เด็กหนุ่มชาวไร่วัย 13 ปี ริชาร์ด บีลล์ (Richard Beale) ตวัดลายเส้นรูปน้องไก่ใส่กางเกง ในหนังสือเรียนคณิตศาสตร์ไว้ตั้งแต่ปี 1784 แถวชานเมืองเคนท์ ประเทศอังกฤษ

ในเวลาต่อมา ‘พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวชนบทอังกฤษ (Museum of English Rural Life (MERL))’ ผู้ได้รับหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาก็ทวีตรูปภาพไปตามปกติ แต่น้องไก่ดันไปสะดุดใจ เจ.เค. โรว์ลิง (J.K. Rowling) ผู้แต่งแฮร์รี่ พอตเตอร์ เข้า หลังจากที่เธอรีทวีตไปว่า รูปวาดนี่มันเจ๋งมาก ทางพิพิธภัณฑ์เลยมาบิ๊วเสียเลยว่า ให้ “เขียนติดตามการผจญภัยของน้องไก่ใส่กางเกงสำหรับนิยายซีรีส์ต่อไปของคุณสิ”

ความพีคคือ โรว์ลิงก็ตอบกลับไปว่า “เรียบร้อย แต่งให้เขาเป็นเพื่อนสนิทของเป็ดใส่หมวกไปแล้ว”

ทางพิพิธภัณฑ์ตื่นเต้นมากที่เจอหลักฐานนี้ในกองไดอารีชาวไร่ 41 กว่าเล่มของครอบครัวบีลล์เมื่อปี 2016 หลังจากที่เพิ่งอัปโหลดภาพของน้องริชาร์ดเข้าไปในคอลเลกชันเมื่อเดือนที่แล้ว รูปน้องไก่ใส่กางเกงก็กลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็วในอินเทอร์เน็ต ได้รับความสนใจทั้งจากชาวเน็ตและนักเขียนชื่อดังอย่าง เจ.เค. โรว์ลิง

ถึงแม้ว่ามันจะคล้ายไดอารี่ทั่วๆ ไป (เว้นแต่ว่ามีรูปวัวเยอะกว่าหน่อย) น้องริชาร์ดก็วาดรูปดูเดิลไปตามประสาในหนังสือแก้โจทย์คณิตศาสตร์ของเขา แต่ก็มีเสน่ห์และความน่าสนใจอยู่มาก อดัม คอสซารี (Adam Koszary) ผู้จัดการโปรเจ็กต์ของทางพิพิธภัณฑ์ให้ความเห็นว่า “คลังเอกสารของเราเต็มไปด้วยของแบบนี้แหละ ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน เด็กวัยรุ่นก็มีปัญหากับวิชาคณิตศาสตร์กันทั้งนั้น เหมือนที่มันไม่เคยเติมเต็มหัวใจของน้องริชาร์ดได้เลย เด็กยุคนี้ก็วาดรูปเล่นแบบนี้เหมือนกัน เวลาเราเห็นสิ่งเหล่านี้ มันเลยเชื่อมโยงกับตัวเราโดยอัตโนมัติ อีกอย่างคือมันดูต๊องๆ ด้วย”

ชาวเน็ตขุดดูรูปภาพและวิเคราะห์มันไปเรื่อย มีทั้งรูปที่ริชาร์ดวาดสุนัขของตัวเอง ประภาคาร เรือ ท้องถนนที่บ่งบอกได้ว่าเขาวาดมันเพื่อช่วยแก้โจทย์คณิตศาสตร์ กาย แบ็กซ์เตอร์ (Guy Baxter) กรรมการบริหารด้านจดหมายเหตุของพิพิธภัณฑ์ตั้งข้อสงสัยว่าจริงๆ มันคือไก่หรือเปล่า แล้วที่ใส่อยู่นั่นใช่กางเกงไหม ทำไมมันดูคล้ายกับกางเกงในเรื่อง Wallace’s in The Wrong Trousers ขนาดนั้นล่ะ หรือริชาร์ดเป็นญาติอะไรกันกับเมือง Hensbroek ประเทศเนเธอร์แลนด์หรือเปล่า เพราะเมืองนี้ก็มีตราอาร์มรูปไก่ใส่กางเกงจริงๆ ซึ่งเหมือนกับรูปที่เขาวาดเลย แต่จะให้สันนิษฐานว่าริชาร์ดเดินทางไกลไปถึงเนเธอร์แลนด์ในยุคนั้นก็ดูจะไกลความจริงไปเสียหน่อย

คุณกายเลยบอกว่า มันก็เป็นไปได้ว่าริชาร์ดจะรู้จักตราอาร์มของประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มาที่ไปของรูปมันก็ยังลึกลับอยู่ จึงเป็นไปได้ด้วยเช่นกันว่ามันเป็นแค่จินตนาการล้ำๆ ของน้อง

โอลลี่ ดักลาส (Ollie Douglas) คิวเรเตอร์ด้านหลักฐานทางวัตถุของ MERL ตีความรูปไก่ใส่กางเกงนี้ว่า มันสื่อสารกับโลกอันกระจัดกระจายและเปราะบาง รวมถึงชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่และน่าวิตกกังวลของโลกออนไลน์ “สำหรับคนที่กลัวว่าโลกดิจิทัลจะลบล้างพวกบันทึกแบบชาวบ้านๆ หรือโน้ตริมสมุดในหนังสือเก่าอย่างที่เราเจอในเล่มนี้ อย่าไปกลัวเลยคุณ เพราะโซเชียลมีเดียชุ่มโชกไปด้วยสิ่งที่มีความเฉพาะตัวสูงและคำวิจารณ์ต่างๆ นานาที่มีต่อโลก แค่คุณสังเกตความเห็นของคนที่มีต่อทวีตเพียงทวีตเดียว คุณก็จะเห็นเครือข่ายแห่งความซับซ้อนว่า เราก็ต้องยังอยู่บนโลกที่แชร์กันอยู่ และแน่นอนว่าลึกๆ ในใจเราหลายคนก็ยังเป็นพวกชอบขีดชอบเขียนเล่นไปเรื่อย”

ที่เหลือก็คือเรามาตั้งตารอดูกัน ว่า เจ.เค. จะใส่ไก่ลงไปในนิยายของเธอจริงไหม และถ้าใช่ น้องไก่ใส่กางเกงของริชาร์ดจะบินไปได้ไกลอีกแค่ไหนในโลกจินตนาการ

 

ที่มาภาพ: Museum of English Rural Life

ที่มา:

Tags: , , , , ,