเท่านั้น
ต้องยอมรับว่าเรื่อง ‘ภาษี’ เป็นปัจจัยลำดับต้นๆ เลยที่ช่วยทำให้คนหันมาสนใจเรื่องการเงินมากขึ้น เพราะเห็นว่าภาษีที่จ่ายนั้นคิดเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งสามารถไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้อีกตั้งมากมาย นั่นเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมภาษีถึงเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้คนมาสนใจเรื่องการเงิน
แต่จริงๆ แล้วเรื่อง ‘ภาษี’ หรือการลดหย่อนภาษีนั้นเป็นเพียงผลประโยชน์ส่วนเพิ่มเท่านั้น เพราะถ้าเรามองเรื่องการลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว การนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Mutual Fund : LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) หรือนำมาซื้อประกันชีวิต (Insurance) ก็สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้เหมือนกัน ดังนั้นเราต้องกลับมาดูที่เป้าหมายการเงินของเราก่อนเสมอว่า เรา ‘เหมาะ’ กับการซื้อประกันชีวิตหรือไม่ ถ้าเราไม่ได้ต้องการทุนประกันเพิ่มเติม หรือต้องการบริหารความเสี่ยงภัยๆ ต่างแล้ว ประกันชีวิตก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีแน่นอน
2. กลัวซื้อประกันชีวิตแล้วใช้ไม่คุ้ม
โดยปกติแล้วเวลาที่เราซื้อสินค้าอะไรก็ตาม ไม่เฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เราก็ย่อมต้องอยาก “ใช้” เพื่อที่เราจะได้รู้สึกว่าคุ้ม เพราะไหนๆ เราก็จ่ายเงินออกจากกระเป๋าไปแล้ว จึงอยากจะใช้ให้รู้สึกคุ้ม แต่เคยถามตัวเองกันหรือไม่ว่าเราซื้อประกันชีวิตไปแล้วอยากให้เกิดความรู้สึกคุ้มค่าจริงๆ หรือ?
เพราะถ้าจะให้เราซื้อประกันชีวิตแล้วคุ้ม ก็หมายความว่าเราต้องได้ใช้ ซึ่งนั่นก็หมายถึงเราต้อง ‘เสียชีวิต’ เพื่อให้ใครบางคนที่เราให้เป็น ‘ผู้รับผลประโยชน์’ ได้ประโยชน์ ถึงจะคุ้มค่าที่สุด หรือถ้าเราทำสัญญาเพิ่มเติมอย่างประกันสุขภาพก็คือซื้อแล้วต้องป่วยให้เยอะที่สุด เบิกให้เต็มวงเงินถึงจะคุ้ม เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากคุ้มจากการทำประกันชีวิตแน่นอน แต่ประกันชีวิตมีไว้เพื่อบริหารความเสี่ยงหรือรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน
ดังนั้นการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตเป็นสิ่งที่เราสามารถกำหนดได้ว่าจะจ่ายปีละเท่าไรเพื่อสร้างความคุ้มครองให้กับตัวเรา แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงภัยต่างๆ เราแทบจะกำหนดไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจากไปก่อนวัยอันควร หรือจำนวนค่ารักษาพยาบาลที่ต้องใช้เมื่อยามเจ็บป่วยที่สำคัญ ค่ารักษาพยาบาลเป็นรายจ่ายพิเศษอย่างหนึ่งที่เราแทบจะต่อรองอะไรไม่ได้เลย แล้วก็ยังไม่รู้อีกตัวว่าจะต้องจ่ายเมื่อไร เราจึงไม่ควรมองเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายว่าเป็นภาระหรือเปรียบเทียบว่าคุ้มหรือไม่คุ้มเลย
3. ทุนประกันชีวิตเป็นเรื่องไม่จำเป็น
เชื่อว่าหลายๆ คนที่ซื้อประกันแทบจะไม่ได้ใส่ใจเรื่อง ‘ทุนประกัน’ หรือ จำนวนเงินที่จะได้รับจากบริษัทประกันชีวิตในกรณีครบกำหนดสัญญาหรือเสียชีวิต (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการรับประกัน) กันสักเท่าไร เมื่อจะซื้อประกันชีวิตก็ดูเพียงว่าได้ผลตอบแทนเท่าไร ทั้งๆ ที่เป็นประกันชีวิตเป็นสินค้าการเงินเพียงตัวเดียวที่สามารถช่วยบริหารความเสี่ยงตรงนี้ได้
หากมองกันตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราไม่ได้สนใจเรื่องทุนประกัน ดูๆ ไปแล้วสินค้าการเงินประเภทอื่นๆ น่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า เช่น เราสนใจแต่อัตราผลตอบแทน ถ้าเราลองเอาแบบประกันมาคำนวณผลตอบแทน (IRR) จากกรมธรรม์ที่เราได้รับแล้ว หากเป็นประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ ณ ปัจจุบันก็น่าจะให้ IRR แถวๆ 1.5-2.5% เสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเรานำผลตอบแทนที่ได้นี้มาเทียบดูระยะเวลาที่ต้องถือกรมธรรม์ในระยะยาวมากแล้ว บางที่การถือตราสารหนี้หรือกองทุนรวมตราสารหนี้อาจตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดีมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องของสภาพคล่องที่มีมากกว่าประกัน เพราะในกรณีการนำเงินไปซื้อประกัน ถ้าเราไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ได้ แนวโน้มขาดทุนก็จะยิ่งสูง (ได้เงินคืนน้อยกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายไปทั้งหมด)
ประกันชีวิตเป็นสินค้าการเงินตัวนึงที่คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ ถือเป็นความแปลกอย่างหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าถ้าเกิดวันใดวันหนึ่งเราเดินออกจากบ้านมาและไม่ได้กลับเข้าบ้านอีก อาจจะเพราะเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นมา เคยถามตัวเองหรือไม่ว่าคนที่บ้านเราที่รอเราอยู่ทุกวันจะทำอย่างไร?
เราไม่สามารถป้องกันความเสียหายทางจิตใจที่ครอบครัวเราต้องสูญเสียคนรัก สูญเสียหัวหน้าครอบครัวคนหนึ่งไป แต่เราสามารถป้องกันความเสียหายทางการเงินได้ด้วยการใช้ประกันชีวิต เป็นตัวช่วยที่ถึงแม้ตัวเราไม่อยู่ เราก็ยังสามารถมอบชีวิตที่เหมือนเดิมไม่สะดุดได้ ลูกเรายังได้เรียนต่อเหมือนเดิม รถยนต์ไม่โดนยึด บ้านก็สามารถนำเงินส่วนนี้ไปโปะให้เรียบร้อยได้ การทำประกันชีวิตก็เหมือนการที่เราดึงเงินในอนาคตมาอยู่กับครอบครัวเรา อยู่กับคนที่เรารักไว้ เลยเป็นเหตุผลว่าทำไม ‘ทุนประกัน’ ถึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ
ในปัจจุบัน ประกันชีวิตยังคงเป็นสินค้าการเงินหนึ่งเดียวที่สามารถใช้ในการบริหารความเสี่ยงได้ ประกันชีวิตจึงเป็นเรื่องพื้นฐานด้านการเงินที่ทุกคนควรให้ความสนใจและต้องเข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะได้คัดเลือกแบบประกันที่เหมาะกับตัวเราได้จริงๆ
Tags: วางแผนการเงิน, tax, ภาษีเงินได้, การลดหย่อนภาษี, ลดหย่อนภาษี, การเงินส่วนบุคคล