เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ เช่น “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บีระบาดหนัก ไทยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ราย”[i] แต่อาจ ‘ใหญ่’ สู้ข่าวการเลือกตั้งไม่ได้จึงไม่เป็นที่ตื่นตระหนกเท่าไรนัก ซึ่งถึงตอนนี้ที่ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อนเต็มตัว การระบาดของไข้หวัดใหญ่ก็คงลดลงจนไม่น่าตกอกตกใจสักเท่าไรแล้ว

ทว่าสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ต้นปีนี้ก็อาจทำนายการระบาดอีกระลอกหนึ่งในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ได้ (The Rain is coming) ผมเลยอยากชวนมาแกะรอยเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้เตรียมตัวกันไว้ก่อน

จำนวนผู้ป่วยสะสมมากกว่าปีที่แล้ว 2 เท่า

กราฟที่ 1 สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทย (ที่มา: สำนักโรคติดต่อทั่วไป[ii])

   

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน มีปัจจัยสภาพอากาศร้อน+ฝน การระบาดของไข้หวัดใหญ่จึงพบได้ตลอดทั้งปี แต่แนวโน้มการระบาดจะพบมาก 2 รอบ โดยจากกราฟค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี (พื้นที่สีเหลือง) จะสังเกตเห็นการระบาดสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับฤดูหนาว และเดือนกันยายน สำหรับฤดูฝน

ดังนั้นสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในข่าวจึงเป็นการระบาดตามฤดูกาล (seasonal flu) อยู่แล้ว เช่นเดียวกันกับทุกปี ยกเว้นเส้นกราฟผู้ป่วยของปีนี้ (เส้นสีน้ำเงิน) ที่สูงขึ้นผิดหูผิดตา โดยจนถึง 15 มีนาคม 2019 มีผู้ป่วยทั้งหมด 8.5 หมื่นราย = อัตราป่วย 130.14 ต่อประชากรแสนคน และเสียชีวิต 6 ราย = อัตราป่วยตาย 0.01%

ด้วยอัตราป่วยที่เกินค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 2 เท่าจึงทำให้มีความกังวลว่าการระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาวของปีนี้ซึ่งจะเป็นระลอกใหญ่กว่าตามธรรมชาติอยู่แล้ว อาจมีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ระบาดหนัก

A และ B เป็นชื่อสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงในคน โดยสายพันธุ์ที่น่ากลัวกว่าคือ A เนื่องจากพบในสัตว์ชนิดอื่นด้วย สามารถแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนสารพันธุกรรมไปมา ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่เกิดการระบาดทั่วโลก (pandemic) ในปีดังกล่าว ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นไวรัส ‘เจ้าเก่า’ ก่อให้เกิดโรคตามฤดูกาลไปแล้ว ในขณะที่สายพันธุ์ B ยังก่อให้เกิดอาการรุนแรงน้อยกว่าด้วย

 

จากการตรวจแยกสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ทางห้องปฏิบัติการทั่วประเทศในระหว่างมกราคม – กุมภาพันธ์ 2019 ที่ผ่านมา พบการระบาดของสายพันธุ์ B มากขึ้น (กราฟแท่งสีเขียว) จากปลายปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกับสายพันธุ์ A ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 กลับพบพอๆ กันคือสายพันธุ์ละประมาณ 20% ของตัวอย่างที่ส่งตรวจทั้งหมด

นอกจากนี้ถ้าเปรียบเทียบกับกราฟครึ่งซ้ายซึ่งเป็นข้อมูลของปีที่แล้ว ก็จะพบว่ามีการระบาดของสายพันธุ์ B ในช่วงต้นปีเหมือนกัน จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าสำหรับการระบาดในประเทศไทยช่วงฤดูฝนมักพบสายพันธุ์ A เป็นหลัก ส่วนในฤดูหนาวมักพบสายพันธุ์ B ร่วมด้วย[iv]

อย่างไรก็ตามก็ไม่อาจประมาทพรรคใหม่ เอ้ย! สายพันธุ์ B ได้ เพราะน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ของปีนี้สูงขึ้น จนต้องสรุปว่า “สายพันธุ์ B ระบาดหนัก” และอาจหมุนเวียนอยู่ในสภาพแวดล้อมจนถึงครึ่งปีหลังได้

