วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวเกาหลีทั้งเหนือใต้ เพราะเป็นวันครบรอบ 100 ปีของขบวนการเรียกร้องเอกราชเกาหลีจากอาณานิคมญี่ปุ่น
บทความนี้ขอมีส่วนร่วมรำลึกถึงวาระสำคัญนี้ด้วยการชวนท่านผู้อ่านย้อนเวลากลับไปสำรวจเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีที่แล้วว่า บริบทที่เป็นเงื่อนไขทำให้คนเกาหลีลุกขึ้นต่อสู้กับระบอบการปกครองที่ไม่เป็นธรรมในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างไร ผลลัพธ์ของการต่อสู้ออกมาในรูปแบบไหน และส่งผลต่อการเรียนรู้ของเพื่อนบ้านเอเชียอื่นๆ หรือไม่ เพราะมีข้อมูลที่น่าสนใจครับว่า ขบวนการ 1 มีนาคมนี้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของขบวนการ 4 พฤษภาคมในจีนและการรณรงค์อารยะขัดขืนของมหาตมา คานธี ในอินเดีย
บทความในส่วนหลังเป็นการประมวลและวิเคราะห์นัยยะของกิจกรรมรำลึกที่พี่น้องมวลมหาโคริยาชนร่วมกันจัดขึ้น พร้อมกับเสนอข้อคิดทิ้งท้ายว่า แม้อดีตจะเป็นรากฐานสำคัญของปัจจุบันและอนาคต แต่ผู้คนในสังคมก็ไม่ควรขังตัวเองไว้กับเงาของอดีต แล้วปล่อยให้มันบดบังโอกาสที่จะสร้างอนาคตของส่วนรวมจากวิธีคิด วิธีทำ หรือวิธีมองโลกแบบใหม่ ในแบบที่ไม่เคยเป็นหรือไม่เคยรู้จักมาก่อนครับ
จาก 1 มีนาคม 1919
ขบวนการเรียกร้องเอกราชเกาหลีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1919 ก็เป็นเช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากกระบอกไม้ไผ่ แต่มีหน่อเนื้อเชื้อมูลอย่างดี รอวันจุดไฟให้ปะทุ
ในปี 1918 ก่อนเกิดขบวนการ 1 มีนาคมเพียงหนึ่งปี ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศถ้อยแถลง 14 ประการ (Fourteen Points) ต่อสภาคองเกรส เมื่อวันที่ 8 มกราคม 1918 หลักใหญ่ใจความของถ้อยแถลงอยู่ที่การให้น้ำหนักกับชนพื้นถิ่นเท่ากับเจ้าอาณานิคมในประเด็นอำนาจอธิปไตย ความข้อนี้สะท้อนอย่างชัดเจนในย่อหน้าแรกของคำประกาศเอกราชวันที่ 1 เดือน 3 (หมายถึง เดือนมีนาคม) (Proclamation of Korean Independence/3.1독립선언서) ซึ่งระบุว่า “โชซ็อนเป็นรัฐที่ไม่ขึ้นต่อใครและชาวโชซ็อนก็ปกครองตนเองได้” และขอ “ยืนยันความเสมอภาคเฉกเช่นชาติสมาชิกอื่นๆ” (ดูคำประกาศฉบับถอดความภาษาอังกฤษ ที่นี่ ดูเนื้อหาต้นฉบับที่เขียนด้วยอักษรฮันจาและฮันกึล ที่นี่)
ส่วนปัจจัยภายในของเกาหลีที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว โดยมากมาจากแรงกดดันที่ประชาชนได้รับจากระบอบอาณานิคมญี่ปุ่นที่ไม่เป็นธรรม กดขี่และเอารัดเอาเปรียบ เช่น มีการลดพระราชฐานะของกษัตริย์เกาหลีให้มีสถานะเป็นรองจากสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น เปลี่ยนชื่อประเทศจากจักรวรรดิฮันอันยิ่งใหญ่หรือแทฮันเชกุก (Korean Empire/대한제국/大韓帝國) ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 1897 กลับไปเป็นโชซ็อน (หรือโชเซ็นในภาษาญี่ปุ่น) (Joseon/조선/朝鮮) ออกพระราชบัญญัติการศึกษาบังคับเรียนภาษาญี่ปุ่นกับครูชาวญี่ปุ่นและใช้แบบเรียนของญี่ปุ่นเท่านั้น ออกกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่ม แก้ไขกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้ชาวญี่ปุ่นเข้าไปยึดครองที่ดินของชาวโชซ็อนได้ ฯลฯ
