“พี่คะ หนูจะแจ้งขอลาออก”

“พี่ครับ ผมได้งานใหม่แล้ว”

เมื่อถึงวันลาจาก การบอกลามักจะเป็นช่วงเวลาที่กระอักกระอ่วนใจเสมอ จะเริ่มอย่างไรดี จะหว่านล้อมหัวหน้าแบบไหน จะชักแม่น้ำทั้งห้าอย่างไร เพื่อบอก ‘พี่ๆ’ ว่าถึงเวลาต้องไปเติบโตที่อื่น หรือเปลี่ยนเส้นทางชีวิตแล้ว

ใช่ – หากได้งานใหม่ที่ดีกว่า หากมีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือจะริเริ่มธุรกิจเป็นของตัวเอง ก็คงมีเหตุผลที่ดี สามารถเดินไปบอกด้วยรอยยิ้มว่าพร้อมแล้วที่จะถึงเวลาต้องก้าวหน้าไปอีกขั้น

แต่ในทางตรงกันข้าม การลาออกอาจหมายถึงความรู้สึกสุดทนกับสภาพการทำงานเยี่ยงทาส อาจหมายถึงวุฒิภาวะหัวหน้าที่ไม่ได้ความ อาจหมายถึงการทำงานไม่ตรงสาย ไม่ตรงปก หรืออาจหมายถึงการเมืองภายในที่มีลำดับขั้นยุบยับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากหากต้องพูดเรื่องนี้ตรงๆ เพราะย่อมมีตัวละครที่เกี่ยวข้อง มีเรื่องราวที่ยังคุกรุ่น ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และมีอารมณ์ร้อนแรงในใจ ชนิดที่พร้อมจะระเบิดได้ตลอดเวลา กลายเป็นปัญหาคาราคาซังในระยะยาว ไม่อาจเผาผีกันได้ในอนาคต

Work Tips สัปดาห์นี้ จะอธิบายว่าเพราะอะไรถึงไม่ควรถามเหตุผลหากพนักงานสักคนจะตัดสินใจลาออก และพยายามหาคำตอบว่าเพราะเหตุใดหลายคนถึงไม่อยากบอกความในใจเมื่อถึงเวลา ณ ขณะนั้น

1. ไม่อยากทำร้ายใจกัน

แน่นอนว่าเหตุผลในการลาออกของพนักงานจำนวนไม่น้อยเกิดจากเรื่องประสาทกิน ทั้งเรื่องต้องทำงานเยี่ยงทาส ทำงานดึกดื่น ทำงานวันเสาร์อาทิตย์ ไร้วันหยุด ไร้เวลาพักผ่อน บางบริษัทให้ทำงานทุกอย่างแต่ให้เงินเดือน 1.5 หมื่นบาท ขณะที่บางบริษัท นอกจากมีภาระงานทั่วไปแล้ว ยังต้องรองรับอารมณ์ของเจ้านาย ของผู้บริหารด้วยว่าถึงที่สุดจะมาไม้ไหน

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องยากนัก หากพนักงานคนหนึ่งจะตัดสินใจเดินไปขอใบลาออก… ทว่าหัวหน้าของคุณกลับ ‘ตกใจ’ เป็นอย่างมากกับการตัดสินใจนี้ และพยายามใช้เวลาในโอกาสนั้นค่อยๆ ตะล่อมถามว่า ‘คิดจะออกจริงๆ หรือ?’

เมื่อถึงเวลานั้น พนักงานบางคนอาจไม่อยากทำร้ายจิตใจหัวหน้า ผู้เคยมีความสัมพันธ์ มีประสบการณ์ดีๆ ร่วมกันมา พนักงานบางคนอาจอาจไม่อยากทำร้ายองค์กรที่จ่ายเงินเดือนมา ด้วยสาเหตุที่ไม่ชอบต่อล้อต่อเถียง หรือด้วยสาเหตุอื่นๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไป

2. เรื่องบางเรื่องยังคุกรุ่น

สำนวนฝรั่งระบุไว้ว่า Revenge is a dish best served cold. การแก้แค้นนั้นเป็นอาหารที่ดีที่สุด หากเสิร์ฟเมื่อเย็นลง อาจอธิบายเรื่องนี้ได้ดี… หากการมีวิวาทะกับบุคคลที่สอง หรือบุคคลที่สาม เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณลาออก เพราะสุดจะทนกับการปะทะ แต่คนที่สอง ที่สาม ยังคงมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ในองค์กร ขณะเดียวกัน เรื่องบางเรื่องก็ยังไม่ได้คลี่คลาย ด้วยอารมณ์ยังคุกรุ่นเกินไป ด้วยบางเรื่องมีปัจจัยแวดล้อมมากกว่าจะพูดตรงๆ หรือด้วยบางเรื่องหากถกเถียงกันจะเป็นการ ‘ต่อความยาว สาวความยืด’ ไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากจะปะทะฝีปากใส่กัน

เมื่อเป็นเช่นนั้น การทิ้งเวลาสัก 6 เดือน 1 ปี รอให้ความคุกรุ่นซาลง ความทรงจำถูกถมด้วยเรื่องใหม่ๆ อาจเป็นประโยชน์มากกว่าบอกทุกเรื่องจนกลายเป็นผิดใจกัน

