หากเด็กรุ่นใหม่เรียกคนรุ่นเก่าว่าเป็น ‘ไดโนเสาร์’ Snowflake หรือ ‘เกล็ดหิมะ’ ก็กลายเป็นคำใหม่ที่คนรุ่นเก่าเรียกคนรุ่นใหม่
ความหมายของ Snowflake คือการมองคนรุ่นใหม่ในฐานะเจเนอเรชันที่อ่อนไหวง่าย สนใจแต่ตัวเองมากเกินไป บอบบาง และขี้เกียจ
ประเด็นก็คือเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้อย่างเดียว เมื่อ 30 ปีก่อน ผู้อาวุโสกว่าก็เรียกคนเจเนอเรชันเอ็กซ์ทุกวันนี้ว่าเป็นพวกอดทนน้อยกว่าเช่นกัน และเมื่อทศวรรษที่แล้ว คนเจเนอเรชันวายก็ถูกคนเจเนอเรชันเอ็กซ์ หรือบรรดาเบบี้บูมเมอร์เรียกว่าเป็นพวก ‘เหลาะแหละ’ ไม่มีความแข็งแกร่งเท่าคนรุ่นก่อนหน้า
ประเด็นก็คือคนแต่ละรุ่นมี ‘ฟิลเตอร์’ ในการมองโลกและการวัดความอ่อนแอที่ต่างกัน บทความในเว็บไซต์ BBC Worklife อธิบายว่า สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญค้นพบก็คือ บรรดาเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเกิดระหว่างปี 1946-1964 และเจเนอเรชันเอ็กซ์ ซึ่งเกิดระหว่างปี 1965-1980 นั้น มักตัดสินคนเจเนอเรชันถัดมาด้วยบรรทัดฐานความสำเร็จที่มากเกินไป และอาจวัดจากมาตรฐานที่ตกยุคไปแล้ว
จริงอยู่ว่า บริบทของยุคสมัยอาจเป็นกุญแจสำคัญของการแบ่งแยกเจเนอเรชัน ทว่าในอีกด้าน การ ‘ด้อยค่า’ คนหนุ่มสาวนั้นเป็นสัญชาตญาณที่มีมาช้านานและมีมาแต่กำเนิดจนไม่อาจยกเลิกได้
แล้วการตำหนิคนหนุ่มสาวนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อไร มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร?
ปีเตอร์ โอ คอนเนอร์ (Peter O’Connor) ศาสตราจารย์ด้านการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย บอกว่าการมองเหยียดคนอีกเจเนอเรชันหนึ่งอาจเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และแนวโน้มที่คนวัยผู้ใหญ่จะดูถูกคนที่เด็กกว่านั้น อาจเกิดขึ้นมานานแล้วหลายศตวรรษ และเรื่องดังกล่าวยังดำรงอยู่ถึงทุกวันนี้ อ้างอิงจากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาที่พบว่า คนอเมริกันหลายพันคนระบุว่า ‘เด็กสมัยนี้’ ขาดทักษะเชิงบวกในการเข้าหา ‘คนรุ่นเก่า’ ทว่าก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กรุ่นนี้ไม่ได้มีคุณภาพ
ในงานวิจัยชิ้นนี้ นักวิจัยแย้งว่า อาจเป็นเพราะคนรุ่นปัจจุบันฉายตัวตนของตัวเองในปัจจุบันไปสู่ตัวตนในอดีตของตัวเอง ทำให้คนรุ่นเก่าเปรียบเทียบตัวเองในอดีตกับคนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันโดยไม่รู้ตัว และทำให้เขาเหล่านี้รู้สึกว่าเยาวชนในรุ่นปัจจุบันกำลังตกต่ำลงไม่ว่าจะอยู่ในทศวรรษใด