ในเดือนมกราคม 1919 กษัตริย์โคจงสวรรคตอย่างน่าสงสัย ซึ่งสันนิษฐานว่า พวกญี่ปุ่นปลงพระชนม์ด้วยยาพิษ กรณีสวรรคตนี้เป็นเหตุให้ชาวโชซ็อนไม่อาจนิ่งเฉยต่อไปได้อีก ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นักเรียนโชซ็อนจำนวนประมาณ 600 คนรวมตัวกันชุมนุมกันที่หน้าสำนักงาน YMCA กรุงโตเกียว ผลัดกันขึ้นปราศรัยและอ่านร่างคำประกาศเอกราชที่ได้เตรียมไว้ วิธีที่ชาวโชซ็อนในกรุงโตเกียวใช้สื่อสารความปรารถนาให้ชาวโชซ็อนในโซลรับรู้คือ แอบซ่อนร่างคำประกาศนี้ไว้ใต้หมวกแล้วข้ามน้ำข้ามทะเลมาเผยแพร่
คณะผู้ก่อการที่มีคนทุกเพศทุกวัยทุกชนชั้นทุกศาสนา เห็นว่าวันที่ 1 มีนาคมเหมาะสมที่สุด เพราะใกล้เคียงกับวันจัดพระราชพิธีพระบรมศพ (วันที่ 3 มีนาคม) หากลงมือในวันดังกล่าว ฝ่ายญี่ปุ่นก็จะไม่สงสัยมากนัก และยังมีโอกาสระดมมวลมหาโคริยาชนที่ตั้งใจมาถวายบังคมพระบรมศพเข้าร่วมได้อีกมาก
มีเรื่องเล่าว่า มีการพิมพ์เผยแพร่ร่างคำประกาศดังกล่าวถึง 21,000 ฉบับ แต่ถูกทหารญี่ปุ่นจับได้ นักต่อสู้ท่านหนึ่งชื่อ ซน พย็อง-ฮี ติดสินบนทหารญี่ปุ่นด้วยเงิน 5,000 วอน จึงรอดมาได้ และกลายเป็นการเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา!
Encyclopedia Britannica ได้อธิบายขบวนการเรียกร้องเอกราชเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1919 ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ผู้นำทางวัฒนธรรมและศาสนาจำนวน 33 คนเดินแจกจ่ายเอกสารที่ระบุว่าเป็นคำประกาศอิสรภาพไปทั่วกรุงโซลพร้อมกับเรียกร้องให้เพื่อนร่วมแผ่นดินออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านอาณานิคมญี่ปุ่น ในเวลาบ่ายสองโมง นอกจากในกรุงโซลแล้ว กิจกรรมอ่าน แจกจ่าย และลงชื่อสนับสนุนคำประกาศเอกราชยังเกิดขึ้นทั่วอาณาจักรโชซ็อน ซึ่งมีส่วนหนึ่งเป็นดินแดนของเกาหลีเหนือในปัจจุบัน
การเรียกร้องเอกราชเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1919 มีผลสืบเนื่องที่สำคัญสองประการ ข้อแรก เหตุการณ์วันนั้นได้ปลุกสำนึกแห่งการต่อต้าน ฝังจิตวิญญาณแห่งการไม่ยอมจำนนในหัวใจของมวลมหาโคริยาชนดังที่พวกเขาได้แสดงออกใน ‘ซีรีส์’ ของกิจกรรมต่อต้านอาณานิคมญี่ปุ่นจำนวนกว่า 1,500 ครั้ง ที่มีคนเกาหลีราว 2,000,000 คนทั่วประเทศเข้าร่วม ในจำนวนนี้มีคนที่ถูกจับกุมคุมขัง ถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิต และฝ่ายอาณานิคมญี่ปุ่นได้ดำเนินการปราบปรามอย่างต่อเนื่องตลอดปี 1919
ข้อที่สอง ทำให้เกิดการยกระดับการต่อสู้จากการชุมนุมบนท้องถนนภายในอาณาจักรโชซ็อนไปสู่การรวมกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล (Korean Provisional Government/대한민국 임시정부) ที่เซี่ยงไฮ้และที่อื่นๆ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้สังคมระหว่างประเทศเห็นว่า ชาวโชซ็อนจะไม่ยอมจำนนต่อระบอบการปกครองที่ไม่เป็นธรรมนี้อีกต่อไป
ที่สำคัญที่สุดคือ การเรียกร้องเอกราชเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1919 ถือเป็นกิจกรรมต่อต้านอาณานิคมญี่ปุ่นครั้งแรกสุด กระจายไปทั่วอาณาจักร และมีจำนวนผู้เข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีก่อนสถาปนาเป็นสาธารณรัฐ!