สายพันธุ์ B ปีนี้ ไม่ใช่สายพันธุ์ที่อยู่ในวัคซีนปีที่แล้ว

วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ต้องฉีดซ้ำทุกปี เนื่องจากสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปีไม่เหมือนกัน จึงเป็นหน้าที่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่จะต้องคาดการณ์ล่วงหน้า โดยวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยเป็นวัคซีนสำหรับซีกโลกใต้[v] ซึ่ง WHO ได้ประกาศสายพันธุ์วัคซีน (vaccine strain) ไว้ตั้งแต่กันยายน 2018 ที่ผ่านมาแล้ว

สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามสายพันธุ์ที่ครอบคลุมได้ คือชนิด trivalent (Tri = 3 สายพันธุ์) และชนิด quadrivalent (Quad = 4 สายพันธุ์) ซึ่งทั้งคู่จะครอบคลุมสายพันธุ์ A 2 สายพันธุ์ หนึ่งในนั้นคือไวรัส ‘เจ้าเก่า’ 2009 + สายพันธุ์ B 1 ตระกูลเหมือนกัน แต่ชนิด quadrivalent จะเพิ่มสายพันธุ์ B ขึ้นมาอีกตระกูลหนึ่ง ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ที่บรรจุในวัคซีนที่ฉีดในปี 2018 กับที่ระบาดในเดือนมกราคม 2019

อาจต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับตระกูลของสายพันธุ์ B อีกเล็กน้อยว่าแบ่งเป็น 2 ตระกูล คือ วิกตอเรีย (Victoria lineage) และยามากะตะ (Yamagata lineage) โดยในตารางที่ 1 มี B/Phuket ตัวเดียวที่อยู่ในตระกูลยามากะตะ ดังนั้นในปี 2019 นี้จึงถือว่าเป็นการกลับมาของตระกูลวิกตอเรียอีกครั้ง หลังจากที่พบการระบาดเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ามาติดต่อกัน 2 ปีแล้ว

ตารางที่ 2 เปรียบเทียบไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ที่ระบาดในเดือนมกราคม 2019 กับในวัคซีนที่จะฉีดปี 2019

    เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์วัคซีนปี 2019 ที่จะนำมาฉีดประมาณกลางปีนี้ ก็นับว่าเป็นข่าวดีที่ WHO สามารถคาดการณ์ได้ถูกต้อง ดังตารางที่ 2 แต่จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า สายพันธุ์ B/Colorado ที่บรรจุอยู่ในวัคซีนสามารถป้องกันได้เฉพาะเชื้อที่มีการกลายพันธุ์แบบ 2aa deletion เท่านั้น ส่วน 3aa deletion ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าอาจป้องกันได้ไม่ดีนัก[vi]

               แต่จะสังเกตเห็นว่าการฉีดวัคซีนชนิด quadrivalent สามารถครอบคลุมสายพันธุ์ที่ระบาดในปีนี้มากกว่า ในขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะบริการฉีดวัคซีนชนิด trivalent ฟรีให้กับประชาชนในกลุ่มเสี่ยง จึงต้องรอดูว่าเมื่อฤดูฝนมาถึงสายพันธุ์ B ที่ระบาดจะยังคงเป็นตระกูลเดิมกับตอนต้นปีหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่ว่าจะชนิดใดย่อมเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย ช่วงเดือนมิถุนายน  จะมีการประชาสัมพันธ์การฉีดวัคซีนอีกครั้ง ดังนั้นต้องเตรียมตัว (และเงิน) รอไว้ตั้งแต่ก่อนจะเข้าฤดูฝนกันเลยครับ นอกจากนี้การดูแลรักษาสุขภาพของเราให้แข็งแรงก็สำคัญไม่แพ้กัน

 

[i] https://workpointnews.com/2019/03/22/0ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี/

[ii] https://ddc.moph.go.th/uploads/files/3ca45036d2bc9957555f96cd4330244d.pdf

[iii] http://www.thainihnic.org/influenza/files/Flulab/Flu%20lab%20sur%20Mar_WK11%202019.pdf

[iv] http://www.thainihnic.org/influenza/files/รายงานการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในช่วงระบาดใหญ่2562.pdf

[v] http://www.thainihnic.org/influenza/files/WHOประกาศวัคซีนซีกโลกใต้ 2562.pdf

[vi] http://www.thainihnic.org/influenza/files/รายงานการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในช่วงระบาดใหญ่2562.pdf

 

Tags: ,