ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะเดินทางเยือนเมียนมาในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ผู้นำปักกิ่งจะผลักดันแผนการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อเปิดทางให้ดินแดนตอนใต้ของจีนมีทางออกสู่ทะเล การเยือนครั้งนี้จึงมีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับมหาอำนาจเอเชีย
ระหว่างการเยือนของสีจิ้นผิงในช่วงวันที่ 17-18 มกราคม ประธานาธิบดีจีนจะผลักดันโครงการขนาดใหญ่ 2 โครงการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความริเริ่มแถบและทางในส่วนที่จะเชื่อมจีนเข้ากับย่านเอเชียใต้
นั่นคือ ท่าเรือน้ำลึก เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และอาจรวมถึงโครงการเส้นทางรถไฟที่จะเชื่อมจีนกับเมียนมาด้วย
จีนกับเมียนมาจะลงนามในบันทึกความเข้าใจหลายฉบับ เพื่อยืนยันความตั้งใจของประเทศทั้งสองที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อนางอองซาน ซูจี ในเรื่องปัญหาชาวมุสลิมโรฮิงญา
ประตูสู่มหาสมุทรอินเดีย
เมื่อวันศุกร์ (10 ม.ค.) รัฐมนตรีช่วยฯ ต่างประเทศของจีน โหลวจ้าวฮุย แถลงว่า ประธานาธิบดีสีจะหยิบยกเรื่องโครงการท่าเรือน้ำลึกที่เมืองจ็อกผิ่ว (Kyaukphyu) ในรัฐยะไข่ กับโครงการเขื่อนมิตโซน (Myitsone) ในรัฐกะฉิ่น ขึ้นหารือกับผู้นำเมียนมา
รัฐมนตรีช่วยฯ พาณิชย์ของเมียนมา อู อ่อง ตู เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสฯ ว่า ประเทศทั้งสองจะลงนามในเอ็มโอยูหลายฉบับ เช่น ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชายแดน ความร่วมมือด้านการค้า และเขตเศรษฐกิจพิเศษจ็อกผิ่ว
เขตเศรษฐกิจจ็อกผิ่วเป็นส่วนสำคัญของแผนระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanmar Economic Corridor) หรือซีเม็ก (CMEC) ซึ่งทั้งสองชาติได้ลงนามเอ็มโอยูกันไว้ตั้งแต่ปี 2018 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า
แผนซีเม็กจะสร้างเส้นทางรถไฟความยาว 1,700 กม.จากคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ผ่านเมืองมูเซของรัฐฉาน ไปยังเมืองมัณฑะเลย์ในภาคกลางของเมียนมา จากนั้นแยกเส้นทางไปยังนครย่างกุ้งสายหนึ่ง และไปยังเขตเศรษฐกิจจ็อกผิ่วทางตะวันตกอีกสายหนึ่ง
ในเขตเศรษฐกิจจ็อกผิ่วนั้น หนึ่งในโครงการสำคัญ คือ ท่าเรือน้ำลึก ซึ่งจะกลายเป็นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียสำหรับจีนตอนใต้ และช่วยให้จีนสามารถนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางโดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา
อีกโครงการคือ เขื่อนมิตโซน มูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดยักษ์ มีกำลังผลิตไฟฟ้า 6,000 เมกะวัตต์
โครงการซึ่งจะขายกระแสไฟฟ้าส่วนหนึ่งให้แก่จีนนี้ สร้างขึ้นเหนือต้นน้ำของแม่น้ำอิระวดี จึงถูกวิจารณ์อย่างหนักในแง่ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่งตัดสินใจระงับโครงการเมื่อปี 2011
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงโครงการเขื่อนดังกล่าว รัฐมนตรีโหลว บอกว่า ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างติดต่อสื่อสารกันอย่างใกล้ชิดในเรื่องนี้
ปีที่แล้ว เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลจะรื้อฟื้นโครงการสร้างเขื่อนที่มีแนวสันเขื่อนยาว 1.3 กิโลเมตร สูง 140 เมตรแห่งนี้ ชาวเมียนมาหลายพันคนออกมาประท้วงบนท้องถนน แม้แต่ซูจีเองก็เคยคัดค้านเมื่อสมัยยังไม่ได้เป็นผู้นำรัฐบาล แต่หลังจากชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2015 นางบอกว่า เราต้อง “มองให้กว้างๆ”
ใครไม่คบ เชิญหันมาซบเรา
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเหล่านี้จะทำให้เมียนมากับจีนใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ในขณะที่นานาชาติ โดยเฉพาะชาติตะวันตกกับชาติมุสลิมวิจารณ์รัฐบาลของอองซาน ซูจีอย่างหนักในเรื่องการละเมิดสิทธิต่างๆ ของชาวโรฮิงญา
เมียนมาจึงเป็นอีกประเทศหนึ่งในเอเชียที่ผู้นำเลือกที่จะหันไปซบอกรัฐบาลปักกิ่งเมื่อเผชิญกับปัญหาความยอมรับในเวทีโลก ซึ่งจีนพร้อมที่จะอ้าแขนรับเพื่อประโยชน์ต่างตอบแทน
สีจิ้นผิงนับเป็นประธานาธิบดีจีนคนแรกที่ไปเยือนเพื่อนบ้านทางใต้ในช่วงเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ ในปีนี้เป็นวาระครบรอบ 70 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน จีนคงใช้โอกาสนี้กระชับมิตรไมตรีกับเมียนมาให้แน่นแฟ้นขึ้นไปอีก โดยผ่านการทำข้อตกลงต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการค้าและการลงทุน
ทุนจีนจะส่งผลอย่างไรต่อสถานะทางเศรษฐกิจและการเมืองของเมียนมา คนเมียนมาจะมีท่าทีตอบสนองต่อการขยายบทบาทของจีนเข้ามาในประเทศอย่างไร รัฐบาลเมียนมาจะทำอย่างไรต่อเสียงร้องเรียนต่างๆ ภายในประเทศต่อโครงการของจีน เช่น เส้นทางรถไฟคุนหมิง-มูเซ-มัณฑะเลย์ หรือเขื่อนมิตโซน ซึ่งถูกมองว่าอาจส่งผลประทบด้านลบในด้านสังคมและสภาพแวดล้อม
เหล่านี้เป็นประเด็นคำถามต่อเสถียรภาพของการเมืองภายในของเมียนมา
แผนการแถบและทางในส่วนของเมียนมาจะเอื้อประโยชน์อย่างไรต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของดินแดนตอนในทางตอนใต้ของจีน และความร่วมมือเหล่านี้จะมีนัยด้านความมั่นคงอย่างไรต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้
เหล่านี้เป็นประเด็นคำถามต่อเสถียรภาพของการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาค
คำตอบต่อภาพใหญ่ทั้งสองภาพ ต้องตีตั๋วยาวรอชม.
อ้างอิง:
The Irrawaddy, 10 January 2020
AFP via The Star Online, 10 January 2020
ภาพ: Jason Lee/ REUTERS
Tags: จีน, สีจิ้นผิง, แถบและทาง, เมียนมา