ทั้งนี้ เมล็ดพันธุ์แห่งการตื่นรู้นั้นไม่ได้งอกงามแต่เฉพาะบนแผ่นดินโชซ็อนเท่านั้น เพื่อนบ้านเอเชียอื่นๆ อย่างจีนและอินเดียก็รู้สึกได้ถึงความงอกงามนี้เช่นเดียวกันครับ…
บทความของชิน ยง-ฮา (Shin Yong-ha) ระบุว่า ปัญญาชนจีนพิจารณาว่าขบวนการเรียกร้องเอกราชเกาหลีในวันที่ 1 มีนาคมเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญหนึ่งของขบวนการ 4 พฤษภาคม ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านมติขององค์การสันนิบาตชาติที่ให้ยกคาบสมุทรชานตงให้ญี่ปุ่นแทนที่จะคืนให้จีน
หนังสือพิมพ์สาธารณรัฐรายวัน (Republic Daily/民國日報) รายงานข่าวของขบวนการ 1 มีนาคมในหน้าหลักทุกวัน วารสารปริทัศน์รายสัปดาห์ที่มีหลี่ต้าเจา คณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (ในขณะนั้น) เป็นบรรณาธิการ และวารสารคลื่นลูกใหม่ (New Wave/新潮) ที่มีสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นผู้จัดพิมพ์ร่วม ได้เผยแพร่ข้อเขียนที่เสนอว่า จีนควรเรียนรู้จากเกาหลีในการยืนหนึ่งต่อต้านอำนาจต่างชาติ
ขณะที่บทความของนิชิ มาซายูกิ (Nishi Masayuki) ยืนยันอิทธิพลของขบวนการ 1 มีนาคมในฐานะแรงบันดาลใจ โดยกล่าวถึงคำพูดของเฉินตู้ซิ่ว ปัญญาชนคนสำคัญของขบวนการ 4 พฤษภาคมว่า “ดูคนเกาหลีเขาทำสิ แล้วนี่พวกเรากำลังทำอะไรกันอยู่?”
สำหรับกรณีของอินเดียนั้น บทความของชิน เล่าว่า มหาตมา คานธี ตัดสินใจเดินทางกลับจากแอฟริกาใต้หลังจากได้อ่านข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหววันที่ 1 มีนาคม และเริ่มรณรงค์อารยะขัดขืนต่อต้านอาณานิคมอังกฤษ ส่วนยะวาหะราล เนห์รู ได้แสดงความชื่นชมบทบาทแข็งขันและความกล้าหาญของยุวชนสตรีในขบวนการ 1 มีนาคม ในหนังสือ Glimpses of World History ว่าเป็นสิ่งที่งดงาม
เช่นเดียวกับรพินทรนาถ ฐากูร มหากวีรางวัลโนเบลที่ได้ประพันธ์บทกวีชื่อ ‘คบไฟแห่งบูรพทิศ (Lamp of the East)’ เพื่อยกย่องวีรกรรมของนักต่อสู้เพื่อเอกราชเกาหลีในวาระครบรอบ 10 ปี ขบวนการ 1 มีนาคมในปี 1929 แม้ฐากูรจะไม่เคยเดินทางไปเกาหลี แต่เขาเองได้มีโอกาสพบกับนักศึกษาเกาหลีที่ศึกษาในญี่ปุ่น ผู้ร่างคำประกาศเอกราชนามว่า ชเว นัม-ซ็อน และเขียนบทกวีอีกชิ้นที่สื่อถึงการต่อต้านญี่ปุ่นให้ชเวไว้เป็นที่ระลึกด้วย บทกวีนั้นมีชื่อว่า ‘บทเพลงของผู้ถูกช่วงชิง (The Song of the Defeated)’
ถึง 1 มีนาคม 2019
รัฐบาลท่านประธานาธิบดีมุน แช-อิน ให้ความสำคัญแก่วาระพิเศษนี้อย่างมาก ตัวท่านเองได้เดินทางไปเยือนอาคารที่ทำการรัฐบาลเฉพาะกาลที่ฉงชิ่งเพื่อรำลึกประวัติศาสตร์ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานขึ้นชุดหนึ่งเพื่อจัดกิจกรรมรำลึกในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดประกวดสุนทรพจน์ การจัดนิทรรศการออนไลน์และออฟไลน์ ที่สำคัญ วงดุริยางค์ซิมโฟนีแห่งกรุงโซล (Seoul Philharmonic Orchestra) ได้เรียบเรียงเสียงประสานของเพลงชาติสาธารณรัฐเกาหลี (แอกุกกา/애국가) และบันทึกใหม่เพื่อเฉลิมฉลองวาระอันพิเศษนี้ด้วย
