เปิดรายงานล่าสุดพบว่าบรรษัทขนาดใหญ่ระดับโลก 20 แห่ง มีส่วน 26% ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทะเลกรด (Ocean Acidification) และส่งผลต่อสัตว์ทะเลและนิเวศทางทะเลทั่วโลก
“เรารู้กันมาหลายทศวรรษแล้วว่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทะเลกรด แต่ก่อนหน้านี้เรายังไม่สามารถติดตามว่า บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลหนึ่งๆ มีส่วนต่อปัญหาแค่ไหน และในทางใด” ราเชล ลิคเกอร์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมของ Union of Concerned Scientists (UCS) กล่าว
รายงานล่าสุดนี้เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 วิเคราะห์ตัวเลขที่ชัดเจนออกมาได้ว่า นับแต่ปี 1965 – 2015 มีบรรษัท 20 แห่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทะเลกรด 26% บริษัทเหล่านี้ ได้แก่ ซาอุดิ อารัมโค (Saudi Aramco) จากซาอุดิอาระเบีย เชฟรอน (Chevron) จากสหรัฐอเมริกา และ แก๊สพรอม (Gazprom) จากรัสเซีย (ดูรายชื่อ 20 บริษัทได้จากรายงานฉบับเต็ม หน้า 7 https://iopscience.iop.org/article/10.1088/1748-9326/ab5abc/pdf)
และหากย้อนไปเก่ากว่านั้น ปรากฏการณ์ทะเลกรดมากกว่าครึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1880 – 2015 มาจากบริษัทแก๊ซ น้ำมัน ผู้ผลิตถ่าน และผู้ผลิตซีเมนต์ รวมทั้งหมด 88 บริษัททั่วโลก
ปรากฏการณ์ทะเลกรด คือปัญหาที่ค่าความเป็นกรดด่าง (ค่า pH) ของน้ำทะเลลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปกติน้ำทะเลมีค่า pH ที่ราว 8.1 ซึ่งเมื่อปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ทำให้มหาสมุทรดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น จนทำให้เกิดสภาวะการเป็นกรดเพิ่มขึ้นในมหาสมุทรทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น ทำให้แร่ธาตุสำคัญที่สำคัญต่อการสร้างเปลือกแข็งของสัตว์ทะเลหลายชนิดลดลง สัตว์ทะเลอย่าง กุ้ง หอย ปะการัง ก็ไม่สามารถบำรุงรักษาเปลือกแข็งของตัวเองได้ และยังส่งผลกระทบทำให้สัตว์ทะเลหลายสายพันธุ์อ่อนแอและอาจสูญพันธุ์
สกอตต์ ดอนีย์ นักชีวธรณีเคมีจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย กล่าวเตือนว่า ความเป็นกรดจะสร้างความเสี่ยงต่อสิ่งมีชีวิต เพราะมันไปสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล ที่ส่งผลต่อพัฒนาการการเติบโตของแพลงก์ตอน สาหร่าย หอย และปะการัง ที่ต้องอยู่รอดในน้ำทะเลที่จะอุณหภูมิสูงขึ้นและมีสภาวะความเป็นกรดเพิ่มขึ้นในอนาคต
แม้ที่มาการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ทะเลกรดไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อมันเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นควบคู่ไปกับปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อกันและกัน กล่าวคือ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดปัญหาเรื่องคลื่นความร้อนที่ทำให้ปะการังเกิดภาวะฟอกขาว แล้วศักยภาพที่ปะการังจะฟื้นฟูตัวเองได้ ก็โดนปัญหาการเพิ่มขึ้นของกรดซ้ำเติม ที่ทำให้ปริมาณคาร์บอเนตไอออนลดลง และส่งผลให้การเกิดแคลเซียมคาร์บอเนตที่เป็นแร่ธาตุสำคัญต่อการสร้างเปลือกแข็งลดลงตาม และส่งผลต่อการขยายพันธุ์ของปะการังในที่สุด
ในบรรดา 20 รายชื่อ พบว่า ซาอุดิ อารัมโค คือบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาปรากฏการณ์ทะเลกรดมากที่สุด หรือคิดเป็นสัดส่วน 3% ของปัญหาทั่วโลก
ราเชล ลิคเกอร์ กล่าวว่า บริษัทเหล่านี้ควรรับผิดชอบด้วยการแจ้งต่อสาธารณะเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และมีมาตรการที่จะลดการปลดปล่อยคาร์บอรไดออกไซด์จากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล
อ้างอิง
- https://www.sciencealert.com/these-20-companies-are-most-responsible-for-acidifying-our-oceans-new-study-shows
- https://www.climateliabilitynews.org/2019/12/11/carbon-majors-ocean-acidification/
- https://www.ucsusa.org/about/news/top-fossil-fuel-companies-responsible-majority-ocean-acidification