“เป็นผู้ใหญ่นี่มันไม่สนุกเลยว่ะ”
ทุกข์ของคนวัย 30 ต้นๆ 30 กลางๆ กระทั่ง 40 ต้นๆ ที่ต้องเริ่มเขยิบจากงานที่ตัวเองถนัดมาเป็น ‘งานบริหาร’ ก็คือการต้องแบกรับความคาดหวังจากทั้งสองฝั่ง เคยมีคำกล่าวไว้ว่าคุณอาจเก่งในด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เมื่อคุณเขยิบเป็นผู้บริหาร วันนั้นคุณอาจเป็นผู้บริหารที่ห่วยขึ้นมาทันที
ไม่ใช่เรื่องแปลก การบริหารเป็นอีกหนึ่งทักษะที่ซับซ้อน คุณไม่อาจทำงานให้ตัวเองพอใจได้เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หากแต่คือการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเป้าในเชิงปริมาณ อาจเป็นยอดขาย อาจเป็นความถี่งาน หรืออาจเป็นเป้าในเชิงคุณภาพ ก็ต้องถูกตัดสินด้วยหลายสายตา หลายกรอบในการมอง สารพัดตัวชี้วัดถูกขีดขึ้นในขณะที่คุณกำลังงมหาความสามารถของตัวเองว่าเก่งเรื่องนี้จริงหรือไม่ รู้ตัวอีกทีคุณก็ถลำลึกลงไปแล้ว แม้คุณจะยังไม่รู้ว่าเป็นคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นจริงๆ แล้วหรือยัง
ปัจจุบัน เรื่องยิ่งซับซ้อนมากไปอีก เพราะเจ้านายคุณจะมาจากอีกโลกหนึ่ง คนวัย 40–50–60 ขึ้นไป โตมาในโลกที่วัดคุณค่ากันด้วยการทำงานหนัก พวกเขาอยู่ในยุคที่หลายอย่างตรงไปตรงมา ถ้าคุณทำงานหนัก คุณย่อมต้องได้ผลลัพธ์ที่ดี พวกเขาเติบโตในโลกที่ ‘คำสั่ง’ คือ ‘คำสั่ง’ ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะไม่สมเหตุสมผลเพียงใด ขณะเดียวกัน ระบบ Hierarchy ก็เข้มข้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามลำดับขั้น เป็นไปตามระบบอาวุโส และหากในวัยเขาสามารถทำตามเป้าได้ คุณก็ต้องทำให้ได้
ขณะที่ขนมปังแผ่นข้างล่างนั้น ‘อ่อนนุ่ม’ กว่า ใช่–เด็กรุ่นใหม่มีทักษะการทำงานที่หลากหลาย แต่โลกของเขาเป็นอีกโลกหนึ่ง เป็นโลกที่มองหาเหตุผล มองหาคำตอบในทุกอย่าง เป็นโลกที่มองการทำงานหนักแต่ได้ผลตอบแทนต่ำเป็นเรื่องไร้สาระ จำนวนไม่น้อยไม่ได้คาดหวังจะหมุนไปตามโลก แต่โลกต้องหมุนตามพวกเขาโดยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่เชื่อในชนชั้น ไม่เชื่อใน Hierarchy เป็นโลกที่อยู่ตรงกันข้ามกับขนมปังแผ่นบน
ทว่า ขนมปังแผ่นบน ย่อมหวังให้คนรุ่นใหม่ต้องเป็นไปในแบบเดียวกับตัวเอง… คนตรงกลางเองก็แบกความคาดหวังจากคนข้างบนว่าต้อง Lead ให้ข้างล่างเป็นไปตามนั้น ขณะเดียวกัน คนตรงกลางจะถูก ‘น้องๆ’ ถามหาเหตุผลมากขึ้นเรื่อยๆ หากทำอะไรที่ขัดหรือแย้งกับความรู้สึกเขา ทำอย่างไรกับความต้องการที่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่มีคำว่า Work Life Balanced เป็นหนึ่งในศูนย์กลาง