นักต่อสู้เพื่อเอกราชที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นพิเศษในปีนี้ คือ สุภาพสตรีนามว่า ยู ควัน-ซุน นักศึกษาสถาบันอีฮวา (วิทยฐานะของมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวาในขณะนั้น) เหตุที่เธอได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ ด้านหนึ่งมาจากความอาจหาญในการเผชิญหน้ากับทหารญี่ปุ่น การนำคำประกาศเอกราชกลับไปเผยแพร่ที่ช็อนอัน บ้านเกิดของเธอ และยืนหยัดต่อสู้จนเสียชีวิตในคุกเมื่ออายุเพียง 17 ปี อีกด้านหนึ่งคือ ความเป็นสุภาพสตรี ซึ่งอาจเป็นผลจากการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ในสังคมเกาหลีที่ต้องการเปิดพื้นที่ของผู้หญิงในสังคม และยูก็คือ วีรสตรีที่ถูกลืมในประวัติศาสตร์เกาหลี
กิจกรรมที่เป็นใจกลางของการรำลึกคือรัฐพิธีที่จัตุรัสควังฮวามุนครับ ท่านประธานาธิบดีและผู้แทนภาครัฐ ภาคประชาชนจำนวน 33 คนได้ประกอบพิธีเชิญธงชาติจากพระราชวังคย็องบกมายังบริเวณพิธี ผู้แทนประชาชนตั้งแต่ราษฎรอาวุโสเรื่อยมาจนถึงนักเรียนระดับมัธยมศึกษาอ่านคำประกาศเอกราชบรรทัดต่อบรรทัด จนถึงรายชื่อของผู้ลงนามท้ายประกาศเมื่อ 100 ปีที่แล้วทั้ง 33 ท่าน
นอกจากการอ่านคำประกาศเอกราชแล้ว พี่น้องมวลมหาโคริยาชนยังได้ร่วมกันเปล่งวาจาประโยคสำคัญที่บรรดานักต่อสู้ทั้งหลายตะโกนออกไปในวันนั้น นั่นคือ “อิสรภาพจักรวรรดิเกาหลีจงเจริญ! (แทฮันทงนิบมันเซ/대한독립만세)” ซึ่งรัฐบาลประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ได้ปรับมาจาก “อิสรภาพโชซ็อนจงเจริญ! (โชซ็อนทงนิบมันเซ/조선독립만세)” เพื่อระลึกถึงสถานะของเกาหลีช่วงจักรวรรดิ ก่อนที่ญี่ปุ่นจะผนวกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งในปี 1910
ส่วนกิจกรรมไม่เป็นทางการนั้นมีตั้งแต่การร่วมสนุกชิงรางวัลด้วยการคัดประโยคในคำประกาศเอกราชพร้อมกับเขียนข้อความใส่ลูกบอลจับสลากชิงโชค และวาดธงชาติเกาหลีในแบบของแต่ละคนด้วย ผมยังได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมวิ่งและปีนเขาโดยเริ่มจากย่านชินชน ขึ้นเขาที่มหาวิทยาลัยย็อนเซ และลงเขาที่บริเวณพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์คุกซอแดมุน (Seodaemun Prison History Museum) สถานที่จับกุมคุมขังนักต่อสู้เพื่อเอกราชของโชซ็อนในยามนั้น
ภาคธุรกิจหลายเจ้าได้ร่วมโพสต์รำลึก 100 ปีในสื่อต่างๆ ของตัวเอง และใช้ประโยชน์จากเลข “3.1” และ “19” ในการจัดกิจกรรมลดแลกแจกแถม หรือให้ส่วนลดด้วย สำหรับผู้บริโภคอย่างเราๆ นอกจากได้แสดงความโคริยภักดีแล้ว ก็ยังได้ซื้อของราคาถูกอีกด้วย
ที่น่าสนใจคือ ข้าวกล่องก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการรำลึกได้ครับ!