3. ถ้าจะถามกันจริงๆ ควรใช้บุคคลที่สามที่ไม่เกี่ยวข้อง

โดยหลักการ Exit Interview มักจะเป็นวิธีที่องค์กรใหญ่ๆ ใช้ เมื่อมีพนักงานตัดสินใจลาออก เพื่อหาจุดอ่อน ถามข้อบกพร่องของทีม หรือประเมินการตัดสินใจของหัวหน้าว่าทำอะไรถูก-ผิด หรือไม่ ทว่าหลักการสำคัญของ Exit Interview คือต้องจัดการอย่างเป็นระบบ อย่างเป็นทางการ และกระทำโดยบุคคลที่สามที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ได้อยู่ทีมใคร มีวุฒิภาวะ ไม่เอาข้อมูลในแง่ลบที่ได้ไปขยายให้ใหญ่ขึ้น อีกทั้งต้องมีอำนาจในการตัดสินใจมากพอที่จะเปลี่ยนเรื่องร้ายเป็นดี ประคององค์กรให้ไปต่อได้

แต่หาก Exit Interview มิอาจทำอย่างมีวุฒิภาวะ ไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง Exit Interview อาจกลายเป็นเวทีระบายอารมณ์ เป็นการเปิดประเด็นวงนินทาใหม่ หรืออาจหายไปในสายลม ข้อผิดพลาดเดิมไม่ได้ถูกส่งต่อ ไม่ได้ถูกแก้ไขไปโดยปริยาย

เพราะฉะนั้น บุคคลที่สาม ผู้รับฟัง และบรรดาฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงมีส่วนสำคัญมากในการจัดการปัญหาเรื่องคน มากพอๆ กับหัวหน้างานด้วยซ้ำในสถานการณ์เช่นนี้

4. เพราะจากกันด้วยความรู้สึกดีๆ ย่อมมีประโยชน์กว่าทิ้งระเบิด

หากไม่ได้ผิดใจกันถึงขั้นฟ้องร้องเอาความ หรือเลวร้ายขนาดผิดสัญญาจ้าง เรื่องสำคัญจริงๆ หาใช่การทิ้งทุกอย่างหมดเปลือกในวันลาออก เพราะวันหนึ่งคุณอาจต้องกลับเข้ามาทำงานที่นี่อีกครั้ง หรืออาจได้ทำงานคนจากองค์กรเดียวกันอีกครั้ง มากไปกว่านั้นเมื่อโตขึ้น คุณอาจมองปัญหาในวันที่คุณลาออกด้วยสายตา ด้วยวิธีคิดที่เปลี่ยนไป การจากกันด้วยเรื่องดีๆ เก็บเรื่องร้าย เก็บความขุ่นเคืองเอาไว้ในใจ ย่อมเป็นเรื่องที่พึงกระทำ

5. ลาออกก็คือลาออกสิ จะถามทำไม

ประเด็นก็คือ ในองค์กรหนึ่งๆ มักจะไม่พอใจหากมีพนักงานลาออก ยิ่งหากเป็นมนุษย์ป้า จู้จี้ เจ้าระเบียบที่เพิ่งขึ้นเงินเดือนให้คุณ เพิ่งพาคุณไปเลี้ยงข้าวดีๆ หรือเพิ่งพาไปเอาท์ติงที่ฮอกไกโด ย่อมตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงหากคุณตัดสินใจเดินไปขอใบลาออก

แน่นอน ความรู้สึกแรกของคุณคือ ‘ลาออกก็คือลาออกสิ จะถามทำไมวะ’ แต่ถ้ามองโลกในแง่ดี เขาอาจอยากปรับตัวเอง เขาอาจอยากขึ้นเงินเดือนให้คุณ หรืออาจอยากปรับคุณไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น เพื่อแก้ปัญหาทั้งหลายที่เคยเกิดในเวลาที่ยังอยู่ด้วยกัน แต่ถ้ามองในแง่ร้าย เขาย่อมอยากสอดรู้สอดเห็น ถ้าจากกันไม่ดี หรือเขาไม่ชอบคุณมากๆ เขาอาจหวังให้คุณออกไปจากที่นี่ไวๆ และไปที่ไหนก็ไม่เจริญ

อย่างไรก็ตาม ขอให้คิดถึงเรื่องดีๆ ที่เคยทำร่วมกันไว้และพึงระลึกเสมอว่าคนหนึ่งคนย่อมรู้จักคนอีกหลายช่วงคน หากคุณยังต้องอยู่ในแวดวงเดิม วงการเดิม เขาคนนั้นย่อมสามารถนำท่าทีที่ไม่ดีไปพูดต่อ เล่าต่อ ทำให้คุณเสียหายในที่สุด เพราะฉะนั้น การที่เขา ‘ถาม’ อาจหมายความได้สองด้าน แต่การที่เขาถาม ก็ไม่ได้แปลว่าคุณต้องตอบทุกเรื่อง และสุดท้าย อยู่ที่ตัวคุณเองว่าจะเลือกใช้คำพูดแบบไหน แบบประนีประนอม หรือขวานผ่าซาก แบบทิ้ง ‘ระเบิด’ หรือแบบใช้มธุรสวาจา

ทั้งหมดนี้คุณสามารถเลือกได้ และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ และล้วนขึ้นอยู่กับตัวคุณว่าอยากให้เรื่องไปทางไหน

Tags: , , , ,