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พิธีกรรายการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ชาวอังกฤษ เคิร์สตี ออลล์ซอปป์ (Kirstie Allsopp) ถูก ‘ทัวร์ลง’ หลังจากวิจารณ์คนรุ่นใหม่ว่า เป็นความผิดของพวกเขาเองที่ไม่สามารถซื้อบ้านได้ ในที่สุด ออลล์ซอปป์ก็ถูกขุดค้นประวัติพบว่าเธอซื้อบ้านหลังแรกด้วยความช่วยเหลือจากครอบครัวในทศวรรษ 1990 และบอกว่าคนรุ่นใหม่ใช้เงินกับสิ่งฟุ่มเฟือย เป็นต้นว่าเน็ตฟลิกซ์หรือเป็นสมาชิกฟิตเนสมากเกินไป แทนที่จะเก็บออมเงินเหล่านี้ไว้เป็นเงินฝาก
ขณะเดียวกัน เมื่อปี 2017 ทิม เกอร์เนอร์ (Tim Gurner) นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชาวออสเตรเลีย ก็เคยพูดว่าคนรุ่นใหม่ในออสเตรเลียนั้นจ่ายเงินกับขนมปังปิ้งอโวคาโดมากเกินไป แทนที่จะเอาเงินไปซื้อบ้าน (ทั้งที่ในความเป็นจริง ราคาบ้านในออสเตรเลียนั้นพุ่งขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ค่าแรงนั้นขึ้นราว 30% เท่านั้น) นอกจากนี้ เมื่อปี 2016 คำว่า Generation Snowflake หรือคนรุ่นเกล็ดหิมะ ได้ถูกบัญญัติในพจนานุกรมของ Collin’s โดยให้ความหมายว่า ‘ผู้ใหญ่’ ที่เกิดระหว่างปี 1980-1994 ซึ่ง ‘ยืดหยุ่น’ น้อยกว่า และมีความแนวโน้มที่จะขุ่นเคืองกว่าคนรุ่นก่อน โดยคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะปฏิเสธการทำงาน 9 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็น หรือการทำงานในออฟฟิศเต็มเวลามากขึ้น
หรือในไทย มุมมองดูถูกคนรุ่นใหม่ที่ยังใช้เงินพ่อแม่ หรือยังอยู่บ้านเดียวกับพ่อแม่ ใช้เงินซื้อความสะดวกสบาย ใช้เงินฟุ่มเฟือย กินบุฟเฟต์ กินสตาร์บัคส์ แทนที่จะเก็บเงินไปซื้อบ้าน ซื้อคอนโดมิเนียม ซื้อที่ดิน ก็เกิดขึ้นตลอดเวลา
ทั้งที่ในแต่ละปี ราคาคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้าซึ่งราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 10% ต่อปี ขณะที่ GDP ของประเทศโตราว 4-5 เปอร์เซ็นต์ และดัชนีค่าจ้างแรงงานโตราว 2-3% ต่อปีเท่านั้น ในขณะที่คนรุ่นก่อนหน้าเมื่อ 10-20 ปีก่อน ยังอยู่ทันยุคที่เศรษฐกิจไทยโตราว 7-10% ต่อปี และตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ยังไม่ได้แพงสุดขั้วขนาดนี้
คำถามอีกข้อก็คือแล้ว ‘คนรุ่นก่อนหน้า’ ทำงานหนักกว่าคนรุ่นใหม่จริงหรือไม่?
ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าเป็นเรื่องจริง ในปี 2010 บรรดา ‘มิลเลนเนียล’ ที่จบปริญญาตรีช่วงปี 2004-2008 นั้น มีความอดทนและความยืดหยุ่นน้อยกว่าผู้ที่จบการศึกษาก่อนปี 1987 งานวิจัยอีกชิ้นพบว่าเด็กรุ่นหลังมีความกังวลต่อหลายสิ่งที่ไม่จำเป็น และต้องการ ‘ความใส่ใจ’ มากขึ้นจากคนรุ่นก่อนหน้า ขณะที่อีกหนึ่งการศึกษาเมื่อปี 2012 พบว่าเด็กรุ่นใหม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางมากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อนหน้า
ทว่าอีกหลายคนกลับไม่ได้มองอย่างนั้น หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้คนถูกมองว่าต่างจากคนรุ่นก่อนคือ ‘เทคโนโลยี’
คาร์ล นัสซาร์ (Carl Nassar) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา บอกว่าคนรุ่นก่อนถูกสอนให้ ‘อดกลั้น’ แทนที่จะแสดงออก แต่สำหรับคนรุ่นใหม่นั้นเป็นเรื่องตรงกันข้าม สิ่งที่ตามมาคือ ‘ความแตกแยก’
“คนรุ่นเก่ามองว่าการแสดงออกนี้เป็นสัญญาณของความอ่อนแอ เพราะพวกเขาได้รับการสอนว่าความอ่อนแอคือจุดอ่อน ไม่ใช่จุดแข็ง”
นัสซาร์มองว่าความขัดแย้งระหว่างเจเนอเรชันไม่ใช่เรื่องใหญ่ขนาดนั้น และความขัดแย้งเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงการ ‘แสดงออก’ ต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่ไม่ตรงกัน
ขณะที่ เจนนิเฟอร์ โรบินสัน (Jennifer Robinson) บรรณาธิการอาวุโสประจำ Gallup บริษัทวิเคราะห์และโพลชื่อดังของสหรัฐฯ บอกว่า ทั้งเจเนอเรชันเอ็กซ์และเบบี้บูมเมอร์ต่างก็มีปัญหาของตัวเอง แต่การพูดถึงปัญหาอาจทำให้รู้สึกว่าไม่เป็นมืออาชีพ แต่เด็กรุ่นใหม่นั้นต่างออกไป การพูดถึงปัญหาและส่งเสียงออกมาดังๆ อาจเป็นบรรทัดฐานสังคมใหม่ว่าด้วย ‘ความโปร่งใส’
เรื่องการเข้าถึง ‘ทรัพย์สิน’ ราคาแพง เป็นต้นว่าอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นแนวคิดที่คนรุ่นเก่ามักใช้ตัดสินคนรุ่นใหม่ โดยใช้บรรทัดฐานจากสิ่งที่ตัวเองเคยเผชิญ ทว่าความเป็นจริงคือบรรทัดฐานเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อนแล้ว เจ้าของบ้านรุ่นเบบี้บูมเมอร์อาจเก็บเงินซื้อบ้านเดี่ยวได้ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง และยังคงเพลิดเพลินกับการเป็นเจ้าของบ้าน รวมถึงใช้ฟิลเตอร์ในการมองว่าเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่สามารถเก็บเงินซื้อบ้านได้นั้นอ่อนแอกว่า ไม่อดทนเท่า โดยไม่ได้มองไปในปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งเรื่องราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสุดขั้ว ปัญหาค่าแรงอันซบเซา และอาชีพการงานที่อาจไม่ได้มั่นคงเท่ายุคก่อนหน้าอีกต่อไป ซึ่งทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจแล้วตัดสินใจอีกกว่าจะผ่อนคอนโดมิเนียมสักห้อง
นอกจากนี้ คนรุ่นก่อนหน้ามักจะมองคนรุ่นใหม่แบบเหมารวมว่าเป็นเจเนอเรชันที่เคร่งเครียดและซึมเศร้า ซึ่งเป็นสัญญาณว่าไม่อดทนและไม่มีความยืดหยุ่น โดยไม่ได้มองว่าคนกลุ่มนี้เติบโตท่ามกลางการระบาดของโรค เติบโตในช่วงเวลาที่คนรุ่นเดียวกันทั้งหมดรู้สึกโดดเดี่ยว และเติบโตในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจย่ำแย่ – ง่อนแง่น ความท้าทายระหว่างคนรุ่นนี้กับคนรุ่นก่อนหน้าจึงแทบเทียบกันไม่ได้เลย