ข้าวกล่องที่ผมซื้อจากร้านมินิมาร์ตแถวบ้าน มีสติ๊กเกอร์รำลึกถึงนักต่อสู้เพื่อเอกราชท่านหนึ่งพร้อมคำอธิบายด้านล่างว่า ท่านคือใคร มีบทบาทอย่างไรในเหตุการณ์วันนั้น แหม เลยได้ตระหนักครับว่า วิธีการสร้างความรักชาตินั้นมีหลายวิธี วิธีที่แนบเนียนสร้างสรรค์อย่างนี้ก็มี ไม่ใช่เอะอะอะไรก็จะเอาแต่เปิดเพลงปลุกระดมนะครับ
อย่างไรก็ดี การรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในการเมืองเกาหลีใต้มีนัยสำคัญอยู่นะครับ นั่นคือ การเป็นวาระทางการเมืองของฝ่ายก้าวหน้าและรัฐบาลปัจจุบันในการต่อต้านญี่ปุ่นและโจมตีฝ่ายอนุรักษนิยมในเกาหลีใต้ จะเห็นได้ว่า มีความพยายามเชื่อมโยงแนวเรื่องของขบวนการ 1 มีนาคมให้เข้ากับเหตุการณ์ทางการเมืองที่ฝ่ายก้าวหน้านิยมกล่าวถึงดังภาพด้านล่างครับ
ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการในรัฐพิธีรำลึกครับ จะเห็นได้ว่า ตั้งใจเลือกเหตุการณ์ที่เป็นการต่อต้านญี่ปุ่น ต่อต้านรัฐบาลทหาร และรัฐบาลฝ่ายอนุรักษนิยม มานำเสนอโดยเฉพาะ เรียงลำดับเหตุการณ์ได้ดังนี้ครับ
- วันที่ 15 สิงหาคม 1945 วันที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม (V-J Day) และเกาหลีประกาศปลดปล่อยตัวเอง
- วันที่ 19 เมษายน 1960 การปฏิวัติเดือนเมษายนของกลุ่มชาวนาและนักศึกษา เพื่อขับไล่อดีตประธานาธิบดีอี ซึง-มัน ที่มุ่งหวังสืบทอดอำนาจ
- วันที่ 18 พฤษภาคม 1980 การเรียกร้องประชาธิปไตยและการสังหารโหดที่เมืองควังจู
- วันที่ 10 มิถุนายน 1987 การต่อสู้ในเดือนมิถุนายนเพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร และเรียกร้องการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย
- ปี 1998 รัฐบาลฝ่ายก้าวหน้าของท่านประธานาธิบดีคิม แท-จุง ปลดหนี้กองทุนการเงินสำรองระหว่างประเทศหรือ IMF
- ปี 2016 ชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงขับไล่นางสาวปัก คึน-ฮเย
- และล่าสุด ปี 2018 การประชุมสุดยอดผู้นำเหนือ-ใต้ครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างท่านมุนกับประธานคิม จ็อง อึน
เพิ่มเติมจากนิทรรศการนี้ คณะกรรมการดำเนินงานได้เผยแพร่บทเพลง 3456 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในเดือนมีนาคม เดือนเมษายน เดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายนข้างต้นโดยลำดับ โดยเชิญคิม ย็อนอา นักสเก็ตน้ำแข็งระดับโลก และฮา ฮย็อนอู นักร้องดังขวัญใจวัยรุ่นแห่งวง Guckkasten ร่วมกันถ่ายทอดบทเพลงดังกล่าว
ส่วนคุณค่าและความหมายของขบวนการ 1 มีนาคมนี้ จะอยู่ในใจพี่น้องมวลมหาโคริยาชนคนดีไปได้อีกนานแค่ไหนนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับพี่ๆ เขาว่าจะส่งต่อกันไปอย่างไรนะครับ ด้านหนึ่งคนเกาหลีก็พึงจำสิ่งที่ญี่ปุ่นทำไว้เป็นบทเรียน อะไรที่ไม่เป็นธรรมก็ต้องยืนหยัดและเรียกร้องต่อไป แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ไม่ควรให้อดีตที่เจ็บปวดนั้นทำให้สังคมส่วนรวมและคนรุ่นหลังต้องเสียโอกาสจากความขัดแย้งหรือข้อพิพาทใดๆ กับญี่ปุ่นครับ
คำขวัญหลักของการรำลึกครั้งนี้บอกเราชัดอยู่แล้วครับว่า ให้เรานึกถึง “100 ปีที่ทำมาด้วยกัน และอนาคตที่จะร่วมกันทำต่อไป (함께 만든 100년, 함께 만드는 미래)” ผมคิดว่า นี่คือบทสรุปที่เหมาะสมที่สุดของบทความนี้ครับ
Tags: การเมือง, เกาหลีใต้, อาณานิคมญี่ปุ่น