แม้การรัฐประหารเมื่อ 5 ปีก่อนจะมาถึงจุดที่มีการเลือกตั้งและเปลี่ยนรัฐบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (แม้จะได้ผู้นำคนเดิมกลับมาก็ตาม) แต่สิ่งที่ยังตกค้างอยู่ ก็คือประกาศและคำสั่งจำนวนหลายร้อยฉบับ ที่ประกาศออกมาโดยใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยังคงมีผลบังคับใช้จนทุกวันนี้
วันนี้ (20 มิถุนายน 2562) ภาคประชาชน 23 เครือข่าย นำโดย จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เข้ายื่นหนังสือริเริ่มเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพื่อยกเลิกบรรดาประกาศ/คำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. จำนวน 35 ฉบับ ที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ ประชาชน 10,000 ชื่อสามารถรวบรวมรายชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมายได้เอง โดยในแคมเปญที่ใช้ชื่อว่า “ปลดอาวุธคสช.” ครั้งนี้ เป็นการเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งคสช.ที่ละเมิกสิทธิมนุษยชนจำนวน 35 ฉบับ มีคนร่วมลงชื่อแล้ว 13,409 คน
“ตลอด 5 ปีที่สังคมไทยอยู่ภายใต้คสช. มีการออกประกาศ คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้าคสช. กว่า 500 ฉบับ แล้วเราก็พบว่าหลายฉบับทั้งลิดรอนอำนาจ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเป็น 5 ปีที่หวานอมขมกลืน จนมีการพูดคุยกันระหว่าง 23 เครือข่ายว่า เราจะปล่อยให้บรรดาประกาศคำสั่งคสช. อยู่ต่อแบบนี้ต่อไปไม่ได้ จึงกลายเป็นกิจกรรม #ปลดอาวุธคสช” นิมิตร์ เทียนอุดม จากเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพกล่าว
“เราได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 เข้าชื่อเสนอกฎหมายภาคประชาชนไม่น้อยกว่า 10,000 คน และตอนนี้เราได้รายชื่อมาแล้ว 13,409 คน กฎหมายที่เราจะยกเลิก เป็นประกาศและคำสั่งคสช.จำนวน 35 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารบุกจับประชาชน และไปควบคุมตัวในค่ายทหารได้ 7 วัน การควบคุมสื่อมวลชน และการให้ทหารเข้ามายึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน” ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการ iLaw กล่าว
อย่างไรก็ดี การเดินทางมายื่นหนังสือของภาคประชาชนในครั้งนี้ มี ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ซึ่งเดินทางมารับมอบหนังสือผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายด้วยตนเอง ก่อนจะเดินทางกลับโดยไม่ได้แถลงข่าวหรือชี้แจงข้อมูลประการใดออกมา
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะตรวจสอบเอกสารและยื่นให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยหลักการของร่างกฎหมายว่าเป็นไปตามกำหนดของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่อง
ทั้งนี้ ภาคประชาชน 23 เครือข่ายจะจัดงานแถลงรายละเอียดร่างกฎหมายและเชิญชวนพรรคการเมืองมาแสดงจุดยืนต่อสาธารณะในวันที่ 23 มิถุนายน 2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหลังจากนั้นจะเดินขบวนไปมอบเอกสารการเข้าชื่อเสนอกฎหมายจำนวน 13,409 ฉบับ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ต่อรัฐสภาด้วย
ทั้งนี้ 23 เครือข่ายประกอบด้วย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เครือข่ายหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายประชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เครือข่ายเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เครือข่ายสลัมสี่ภาค (ทุกภาค) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (คอป.) ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ สมัชชาคนจน ขบวนการอีสานใหม่ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และ กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai)
Tags: ประกาศคำสั่งคสช., การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย, iLaw, สิทธิมนุษยชน, ปลดอาวุธคสช., ไอลอว์