การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่จัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ต่างได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าบรรดาผู้นำจาก 120 ประเทศที่เดินทางมาเข้าร่วมจะหาข้อตกลงแก้ไขกับภาวะโลกร้อนที่กำลังเข้าสู่เส้นตายอย่างไร 

เมื่อวานนี้ (1 พฤศจิกายน 2021) เป็นความคืบหน้าอีกก้าวหลังผู้นำกว่า 100 ประเทศ เช่น บราซิล อินโดนีเซีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  ซึ่งมีพื้นที่ป่าครอบคลุม 85% ของโลก เพิ่งให้คำมั่นว่าพวกเขาจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าให้ได้ภายในปี 2030 

“เรามีโอกาสจะยุติประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติในฐานะผู้ทำลายธรรมชาติ และกลายเป็นผู้พิทักษ์แทน” บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมกล่าว

ภายใต้ข้อตกลง ระหว่างปี 2021 – 2025  12 ประเทศ จะจัดหาเงินทุนราว 1.2 หมิ่นล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมและแก้ไขปัญหาไฟป่า ขณะกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสินทรัพย์มูลค่า 8.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ให้คำมั่นว่าจะหยุดลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2025 พร้อมสนับสนุนเงินในการอนุรักษ์ป่ากว่า 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

นอกจากนี้ รัฐบาลของ 28 ประเทศยังได้ให้คำมั่นในการขจัดการตัดไม้ทำลายป่าออกจากการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ เช่น น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง และโกโก้ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีส่วนผลักดันให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมากเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับทำฟาร์มปศุสัตว์และการทำเกษตรกรรม

ตามข้อมูลของ World Resources Institute องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ป่าไม้สามารถดูดซับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศได้ประมาณ 30% และป้องกันไม่ให้สภาพอากาศของโลกร้อนขึ้น ทว่าต้นไม้กลับถูกโค่นหายไปในเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบัน พื้นที่ป่าขนาด 27 สนามฟุตบอลหายไปทุกๆ นาที โดยปี 2020 เพียงปีเดียวโลกสูญเสียพื้นที่ป่าไปกว่า 2.58 แสนตารางกิโลเมตร 

ขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลระบุด้วยว่า ชนเผ่าพื้นเมือง นับเป็นแนวหน้าสำคัญในการปกป้องพื้นที่ป่าจากการถูกรุกราน ทว่า พวกเขาต้องเผชิญกับภัยคุกคามหรือความรุนแรงอยู่เสมอ โดยในปี 2020 มีนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเสียชีวิตถึง 227 ราย สูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ชุมชนพื้นเมืองมากกว่า 1 ใน 3 จะได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น ดังนั้น ผู้นำ 5 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ร่วมด้วยกลุ่มองค์กรการกุศลระดับโลกจึงจะจัดหาเงินทุนอย่างน้อย 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการปกป้องป่าของชนเผ่าพื้นเมือง และส่งเสริมสิทธิ์ในที่ดินของพวกเขา

นับเป็นข่าวดีที่ 100 ประเทศลงนามว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่า แต่ศาสตราจารย์ไซมอน เลวิส (Simon Lewis) ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศและป่าไม้ที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน มองว่าสิ่งนี้เคยเกิดขึ้นในปฏิญญานครนิวยอร์กว่าด้วยป่าไม้ (New York Declaration on Forests) เมื่อปี 2014 ที่มีกว่า 40 ประเทศเข้าร่วม แต่ไม่สามารถชะลอการตัดไม้ทำลายป่าได้เลย และข้อตกลงใหม่ไม่ได้พูดถึงวิธีจัดการความต้องการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้น อันเป็นสาเหตุหนึ่งในการบุกรุกพื้นที่ป่า ทางที่ดีจึงควรแก้ไขปัญหาการบริโภคเนื้อสัตว์ในระดับสูงของประเทศต่างๆ ด้วย 

ที่มา: 

https://www.bbc.com/news/science-environment-59088498

https://www.reuters.com/business/environment/over-100-global-leaders-pledge-end-deforestation-by-2030-2021-11-01/

https://www.theguardian.com/environment/2021/nov/01/cop26-indigenous-peoples-to-get-17bn-in-recognition-of-role-in-protecting-forests-aoe

https://www.bbc.com/thai/international-59121888

Tags: , , , ,