เจสัน ดอร์ซีย์ (Jason Dorsey) ประธานศูนย์วิจัยด้านการเคลื่อนไหวของเจเนอเรชัน (Center for Generation Kinetic) บริษัทวิจัยที่ตั้งอยู่ในเมืองออสติน มลรัฐเท็กซัส บอกว่า ‘โควิด-19’ และแรงกดดันจากโซเชียลมีเดีย ที่ส่งตรงไปยังสมาร์ตโฟนของคนรุ่นนี้เป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้าไม่เคยเผชิญมากก่อน อีกทั้งความท้าทายเรื่องสุขภาพจิต การเว้นระยะห่างช่วงโควิด-19 และการเรียนทางไกล ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้คนรุ่นนี้รู้สึกว่าใช้ชีวิตลำบาก รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย
ใช่ – เบบี้บูมเมอร์และเจเนอเรชันเอ็กซ์อาจรู้สึกว่า การมีสมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียนั้นทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่พวกเขาก็ไม่ได้เผชิญหน้าโดยตรงกับความท้าทาย และเรื่องยุ่งยากที่เกิดจากการเติบโตท่ามกลางเทคโนโลยีเหล่านี้
บทความ BBC ชิ้นนี้ยังระบุด้วยว่า ในช่วงเวลาของคนรุ่นก่อนหน้า เป็นเรื่องง่ายมากที่จะได้งานแบบ ‘มนุษย์เงินเดือน’ ชนชั้นกลาง โดยไม่ต้องมีการศึกษาที่สูง และการไม่ต้องมีการศึกษาที่สูยังทำให้ไม่ต้องเผชิญ ‘หนี้’ จากการกู้ยืมเรียนที่สูงเท่ากับคนรุ่นนี้
ในทางกลับกัน คนรุ่นใหม่ ก็มองว่าคนรุ่นก่อนหน้าไม่ได้ ‘สู้’ มากพอในประเด็นเชิงสังคม ทั้งเรื่องสภาวะโลกรวน ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และส่งต่อโลกอันบิดเบี้ยวมาจนถึงคนรุ่นพวกเขา
นั่นทำให้พวกเขาไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดสมัยที่บรรดาเบบี้บูมเมอร์เติบโตนั้น ผู้หญิงยังคงต้องให้ผู้ชายร่วมลงนามรับรองหากต้องกู้เงินซื้อบ้านในหลายประเทศ ขณะเดียวกัน ในบางรัฐของสหรัฐฯ การแต่งงานระหว่างเชื้อชาติก็ยังเป็นเรื่องต้องห้าม จนในที่สุดผู้คนต้องประท้วง-ต่อสู้ กว่าจะเปลี่ยนกฎหมายดังกล่าวได้
ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่คนรุ่นก่อนหน้ามักจะด้อยค่าคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่ก็คงจะ ‘ไม่เข้าใจ’ คนรุ่นก่อนหน้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่จะได้เห็นหลังจากนี้ก็คือ คนรุ่นก่อนหน้าจะกล่าวหาคนรุ่นหลังผ่านมีมว่าเป็นพวก ‘Woke’ หรือขี้โวยวายมากเกินไป ขณะที่เบบี้บูมเมอร์ก็จะโดนกล่าวหาว่าเป็นพวก ‘ช่างสะสม’ สมบัติเก่า และกอดไว้จนตัวตาย แน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ดอร์ซีย์บอกว่าไม่มีหนทางอื่น นอกจากต้องสร้าง Dialogue หรือบทสนทนาให้คนสองวัยได้แลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ไม่ให้พวกเบบี้บูมเมอร์เรียกคนรุ่นใหม่ว่าเป็นพวก Snowflake และไม่ให้คนรุ่นใหม่ เจเนอเรชันแซดทั้งหลาย เรียกคนรุ่นเก่าว่าเป็นพวก ‘ไดโนเสาร์’
“สุดท้าย สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือไม่ว่าจะเป็น ‘ไดโนเสาร์’ หรือเป็นพวก ‘เกล็ดหิมะ’ พวกเราต่างก็เป็นคนเหมือนกัน และต้องอยู่ในโลกเดียวกัน” ดอร์ซีย์ทิ้งท้าย
ที่มา
https://www.bbc.com/worklife/article/20220218-are-younger-generations-truly-weaker-than-older-ones
https://www.science.org/doi/pdf/10.1126/sciadv.aav5916
Tags: Generation Z, Gen Z, การทำงาน, เบบี้บูมเมอร์, Work Tips, เด็กรุ่นใหม่