แล้ว ‘เนื้อ’ ที่อยู่ตรงกลาง การเป็น Sandwich ต้องวางตัวอย่างไร ในสถานการณ์อันยากลำบากแบบนี้
1. ยืนบนหลักการให้แน่วแน่
คุณไม่สามารถโอนอ่อนไปได้ทุกอย่าง หลักใหญ่ของเรื่องนี้คือการหา ‘สมดุล’ ว่าหลักการในแต่ละเรื่องคืออะไร เพราะฉะนั้น การตัดสินใจคุณต้องแน่วแน่ ต้องมีพื้นฐานที่มั่นคง ว่าหากเลือกตัดสินใจ 1 2 3 4 คุณเลือกจากอะไร คุณมีเหตุผลอะไรมารองรับ อาจเป็นด้วยเป้าหมาย ด้วยวัตถุประสงค์ที่วางไว้ หรืออาจเป็นด้วยการหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างขนมปังแผ่นบนและแผ่นล่าง
สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจก็คือในการทำงาน ไม่มีใครจะได้ไปทั้งหมด หรือเสียไปทั้งหมด แต่คือการสร้างเป้าอย่างไร ที่ทุกคนมองเห็นไปพร้อมกัน อยู่บนหลักการความเป็นจริง แต่นั่นหมายความว่าคุณต้องเป็นตัวกลางที่ดีในระดับหนึ่ง
2. ถามตัวเองเสมอว่า ‘ยังอยากทำงานนี้อยู่ไหม?’
เรื่องยากของคนระดับกลางก็คือ การเปลี่ยนสายอาชีพ เปลี่ยนสายการทำงาน จะเริ่ม ‘ยากลำบาก’ มากขึ้น ด้วยตัวเลขอายุที่มากขึ้น ภาระที่มากขึ้น และตัวเลข ‘เงินเดือน’ ที่หากไปสัมภาษณ์งานที่อื่น หากไม่มีความสามารถ ไม่เก่งจริง ก็ยากที่จะได้งานใหม่ที่ได้ค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อ
แต่นอกเหนือจากเรื่องทั้งหมดข้างต้น สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือในการบริหารใดๆ ก็แล้วแต่ คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ทุกเช้าว่า ‘ข้อดี–ข้อเสีย’ ของงานนี้คืออะไร ข้อดีน้อยไปไหม ข้อเสียมากไปหรือไม่ คุณตื่นมาทุกเช้าแล้วยังอยากทำงานนี้หรือไม่ – เพราะอะไร
งานหนึ่งๆ อาจมีเป้าหมายได้ทั้งคุณอยากทำเพื่อสังคม คุณอยากท้าทายความสามารถของตัวเอง คุณอาจอยากทำงานให้เก่งขึ้น เพื่อเลื่อนขั้น เพื่อรวย หรือเติบโตในสายงาน ล้วนเป็นคำตอบที่ ‘ฟังขึ้น’ ทั้งนั้น
แต่ถ้าถึงจุดหนึ่ง ถ้าคุณตอบไม่ได้ คุณไม่เหลือ Passion ส่วนตัวใดๆ หากแต่ทำเพื่ออยู่ไปวันๆ กินเงินเดือน คุณจะไม่เหลือความกระตือรือร้นใดๆ ทั้งสิ้น ในห้องประชุม คุณจะเป็นอากาศธาตุ ในสายตาหัวหน้าคุณจะเป็นเพียงไม้ตายซาก (Dead Wood) และในสายตาเด็กรุ่นใหม่ คุณจะเป็นคนที่ถูกมองข้าม
3. จับทั้งสองฝ่ายมาเจอกัน
ในอดีตมีคำว่า ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ ‘ผ่านทุกอย่างมาหมดแล้ว’ ในวัยนี้การเข้าหาผู้ใหญ่อาจเป็นเรื่องยาก เพราะพวกเขาโตมาในอีกรูปแบบหนึ่ง การทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายในวันนั้น อาบซับซ้อนกว่า หรืออาจง่ายกว่านี้ก็ได้
ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ต้องการการทำงานที่เป็นระเบียบ มีเป้าหมาย จุดประสงค์ชัด มีเส้นแบ่งที่ชัดระหว่างเวลาทำงาน–นอกเวลางาน ขณะเดียวกัน เรื่องสุขภาพจิต สุขภาพใจ กลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญ ต่างจากเมื่อก่อน ที่ทุกคนรู้สึกว่าบางเรื่องเป็นเรื่อง “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” แต่เด็กรุ่นนี้ ทุกอย่างจะต้องถูกแก้ไข ถูกดำเนินการโดยทันที เพราะฉะนั้น เซสชันฮีลใจจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และแซนด์วิชทั้งหลายก็ต้องฝึกทักษะการรับฟังคน ฮีลใจคน จนกลายเป็นอีกทางเลือกที่สำคัญ นอกเหนือจากแค่บริหารงานให้บรรลุเป้าหมายเท่านั้น
ฉะนั้น เรื่องนี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องจับทั้งสองฝ่ายมาเชื่อมเข้าหากัน ทำความรู้จักกัน ซึ่งโลกของแต่ละคน แต่ละฝ่าย เป้าหมายในการทำงาน อะไรบ้างที่ ‘หย่อน’ ได้ อะไรบ้างที่ต้องทำตามระเบียบ เพราะหากให้คุณเป็นคนเคลียร์ทั้งหมด ย่อมไม่มีทางจัดการได้ทุกปัญหา จริงไหม?
4. อย่าลืมว่าชีวิตมีเรื่องอื่น นอกจากงาน
อันที่จริง Sandwich Generation ถูกใช้ขึ้นมาเพื่ออธิบายคนวัยนี้ในเรื่องส่วนตัว ในหลายประเทศ คนวัยนี้มักจะมีเรื่องอื่นที่ต้องทำนอกเหนือจากงานอีกแยะ ไม่ว่าจะเป็นการต้องเลี้ยงลูก ต้องดูแลพ่อแม่ที่เริ่มสูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เรื่องที่หนักหนาในประเทศไทยก็คือ คนวัยนี้นอกจากจะทำงานอย่างหนักแล้ว ยังได้ค่าตอบแทนที่ไม่มากพอในการซื้อบ้านดีๆ ในการสร้างครอบครัว แม้พวกเขาจะทำงานอย่างหนักก็ตาม…
กระนั้นเอง อย่าลืมว่ายังมีเรื่องอื่นที่สำคัญมากกว่าในชีวิต เพราะการเป็น ‘ระดับกลาง’ แท้จริงแล้วก็คือ ‘หัวโขน’ อย่างหนึ่ง ที่ถูก ‘บอส’ จ้างมาปะทะ รับเรื่องงี่เง่าบางเรื่อง อาจมากเรื่อง หรืออาจน้อยเรื่อง ต่างกรรมต่างวาระ แต่อย่าลืมว่าชีวิตจริง นอกเหนือจากที่ทำงานก็มี คุณยังมีหลายคนที่คุณเป็นห่วง ยังมีอีกหลายคนที่ต้องดูแล และยังมีชีวิตนอกเหนือเวลางานที่คุณจะต้องใช้ เพราะวันหนึ่ง หากหัวโขนนี้หมดไป คุณก็แค่หนึ่งคนธรรมดา
ฉะนั้น หากไม่สามารถจัดการได้ทุกเรื่อง ทุกอย่าง ก็ลองปล่อยบางเรื่อง วางบางเรื่องลงบ้าง ไปหาอะไรดีๆ กิน ไปหาที่เที่ยวพักผ่อนบ้าง บางเรื่อง คุณอาจไม่สามารถจัดการได้ ณ เวลานั้น และหลายเรื่อง หากคุณมีเวลานิ่งคิด ตกผลึก เมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างจะดีขึ้นเอง…
Tags: การทำงาน, หัวหน้า, ลูกน้อง